Take a fresh look at your lifestyle.

สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน (Competencies of learners)

สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน (Competencies of learners) หมายถึง คุณลักษณะที่เด็กทุกคนมีและใช้ได้อย่างเหมาะสม เพื่อผลักดันให้ผลการปฏิบัติงานบรรลุตาม เป้าหมาย ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้ได้แก่ ความรู้ ทักษะ บุคลิกภาพ แรงจูงใจทางสังคมลักษณะ นิสัยส่วนตัว ตลอดจนรูปแบบความคิดและวิธีการคิด ความรู้สึกและการกระทำ ซึ่งการพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข มีศักยภาพในการศึกษาต่อ และประกอบอาชีพ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี

สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน มีความสำคัญอย่างไร?

ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้กำหนดให้สมรรถนะสำคัญ 5 ประการของผู้เรียน เป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีปัญญา มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีระดับโลก ดังนี้

  • ความสามารถในการสื่อสาร เป็นความสามารถในการรับและส่งสาร มีวัฒนธรรมในการใช้ภาษาถ่ายทอดความคิด ความรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึก และทัศนะของตนเอง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและสังคม รวมทั้งการเจรจาต่อรอง เพื่อขจัดและลดปัญหาความขัดแย้งต่างๆ การเลือกรับหรือไม่รับข้อมูลข่าวสาร ด้วยหลักเหตุผลและความถูกต้อง ตลอดจนการเลือกใช้วิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อตนเองและสังคม
  • ความสามารถในการคิด เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิดอย่างสร้างสรรค์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้หรือสารสนเทศ เพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและสังคมได้อย่างเหมาะสม
  • ความสามารถในการแก้ปัญหา เป็นความสามารถในการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่เผชิญได้อย่างถูกต้องเหมาะสม บนพื้นฐานของหลักเหตุผล คุณธรรม และข้อมูลสารสนเทศ เข้าใจความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคม แสวงหาความรู้ ประยุกต์ความรู้มาใช้ในการป้องกันแก้ไขปัญหา และมีการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม
  • ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต เป็นความสามารถในการนำกระบวนการต่างๆ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การทำงาน และการอยู่ร่วมกันในสังคม ด้วยการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล การจัดการปัญหา และความขัดแย้งต่างๆ อย่างเหมาะสม การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อม และการรู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น
  • ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เป็นความสามารถในการเลือกและใช้เทคโนโลยีด้านต่างๆ และมีทักษะกระบวนการทางเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาตนเองและสังคม ในด้านการเรียนรู้ การสื่อสาร การทำงาน การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ถูกต้อง เหมาะสม และมีคุณธรรม

สมรรถนะสำคัญของผู้เรียนมีประโยชน์ต่อเด็กอย่างไร?

เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็กๆ แต่เด็กคือเด็กที่มีความรู้สึก ความคิดเห็นของตนเอง ซึ่งจะถูกหรือผิดขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ที่จะช่วยนำพาเข้าสู่เส้นทางที่ถูกที่ควร มีโอกาสและเข้าถึงโอกาสที่จะได้รับความรักและการปกป้องดูแล เด็กจึงจะเจริญเติบโต เป็นเด็กแข็งแรง เก่ง ดี มีสุขอย่างสมดุล เพราะการดำเนินชีวิตของเด็กหมายถึง เรื่องของชีวิตที่เป็นอยู่ทั้งหมด ซึ่งอยู่ในระบบความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลายในธรรมชาติหรือโลก ในระบบความสัมพันธ์นี้ สิ่งทั้งหลายเป็นเหตุปัจจัยส่งผลกระทบต่อกัน เมื่อระบบสัมพันธ์นี้ดำเนินไป ถ้าองค์ประกอบบางอย่างมีพฤติกรรมหรือความเป็นไปที่ไม่ดี ก็จะเกิดผลเสียต่อระบบทั้งหมด เพราะในโลกหรือธรรมชาติที่เป็นระบบความสัมพันธ์ ซึ่งทุกอย่างเป็นหน่วยย่อยสัมพันธ์กันนี้ มนุษย์เป็นองค์ประกอบพิเศษ ที่สามารถฝึกฝน เรียนรู้ และพัฒนาได้ ถ้ามนุษย์ได้พัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติที่ดีแล้ว ก็จะประเสริฐ เป็นปัจจัยที่ดีในระบบองค์รวม ซึ่งจะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ในระบบให้ดีขึ้น

การพัฒนาสมรรถนะของเด็กซึ่งเป็นองค์รวมอยู่ในตัว และการทำงานของชีวิต คือ การดำเนินชีวิต ก็เป็นองค์รวม การพัฒนาสมรรถนะโดยใช้ ภาวนา 4 จะเกิดประโยชน์ต่อเด็ก ดังนี้

  • การพัฒนาด้านการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ เรียกว่า กายภาวนา หมายถึง การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ เครื่องใช้ไม้สอย เทคโนโลยี อาหารการกิน สิ่งบริโภค สิ่งที่พบเห็น ได้ยิน ได้ฟัง คือ ประสบการณ์ต่างๆ ให้เกิดผลดี เช่น กินอาหาร พัฒนาร่างกายให้แข็งแรงเจริญเติบโต มีสุขภาพดี ใช้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ฟังวิทยุ ดูทีวี จะทำให้เด็กสามารถ เลือกและใช้เทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาตัวเองได้อย่างถูกต้อง
  • การพัฒนาด้านการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมกับเพื่อนมนุษย์ เรียกว่า ศีลภาวนาหมายถึง การอยู่ร่วมกัน ตั้งแต่ในครอบครัว ให้เป็นความสัมพันธ์ที่ดี ช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่เบียดเบียน ไม่ก่อความเดือดร้อน ไม่ทำร้าย ไม่ละเมิด แต่มีความสามารถใน การใช้ทักษะชีวิต ทำให้เด็กสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี มีความสัมพันธ์ที่ดีงาม เกื้อกูล และ สื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการสร้างประโยชน์ในการพัฒนาตนเองและสังคม
  • การพัฒนาด้านจิตใจ เรียกว่า จิตภาวนา หมายถึง สภาพจิตใจ ทั้งความรู้สึก/อารมณ์ ความสุข ความทุกข์ ความเข้มแข็ง เรื่องของคุณธรรม ความดี เรื่องของสมรรถภาพจิตใจ ความเข้มแข็ง หมั่นเพียร อดทน ความมีสติ สมาธิ ฯลฯ และด้านความสุข ความสดชื่น เบิกบาน ทุกอย่างที่อยู่ในจิตใจ นำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ที่ทำให้เด็กเกิด ความสามารถในการคิด เพื่อตัดสินใจในเรื่องเกี่ยวกับตนเองและสังคมได้อย่างเหมาะสม
  • การพัฒนาด้านความรู้ ความเข้าใจ เรียกว่า ปัญญาภาวนา หมายถึง ความรู้ความเข้าใจที่เน้นการรู้ตรงตามเป็นจริง หรือรู้ตามที่มันเป็น การรู้จักคิด ความมีเหตุผล การรู้จักแสวงหาความรู้ และการแสดงความคิดเห็น ที่จะนำเด็กไปสู่ ความสามารถในการแก้ปัญหา และอุปสรรคต่างๆ ที่เผชิญได้ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักเหตุผล คุณธรรม และข้อมูลสารสนเทศ ทำให้เกิดการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม

ที่ว่าเป็นองค์รวม นั่นคือ ในขณะที่เรามีความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะสัมพันธ์ด้วยกาย วาจา หรือด้วยอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น ก็ตาม จิตใจของเราก็มีความสัมพันธ์ด้วย เรามีความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งต่อสิ่งที่เรากำลังเกี่ยวข้องอยู่ และในด้านปัญญาเราก็มีความรู้ เข้าใจ ความคิด แนวคิด ความเชื่อ หรือค่านิยมต่อสิ่งนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย ทุกด้านทำงานไปด้วยกัน มีอิทธิพลต่อกัน แม้ว่าเราจะไม่รู้ตัว

ดังนั้น การจะพัฒนาผู้เรียนให้เป็นทั้งคนดี มีปัญญา มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีระดับโลก จึงต้องพัฒนาให้เด็กมีความสามารถในการสื่อสาร รับ-ส่งสาร ใช้ภาษาถ่ายทอด ตลอดจนการเลือกใช้วิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการคิด สามารถคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ และคิดเป็นระบบ เพื่อสร้างองค์ความรู้ หรือเพื่อตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม มีความสามารถในการแก้ปัญหา บนพื้นฐานของหลักเหตุผล คุณธรรม และข้อมูลสารสนเทศ มีความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต โดยนำกระบวนการต่างๆ ไปใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทำงานและอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเหมาะสม สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง และรู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาตนเองและสังคม ในด้านการเรียนรู้ การสื่อสาร การทำงาน การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ถูกต้อง เหมาะสม และมีคุณธรรม

ครูจัดกิจกรรมส่งเสริมสมรรถนะสำคัญให้ลูกอย่างไร?

ความเจริญก้าวหน้าของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ครูจำเป็นต้องเตรียมเด็กให้รับมือกับสภาพแวดล้อมและความเจริญของยุคสมัย ด้วยการให้เด็กมีคุณสมบัติพร้อมที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมและมีชีวิตในสังคมนี้อย่างดีที่สุด โดยการสอน อบรม แนะนำ ปลูกฝังเด็ก ดังนี้

  • เข้าถึงธรรมชาติ รู้จักปฏิบัติต่อวัตถุสร้างสรรค์ของมนุษย์ ตลอดจนเทคโนโลยี ด้วยการให้เกิดความสำนึกตระหนัก เกื้อกูลหนุนกัน ปลูกฝังให้เด็กใช้วัตถุสร้างสรรค์ โดยเฉพาะเทคโนโลยี โดยไม่แปลกแยกกับธรรมชาติ พัฒนาให้เด็กเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ และมีความสุขได้ในท่ามกลางธรรมชาติ
  • ไม่ขาดไมตรี คือ มีทักษะชีวิต อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ มีความพร้อมที่จะอยู่ร่วมอย่างสร้างสรรค์สังคม ที่หมายถึง สิ่งแวดล้อมด้านเพื่อนมนุษย์ สิ่งแวดล้อมด้านธรรมชาติ รวมถึงโลกแห่งวัตถุทั้งหมด ผู้ใหญ่จะต้องเปลี่ยนแปลงให้เด็กมีการพัฒนาในทางที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และเกื้อกูล ไม่เห็นแก่ตัว
  • มีจิตตั้งมั่น ไม่ประมาท ไม่หลงใหลเพลิดเพลินไปกับสิ่งภายนอกที่มาล่อชักจูง มีจิตใจเข้มแข็ง มีพื้นฐานจิตใจที่มุ่งมั่นจะพัฒนาชีวิตของตนให้เจริญงอกงามขึ้นไปจนเต็มสุดศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ของคน พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข และสามารถเข้าถึงความสุขที่สูงขึ้น ลึกซึ้งขึ้น
  • ใช้ปัญญาพาชีวิตถึงจุดหมาย มีปัญญาสามารถคิดแก้ปัญหาได้ และนำทางพาชีวิตไปให้ถึงจุดหมาย ข้อนี้เป็นข้อที่จะทำให้ทุกข้อที่กล่าวมาบรรลุผลสำเร็จ

เป้าหมายที่แท้จริงก็คือ เราต้องการให้เด็กเกิดมี ปัจจัยภายใน คือ คุณสมบัติในตัวเขาเอง ที่จะมีความสุขในการเรียน ครู ผู้เป็น ปัจจัยภายนอก ที่ดี จึงต้องหาทางจัดการต่างๆ เพื่อเป็นตัวกลางในการเหนี่ยวนำให้เด็กพัฒนาคุณสมบัติที่เป็นปัจจัยภายในของเขาเองขึ้นมา โดยทำบทเรียนและกิจกรรมให้สนุกสนานที่จะปลุกเร้าความสนใจในการเรียน ซึ่งถ้าเด็กมีความสนใจในเนื้อหาสิ่งที่เรียนแล้ว ก็จะเริ่มมีความสุขในการเรียนสิ่งนั้น แล้วความสุขก็จะพัฒนาไปกับความก้าวหน้าในการเรียนที่เด็กได้เกิดความรู้ เข้าใจ และมีความอยากเรียนรู้เพิ่มขึ้น ความสุขที่เกิดจากปัจจัยภายในของเด็กเอง ก็จะบรรลุเป้าหมาย แต่ถ้าเด็กติดอยู่แค่การจัดตั้ง ต้องรอให้ปัจจัยภายนอกมาจัดให้เด็กได้เรียนอย่างสนุกเรื่อยไป หรือเกิดเป้าหมายพลิกผันไป กลายเป็นว่าเด็กติดอยู่ที่ความสุขที่ครูจัดให้นั้น เด็กจะกลายเป็นผู้พึ่งพา ต้องขึ้นกับปัจจัยภายนอกที่ครูจัดตั้ง เด็กต้องรอ และครูต้องจัดตั้งกันเรื่อยไป ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ไม่มีใครมาคอยจัดตั้งให้ เด็กจะอยู่กับความสุข ความทุกข์ที่จะมีจะเป็นตามธรรมดา เด็กจะต้องเผชิญกับสิ่งทั้งหลาย โดยเอาปัจจัยภายใน คือ ปัญญาของตนมาใช้ปฏิบัติจัดการกับปัญหาต่างๆ รวมทั้งสามารถที่จะมีจะสร้างความสุขในตัวเอง ถ้าครูไม่สามารถใช้ความสุขจัดตั้งปลุกเร้าให้เด็กเกิดปัจจัยภายในที่จะมีความสุขด้วยตนเอง แต่กลับทำให้เด็กมีความสุขที่ขึ้นกับการจัดตั้งแล้ว เด็กจะกลายเป็นนักพึ่งพาและจะยิ่งอ่อนแอลง ต่อไป เมื่อไม่มีใครจัดตั้งความสุขให้ เด็กก็จะทุกข์หนัก ทุกข์ง่าย และสุขยากขึ้นเรื่อยๆ

การศึกษาแบบมีเด็กเป็นศูนย์กลาง จึงเป็นเป้าหมายสำคัญ ที่ครูจะจัดสรรโอกาสให้เด็กสามารถสร้างสรรค์ด้วยตัวเด็กเอง ให้เด็กจะมีความสุขจากการทำและพัฒนาชีวิตด้านต่างๆ ให้สูงขึ้นไป ดังนั้น ทางบ้านควรประสานกับทางโรงเรียน ดังนี้

  • จัดให้มีการ พบกัลยาณมิตร จัดสิ่งแวดล้อมทางสังคม ตั้งแต่พ่อแม่ คนในครอบครัว ครู เพื่อน ที่จะมีอิทธิพลชักจูงโน้มนำเด็กไปในทางที่ดี
  • จัดวางระเบียบแบบแผนที่จะสร้างเป็นวิถีชีวิตขึ้นมา ด้วยการ กำหนดวินัยที่เป็นรูปธรรม เช่น กฎกติกา ซึ่งควรเป็นไปด้วยความตกลงยอมรับร่วมกัน ชี้แจงอธิบายให้เข้าใจเหตุผล เห็นประโยชน์ว่า กฎกติกานั้นจะมาช่วยให้เด็กถอนตัวจากสิ่งที่เขารู้ว่ามีโทษ แต่เขาติดอยู่นั้นได้สำเร็จ เพราะวินัยคือการจัดสรรโอกาสที่จะทำให้คนมีโอกาสในการจะทำอะไรให้สำเร็จถึงจุดหมายที่ต้องการ
  • เปลี่ยนแนวคิดใหม่ ให้มีแนวคิดที่จะสร้างทัศนคติต่อโลกและชีวิต ด้วยการ เข้าใจความสุขที่ไร้การเบียดเบียน ที่ต่างจากความสุขที่เป็นนายเหนือธรรมชาติ ระบบการศึกษาจะต้องพัฒนาให้เด็กมีแนวคิด มีทัศนคติในการมองโลกว่า เป็นระบบความสัมพันธ์ที่เราเองเป็นส่วนร่วมอันหนึ่ง และเราเป็นส่วนร่วมพิเศษ ที่จะต้องพัฒนาตัวเองให้มีชีวิตที่ดีของตนเอง ร่วมเกื้อหนุนโลกให้ดีงาม เป็นโลกที่เป็นสุข ไร้การเบียดเบียน

พ่อแม่ ผู้ปกครองจะส่งเสริมสมรรถนะสำคัญของลูกอย่างไร?

การศึกษาเริ่มต้นในครอบครัว เพราะพ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก พ่อแม่ควรปลูกฝังให้ลูกรู้จักใช้อินทรีย์เพื่อการเรียนรู้ จนเกิดเป็นนิสัย คือ ดูเป็น ฟังเป็น ไม่ติดอยู่แค่ความรู้สึก ชอบ-ไม่ชอบ อยาก-ไม่อยาก หรือแค่ลุ่มหลง เพลิดเพลิน เอาแต่สนุกสนาน มัวเมา แต่สามารถได้ความรู้ ได้ความคิด ได้คติ ได้ประโยชน์ สิ่งที่พ่อแม่ควรปลูกฝังให้ลูก มีดังนี้

  • ความใฝ่รู้ ให้ลูกมีจิตสำนึกในการฝึกตน รู้ว่าชีวิตของเราจะดี ถ้าได้ฝึกตัวเอง และเข้าใจได้ว่า ถ้าเจอสิ่งที่ยากหรือสถานการณ์ที่ยาก ก็จะได้ฝึกตัวเองมากขึ้น และสามารถชอบสิ่งที่ยากเหล่านี้ได้ หากลูกไม่ได้ฝึก ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้พัฒนา จะมีแต่ความทุกข์ เพราะต้องฝืนใจ ทำแล้วไม่ได้ผล จึงเสียสุขภาพจิต ในทางกลับกัน เด็กที่ใฝ่ฝึกฝน ต้องการเรียนรู้ พัฒนาตน และทำด้วยความเต็มใจ ทั้งสุขภาพจิตก็ดี มีแต่ความสุข และสามารถทำให้สำเร็จได้ผลด้วย ซึ่งจะทำให้ลูกพัฒนาความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต ด้วยการนำกระบวนการต่างๆ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน และอยู่ร่วมกันในสังคม ด้วยความสัมพันธ์อันดีต่อผู้อื่น และช่วยให้ลูกมีความสามารถในการแก้ปัญหาที่เผชิญได้อย่างถูกต้องเหมาะสมบนพื้นฐานของหลักเหตุผลและคุณธรรม
  • รู้จักคิด เวลาลูกจะทำอะไรสักอย่าง พ่อแม่ควรหัดให้ลูกได้คิดว่า กิจกรรมที่เรากำลังจะทำอยู่นี้ จะก่อความเดือดร้อนเบียดเบียนแก่ผู้อื่น หรือแก่สังคม หรือเป็นไปเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นกิจกรรมในทางสร้างสรรค์หรือทำลาย สภาพจิตใจของลูกเป็นอย่างไร ทำด้วยความสุข เบิกบาน ผ่องใส มีความตั้งใจหรือแรงจูงใจที่ดี อยากจะช่วยเหลือ อยากจะทำให้เป็นประโยชน์ หรือเพียงแต่เห็นแก่ตัว อยากจะได้เพื่อตัวเอง หรือโกรธเคือง อยากทำร้ายใคร จากนั้นดูว่า ลูกรู้เข้าใจสิ่งที่กำลังจะทำชัดเจนไหม มีเหตุผลอย่างไรในการที่จะทำ ทำไปแล้วจะเกิดผลดี-ผลเสียตามมาอย่างไร ช่วยให้ลูกได้พัฒนา ความสามารถในการคิด นำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ เพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและสังคมได้อย่างเหมาะสม และยังเป็นฝึกฝนพัฒนาความสามารถในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพของลูกอีกด้วย
  • ฝึกลูกจากวิถีชีวิตที่ดีงาม ตั้งแต่การกินอาหาร หัดให้ลูกกินเป็น ใช้เป็น บริโภคเป็น คือ รู้จักกินใช้ด้วยปัญญา มองเห็นความหมายและเหตุผลในการกินใช้บริโภคนั้น พ่อแม่ควรถามลูกว่า เรากินอาหารเพื่ออะไร วัตถุประสงค์ที่แท้ของการกินอาหารคืออะไร จากคำถามก็ทำให้เด็กได้คิด ซึ่งเด็กอาจจะไม่เคยคิดเลย เมื่อคิดลูกก็จะค้นหาคำตอบได้ว่า เรากินอาหาร เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี เมื่อลูกรู้เช่นนี้ ก็จะกินอย่างมั่นใจ รู้เข้าใจจุดหมายในการกิน ไม่กินเพียงเพื่อความอร่อย นอกจากนี้ยังช่วยให้ลูกมี ความสามารถในการเลือกใช้เทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาตนเองและสังคมได้อย่างสร้างสรรค์ ถูกต้อง เหมาะสม และมีคุณธรรม

เกร็ดความรู้เพื่อครู

การส่งเสริมสมรรถนะของผู้เรียน ซึ่งเป็นคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมที่เป็นผลมาจากความรู้ ทักษะ ความสามารถ และคุณลักษณะอื่นๆ ที่ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ หรือปฏิบัติงาน หรือสร้างผลงานได้โดดเด่นกว่าเพื่อนร่วมงานอื่นๆ ในชั้นเรียนครูควรส่งเสริมด้านต่างๆ ดังนี้

  • ทักษะ (Skills) หมายถึง สิ่งที่เด็กกระทำได้ดี และฝึกปฏิบัติเป็นประจำจนเกิดความชำนาญ เช่น ทักษะการอ่าน การเขียน
  • ความรู้ (Knowledge) หมายถึง ความรู้เฉพาะด้านของเด็ก เช่น ความรู้ภาษาอังกฤษ ความรู้รอบตัว เป็นต้น
  • ภาพลักษณ์ภายในตน (Self-image / Self-concept) หมายถึง ทัศนคติ ค่านิยม และความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตนเอง หรือสิ่งที่เด็กเชื่อว่าตนเองเป็น เช่น คนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง จะเชื่อว่าตนเองสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้
  • คุณลักษณะภายในหรืออุปนิสัย (Traits) หมายถึง บุคลิกลักษณะประจำตัวของเด็ก เป็นสิ่งที่อธิบายถึงเด็กคนนั้น เช่น เป็นคนที่น่าเชื่อถือ และไว้วางใจ หรือมีลักษณะเป็นผู้นำ เป็นต้น
  • แรงจูงใจ (Motive) หมายถึง แรงขับภายใน ซึ่งทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่มุ่งสู่สิ่งที่เป็นเป้าหมาย เช่น เด็กที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ มักชอบตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย และพยายามทำงานสำเร็จตามเป้าที่ตั้งไว้ ตลอดจนพยายามปรับปรุงการทำงานของตนเองตลอดเวลา

ขอบคุณข้อมูลจาก taamkru.com

นอกจากนี้คุณยังอาจต้องการ

ความเห็นถูกปิด

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี