Take a fresh look at your lifestyle.

ทฤษฎี เชาวน์ปัญญา

มี นักจิตวิทยา เสนอไว้หลายทฤษฎีที่สำคัญจะนำเสนอ 3 ทฤษฎี ดังนี้

1. ทฤษฎีเชาวน์ปัญญาจิตมิติ(Psychometric Theory of Intelligence)

ทฤษฎี เชาวน์ปัญญา จิตมิติเป็นทฤษฎีที่นักจิตวิทยา ใช้หลักสถิติการวิเคราะห์องค์ประกอบ(Factor Analysis) โดยมี สเปียร์แมนเป็นคนแรกที่ใช้วิธีนี้

เชาวน์ปัญญา
Alfred_Binet

Alfred Binet นักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศส ศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เด็กเรียนช้า Binet ร่วมมือกับ Theodore Simon พัฒนาแบบทดสอบทางสติปัญญา (Test of Intelligence) ซึ่งประกอบด้วยคำถาม 30 ข้อ ใช้วัดความสามารถในการตัดสินใจความเข้าใจ และการใช้เหตุผล แบบทดสอบนี้ยังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน Lewis Terman ในแนวคิดเกี่ยวกับ IQ (Intelligence Quotient) ซึ่งได้รับการปรับปรุงอีกหลายครั้งจนมีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย บิเนต์ (Alfred Binet) ได้รับยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งแบบทดสอบเชาวน์ปัญญา

ทฤษฎี เชาวน์ปัญญา จิตมิติมีหลายทฤษฎีแต่ที่จะขอนำเสนอ เพียง 5 ทฤษฎี คือ

 

1.1 ทฤษฎีองค์ประกอบเดียว (Single-Factor Theory หรือ Unitary Mental Factor)

ทฤษฎีองค์ประกอบเดียวเป็นของศาสตราจารย์ เทอร์แมน ผู้สร้างแบบทดสอบ สแตนฟอร์ด-บิเนต์

เทอร์แมน เชื่อว่าเชาว์ปัญญา คือความสามารถในการคิดแบบนามธรรม เป็นผลของพันธุกรรมแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้นจึงเป็นสิ่งคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง g – factor

1.2 ทฤษฎีองค์ประกอบสองตัว (Two – Factor Theory)

สเปียร์แมน(Charles Spearman) นักจิตวิทยาชาวอังกฤษได้นำการวัดทางจิตวิทยา(Psychometric หรือการวัดความแตกต่างระหว่างบุคคลในด้านพฤติกรรม และความสามารถ) มาศึกษาเชาวน์ปัญญา โดยศึกษาความสามารถของบุคคลจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ความสามารถการคิดคำนวณทางตัวเลข การประเมินระดับเสียง การจัดคู่ของสี และการให้เหตุผล เป็นต้น จากการศึกษาสเปียร์แมนสรุปว่า เชาวน์ปัญญาประกอบด้วยความสามารถสำคัญ 2 ประการ คือ

1) ความสามารถทั่วไป(General intelligence หรือ g – factor) ซึ่งเป็นความสามารถพื้นฐานของแต่ละบุคคล ผู้ที่มี g สูง จะมีความสามารถในการทำงานทุกอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนผู้ที่มี g ต่ำ จะมีประสิทธิภาพการทำงานต่ำ

2) ความสามารถเฉพาะ(Specific intelligence หรือ s – factor) เป็นความสามารถเฉพาะของแต่ละบุคคล เช่น ความสามารถทางคณิตศาสตร์ ภาษา ดนตรี ศิลปะ หรือความคิดสร้างสรรค์ และพบว่า g-factor มีค่าสหสัมพันธ์ไม่สูงนักกับ s- factor ความสามารถทั้งสองประการนี้ได้พัฒนาขึ้นมาในแต่ละบุคคลอย่างอิสระ ทั้งยังได้รับอิทธิพลมาจากการถ่ายทอดคุณลักษณะทางพันธุกรรมจากบรรพบุรุษ มาสู่ลูกหลานมากน้อยแตกต่างกันไป สเปียร์แมนกำหนดใด้ g-factor มีบทบาทเด่น และ s – factor มีบทบาทสำคัญรองลงมา

1.3 ทฤษฎีองค์ประกอบหลายตัว (Multiple Factor Theory)

เธอร์สโตน(L.L.Thurstone) อธิบายว่า เชาวน์ปัญญาไม่ได้เป็นความสามารถทั่วไปเพียงอย่างเดียว แต่ประกอบด้วยความสามารถทางสมองหลายชนิด หลายลักษณะที่มีอยู่ในตัวบุคคล เธอร์สโตนเรียกความสามารถทางสมองทั้งหลายนี้ว่า Primary Mental Abilities ประกอบด้วยความสามารถดังนี้

1) การคิดหาเหตุผล (Resoning หรือ R-factor)

2) ความจำ (Memory หรือ M-factor)

3) ความสามารถทางตัวเลข (Number หรือ N-factor)

4) ความรวดเร็วในการรับรู้ (Perceptual Speed หรือ P-factor)

5) ความเข้าใจภาษา (Verbal Comprehension หรือ V-factor)

6) ความคล่องแคล่วในการใช้คำ (Word Fluency หรือ W-factor)

7) การมองมิติของภาพ (Space หรือ S-factor)

ทฤษฎีเชาวน์ปัญญาของเธอร์สโตนบางครั้งเรียกทฤษฎี องค์ประกอบเป็นกลุ่มของเชาวน์ปัญญา

หรือ Group Factor Theory of Intelligence และเธอร์สโตนได้สร้างแบบทดสอบเชาวน์ปัญญาประกอบด้วย 7 องค์ประกอบนี้ เรียกแบบทดสอบว่า Primary Mental Ability Test

1.4 ทฤษฎีโครงสร้างทางปัญญาของกิลฟอร์ด

กิลฟอร์ด นักจิตวิทยา ชาวอเมริกันเสนอทฤษฎีโครงสร้างทางเชาวน์ปัญญาที่ เรียกว่า Structure of Intellectหรือเรียกย่อ ๆ ว่า SI กิลฟอร์ดเชื่อว่า ทฤษฎีองค์ประกอบเดียวหรือหลายองค์ประกอบไม่สามารถอธิบายความสามารถของมนุษย์ได้หมด ทฤษฎีของกิลฟอร์ดถือว่าความสามารถแต่ละอย่าง เป็นความสามารถเฉพาะ (Specific Ability) และได้เสนอว่าเชาวน์ปัญญาประกอบด้วย 3 มิติ คือ

 

เชาวน์ปัญญา

 

มิติที่ 1 การคิด (Operation)

เป็นการรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่ได้รับและพยายามเข้าใจความหมายประกอบด้วย
1) การรับรู้และเข้าใจ(Cognition)

2) การจำ(Memory) – ความจำที่บันทึกไว้ (Recording)

– ความจำระยะยาว(Retention)

3) การคิดเอนกนัย(Divergent Thinking)

4) การคิดเอกนัย (Convergent Thinking)

5) การประเมินค่า (Evaluation)

มิติที่ 2 เนื้อหา (Content)

เป็นการจัดจำพวกหรือประเภทของข้อมูลข่าวสารที่ได้รับแบ่งออกเป็น 4 จำพวก

1) ภาพ(Figural) – ได้ยิน(Auditory)

2) สัญลักษณ์(Symbolic)

3) ภาษา(Seantic)

4) พฤติกรรม(Behavioral)

มิติที่ 3 ผลการคิด(Product)

เป็นแบบต่างๆ ที่ใช้ในการคิดประกอบด้วย

1) แบบหน่วย(Units)

2) แบบกลุ่ม(Classes)

3) แบบความสัมพันธ์(Relations)

4) แบบระบบ(Systems)

5) แบบการแปลงรูป(Transformations)

6) แบบการประยุกต์(ImPlication)

สรุปแล้วโครงสร้างเชาวน์ปัญญาของกิลฟอร์ด ประกอบด้วยความความสามารถที่แตกต่างกัน 180 ชนิด คือ(เนื้อหา 5 วิธีการคิด 6 ผลการคิด 6) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเชาวน์ปัญญาของแต่ละบุคคลไม่ควรที่จะวัดโดยใช้คะแนนรวมเพียงอย่างเดียว กิลฟอร์ดเชื่อว่าความสามารถแต่ละอย่างเปลี่ยนแปรได้ด้วยการฝึกหัดและการเรียนรู้

1.5 ทฤษฎีองค์ประกอบทั่วไปสองตัวของแคทเทลล์

ศาสตราจารย์ เรย์มอน แคทเทล ได้เสนอทฤษฎีเชาวน์ปัญญาว่าประกอบด้วยองค์ประกอบทั่วไป 2 ตัวคือ

1) Fluid Intelligence สัญลักษณ์ “ gf ” องค์ประกอบทางเชาวน์ปัญญาที่ได้รับสืบทอดมาจากพันธุกรรม เช่น ความสามารถในการคิดหาเหตุผล คิดแบบนามธรรม และความสามารถที่จะแก้ปัญหา

2) Crystallized Intelligence สัญลักษณ์ “ gc ” เชาวน์ปัญญาที่เป็นผลมาจากการเรียนรู้และประสบการณ์ วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

 

2. ทฤษฎีเชาวน์ปัญญา นีโอพีอาเจต์-อินฟอร์เมชั่นโพรเซสซิ่ง (Neo-Piaget Theory of Intelligence – Information Processing )

ตั้งแต่พีอาเจต์ได้ตั้งทฤษฎีพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาขึ้น นักจิตวิทยาที่เป็นศิษย์ของพีอาเจต์ก็ได้ตั้งทฤษฎีเชาวน์ปัญญาขึ้น หนึ่งในนั้นคือ สเตินเบิร์ก (Robert Sternberg) เชื่อว่า เชาวน์ปัญญาเป็นสิ่งที่แปรเปลี่ยนได้และได้ตั้งทฤษฎีเชาน์ปัญญาชื่อว่า ทฤษฎีสามองค์ประกอบที่ควบคุมเชาวน์ปัญญา(Triarchic Thoery of Intelligence ) ซึ่งหมายความว่าเชาวน์ปัญญาของมนุษย์ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ

1) เชาวน์ปัญญาคอมโพเนนเชียล (Componential Intelligence) หมายถึง ความสามารถในการคิด การเรียนรู้ การหาความรู้ การวางแผนในการทำงานและยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหา

2) เชาวน์ปัญญาเอ็กซ์พีเรียลเชียล (Experiential Intelligence ) หมายถึง ความสามารถที่จะสู้กับสถานการณ์ใหม่หรืองานใหม่ได้ แก้ปัญหาได้โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์และการหยั่งรู้

3) เชาวน์ปัญญาคอนเทคชวล (Conntectual Intelligence) หมายถึงความสามารถที่มนุษย์ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมได้ เป็นเชาวน์ปัญญาที่ทำให้มนุษย์อยู่รอด

 

3. ทฤษฎีเชาวน์ปัญญา ประสาทวิทยา-จิตวิทยา (Neuro-Psychological Theory of Intelligence)

การ์ดเนอร์(Howard Gardner) ได้เสนอทฤษฎีเชาวน์ปัญญาที่มีชื่อเรียกว่า ทฤษฎีพหุปัญญา หรือ Theory of Multiple Intelligence การ์ดเนอร์เชื่อว่า เชาวน์ปัญญาเป็นสิ่งที่ไม่คงที่เปลี่ยนแปลงได้ และเชื่อว่า คนเรามีเชาวน์ปัญญาหลายชนิด แต่ละชนิดเป็นอิสระไม่เกี่ยวข้องกัน ประกอบด้วยเชาวน์ปัญญา 8 แบบคือ

1) การใช้เหตุผลและความสามารถทางคณิตศาสตร์ (Logical /Mathemetic)

2) ความสามารถในการใช้ภาษาทั้งการพูดและการเขียน (Verbal/Linguistic)

3) ความสามารถทางดนตรีและเสียงสัมผัสจังหวะ (Musical/Rhythnmic)

4) ความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ (Visual-Spatial)

5) ความสามารถที่จะใช้ความรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกายและควบคุมได้ (Bodily/Kinesthetic)

6) ความสามารถที่จะมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น (Interpersonal)

7) ความสามารถที่จะเข้าใจตนเอง (Intrapersonal)

8) ความสามารถที่จะเป็นนักธรรมชาติวิทยา(Naturalist)

การ์ดเนอร์ เชื่อว่าบุคคลที่มีเชาวน์ปัญญาสูงหรือเด่นด้านใดด้านหนึ่งอาจจะมีเชาวน์ปัญยาด้อยในอีกด้านหนึ่งได้ จะไม่มีใครคนใดคนหนึ่งที่มีเชาวน์ปัญญาสูงหรือต่ำในทุก ๆ ด้าน และปัจจุบันนี้ นักจิตวิทยาและนักการศึกษาในความสนใจและตอบรับทฤษฎีพหุปัญญาของการ์ดเนอร์อย่างกว้างขวาง

 

 

นอกจากนี้คุณยังอาจต้องการ

ความเห็นถูกปิด

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี