รมว.ศธ.เตือนโรงเรียนห้ามมีนักเรียนผี

รมว.ศธ.เตือนโรงเรียนห้ามมีนักเรียนผี เปิดเทอมหน้าจะมีระบบตรวจสอบ เป็นการประเมินรอบด้านแบบ 360

 

(30 พ.ย.62) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ประจำปี 2562 ในกรอบแนวคิด การประกันคุณภาพเพื่อยกระดับการศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21  เพื่อวางแนวทางการประเมินคุณภาพการศึกษาให้ก้าวทันนานาประเทศ โดยมีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม และกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง การศึกษาไทยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมด้วย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้กำกับดูแล สมศ., นายจรูญ ชูลาภ รักษาการประธานกรรมการ สมศ., รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานกรรมการการศึกษาชั้นพื้นฐาน ร่วมต้อนรับ ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

Advertisements
ประเด็นสำคัญ
– รมว.ศธ.ย้ำการประเมินของ สมศ.ทำเพื่อคุณภาพ ไม่ใช่จับผิดโรงเรียน
– เคยไปตรวจเยี่ยมโรงเรียน เด็กหายไป 100 คน กรณีนี้ต้องตรวจสอบจำนวนเด็กที่ลงทะเบียน
– นักเรียนผี คุณครูผี ที่ทำตัวเลขไม่ถูกต้อง ต้องไม่ได้แล้ว
– เปิดเทอม พ.ค.63 ศธ.จะทำระบบตรวจสอบข้อมูลจำนวนนักเรียน ทุกเช้าเช็คดูได้
– ระบบประกันคุณภาพ ต้องเชื่อมต่อกับสังคม ชุมชน อย่างต่อเนื่อง เป็นธรรมชาติ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวบรรยายตอนหนึ่งว่า ในขณะที่เราต้องการพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพ ต้องกลับมาดูประเทศไทยว่าอยู่ตรงไหนของโลก ความจริงประเทศไทยมีทั้งสภาพภูมิศาสตร์และสถานะที่จะสามารถเป็นหนึ่งในประเทศที่สำคัญในอาเซียน เอเชีย หรือในโลกได้ แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องมองว่าเราจะก้าวไปยืนอยู่ตรงจุดนั้นได้อย่างไร และเมื่อเราตั้งเป้าจะยืนอยู่ตรงไหน ทุกภาคส่วนก็ต้องช่วยกันพยายามไปให้ถึงจุดนั้น

ในส่วนของการประเมินคุณภาพภายนอกเพื่อนำไปสู่คุณภาพการศึกษานั้น “ผู้อำนวยการโรงเรียน” เป็นผู้ที่จะต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า การประเมินภายนอกของ สมศ. เป็นการเข้ามาให้การช่วยเหลือพัฒนา  ไม่ใช่การจับผิด ในขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็ต้องช่วยคิดวางระบบการประเมินคุณภาพร่วมกันให้เหมาะสมและถูกต้อง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ ทำให้ทุกโรงเรียนในประเทศไทยมีคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีระดับที่ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะอยู่มุมใดของประเทศ

เท่าที่ตนทำงานในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ได้ศึกษาองคาพยพของการศึกษาแล้ว เชื่อว่าเราสามารถไปสู่จุดหมายที่ต้องการได้อย่างแน่นอน เพียงแต่บางเรื่องต้องใช้เวลา ความพยายาม ความตั้งใจ และความเข้าใจร่วมกันให้เกิดขึ้นในการทำงาน เช่น เรื่องข้อมูลโรงเรียน ข้อมูลครู หรือข้อมูลการพัฒนาครูและผู้บริหาร ต้องกล้าเอาปัญหาทั้งหมดมาวาง แล้วดูว่าติดขัดอะไร เพื่อแก้ไข

โดยส่วนตัวเชื่อมั่นอยู่เสมอว่า “ครู” เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนการศึกษาไทย จึงต้องพร้อมที่จะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา พร้อมที่จะปรับปรุงพัฒนาเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของประเทศไทยที่จะก้าวไปในศตวรรษที่ 21

ทั้งนี้ หากคุณภาพการศึกษาหลายด้านมีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ย่อมส่งผลต่อเด็กและเยาวชนในอนาคต เพราะผู้ใหญ่ในวันนี้จะไปอยู่ในสังคมสูงวัยหรือเกษียณในไม่กี่ปีข้างหน้า ในขณะที่เด็กและเยาวชนในวันนี้ ก็จะเติบโตขึ้นมาแบกรับภาระหรือเสียภาษีเพื่อพวกเราในวันข้างหน้า ดังนั้นหากเด็กและเยาวชนในวันนี้ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพเพียงพอ เราจะเสียสิ่งที่เราสั่งสมมายาวนาน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า บางโรงเรียนที่เคยไปตรวจเยี่ยม พบข้อมูลว่ามีจำนวนนักเรียนที่ลงทะเบียนเรียนไว้ 600 กว่าคน แต่วันนั้นนักเรียนหายไป 100 คน ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนตอบไม่ได้ กรณีนี้ สมศ.ต้องมาดูจำนวนเด็กที่ลงทะเบียนในโรงเรียนด้วยว่าไม่มีตัวตน หรือหายไปไหน ทั้งนี้ ศธ.กำลังดำเนินการจัดทำระบบเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถเข้าไปดูจำนวนเด็กได้

“นักเรียนผี คุณครูผี ที่ทำให้ตัวเลขไม่ถูกต้อง ไม่ได้แล้ว ต้องมีระบบเข้าไปจับเรื่องเหล่านี้ เพราะถือเป็นการใช้งบประมาณมาอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ยุติธรรมสำหรับคนอื่น ช่วงเปิดเทอม พ.ค.63 จะได้เห็น ทำได้แน่นอน ภายใน โมงเช้าของทุกวัน สมศ.สามารถเข้าไปในระบบ สามารถเช็คหรือสุ่มดูได้ว่านักเรียนที่ลงทะเบียนไว้ทุกโรงเรียนทั่วประเทศ หายไปกี่คน อย่างนี้ถือว่าเป็นการประเมินรอบด้าน เป็นการประเมินแบบ 360 อย่างแท้จริง” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

นอกจากนี้ การที่ ศธ.ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการในเรื่องต่าง ๆ จะทำให้การบริหารจัดการของครูและโรงเรียนง่ายขึ้น โดยเฉพาะโครงการต่างๆ ในโรงเรียน เช่น โรงเรียนสีเขียว โครงการปลอดยาเสพติด ฯลฯ

“ถามว่าโรงเรียนควรทำไหม-ตอบได้ว่าควรทำ, ถามว่าต้องประกวดไหม-ไม่จำเป็น, ถามว่าต้องขึ้นป้ายโชว์ไหม-ไม่จำเป็น, ต้องดูเอกสารเป็นปึกไหม-ไม่จำเป็น แต่สิ่งที่จำเป็นคือโรงเรียนต้องทำในเรื่องเหล่านี้ เพราะเป็นหน้าที่โดยตรงของโรงเรียนอยู่แล้ว”

ดังนั้น ถือเป็นหน้าที่ของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่จะสร้างความมั่นใจให้เรามองไปที่การก้าวสู่การเป็นประเทศชั้นนำของโลก แต่หากนานาชาติยังแสดงความห่วงใย ไม่มั่นใจในศักยภาพของเด็กไทย เราก็ต้องจับโอกาสนั้นมาร่วมกันพัฒนาให้ได้ เพราะเชื่อว่า “พลังภายนอก” อย่างไร ก็สู้การรวม “พลังการศึกษาไทย” ไม่ได้ หากเราไม่ขยับ องคาพยพข้างนอกจะไม่มุ่งเข้ามาหาเรา แต่หากเราตั้งใจพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนและโรงเรียน จะทำให้ต่างชาติกล้าเข้ามาลงทุน และ สมศ.ก็ยิ่งทำงานง่ายขึ้น เพราะเมื่อสถานศึกษามีการประเมินกันเองอยู่ตลอดเวลา ประเมินตัวเองอยู่ทุกวัน ย่อมส่งผลถึงคุณภาพที่ตามมาอย่างแน่นอน

สำหรับการเข้าสู่ตำแหน่งต่าง ๆ ที่ผ่านมา ยอมรับว่ายังคงใช้ความสัมพันธ์หรือเครือข่ายในการคัดคนเข้าสู่ตำแหน่ง แต่ต่อไปต้องเลิก ทำอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ เราต้องเปลี่ยนวิธีการสรรหา โดยเปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถได้มีโอกาสเติบโตอย่างเท่าเทียมกัน ไม่จำเป็นต้องรู้จักหรือสนิทกัน ผู้ได้รับการแต่งตั้งแล้วจะได้เป็นคนที่มีความสามารถมากพอ ไม่มีข้อครหานินทา แม้วันนี้อาจจะยังทำไม่ได้เต็มที่ไม่เป็นไร แต่ต้องช่วยกันทำระบบที่ยุติธรรมเช่นนี้ให้เกิดขึ้นจริง ไม่อย่างนั้นคุณภาพการศึกษาไปไม่ได้ เราต้องมองตรงกันว่า องค์ประกอบ (Factor) สำคัญที่สุดของผู้บริหาร คือ เป็นผู้ที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนการศึกษาไทยไปสู่เป้าหมายสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาในประเทศไทย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า อยากเชิญชวนทุกท่านมารวมพลังสร้างวัฒนธรรมคุณภาพแห่งการศึกษา ทำให้ระบบประกันคุณภาพเชื่อมต่อกับสังคม ชุมชน เป็นงานที่เราต้องทำอย่างต่อเนื่อง เป็นธรรมชาติ เพราะหากเราปลูกฝังความเข้าใจที่ร่วมกันสร้างขึ้นภายในองค์กร ร่วมกับหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง นำผลการประเมินมาใช้ให้เป็นประโยชน์ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้จริง มั่นใจว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษา สถานศึกษา และการบริหารจัดการศึกษาในทุกภาคส่วน จะประสบความสำเร็จ เป็นความภาคภูมิใจของทุกคน และการอยู่รอดของทุกคนในประเทศไทยต่อไปในอนาคต

Advertisements

 

 

[sc name=”foot-post”]

Comments are closed.