Take a fresh look at your lifestyle.

#Prayforaustralia เราเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ ไฟป่าครั้งที่รุนแรงที่สุด ออสเตรเลีย

จากเหตุการณ์รุนแรงของ ไฟป่า ที่ออสเตรเลีย จนเกิดเป็น แฮชแท็ก ว่า #Prayforaustralia ด้วยภาพที่ถูกเผยแพร่สู่สายตาชาวโลกที่ดูรุนแรงทางธรรมชาติที่มนุษย์กำลังเผชิญ ส่งผลกระทบต่อสัตว์ น้อย ใหญ่ มากมายหลายล้านชนิด เราเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้

ภาพ Alex Coppel

ท้องฟ้ากลายเป็นสีเลือด ปกคลุมเกือบครึ่งค่อนประเทศออสเตรเลีย ผลจากไฟป่าที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไฟป่าได้เผาผลาญชีวิตของสัตว์ป่าไปแล้วเกือบ 500 ล้านตัว จิงโจ้และโคอาล่า สัตว์สัญลักษณ์ของประเทศออสเตรเลีย มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์เป็นที่สุด

ไฟป่าครั้งนี้แม้สาเหตุหลักจะมาจาก ความแห้งแล้งและอุณหภูมิที่สูงผิดปกติ อุณหภูมิที่สูงขึ้นทุกๆ 1 องศาจะทำให้เกิดฟ้าผ่าถี่ขึ้น เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟป่า ในหลายพื้นที่ในห้วงเวลาที่ผ่านมา นับตั้งแต่ไฟไหม้ป่าอเมซอน แคลิฟอร์เนีย มาจนถึงที่ประเทศออสเตรเลีย

สูญเสีย สูญพันธุ์​ 

ภาพ Alex Coppel

โคอาล่า ถูกไฟป่าคลอกตายไปแล้วกว่า 8000 ตัว หน้าตาที่ดูน่ารักบวกกับความเชื่องช้าของมัน ในอ้อมกอดของคน แววตานั้น บ่งบอกให้เรารู้ว่าพวกมัน เหนื่อยและอ่อนล้าเต็มที

 

 

 

 

จิงโจ้ แม้จะเป็นสัตว์ที่กระโดดดูว่องไวคล่องแคล่ว แต่ก็แต่ก็ไม่อาจรอดพ้นจากกองเพลิงมหันตภัยครั้งใหญ่นี้ได้ จิงโจ้ บางตัวถูกคลอกตายกลายเป็นซากตอตะโกติดอยู่ที่ริมรั้วหนาม สวนจิงโจ้อีกหลายตัวที่รอดชีวิต กอดคอกันด้วยสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอด

 

 

 

ภาพ Alex Coppel

คนก็เช่นกัน ไฟป่าครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 23 คนและอีกนับล้านคนกำลังทุรนทุรายกับควันที่ ซึ่งเต็มไปด้วยฝุ่น PM 2.5 ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย ที่พยายามอย่างเต็มกำลังในการช่วยควบคุมไฟป่า สถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้

ในขณะที่ สถานีโทรทัศน์ ABC ของออสเตรเลียได้เผยภาพของช่างภาพประจำสถานี ที่ถ่ายคลิปวิดิโอระหว่างขับรถผ่านไปยังเมือง Batlow ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ใกล้กับกรุงแคนเบอร์ร่า เมืองหลวง ในช่วงเช้าของวันนี้ จนพบกับซากของสัตว์ป่าและปศุสัตว์นานาชนิดทั้ง จิงโจ้ โคอาล่า และแกะ ถูกเปลวเพลิงมัจจุราชคร่าชีวิตตายเกลื่อนริมทาง

ศ.คริส ดิคแมน (Professor Chris Dickman) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ประเมินว่า นับตั้งแต่เหตุไฟป่าซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนของปีที่ผ่านมา ก่อนจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆช่วงปลายปี 2019 ต่อเนื่องจนถึงตอนนี้ ประเมินอย่างคร่าวๆว่าไฟป่าได้ส่งผลกระทบต่อสัตว์ไปราว 480 ล้านตัว 

ในวิจัยของ ศ.ดิคแมน อธิบายว่าตัวเลขนี้พูดถึงจำนวนสัตว์ที่ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่ที่กำลังตายเพราะไฟป่าโดยตรง ใช้วิธีการประเมินจากการที่ในออสเตรเลียเฉลี่ยมีสัตว์เลี่ยงลูกด้วยนมราว 17.5 ตัว สัตว์ปีก 20 ตัว และสัตว์เลื้อยคลาน 129.5 ตัว ต่อพื้นที่ 10,000 ตร.ม. ก่อนจะใช้วิธีคูณเข้ากับจำนวนพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้เสียหายไปแล้ว ซึ่งเชื่อว่าสัตว์ขนาดเล็กรวมถึงสัตว์เลื้อยคลาน ที่ต้องอาศัยในป่าเป็นหลักจะได้รับผลกระทบ ส่วนสัตว์ใหญ่อย่างจิงโจ้หรือนกอีมูยังพอเอาชีวิตรอดจากเปลวเพลิงได้บ้าง

ไฟป่านอกจากจะสร้างความเสียหายต่อสัตว์ ทรัพย์สินและชีวิตของประชาชนแล้ว ภาพความรุนแรงของไฟป่าครั้งนี้ยังมองเห็นได้จากอวกาศ

โดยภาพถ่ายจากดาวเทียม himawari-8 แสดงให้เห็นกลุ่มควันไฟขนาดใหญ่สีส้มก่อตัวขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ออกจากบริเวณรัฐวิคตอเรียและนิวเซาท์เวลส์ มุุ่งหน้าไปทางตะวันออกเฉียงใต้โดยได้ส่งผลกระทบต่อทั่วทั้งเกาะใต้ของนิวซีแลนด์

เช่นเดียวกับภาพถ่ายดาวเทียวจากหน่วยงานอื่นๆ ก็แสดงให้เห็นเปลวไฟและกลุ่มควันขนาดใหญ่ที่ลอยตัวสู่ชั้นบรรยากาศเช่นกัน สภาวะเช่นนี้จะทิ้งฝุ่นควัน แก๊สพิษต่างๆเข้าสู่ระบบภูมิอากาศโลก และอาจจะส่งผลกระทบถึงปรากฎการณ์เรือนกระจก

นอกจากนี้ กลุ่มควันขนาดใหญ่จากไฟป่าที่ลอยตัวขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศกำลังสร้างระบบภูมิอากาศขึ้นด้วยตัวเอง เพราะควันไฟร้อนที่ลอยตัวขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้ควันเมื่อลอยสูงขึ้นจะเย็นตัว จับกลุ่มกับไอน้ำกลายเป็นเมฆฝนฟ้าคะนอง และเกิดลมพายุแนวดิ่ง เกิดฟ้าผ่ารุนแรง ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดไฟป่าในส่วนอื่นๆอีกระลอก

สิ่งหลายฝ่ายคาดหวังให้ช่วยลดความรุนแรงของไฟในขณะนี้มีเพียงทางเดียวคือรอคอยมวลอากาศเย็นหรือฝนตกเท่านั้น

นอกจากนี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์จาก 153 ประเทศทั่วโลก จำนวนกว่า 11,000 คน ร่วมกันลงนามสนับสนุนรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกฉบับล่าสุด รวมทั้งออกแถลงการณ์ประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ” (Climate emergency)

ดร. โทมัส นิวซัม นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ของออสเตรเลีย หนึ่งในแกนนำของกลุ่มผู้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศบอกว่า

“นักวิทยาศาสตร์มีความรับผิดชอบทางศีลธรรม ในแง่ที่จะต้องเป็นผู้ออกมากระตุ้นเตือนให้มนุษยชาติตระหนักถึงภัยอันใหญ่หลวง”

“จากข้อมูลที่เรามีอยู่นั้น ชัดเจนว่าโลกกำลังเผชิญกับภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ หากมนุษย์ไม่เร่งแก้ไข มีความเป็นไปได้สูงว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรุนแรงกว่าที่เคยพบเจอกันมาอย่างมาก เช่นบางพื้นที่ของโลกอาจไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไป” ดร. นิวซัมกล่าว

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิทยาศาสตร์ได้ระบุในรายงานข้างต้นด้วยว่า มีมาตรการ 6 ด้านที่ผู้คนสามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที เพื่อชะลอและหยุดยั้งผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

1) ด้านพลังงาน ควรใช้นโยบายอนุรักษ์แหล่งพลังงานและประหยัดพลังงานในระดับมหภาค ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หันมาใช้พลังงานทดแทนที่ยั่งยืน ยกเลิกนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันหรือนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล คิดค่าการปล่อยคาร์บอนให้สูงพอที่ธุรกิจต่าง ๆ จะหลีกเลี่ยงการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

2) ด้านสารก่อมลพิษระยะสั้น ควรลดการใช้และปล่อยมีเทน, สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน, รวมทั้งเขม่าควันต่าง ๆ เนื่องจากอาจจะช่วยลดความรุนแรงของภาวะโลกร้อนในช่วง 20-30 ปีข้างหน้าลงได้ถึง 50%

3) ด้านธรรมชาติ ควรหยุดยั้งการแผ้วถางพื้นที่ป่า อนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศเช่นป่าไม้ ทุ่งหญ้า หรือป่าโกงกาง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลก

4) ด้านอาหาร ควรบริโภคพืชผักให้มากขึ้นและลดผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ลง ซึ่งจะช่วยตัดลดการปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ รวมทั้งลดการแผ้วถางพื้นที่ป่าเพื่อเลี้ยงปศุสัตว์ด้วย

5) ด้านเศรษฐกิจ ควรยกเลิกแผนการที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก เปลี่ยนทิศทางนโยบายที่มุ่งแสวงหาแต่ความมั่งคั่งและเพิ่มตัวเลขจีดีพีด้วยการทำลายทรัพยากร มาเป็นนโยบายที่คำนึงถึงความยั่งยืนของ “ชีวมณฑล” ในระยะยาวแทน

6) ด้านประชากร ควรจำกัดจำนวนประชากรโลกให้อยู่ในระดับคงที่และเหมาะสม โดยใช้วิธีการที่มีความยุติธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากในปัจจุบันมีประชากรเกิดใหม่เพิ่มขึ้นถึงกว่า 2 แสนคนต่อวัน

 

 

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นี้ได้สร้างความตระหนักของเพื่อนมนุษย์ในการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม รักษาชีวิตเพื่อนร่วมโลก และดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ครูประถมขอ ส่งกำลังใจให้ทุกคนที่ประสบภัยรวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ขอให้ทุกคนปลอดภัย #Prayforaustralia

เรียบเรียงโดย ครูประถม.คอม

 

Photo : News Corp Australia / The New Batlow Hotel / Severe Weather Australia / AFP / posttoday

ความเห็นถูกปิด

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี