สรุปแบบเข้าใจง่าย! หลักเกณฑ์ฯ ประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะ ข้าราชการครู

วันนี้ ครูประถม.คอม ข่าวการศึกษา ได้นำ Infographic สรุปหลักเกณฑ์ฯ ประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะ ข้าราชการครู มาฝากกัน ซึ่งมีรายละเอียดแยกเป็น 5 ข้อใหญ่ๆ สำหรับครูท่านไหนที่ต้องการดูแบบสรุปเข้าใจง่าย ห้ามพลาดเลยค่า

ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 1/2564 ในวันจันทร์ที่ 25 มกราคม 2564 โดยมีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สำคัญ ดังนี้

           1. เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา 

สืบเนื่องจาก ก.ค.ศ. ได้มีมติเห็นชอบเกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพฐ. (ว 23/2563) และได้แจ้งเวียนให้กับส่วนราชการทราบและถือปฏิบัติ พร้อมทั้งแจ้ง คปร. เพื่อทราบแล้วนั้น ต่อมาสพฐ. ได้มีหนังสือขอชะลอการบังคับใช้เกณฑ์อัตรากำลังฯ มายัง ก.ค.ศ. โดยขอเริ่มบังคับใช้ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เนื่องจาก สพฐ. ได้จัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการฯ

เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตและสำนักริหารงานการศึกษาพิเศษ โดยพิจารณาจากความขาดอัตรากำลังข้าราชการครูในสถานศึกษา ตามเกณฑ์อัตรากำลังฯ เดิม ประกอบกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ได้ดำเนินการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูในสถานศึกษา โดยพิจารณาตามเกณฑ์อัตรากำลังฯ เดิม ทั้งในส่วนของการสรรหา และการพิจารณาย้ายข้าราชการครูในสถานศึกษาลงในตำแหน่งว่าง

ซึ่ง ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่า สพฐ. ได้ดำเนินการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตและสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ นำไปจัดสรรอัตราว่าง จากการเกษียณอายุราชการฯให้สถานศึกษาในสังกัด โดยพิจารณาจากข้อมูลความขาดอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ตามเกณฑ์อัตรากำลังฯ เดิม ประกอบกับเจตนารมณ์ของ ก.ค.ศ. ในการกำหนดเกณฑ์อัตรากำลังฯ ใหม่ (ว 23/2563) คือ เพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่งมีอัตรากำลังที่เหมาะสมกับบริบท สามารถจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีคุณภาพ และเพื่อยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กให้สูงขึ้น มีครูครบชั้น ครบวิชา

ซึ่ง ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อประโยชน์ของทางราชการและคุณภาพการศึกษาของประเทศ จึงให้ สพฐ. ดำเนินการบริหารอัตรากำลังในสถานศึกษาซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการตามเกณฑ์อัตรากำลังฯ เดิม จนถึงสิ้นปีการศึกษา 2563 และให้บริหารอัตรากำลังในสถานศึกษาตามเกณฑ์อัตรากำลังฯ ใหม่ ที่ ก.ค.ศ. กำหนด ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป

         2. อนุมัติ บรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ได้รับการคัดเลือกและผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้งฯ ให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 ราย  แบ่งเป็น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน 6 ราย และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 1 ราย

       3. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู

สืบเนื่องจาก ก.ค.ศ. ในคราวประชุมครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ได้เห็นชอบการกำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกตำแหน่งและทุกวิทยฐานะ สำหรับตำแหน่งครู ซึ่งเป็นการได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบใหม่ ให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงกับการจัดการศึกษาในปัจจุบัน และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งกำหนดลักษณะงานที่ปฏิบัติ 3 ด้าน คือ ด้านการจัดการเรียนรู้ ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ และด้านการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามโมเดลการศึกษายกกำลังสอง ของกระทรวงศึกษาธิการ ”ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง” 

จึงเป็นที่มาของการจัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู ซึ่งได้มีการศึกษา การระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการ มีผลการวิจัยเป็นฐานในการดำเนินการ รวมถึงได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ใหม่นี้ ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์กับผู้เรียน สถานศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับวิชาชีพครู เพื่อให้ครูได้พัฒนาตนเองให้มีศักยภาพสูงขึ้นตามระดับวิทยฐานะ และทำให้กระบวนการพัฒนาผู้เรียนเกิดขึ้นจากกระบวนการจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน

ทำให้ครูมีแนวทางในการพัฒนาตนเองที่ชัดเจน สามารถนำผลการพัฒนามาใช้ในการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน  นอกจากนี้ ผู้บริหารสามารถเข้าถึงครู และห้องเรียนมากยิ่งขึ้นจะทำให้ได้รับทราบปัญหา และสามารถนำมากำหนดแผนพัฒนาสถานศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน และยังเป็นการลดกระบวนการและขั้นตอน

โดยการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเป็นการลดภาระ  ในการจัดทำเอกสารและงบประมาณเกี่ยวกับการประเมิน เกิดการเชื่อมโยง บูรณาการในระบบการประเมินวิทยฐานะ การประเมินผลการปฏิบัติงาน การเลื่อนเงินเดือน และการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ

โดยใช้ตัวชี้วัดเดียวกัน ทำให้ลดความซ้ำซ้อน และมี Big data ในการบริหารงานบุคคลสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการฯ ใหม่นี้ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

            1. กำหนดให้ข้าราชการครูทุกคนทำข้อตกลงในการพัฒนางานกับผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นประจำทุกปี ประกอบด้วย 2 ส่วน

             ส่วนที่ 1 ข้อตกลงในการพัฒนางานตามมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ

             ส่วนที่ 2 ข้อตกลงในการพัฒนางานที่เสนอเป็นประเด็นท้าทายในการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน

โดยมีรอบการประเมินปีงบประมาณละ 1 ครั้ง โดยผลการประเมินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการบริหารงานบุคคล ได้แก่ ใช้เป็นคุณสมบัติในการขอรับการประเมินเพื่อให้มีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะใช้เป็นผลการประเมิน เพื่อคงวิทยฐานะ (มาตรา 55) และใช้เป็นองค์ประกอบในการประเมินเพื่อพิจารณาเลื่อนเงินเดือน

สำหรับการยื่นคำขอ ให้ยื่นได้ตลอดปี ภาคเรียนละ 1 ครั้ง โดยหากยื่นไว้แล้ว ต้องได้รับแจ้งมติไม่อนุมัติก่อน จึงจะยื่นในวิทยฐานะเดิมได้

         2. คุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอ

1) ต้องมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง/วิทยฐานะ 4 ปีติดต่อกัน หรือมีคุณสมบัติเป็นไปตามเงื่อนไขที่ ก.ค.ศ. กำหนด กรณีลดระยะเวลาจะต้องมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง/วิทยฐานะ 3 ปีติดต่อกัน

2) มีการพัฒนางานตามข้อตกลง ในช่วงระยะเวลาย้อนหลัง 3 รอบการประเมิน ผ่านเกณฑ์

3) ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย/จรรยาบรรณที่หนักกว่าภาคทัณฑ์ ในช่วง 4 ปีย้อนหลัง

4) สำหรับผู้ขอเลื่อนเป็นวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ/ครูเชี่ยวชาญพิเศษ ต้องมีผลงานทางวิชาการ

          3. การประเมิน กำหนดให้มีการประเมิน 2 ด้าน

             ด้านที่ 1 ด้านทักษะการจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน พิจารณาจาก

1) แผนการจัดการเรียนรู้ ที่ใช้จัดการเรียนรู้

2) ไฟล์วีดิทัศน์ที่แสดงให้เห็นถึงสภาพปัญหา ที่มาหรือแรงบันดาลใจในการจัดการเรียนรู้ตามข้อ 1)

             ด้านที่ 2 ด้านผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน

สำหรับวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญและครูเชี่ยวชาญพิเศษ จะมีการประเมินด้านที่ 3 คือ ด้านผลงานทางวิชาการด้วย

          4. การยื่นคำขอ ให้ยื่นคำขอและหลักฐานประกอบการประเมินผ่านระบบการประเมินวิทยฐานะดิจิทัล (Digital Performance Appraisal : DPA)

         5. เกณฑ์การตัดสิน ในแต่ละด้านต้องได้คะแนนจากกรรมการแต่ละคน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 สำหรับการขอมีวิทยฐานะครูชำนาญการ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ร้อยละ 75 และร้อยละ 80 สำหรับการขอเลื่อนเป็นวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ ครูเชี่ยวชาญ และครูเชี่ยวชาญพิเศษ ตามลำดับ

      โดยหลักเกณฑ์และวิธีการฯ นี้ จะประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564

          ทั้งนี้ ผู้ที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์เดิม (ว 17 , ว 21) สามารถดำเนินการคู่ขนานโดยยื่นคำขอตามหลักเกณฑ์เดิมได้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 และผู้ที่ประสงค์จะยื่นประเมินตามหลักเกณฑ์ใหม่ สามารถยื่นได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

 

ขอขอบคุณที่มา : สำนักงาน กคศ