ครม.เห็นชอบ! แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง)

วันนี้ ครูประถม.คอม ข่าวการศึกษา ได้นำรายละเอียดแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) มาฝากกันค่ะ ซึ่งเป็นแผนการปฏิรูปประเทศที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วด้วย ซึ่งเป็นแผนการปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน จะมีด้านไหนบ้าง ลองไปอ่านดูเลยค่า

Advertisements

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว

แผนการปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน คือ ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านสังคม ด้านพลังงาน ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ด้านการศึกษา และด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

สำหรับด้านการศึกษา (อยู่ในหน้า 293-323) กำหนดเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนทุกกลุ่มวัยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มีทักษะที่จำเป็นของโลกอนาคต สามารถแก้ปัญหา ปรับตัว สื่อสาร และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิผล มีวินัย มีนิสัยใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และเป็นพลเมืองที่รู้สิทธิและหน้าที่ มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ มีความรักและความภาคภูมิใจในความเป็นไทย

 

โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 3 ด้าน คือ ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ฉบับปรับปรุงนี้ มุ่งเน้นกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภาคการศึกษาที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียน ประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ 5 กิจกรรม คือ

  • กิจกรรมปฏิรูปที่ 1 การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย
  • กิจกรรมปฏิรูปที่ 2 การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21
  • กิจกรรมปฏิรูปที่ 3 การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน
  • กิจกรรมปฏิรูปที่ 4 การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีและระบบอื่นๆ ที่เน้นการฝึกปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ นำไปสู่การจ้างงานและการสร้างงาน
  • กิจกรรมปฏิรูปที่ 5 การปฏิรูปบทบาทการวิจัยและระบบธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน

มีประเด็นที่น่าสนใจในส่วนของ กิจกรรมปฏิรูปที่ 3 “ปรับเปลี่ยนการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐสู่ระบบเปิด เพื่อให้ได้มาและรักษาไว้ซึ่งคนเก่ง ดีและมีความสามารถอย่างคล่องตัว ตามหลักคุณธรรม” (หน้า 41-43) โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และองค์กรกลางบริหารงานบุคคลต่าง ๆ เป็นอย่างน้อยในการดำเนินการ ในช่วง 2 ปี (พ.ศ.2564-2565) จำนวน 9 ขั้นตอนและวิธีการดำเนินการปฏิรูป ดังนี้

  1. เปลี่ยนระบบการทำงานด้านบริหารทรัพยากรบุคคลเป็นระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ เพื่อการสรรหาคนดี คนเก่ง เข้าสู่ตำแหน่งสำคัญได้ทันการณ์ และปรับบทบาทการบริหารทรัพยากรบุคคลไปสู่งานเชิงกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรบุคคลได้เต็มศักยภาพ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ขององค์กร
  2. ดำเนินการจัดทำเอกสารอธิบายบทบาทหน้าที่ของตำแหน่งระดับสูงที่สำคัญ (Role Clarification) ทั้งตำแหน่งทางการเมืองและฝ่ายประจำ โดยเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อความโปร่งใส และสอบยันความรับผิดชอบได้อย่างชัดเจน
  3. ขยายอายุเกษียณราชการสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐตำแหน่งต่าง ๆ ยกเว้นผู้ดำรงตำแหน่งนักบริหาร และตำแหน่งที่ต้องใช้สมรรถภาพทางกายในการปฏิบัติหน้าที่ จากอายุ 60 ปี เป็น 63 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 และขยายอายุเกษียณเป็น 65 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2575
  4. สำรวจอัตราเงินเดือนและรายได้รวมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในกลุ่มตำแหน่งและสายงานต่าง ๆ ในส่วนราชการและองค์กรภาครัฐทั้งหมด เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบอัตราเงินเดือนและรายได้จริงของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานในลักษณะที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบใกล้เคียงกัน เพื่อให้การจัดทำโครงสร้างเงินเดือน และผลประโยชน์ตอบแทนอื่น ได้มาตรฐาน และเกิดความเป็นธรรมระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐภายในระบบ และเทียบเคียงได้ในตลาดแรงงานของประเทศ
  5. ปรับปรุงระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ อาทิ ระบบนักเรียนทุนรัฐบาล ระบบการสรรหาและการคัดเลือกบุคคล ระบบตำแหน่ง ระบบการประเมินบุคคลเข้าสู่ตำแหน่ง ระบบโอนย้ายบุคคล ระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานและการเลื่อนเงินเดือน ระบบวินัยและการลงโทษ เพื่อให้การบริหารคนในภาครัฐมีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การหมุนเวียน สับเปลี่ยน ถ่ายเทกำลังคนภายในภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  6. ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ข้าราชการไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานอื่น เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพทั้งในและต่างประเทศ (Secondment) ได้คล่องตัวมากขึ้น และส่งเสริมสนับสนุนการบรรจุบุคคลที่มีความชำนาญสูงจากนอกระบบราชการเข้าสู่ระบบราชการ (Lateral Entry) รวมทั้งสร้างระบบและกลไกสำหรับการสับเปลี่ยนหมุนเวียน และผ่องถ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยงานของรัฐกับหน่วยงานในภาคส่วนอื่น
    ให้มีความคล่องตัว
  7. พัฒนาระบบการจ้างงานรูปแบบใหม่ในภาครัฐ เพื่อให้มีกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะ ปฏิบัติงานในภารกิจที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนและชัดเจน สอดรับกับการทำงานรูปแบบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องมีจ้างงานตลอดชีพ (Non-career Employment) เพื่อให้สามารถสรรหาบุคลากรได้ทันการณ์
  8. พัฒนาความรู้และทักษะของบุคลากรภาครัฐเพื่อรองรับการทำงานภายใต้ภาวะชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) อาทิ ทักษะดิจิทัล ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงสร้างและพัฒนากรอบความคิด (Mindset) ให้กับบุคลากรภาครัฐทุกระดับพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
  9. มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดระเบียบบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ ไว้เป็นส่วนเฉพาะในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ในส่วนที่ 5) โดยให้มีสภาทรัพยากรบุคคลภาครัฐ รับผิดชอบในการวางยุทธศาสตร์การบริหารเจ้าหน้าที่ของรัฐในภาพรวมตามระบบคุณธรรม ทั้งในด้านมาตรฐานความรับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่และสังคม มาตรฐานในการสรรหา การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่ง มาตรฐานการพัฒนาและรักษาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีสมรรถนะและความสามารถสูงไว้ในระบบ มาตรฐานการกำหนดเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่น ๆ ในการทำงาน มาตรฐานความประพฤติ วินัย และจรรยาบรรณ การลงโทษ รวมทั้งพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อธำรงไว้ซึ่งคุณภาพและคุณธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อความเชื่อถือและไว้วางใจของประชาชนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยรวม

 

ขอขอบคุณที่มา : ราชกิจจานุเบกษา

Advertisements

Comments are closed.