Take a fresh look at your lifestyle.

รีบอ่านด่วน! แนวทางการจัดทำรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR)

วันนี้ ครูประถม.คอม ข่าวการศึกษาได้นำรายละเอียดเกี่ยวกับ แนวทางการจัดทำรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา (Self Assessment Report : SAR) มาฝากกันค่ะ สำหรับคุณครูท่านไหนที่สนใจรายละเอียด สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ด้านล่างเลยนะคะ

1. ก่อนการจัดทำรายงานการประเมินตนเอง สถานศึกษาต้องมีการประเมินคุณภาพภายใน ซึ่งเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาที่ต้องตรวจสอบและประเมินตนเองตามสภาพบริบทของสถานศึกษาที่แท้จริง โดยให้ความสำคัญกับการประเมินเชิงคุณภาพ ผนวกกับการประเมินเชิงปริมาณควบคู่กันไป
2. เมื่อประเมินคุณภาพภายในเสร็จสิ้น สถานศึกษาต้องจัดทำรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา โดยการจัดทำรายงานการประเมินตนเองเป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินงานทั้งหมดของสถานศึกษาที่ครอบคลุมมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา และนำเสนอรายงานต่อคณะกรรมการสถานศึกษา หน่วยงานต้นสังกัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งรายงานประเมินตนเองของสถานศึกษาจะเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาสถานศึกษา และรับการประเมินคุณภาพภายนอกต่อไป
3.ประโยชน์ของการจัดทำรายงานการประเมินตนเอง มีดังนี้
3.1 ทำให้สถานศึกษามีฐานข้อมูลการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา แนวทางการพัฒนาในอนาคต ที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาในปีถัดไป
3.2 สถานศึกษามีข้อมูลสารสนเทศเชิงประจักษ์ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและผู้เกี่ยวข้องให้ความสำคัญและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปฏิบัติงานเพื่อเป้าหมายที่กำหนดไว้ร่วมกัน
3.3 ทำให้พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้รับทราบผลการพัฒนา
การจัดการศึกษาของสถานศึกษาทั้งในส่วนที่ดี และส่วนที่ควรพัฒนา โดยมีการประชาสัมพันธ์ในวงกว้างและให้การช่วยเหลือสนับสนุนอย่างเหมาะสม
3.4 หน่วยงานต้นสังกัด ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีฐานข้อมูลในการกำหนดนโยบายการพัฒนาการจัดการศึกษาทั้งระดับประเทศและระดับเขตพื้นที่
3.5 สถานศึกษาใช้รายงานการประเมินตนเองเพื่อรับรองการประเมินคุณภาพภายในโดยหน่วยงานต้นสังกัด และรับการประเมินคุณภาพภายนอก จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน)
4. สถานศึกษาสามารถกำหนดรูปแบบรายงานประเมินตนเองของสถานศึกษาได้ตามความเหมาะสมและบริบทของสถานศึกษา โดยนำเสนอข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ การนำเสนอข้อมูลต่างๆ ไม่มีรูปแบบตายตัว แต่ควรมีความกระชับ รวบรัด จับประเด็นสำคัญๆมานำเสนอ และมีที่มาของหลักฐานที่ชัดเจน การจัดทำต้องไม่ยุ่งยากและเป็นภาระให้กับสถานศึกษา โดยเนื้อหาที่นำเสนอมุ่งเน้นตอบคำถาม 3 ข้อ ดังต่อไปนี้
4.1 มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษามีระดับคุณภาพใด
4.2 ข้อมูล หลักฐาน และเอกสารเชิงประจักษ์สนับสนุนมีอะไรบ้าง
4.3 แผนงาน / แนวทางพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นกว่าเดิม (อย่างน้อย 1 ระดับ) หรือคงสภาพอย่างไร
5. โครงสร้างของรายงานการประเมินตนเอง ประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักๆคือ ส่วนบทสรุปสำหรับผู้บริหาร และส่วนเนื้อหาสาระของการประเมินตนเอง โดยส่วนเนื้อหาสาระฯ ประกอบด้วยส่วนหลักๆ 2 ส่วน ได้แก่ 1) ข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษา และ 2) เนื้อหาสาระของการประเมินตนเองที่มุ่งตอบคำถาม 3 ข้อข้างต้น
6. เนื้อหาที่นำเสนอในรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษาในแต่ละส่วนมีแนวทางดังนี้
6.1 บทสรุปสำหรับผู้บริหาร ควรนำเสนอไม่เกิน 2 หน้า สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงผลกระทบของสิ่งที่สถานศึกษาได้ลงมือทำเพื่อพัฒนาคุณภาพด้านต่าง ๆ การนำเสนอจะต้องมีความกระชับ รัดกุม จับประเด็นสำคัญ และตอบคำถามเนื้อหา 3 ข้อข้างต้น โดยบทสรุปการประเมินตนเองจะมีประสิทธิภาพที่สุดเมื่อ (1) กระชับ รวบรัด จับประเด็นสำคัญ และมีที่มาของหลักฐานที่ชัดเจน (2) เป็นการประเมินไม่ใช่แค่บรรยาย (3) สื่อให้เห็นอย่างชัดเจนถึงผลกระทบของสิ่งโรงเรียนที่ได้ลงมือทำเพื่อพัฒนาคุณภาพด้านต่าง ๆ (เช่น ด้านผู้เรียน ด้านผู้สอน ด้านบริหาร ด้านปัจจัยพื้นฐาน เป็นต้น)
6.2 ส่วนที่เป็นเนื้อหาการประเมินตนเอง มีดังนี้
6.2.1 ข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษา โดยนำเสนอข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษาให้เหมาะสมตามบริบทของสถานศึกษา ใช้ภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย การนำเสนออาจเป็นความเรียง ตาราง แผนภูมิ รูปภาพ หรือกราฟ เช่น ข้อมูลทั่วไป ข้อมูลผู้บริหาร ข้อมูลนักเรียน ข้อมูลครูและบุคลากร ข้อมูลงบประมาณ ข้อมูลสภาพชุมชนโดยรวม เป็นต้น
6.2.2 การตอบคำถามข้อ 1 มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษามีระดับคุณภาพใด ให้ระบุระดับคุณภาพของสถานศึกษา นำเสนอทั้งรายด้าน จำนวน 3 มาตรฐาน และภาพรวมของสถานศึกษา ซึ่งระดับคุณภาพจะประกอบไปด้วย 5 ระดับ คือ ระดับกำลังพัฒนา ระดับปานกลาง ระดับดี ระดับดีเลิศ และระดับยอดเยี่ยม
6.2.3 การตอบคำถามข้อ 2 ข้อมูล หลักฐาน และเอกสารเชิงประจักษ์สนับสนุนมีอะไรบ้าง ให้เน้นนำเสนอข้อมูล หลักฐานการประเมินเชิงประจักษ์ที่เกิดจากการปฏิบัติงานตามสภาพจริงของสถานศึกษา (evidence based) โดยเลือกใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เหมาะสมและสะท้อนคุณภาพการดำเนินงานตามมาตรฐานของสถานศึกษาได้อย่างชัดเจน ลดภาระการจัดเก็บข้อมูลและเอกสารที่ไม่จำเป็นในการประเมิน ข้อมูลต้องมีความน่าเชื่อถือและสามารถตรวจสอบผลการประเมินได้ตามสภาพบริบทของสถานศึกษานั้น ๆ โดยข้อมูลที่นำเสนอในการตอบคำถามข้อ 2 นี้ สามารถจำแนกเป็นรายด้านได้ดังนี้
(1) ด้านคุณภาพของผู้เรียน ข้อมูลที่นำเสนอ เช่น
(1.1) ค่าเฉลี่ยของผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET)
(1.2) ผู้เรียนมีผลการประเมินความสามารถด้านการอ่าน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ระดับดีขึ้นไป
(1.3) ผู้เรียนมีผลการทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ระดับดีขึ้นไป
(1.4) ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรวมทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ตั้งแต่ 3.0 ขึ้นไป
(1.5) ผู้เรียนมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศ
(1.6) ผู้เรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรในระดับดีขึ้นไป
(1.7) ผู้เรียนมีสุขภาพที่ดี
เป็นต้น
(2) ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ ข้อมูลที่นำเสนอ เช่น
(2.1) ผลการประเมินสมรรถนะของผู้บริหารสถานศึกษา
(2.2) สถานศึกษามีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
(2.3) การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ
(2.4) ผู้ปกครองนักเรียนที่รับทราบข่าวสารจากสถานศึกษา
(2.5) ความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อการดำเนินงานของสถานศึกษา
(2.6) การมีส่วนร่วมทางการศึกษาของชุมชนและสังคม
เป็นต้น
(3) ด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ ข้อมูลที่นำเสนอ เช่น
(3.1) ผู้สอนมีการประเมินสมรรถนะในระดับดีขึ้นไป
(3.2) ผู้สอนสอนตรงตามวุฒิการศึกษาและมีภาระงานที่เหมาะสม
(3.3) ผู้สอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้มีความสามารถในการจัดการเรียนรู้ในระดับดีขึ้นไป
(3.4) ผู้สอนมีความสามารถและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศในการจัดการเรียนรู้ในระดับดีขึ้นไป
(3.5) ความสามารถในการจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning)
(3.6) ผู้สอนใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย
(3.7) สถานศึกษาจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่ทำให้ผู้เรียนค้นพบความถนัด รู้จักอาชีพและแนวทางการศึกษาต่อ
เป็นต้น
6.2.4 การตอบคำถามข้อ 3 แผนงาน แนวทางพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นกว่าเดิม (อย่างน้อย 1 ระดับ) หรือคงสภาพอย่างไร โดยสถานศึกษานำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา การพัฒนาคุณภาพในปีต่อไป เพื่อยกระดับคุณภาพให้สูงขึ้น สถานศึกษาอาจนำเสนอแผนงาน/โครงการที่จะพัฒนาออกเป็นด้านต่าง ๆ ตามความสามารถที่จะดำเนินการได้ ตัวอย่างเช่น
(1) แผนงาน/โครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
(2) แผนงาน/โครงการพัฒนาคุณภาพครูในเรื่องต่างๆ
(3) แผนงาน/โครงการพัฒนาด้านอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อม
(4) แผนงาน/โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการของสถานศึกษา
เป็นต้น
นอกจากนี้ สถานศึกษาสามารถนำเสนอข้อมูลอื่นๆ ในภาคผนวกได้เช่นกัน แต่จะต้องเป็นข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้น เพื่อไม่ให้การจัดทำเอกสารมีจำนวนมากและเป็นภาระในการดำเนินการ

 

ขอขอบคุณที่มา : ดร.วิษณุ ทรัพย์สมบัติ

นอกจากนี้คุณยังอาจต้องการ

ความเห็นถูกปิด

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี