ด่วนล่าสุด! ผลการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ครั้งที่ 5/2564

วันนี้ ครูประถม.คอม ข่าวการศึกษา ได้นำรายละอียดผลการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ครั้งที่ 5/2564 มาฝากกัน ซึ่งเป็นการประชุมที่หลายๆโรงเรียนให้ความสนใจ ซึ่งครั้งนี้ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา

เมื่อวันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติรับทราบและพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

Advertisements
  1. รับทราบมติคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพในการประชุมครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 เรื่อง การขอประกอบวิชาชีพควบคุมของข้าราชการสังกัดกระทรวงกลาโหม ที่ประชุมเห็นชอบให้ข้าราชการสังกัดกระทรวงกลาโหมประกอบวิชาชีพครูและผู้บริหารสถานศึกษา โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นการชั่วคราว เฉพาะโรงเรียนที่ได้รับอนุญาตเป็นเวลา 2 ปี โดยจำนวนครั้งของการขออนุญาตให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง บุคคลผู้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นการชั่วคราว เพื่อพัฒนาตนให้มีคุณสมบัติในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ภายในระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต และเห็นชอบให้บุคคลที่มีความจำเป็นต้องทำหน้าที่สอนในสถานศึกษาที่มีสถานะเป็นเอกชน หรือสังกัดอื่น ๆ ขออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นการชั่วคราวได้ โดยให้สถานศึกษาเป็นผู้ขออนุญาตต่อคุรุสภาเพื่อพิจารณาเป็นรายกรณี
  2. รับทราบการให้ศูนย์การศึกษาพิเศษเป็นสถานศึกษาสำหรับฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียนและการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรที่คุรุสภาให้การรับรอง ของสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 5 สถาบันรวมจำนวน 21 คน ประกอบด้วย 1) วิทยาลัยสันตพล ได้แก่ ศูนย์การศึกษาพิเศษ จำนวน 2 แห่ง จำนวน 6 คน 2) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้แก่ ศูนย์การศึกษาพิเศษ จำนวน 1 แห่ง จำนวน 1 คน 3) วิทยาลัยนครราชสีมา ได้แก่ ศูนย์การศึกษาพิเศษ จำนวน 2 แห่ง จำนวน 2 คน 4) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้แก่ ศูนย์การศึกษาพิเศษ จำนวน 1 แห่ง จำนวน 4 คน และ 5) มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แก่ ศูนย์การศึกษาพิเศษ จำนวน 3 แห่ง จำนวน 8 คน
  3. เห็นชอบแนวทางการพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ซึ่งผ่านการพิจารณาศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ครั้งที่ 1/2564 ทั้งในหลักกฎหมาย หลักวิชาการ และหลักการในการควบคุมการประกอบวิชาชีพครู ดังนี้
    1) เห็นชอบแนวทางการพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ตามที่คณะอนุกรรมการพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบฯ เสนอ โดยการปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู พ.ศ. 2563 ตามแนวทาง ดังนี้
    1.1) ปรับปรุงการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู โดยการยกเลิกการสอบ “วิชาเอก”
         1.2) ให้มีการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ได้แก่ 1) การทดสอบความรู้ฯ โดยใช้แบบทดสอบ จำนวน 4 วิชา ประกอบด้วย วิชาการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร วิชาการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร วิชาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา และวิชาชีพครู 2) เกณฑ์การตัดสินการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู แต่ละวิชาต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 โดยให้คำนึงถึงค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐานของข้อสอบประกอบการพิจารณา และ 3) ให้มีการเทียบเคียงผลการทดสอบ จากหน่วยทดสอบต่าง ๆ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะอนุกรรมการอำนวยการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูกำหนด
    1.3) ให้มีการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านการปฏิบัติงานและการปฏิบัติตน ตามมาตรฐานวิชาชีพครู โดยใช้แบบประเมินทั้ง 3 ด้าน ไว้คงเดิม ได้แก่ 1) การจัดการเรียนรู้ 2) ความสัมพันธ์กับผู้ปกครองและชุมชน และ 3) การปฏิบัติหน้าที่ครู และจรรยาบรรณของวิชาชีพ
    1.4) ไม่นำผลการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ในวิชาเอก ของผู้เข้ารับการทดสอบ ครั้งที่ 1/2564 มาใช้เป็นเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
    2) เห็นชอบให้ดำเนินการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ตามประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบฯ พ.ศ. 2563 เฉพาะการสอบ จำนวน 4 วิชา ตั้งแต่ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป และมอบคณะอนุกรรมการพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู พ.ศ. 2563 เสนอต่อคณะกรรมการคุรุสภาพิจารณาต่อไป
  4. ให้การรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษา จำนวน 104 แห่ง 450 หลักสูตร ประกอบด้วย 1) ปริญญาตรีทางการศึกษา (หลักสูตร 4 ปี) จำนวน 98 แห่ง 431 หลักสูตร 2) ปริญญาโททางการศึกษา (วิชาชีพครู) จำนวน 4 แห่ง 4 หลักสูตร 3) ปริญญาเอกทางการศึกษา (วิชาชีพครู) จำนวน 1 แห่ง 1 หลักสูตร 4) ปริญญาโททางการศึกษา (วิชาชีพบริหารการศึกษา) จำนวน 9 แห่ง 9 หลักสูตร และ 5) ปริญญาเอกทางการศึกษา (วิชาชีพบริหารการศึกษา) จำนวน 5 แห่ง 5 หลักสูตร และเห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงรายละเอียดปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษา จำนวน 13 แห่ง 25 หลักสูตร ประกอบด้วย 1) ปริญญาตรีทางการศึกษา (หลักสูตร 5 ปี) จำนวน 9 แห่ง 21 หลักสูตร และ 2) ปริญญาโททางการศึกษา (วิชาชีพบริหารการศึกษา) จำนวน 4 แห่ง 4 หลักสูตร
  5. เห็นชอบให้คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม เป็นสถานศึกษาสำหรับปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา ของนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาชีพครู มหาวิทยาลัยนครพนม ปีการศึกษา 2562 จำนวน 2 คน (เป็นรายกรณี) ตามมติคณะอนุกรรมการประเมินเพื่อการรับรองปริญญาทางการศึกษา ระดับบัณฑิตศึกษา ในการประชุมครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม 2563 และอนุมัติในหลักการให้นักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรที่คุรุสภาให้การรับรองปฏิบัติการสอนในสถาบันอุดมศึกษา ที่มีการจัดการเรียนการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ได้
  6. เห็นชอบให้แต่งตั้งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานอนุกรรมการจัดงานวันครู ครั้งที่ 66 พ.ศ. 2565 และมอบประธานพิจารณาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการร่วมคณะตามที่เห็นสมควร
  7. เห็นชอบ (ร่าง) แผนการบริหารจัดการความเสี่ยงของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และมอบสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาดำเนินการบริหารจัดการความเสี่ยงตามแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
  8. เห็นชอบ (ร่าง) การกำหนดตัวชี้วัดของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ตามกรอบการประเมินองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 วิธีการสำรวจ และแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้รับบริการต่อการให้บริการของคุรุสภา
  9. อนุมัติให้ออกหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพ ให้ผู้สอบแข่งขันได้ ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี พ.ศ. 2564 ที่มีคุณวุฒิในประเภทวิชา หรือกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอกที่ขาดแคลนหรือมีความจำเป็นต่อการจัดการเรียนการสอนเป็นพิเศษ ตามที่ส่วนราชการกำหนด จำนวน 11 กลุ่มวิชา ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเสนอขอให้คุรุสภาพิจารณาอนุญาต เป็นเวลา 2 ปี โดยจำนวนครั้งของการขออนุญาตให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง บุคคลผู้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นการชั่วคราว เพื่อพัฒนาตน
    ให้มีคุณสมบัติในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ภายในระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต

 

ขอขอบคุณที่มา : คุรุสภา

Advertisements

Comments are closed.