“พาน้องกลับมาเรียน” โครงการสำคัญ ศธ. ตั้งเป้าพาเด็กหลุดระบบการศึกษา กลับเข้าเรียน 100%

ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้สำรวจพบว่า มีเด็กตกหล่นที่หลุดออกจากระบบการศึกษามากถึง 238,707 คน รัฐบาลและทุกหน่วยงานพยายามหาแนวทางช่วยกันทุกวิถีทาง ที่จะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กเหล่านี้ เพราะหลายคนที่ออกจากระบบการศึกษา ไม่ใช่เฉพาะปัญหาจากการแพร่ระบาดโควิด 19 แต่มีเหตุผลอื่น ๆ เช่น ความจำเป็นของครอบครัว เพื่อน หรือสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งเป็นบริบทโดยรวมที่ต้องหาข้อมูลเหล่านี้ เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาไปทีละจุด

Advertisements

นายวีระ แข็งกสิการ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “ตรีนุช เทียนทอง” เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงได้มีการแก้ปัญหาเชิงรุกผ่านโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ด้วยความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) พร้อมด้วย 11 พันธมิตร ประกอบด้วยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กรุงเทพมหานคร และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ซึ่งถือเป็นความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ และนับเป็นครั้งแรกที่จะบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้ทราบถึงจำนวนเด็กในปัจจุบัน ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา และจะมีการลงติดตามถึงบ้าน เพื่อตามเด็กเหล่านี้กลับสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง

 

ในขณะที่รัฐบาล “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ให้การสนับสนุนเดินหน้าในเรื่องนี้เต็มที่ โดยเข้ามาเป็นประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” ซึ่ง ศธ.จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 ถือเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือจากหน่วยงานและพันธมิตรทั้ง 12 หน่วยงาน

MOU พาน้องกลับมาเรียน โดยนายกฯ เป็นประธาน

ย้อนกลับไปภายในเวลาไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น หลายหน่วยงานได้เริ่มต้นลงพื้นที่ปักหมุดค้นหาเด็กหลุดออกนอกระบบไปบ้างแล้ว ทำให้ในช่วงเดือนมกราคม 2565 ที่เริ่มต้นโครงการ มีตัวเลขจำนวนนักเรียน นักศึกษา นักเรียนพิการ และผู้พิการ ที่ตกหล่นและออกกลางคัน เหลือ 121,642 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียน นักศึกษา กลุ่มปกติ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) รวมทั้งสิ้น  67,129 คน พบตัวแล้ว 52,760 คน

ในจำนวนที่พบตัวนี้ มีเด็กที่กลับเข้าระบบการศึกษา 31,446 คน ไม่กลับเข้าระบบ 21,314 คน อยู่ระหว่างการติดตาม 5,628 คน และติดตามแล้วไม่พบตัว 8,741 คน ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มนักเรียนพิการ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) สพฐ. และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักศึกษา กศน.อายุเกิน 18 ปี ที่เกินวัยการศึกษาภาคบังคับ และมีความต้องการประกอบอาชีพ

Advertisements

จากการติดตามลงพื้นที่จริงดังกล่าวทั่วประเทศ ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 จึงถือเป็นเฟสแรกในการดำเนินงานโครงการ ส่งผลให้มีจำนวนเด็กที่หลุดออกนอกระบบลดน้อยลง เหลือ 1 หมื่นกว่าคนเท่านั้น

ปัจจัยสู่ความสำเร็จของการดำเนินงาน เกิดจากการประสานการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่ลงพื้นที่และการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง มีการนำเทคโนโลยีเชื่อมโยงข้อมูล (Big Data) มาใช้เป็นเครื่องมือในการติดตาม ค้นหา และบันทึกผลการติดตาม ผ่านแอปพลิเคชัน “พาน้องกลับมาเรียน” และเว็บไซต์ dropout.edudev.in.th ที่สำคัญเกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของผู้บริหาร ครู และบุคลากรการศึกษา ในการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็ก เพื่อค้นหาเด็กตกหล่นและเด็กออกกลางคัน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปัญหาอุปสรรคที่พบมีหลายด้านเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น

  • ปัญหาด้านครอบครัว เนื่องจากนักเรียนที่หลุดระบบการศึกษาส่วนใหญ่มีฐานะยากจน มีปัญหาด้านค่าใช้จ่าย ครอบครัวหย่าร้าง ต้องช่วยพ่อแม่ประกอบอาชีพหารายได้เลี้ยงครอบครัว ประกอบกับมีพี่น้องหลายคนอาศัยอยู่กับปู่ย่า ตายาย จึงทำให้ไม่สามารถเข้าเรียนในระบบได้
  • ปัญหาด้านการบันทึกข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน เช่น นักเรียนได้ย้ายสถานศึกษาจากโรงเรียนเดิมไปแล้ว ซึ่งโรงเรียนได้ดำเนินการย้ายนักเรียนตามขั้นตอนดำเนินงานที่ถูกต้องแล้ว หรือนักเรียนจบการศึกษาในระดับชั้น ม.3 จากโรงเรียนขยายโอกาสฯ ไปแล้ว แต่ยังมีข้อมูลนักเรียนว่าเป็นนักเรียนออกกลางคัน
  • นักเรียนมีอายุเกินเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ โรงเรียนได้จำหน่ายนักเรียนออกจากฐานข้อมูลนักเรียนไปแล้ว แต่ยังมีข้อมูลนักเรียนว่าเป็นนักเรียนออกกลางคัน
  • ข้อมูลนักเรียนไม่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ มีหลายฐานข้อมูล ส่งผลกระทบต่อการติดตามในเชิงพื้นที่
  • ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนในช่วงโควิด 19 ทำให้เรียนไม่ทัน จึงหยุดเรียน ประกอบกับผู้ปกครองพาเด็กไปทำงานรับจ้าง ส่งผลกระทบต่อการติดตามตัวเด็ก
  • ความหลากหลายของชาติพันธุ์นักเรียน เช่น กระเหรี่ยง มูเซอ แม้ว ไทยใหญ่ และประเทศเพื่อนบ้านที่อพยพมาจากพื้นที่ชายขอบ ที่มีวิถีทางขนบธรรมเนียมของแต่ละชนเผ่าที่เน้นให้ความสำคัญกับการดำรงชีวิต มากกว่าการมุ่งให้ความสำคัญในการศึกษา

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การทำงานในเรื่องนี้เป็นไปตามเป้าหมาย ศธ.จึงมีข้อเสนอว่า อาจต้องแนะนำให้นักเรียนเข้าเรียนการศึกษานอกระบบ (กศน.) หรือเรียนสายวิชาชีพ เพื่อจะได้ประกอบอาชีพหารายได้เลี้ยงครอบครัว และสามารถเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับหรือการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมทั้งเร่งพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลนักเรียนในแอปพลิเคชัน Dropout ของ สพฐ. ให้เป็นระบบเดียวกัน เป็นปัจจุบัน และเชื่อมโยงกับข้อมูลของสถานศึกษาทุกสังกัด โดยใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อป้องกันการบันทึกข้อมูลซ้ำซ้อนของสถานศึกษา หรือการเปลี่ยนชื่อ-สกุลของนักเรียน โดยให้หน่วยงานในระดับจังหวัดและภาคเข้ามาช่วยเรียกดูข้อมูลในภาพรวมของจังหวัดและภาคของตนเองได้ทันที เพื่อความรวดเร็วในการประสานงานและเก็บรวบรวมข้อมูล โดยมีการติดตามทุกภาคเรียน เพื่อความชัดเจนของข้อมูล

แฟ้มภาพ : ตรีนุช เทียนทอง ลงพื้นที่โรงเรียน จ.สระแก้ว

รมว.ศธ. กล่าวถึงผลของความสำเร็จในการพาน้องที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา ให้กลับเข้ามาเรียน จึงไม่เฉพาะ ศธ.ดำเนินการตามลำพังเท่านั้น แต่เป็นความท้าทายของทุกภาคส่วน ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่จะร่วมมือกันทุกวิถีทางที่จะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กเหล่านี้ โดยพร้อมจะผลักดันและจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้ผู้เรียนเพิ่มขึ้น เพื่อลดภาระให้ผู้ปกครอง รวมถึงการกำหนดข้อกำหนดพิเศษในการจัดสรรทุนให้กับนักเรียนยากจนพิเศษเหล่านี้

ที่สำคัญ เราต้องการความร่วมมือจากภาคเอกชน ในการเข้ามาโอบอุ้มดูแลเด็กยากจนหรือกลุ่มเปราะบางให้มากขึ้น เพราะสิ่งสำคัญกว่าการพากลับเข้ามาในระบบการศึกษาแล้ว จะต้องดูแล ส่งเสริม สนับสนุนเด็กกลุ่มนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษาไปอีก ซึ่งถือเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนในสังคม ที่ตั้งเป้าตัวเลขเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ต้องเป็น “ศูนย์” ภายในปี 2565 นี้

รมว.ศธ.พร้อมด้วย รมช.ศธ.กนกวรรณ และผู้บริหาร ศธ. ในวัน MOU โครงการกับพันธมิตร 11 หน่วยงาน
วีระ แข็งกสิการ รองปลัด ศธ.และโฆษก ศธ.

Comments are closed.