Take a fresh look at your lifestyle.

การแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ครบวงจร แก้ง่ายนิดเดียว

วันที่ 8 กันยายน 2565 เป็นที่พูดถึงกันมาก สำหรับการอ่านออกเขียนได้ในระดับพื้นฐานที่เพียงพอสำหรับการสื่อสารและการเรียนรู้วิชาการต่างๆ เป็นความจำเป็นพื้นฐานของผู้เรียนทุกระดับ แต่จากข้อมูลการทดสอบประเมินทั้งในระดับพื้นที่และระดับชาติปัจจุบันกลับพบว่ายังมีผู้เรียนจำนวนมากที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในระดับพื้นฐานดังกล่าว และจากการทดสอบเขียนตามคำบอกจาก “คำตรงมาตราทั้ง ๙ แม่ซึ่งมีพยัญชนะต้นครอบคลุมอักษรสามหมู่ ครอบคลุมสระไม่น้อยกว่า ๒๐ สระขึ้นไป
รวมทั้งครอบคลุมคำควบกล้ำ คำอักษรนำ และคำผันเสียงวรรณยุกต์ทุกหมู่อักษร” ที่ผู้เขียนได้ทดสอบกับผู้เรียนตั้งแต่ ป.๒ ขึ้นไปในภูมิภาคต่างๆ ปรากฏว่ามีผู้ได้คะแนนไม่ผ่านร้อยละ ๕๐ อยู่ที่ระหว่างร้อยละ ๒๐ – ๘๐ ของแต่ละโรงเรียน โดยที่การดำเนินการแก้ไขปัญหาของโรงเรียนก็ยังเป็นไปแบบไม่แม่นตรง ไม่ก่อให้เกิดสัมฤทธิผลในการแก้ไขอย่างแท้จริง ผู้เรียนที่ยังคงถูกทอดทิ้งให้อยู่ในโลกมืดของการอ่านเขียนยังมีอีกมากมาย
ผู้เขียนได้มีส่วนร่วมกับการดำเนินกิจกรรมแก้ปัญหาเรื่องนี้ทั้งเขียนหนังสือชื่อ “เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว” ให้การอบรมผู้บริหารสถานศึกษา ครู และผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำโครงการจัดครูอาสาปฏิบัติการสอนเชิงวิจัยและกำกับตามนิเทศแบบมีส่วนร่วม ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน (๒๕๕๗) กระทั่งได้ข้อสรุปอันเป็นสาระสำคัญในการดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบครบวงจร เพื่อให้โรงเรียนสามารถป้องกันปัญหา แก้ปัญหา และรักษาคุณภาพการอ่านออกเขียนได้ที่ยั่งยืนและเป็นต้นแบบแก่โรงเรียนอื่นๆ ต่อไป จะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
แนวทางดำเนินการป้องกันและแก้ปัญหา
หลักการดำเนินการ “ป้องกันปัญหาและแก้ปัญหาเพื่อประกันการอ่านออกเขียนได้ยั่งยืน” ซึ่งให้แนวทางในหนังสือ เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว ของ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ นั้นมีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

๑.วิเคราะห์เหตุแห่งปัญหา

พบว่า เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มีสาเหตุมาจาก
๑.๑ ครูสอนผิดวิถีการสอนภาษาไทย
๑.๒ ครูจัดการเรียนการสอนไม่ครบกระบวนทักษะ โดยเฉพาะความผิดพลาดสำคัญที่เกิดแก่ชั้น ป.๑ จากสาเหตุต่อไปนี้
(๑) ครู ป.๑ มักไม่ค่อยได้เขียนแบบฝึกอ่านบนกระดานดำเหมือนครูรุ่นเก่า เด็กๆ จึงขาดจุดเน้นนำสายตา ทำให้ความสนใจเนื้อหาลดลง การเปล่งเสียงอ่านคำในหนังสือเรียนที่ครูไม่อาจรู้ได้ว่าเด็กๆ แต่ละคนจะตามคำอ่านได้ตรงกับที่ครูอ่านหรือไม่ และนอกจากนั้นครูยังนำฝึกปฏิบัติน้อย ไม่ได้นำฝึกให้สมบูรณ์ทักษะอย่างจริงแท้
(๒) หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดให้ชั้น ป.๑ ต้องเรียนสาระต่างๆ รวม ๘ สาระเหมือนกับชั้นอื่นๆ เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรงเรียนยังจัดเวลาสำหรับการเรียนการสอนภาษาไทย ป.๑ น้อยเกินไป ไม่เพียงพอกับการฝึกทักษะเท่าที่ควรจะเป็น
(๓) โรงเรียนหลายแห่งจัดจำนวนนักเรียนในชั้น ป.๑ ต่อห้องมากเกินไป กล่าวคือมีจำนวนเด็ก ป.๑ ระหว่าง ๓๐-๔๕ คนต่อห้องก็มี ซึ่งถ้าจะจัดจำนวนเด็กที่เหมาะควรให้สามารถควบคุมคุณภาพการอ่านออกเขียนได้นั้นไม่ควรเกิน ๒๕ คนต่อห้อง (ฟังมาว่าที่ประเทศฟินแลนด์ซึ่งจัดการการศึกษาได้ดีเป็นอันหนึ่งของโลกนั้น กำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้อง ๑๒-๒๐ คนเท่านั้น)
(๔) การจัดให้เด็กพิเศษ (เด็กบกพร่องการเรียนรู้) เรียนร่วมกับเด็กปกติก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้ครูไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพครบถ้วนไปพร้อมๆ กันได้ เพราะต้องมัวห่วงหน้าพะวงหลัง ส่งผลให้เด็กปกติได้เรียนอย่างไม่เต็มศักยภาพ และเด็กพิเศษก็จะถูกทิ้งหรือเรียนไม่ทันผู้อื่น กลายเป็นปมด้อยซ้ำซ้อน
…เมื่อเด็กๆ ผ่านชั้น ป.๑ ขึ้นไปด้วยความไม่พร้อม อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ก็กลายเป็นปัญหาลูกโซ่กับสาระการเรียนรู้อื่นๆ ในชั้น ป.๒ และชั้นสูงๆ ขึ้นไปไม่สิ้นสุด
๑.๓ ผู้บริหารสถานศึกษาจัดวางตัวครูอนุบาลและครู ป.๑ ไม่เหมาะบุคคล รวมทั้งมอบหมายแนวทางการจัดการเรียนการสอนไม่ถูกต้อง
๑.๔ ผู้บริหาร นักวิชาการ และนักการศึกษาผู้กำหนดแผนงานและนโยบายระดับต่างๆ ไม่เข้าใจเหตุแห่งปัญหา ไม่สามารถกำหนดแนวทางในการจัดการเรียนการสอน การกำกับติดตาม และนิเทศให้ถูกต้องแท้จริง
๑.๕ ครูมีงานอื่นๆ มากเกินไป ทำให้งานสอนถูกแย่งเวลาไปเป็นอันมาก ในที่สุดก็ลดทอนคุณภาพการเตรียมการสอน ขาดประสิทธิภาพการสอน ไม่มีเวลาติดตามแก้ปัญหาเด็กอย่างใกล้ชิด และไม่มีเวลาซ่อมเสริมทักษะ ปัญหานี้สืบเนื่องจากการบริหารจัดการที่ไม่ดี ไม่สะสางขยะทางวิชาการ กระทั่งกลายเป็นสิ่งปกคลุมคุณค่าที่แท้จริงของการศึกษา

๒.การแก้ปัญหา

การแก้ปัญหาจะต้องจัดทำแผนงานโครงการเป็น ๒ โครงการสำคัญ คือ

๒.๑ โครงการป้องกันปัญหา

โครงการนี้จะต้องจัดทำอย่างจริงจังและถูกต้องเพื่อป้องกันปัญหาแบบยั่งยืนที่ชั้น อนุบาล และชั้น ป.๑ นั่นก็คือ
(๑) จัดกิจกรรมการเรียนการสอนระดับอนุบาลด้วยการเตรียมความพร้อมด้านทักษะภาษาก่อนขึ้น ป.๑ ดังนี้
-เปล่งคำ (จากการดู ฟัง สัมผัส ฯลฯ) และเปล่งเสียงพูดตามครูให้ชัดเจนทุกเสียงอักขระในถ้อยคำที่เป็นชื่อนามสิ่งต่างๆ ไม่น้อยกว่าระดับชั้นอนุบาลละ ๕,๐๐๐ คำ
(รวมทั้งเปล่งเสียงท่องบทอาขยานและร้องเพลงตามครู ฝึกพูดสื่อสารถามตอบได้ชัดเจนตามเสียงอักขระและเสียงคำควบกล้ำ, ฟังนิทาน เรื่องเล่า และพูดถามตอบได้ชัดเจนตามเสียงอักขระและเสียงคำควบกล้ำ)
-เปล่งเสียงท่องพยัญชนะ ก – ฮ หรือร้องเป็นเพลง เปล่งเสียงสระสั้นยาวทั้ง ๓๒ สระ ได้ถูกฐานเสียงจนเกิดทักษะจดจำได้ตามศักยภาพ
-มีพัฒนาการการจับดินสอ ปรับระยะสายตา เขียนเส้นลีลาต่างๆ และวาดรูปอย่างมีทักษะสมบูรณ์ก่อนการเขียนตัวอักษร
-สามารถเขียนพยัญชนะ ก – ฮ สระเดี่ยว วรรณยุกต์ทั้ง ๔ รูป และตัวเลข ๐-๙
ฝึกเตรียมทักษะด้านภาษาเพียงเท่านี้ให้ได้อย่างครบถ้วนแท้จริง โดยไม่ต้องฝึกอ่านและเขียนคำ เพราะขั้นตอนการฝึกอ่านและเขียนคำเป็นหน้าที่ของครู ป.๑ การเร่งฝึกอ่านเขียนก่อนวัยอันสมควร จะเป็นโทษแก่เด็กมากกว่าเป็นผลดี ซ้ำยังทำให้ครูอนุบาลไม่มีเวลาฝึกเตรียมทักษะพื้นฐานข้างต้นให้สมบูรณ์เพียงพออีกด้วย
(๒) จัดการเรียนการสอนภาษาไทย ป.๑ เพื่อการอ่านออกเขียนได้อย่างมีมาตรฐาน ดังนี้
-จัดให้มีจำนวนเด็ก ป.๑ ห้องละไม่เกิน ๒๕ คน
-ในกรณีที่โรงเรียนใดมีนักเรียนชั้น ป.๑ มากกว่า ๑ ห้อง ให้คัดแยกเด็กแต่ละห้องตามศักยภาพการเรียนรู้ที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้จัดการเรียนการสอนง่าย ให้เด็กสามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะไปได้พร้อมๆ กัน (การจัดให้เด็กคละศักยภาพอยู่ในห้องเดียวกันจะส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้หลายประการ ดังได้กล่าวข้างต้นแล้ว)
-ครูจัดทำชาร์ตแบบฝึกอ่านเขียนที่ถูกต้องและมีมาตรฐาน ในที่นี้ขออ้างอิงตามหนังสือ เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว ของ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ บทที่ ๓-๖
-ครูจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบันไดทักษะ ๔ ขั้นวันละ ๒ ชั่วโมง
-นักเรียนมี “สมุดคัดลายมือ” ที่แสดงผลการเรียนต่อเนื่อง
-นักเรียนมี “สมุดเขียนตามคำบอก” ที่แสดงผลการเรียนต่อเนื่องอย่างสอดคล้องกับสมุดคัดลายมือ และแสดงผลการแก้ไขปรับปรุงอย่างมีพัฒนาการ
-ครูมีบัญชีแสดงการมาเรียนของนักเรียน
-เมื่อสอนครบเนื้อหาหลักสูตรได้มีการทดสอบ “เขียนตามคำบอก” ด้วยคำมาตรฐาน ๕๐ คำและแสดงหลักฐานได้อย่างเป็นระบบที่ง่ายต่อการตรวจสอบ

๒.๒ โครงการเฉพาะกิจแก้ปัญหาเร่งด่วนที่ชั้น ป.๒ ขึ้นไป

เนื่องจากเด็กที่เลื่อนชั้นจาก ป.๑ มาอยู่ในชั้นเรียนต่างๆ ขณะนี้จำนวนมากยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จึงจำเป็นต้องจัดทำโครงการแก้ปัญหาเฉพาะกิจเร่งด่วน ดังนี้
(๑) สำรวจสภาพปัญหาด้วยการให้เด็กชั้น ป.๒ ขึ้นไปเขียนตามคำบอกจากคำทดสอบ ๕๐ คำ โดยที่คำทดสอบนี้มีมาตรฐานพื้นทักษะระดับชั้น ป.๑ ซึ่งมีค่าความยากง่ายเฉลี่ยองค์ประกอบของคำครอบคลุม
-คำที่มีพยัญชนะต้นอักษรสามหมู่
-คำที่สะกดตรงมาตราทั้ง ๙ แม่
-คำที่ประสมสระไม่น้อยกว่า ๒๐ สระขึ้นไป
-คำควบกล้ำและคำอักษรนำ
-คำผันเสียงวรรณยุกต์ทั้งสามหมู่อักษร
ชุดคำทดสอบ ๕๐ คำ ตามหนังสือ เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว ของ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ จำนวน ๒ ชุด ซึ่งสามารถเลือกใช้ชุดใดชุดหนึ่งก็ได้ หรืออาจออกคำทดสอบเพิ่มเติมจากหลักการมาตรฐานดังกล่าวได้อีกตามที่เห็นเหมาะสม
นักเรียนที่ได้คะแนนไม่ถึง ๒๕ คะแนนให้คัดจำแนกเด็กเป็นกลุ่มๆ เข้าสู่โครงการแก้ปัญหา
(๒) จำแนกเด็กเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละไม่เกิน ๒๐ คน โดยพิจารณาให้เด็กเรียนช้าอยู่กับช้า เด็กเรียนเร็วอยู่กับเร็ว รวมทั้งดูวัยให้ใกล้เคียงกัน และดูคะแนนความสามารถที่ใกล้เคียงกันให้อยู่กลุ่มเดียวกันด้วย
(๓) จัดให้มีครูอาสาเป็นผู้รับผิดชอบจัดการเรียนการสอนเพื่อการแก้ปัญหาเป็นการเฉพาะ ครูอาสาคนหนึ่งจะรับผิดชอบเด็กได้ไม่เกิน ๔ กลุ่ม หรือไม่เกิน ๘๐ คน
(๔) ครูอาสาจัดกิจกรรมการเรียนการสอนกลุ่มละไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้น ถ้ามีเด็ก ๔ กลุ่มก็จะต้องสอนวันละ ๔ รอบ รอบละ ๑ กลุ่มต่อ ๑ ชั่วโมง ดังนั้น ครูอาสาที่รับผิดชอบสอนวันละ ๔ กลุ่ม ควรจะต้องว่างจากภารกิจอื่นอย่างสิ้นเชิง เพื่อจะได้ทุ่มเทเวลาเพื่อกิจกรรมการสอนแก้ปัญหาอย่างแท้จริง
(๕) ครูอาสาเขียนชาร์ตประกอบการสอนตามแบบฝึกในหนังสือ เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว ของ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ ตั้งแต่บทที่ ๓ ถึงบทที่ ๖ และดำเนินการสอนไปตามลำดับเนื้อหาอย่างครบถ้วน โดยใช้กิจกรรมการสอนแบบบันไดทักษะ ๔ ขั้นทุกชั่วโมง คือ
ขั้นที่หนึ่ง แจกลูก ให้ผูกจำ
ขั้นที่สอง อ่านคำ ย้ำวิถี
ขั้นที่สาม คัดลายมือ ซ้ำอีกที
ขั้นที่สี่ เขียนคำบอก ทุกชั่วโมง
(๖) ครูอาสาดำเนินการสอนแก้ปัญหาไปจนครบถ้วนเนื้อหาเป็นเวลาไม่น้อยกว่ากลุ่มละ ๙๐ ชั่วโมง หรือไม่น้อยกว่า ๔ เดือน หรืออาจเกินกว่าเวลาที่กำหนดนี้ก็ได้ ทั้งนี้ให้ถือเอาความมีสัมฤทธิผลของทักษะของเด็กแต่ละกลุ่มและแต่ละคนเป็นสำคัญ
(๗) เมื่อสอนครบตามเนื้อหาบทที่ ๓-๖ ให้ครูอาสานำคำทดสอบ ๕๐ คำใช้ครั้งแรกก่อนเข้าโครงการมาทดสอบให้เด็กเขียนตามคำบอกอีกครั้ง เพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการและผลสัมฤทธิ์ในการแก้ปัญหา (โดยทั่วไป ถ้าครูอาสาดำเนินการอย่างครบถ้วนตามเนื้อหาแบบฝึก กระบวนการ และขั้นตอนต่างๆ ดังที่กล่าวแล้ว โดยไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคแทรกซ้อน จะได้ผล ๑๐๐%)
(๘) จัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินโครงการเสนอหน่วยงานในสังกัดรับทราบ

๓.การบริหาร กำกับติดตาม นิเทศ และประเมินผล

ฝ่ายบริหารและฝ่ายวิชาการจะต้องเรียนรู้กระบวนการ ขั้นตอน วิธีการต่างๆ จากหนังสือ เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว ของ ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ ให้เกิดความเข้าใจตรงกันกับครูอนุบาล ครู ป.๑ และครูอาสา เพื่อวางแผนงานสนับสนุน ติดตามกำกับดูแล นิเทศ และช่วยเหลือ ดังนี้
๓.๑ จัดสรรงบประมาณในส่วนที่จำเป็นเพื่อการสนับสนุน เช่น จัดซื้อหนังสือ เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว และ ก ไก่ น้อมไหว้ จัดซื้อกระดาษและเครื่องเขียน เพื่อเขียนชาร์ตประกอบการสอนชุดละประมาณไม่น้อยกว่า ๒๐๐ แผ่น และกระดาษเอสี่เพื่อเด็กอนุบาลฝึกเขียนเส้นลีลาต่างๆ
๓.๒ บริหารบุคลากรและวิชาการให้เอื้อต่อกระบวนการแก้ปัญหา (มีรายละเอียดในหนังสือที่อ้างอิง)
๓.๓ ติดตามกำกับดูแล นิเทศ และช่วยเหลือ โดยสิ่งสำคัญที่ต้องกำกับให้ครูดำเนินการ คือ
(๑) ครูอนุบาลปฏิบัติการตามแนวทางดำเนินการและมีมาตรฐานสัมฤทธิผลที่สามารถตรวจสอบได้จาก
-มีหลักฐานบัญชีคำและการเปล่งคำของนักเรียนที่มีมาตรฐานและสอดคล้องกับแนวทางที่ได้รับการนิเทศ
-มีหลักฐานชาร์ตพยัญชนะ ก-ฮ, ชาร์ตสระที่มีมาตรฐาน และสามารถพิสูจน์การเปล่งท่องของนักเรียนได้
-นักเรียนมีพัฒนาการการจับดินสอ ปรับระยะสายตา เขียนเส้นลีลาต่างๆ และวาดรูปอย่างมีทักษะสมบูรณ์ก่อนการเขียนตัวอักษร, มีหลักฐานการจัดเก็บผลงานและพัฒนาการของนักเรียนอย่างเป็นระบบ
-นักเรียนสามารถเขียนพยัญชนะ ก – ฮ สระเดี่ยว วรรณยุกต์ทั้ง ๔ รูป และตัวเลข ๐-๙, มีหลักฐานการจัดเก็บผลงานและพัฒนาการของนักเรียนอย่างเป็นระบบ
(๒) ครู ป.๑ ปฏิบัติการสอนเพื่อประกันการอ่านออกเขียนได้วันละ ๒ ชั่วโมง และสามารถตรวจสอบได้จาก
-ครูมีชาร์ตแบบฝึกอ่านเขียนที่ถูกต้องและมีมาตรฐานตามหนังสือ เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว บทที่ ๓-๖
-ครูได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบันไดทักษะ ๔ ขั้นทุกชั่วโมง
-นักเรียนมี “สมุดคัดลายมือ” ที่แสดงผลการเรียนต่อเนื่อง
-นักเรียนมี “สมุดเขียนตามคำบอก” ที่แสดงผลการเรียนต่อเนื่องอย่างสอดคล้องกับสมุดคัดลายมือ และแสดงผลการแก้ไขปรับปรุงอย่างมีพัฒนาการ
-ครูมีบัญชีแสดงการมาเรียนของนักเรียน
-เมื่อสอนครบเนื้อหาหลักสูตรได้มีการทดสอบ “เขียนตามคำบอก” ด้วยคำมาตรฐาน ๕๐ คำและแสดงหลักฐานได้อย่างเป็นระบบที่ง่ายต่อการตรวจสอบ
(๓) ครูอาสาปฏิบัติการสอนเพื่อแก้ปัญหาการอ่านการเขียนอย่างน้อยวันละ ๑ ชั่วโมง และมีหลักฐานเอกสารประกอบการดำเนินงานที่สามารถตรวจสอบได้ ดังนี้
-ครูได้ดำเนินการทดสอบการเขียนตามคำบอกนักเรียนก่อนเข้าโครงการจากคำมาตรฐาน ๕๐ คำและมีกระดาษคำตอบเก็บไว้อย่างเป็นระบบและหมวดหมู่ที่ง่ายต่อการตรวจสอบ
-ครูมีชาร์ตแบบฝึกอ่านเขียนที่ถูกต้องและมีมาตรฐานตามหนังสือ เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว บทที่ ๓-๖
-ครูได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบันไดทักษะ ๔ ขั้นทุกชั่วโมง
-นักเรียนมี “สมุดคัดลายมือ” ที่แสดงผลการเรียนต่อเนื่อง
-นักเรียนมี “สมุดเขียนตามคำบอก” ที่แสดงผลการเรียนต่อเนื่องอย่างสอดคล้องกับสมุดคัดลายมือ และแสดงผลการแก้ไขปรับปรุงอย่างมีพัฒนาการ
-ครูมีบัญชีแสดงการมาเรียนของนักเรียน
-เมื่อสอนครบเนื้อหาหลักสูตรได้มีการทดสอบ “เขียนตามคำบอก” ด้วยคำมาตรฐาน ๕๐ คำและแสดงหลักฐานได้อย่างเป็นระบบที่ง่ายต่อการตรวจสอบ
หากทำตามที่กล่าวมานี้ รับประกันว่าจะสามารถป้องกันปัญหาและแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนแท้จริง ซึ่งนี่คือแนวที่พิสูจน์มาแล้วกับครูและเด็กๆ ในโรงเรียนที่เข้าร่วมแนวทางทั่วทุกภูมิภาค
ศิวกานท์ ปทุมสูติ
ทุ่งสักอาศรม ๓๕ หมู่ ๑๓ ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ๗๑๑๗๐
โทร. ๐๘๑-๙๙๕๖๐๑๖ e-mail : [email protected]
นอกจากนี้คุณยังอาจต้องการ

ความเห็นถูกปิด

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี