ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2565

วันที่ 22 กันยายน 2565 จากผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2565 เมื่อวันพุธที่ 21 กันยายน 2565 โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

ผลการประชุม ก.ค.ศ. ครั้งที่ 9/2565 มีมติที่สำคัญ ดังนี้

1. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษเพื่อใช้เป็นเงื่อนไข
ในการลดระยะเวลาการขอมีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะสำหรับสายงานการสอน และสายงานบริหารสถานศึกษา
สืบเนื่องจาก ก.ค.ศ. ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 มีมติมอบ สำนักงาน ก.ค.ศ. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษฯ เพื่อนำไปใช้ในการลดระยะเวลาตามเงื่อนไขคุณสมบัติเฉพาะสำหรับผู้ขอมีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะ (ว 4/2564) ถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ยากลำบาก ซึ่ง ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกำหนดสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษตามหลักเกณฑ์นี้โดยให้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
  • กลุ่ม 1 สถานศึกษาที่ได้รับการประกาศเป็นสำนักงานในพื้นที่พิเศษตามประกาศกระทรวงการคลัง
  • กลุ่ม 2 สถานศึกษาในพื้นที่พิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา (เฉพาะพื้นที่อำเภอเทพา สะบ้าย้อย นาทวี และจะนะ)
  • กลุ่ม 3 เหตุอื่นที่ ก.ค.ศ. กำหนด คือ “สถานศึกษาที่มีความยากลำบากของการคมนาคมและมีความยุ่งยากในการบริหารจัดการศึกษา โดยต้องเข้าเงื่อนไข ดังนี้– ความยากลำบากของการคมนาคม (ข้อใดข้อหนึ่ง) คือ เป็นสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่สูง หรือ พื้นที่เกาะ หรือ พื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ประกอบกับความยุ่งยากในการบริหารจัดการศึกษา (ข้อใดข้อหนึ่ง) คือ เป็นสถานศึกษาที่มีโรงเรียนสาขาหรือห้องเรียนสาขา หรือ มีศูนย์ชุมชนชาวไทย “แม่ฟ้าหลวง” หรือ มีนักเรียนพักนอน (ไม่ใช่ลักษณะโรงเรียนประจำ) หรือ มีกลุ่มชาติพันธุ์ หรือ มีความขาดแคลนสาธารณูปโภค
    – โดยหลังจากนี้ ก.ค.ศ. จะประกาศรายชื่อสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ ประจำปี 2565 จำนวน 3,490 แห่ง (สังกัด สพฐ. 2,633 แห่ง กศน. 842 แห่ง และ สอศ. 15 แห่ง) พร้อมทั้งนำข้อมูลทั้งหมดเข้าสู่ระบบ DPA เพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถใช้เงื่อนไขสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษมามาลดระยะเวลาจาก 4 ปี เหลือ 3 ปี ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 นี้
2. เห็นชอบ แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะผ่านระบบประเมินวิทยฐานะดิจิทัล ในช่วงเปลี่ยนผ่านของการกำหนดให้มี อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา

สืบเนื่องจากที่รัฐสภาลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2560 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ซึ่งจะต้องโอนอำนาจการบริหารงานบุคคลจาก กศจ. ไปยัง อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา จึงกระทบต่อโครงสร้างของระบบ DPA ที่ออกแบบไว้ ซึ่งเดิม กศจ. เป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติผลการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ แต่เมื่อ พรบ. ดังกล่าวประกาศใช้ อำนาจส่วนนี้จะไปอยู่ที่ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่

ดังนั้น ก.ค.ศ. จึงได้วางแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด สพม. และ สพป. สามารถดำเนินการในการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะผ่านระบบ DPA ได้โดยไม่กระทบสิทธิ์ ตั้งแต่วันที่ระบบจะเปิดใช่อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 นี้ โดยแนวทางในการดำเนินการเรื่องนี้นั้น สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้กำหนดให้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ส่วนราชการ และสถานศึกษาทั่วประเทศ เข้ามาลงทะเบียนผู้ดูแลระบบ DPA ภายในวันที่ 30 กันยายน 2565

Advertisements

โดยเมื่อระบบ DPA เปิดใช้งานในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกสังกัด สามารถส่งคำขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะเข้ามาในระบบ DPA ได้ตามปกติ ซึ่งทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะทำการส่งคำขอ และตรวจสอบคุณสมบัติตามที่ได้ออกแบบโครงสร้างการดำเนินการไว้

ซึ่งระหว่างนี้ทีมพัฒนาระบบจะปรับปรุงระบบ DPA เพื่อให้รองรับอำนาจของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ และเมื่อมีการแต่งตั้ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ระบบก็จะสามารถดำเนินการต่อโดยโอนอำนาจจาก กศจ. ไปให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่พิจารณาอนุมัติและออกคำสั่งในการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะได้เต็มรูปแบบ

ทั้งนี้ กรณีของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สอศ. กศน. สศศ. และ สป. สามารถดำเนินการตามระบบ DPA ได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565

ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2565
3. อนุมัติ การกำหนดกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2) ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่กำหนดใหม่

จากที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดและแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เพิ่มขึ้น 20 แห่ง ทำให้ปัจจุบันมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวม 245 เขต นั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ขอกำหนดกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2) ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่กำหนดใหม่ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการและส่งเสริมการจัดการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและในภาพรวมของ สพฐ. โดยขอให้ ก.ค.ศ. พิจารณาอนุมัติการกำหนดกรอบอัตรากำลังดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

  1. ให้ยุบเลิกตำแหน่งรองผู้อานวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวม 203 ตำแหน่ง
  2. ให้ตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนตามตัวผู้ดำรงตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอื่นมากำหนดเป็นตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่กำหนดใหม่เป็นการชั่วคราว จำนวน 162 ตำแหน่ง/ราย
  3. ให้กำหนดกรอบอัตรากาลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่กำหนดใหม่ เป็นการชั่วคราว จำนวน 20 เขต รวม 491 ตำแหน่ง
  4. ให้กำหนดตำแหน่งและอัตราเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่กำหนดใหม่ เป็นการชั่วคราว จำนวน 20 เขต รวม 491 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ ได้อนุมัติแนวทางการจัดบุคลากรลงกรอบอัตรากาลังที่ ก.ค.ศ. กำหนดใหม่ โดยให้ตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนไปตั้งจ่ายในตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) โดยแต่งตั้งบุคคลไปดำารงตำแหน่งในตำแหน่งเดิม ระดับเดิม ตามกรอบอัตรากำลัง ที่ ก.ค.ศ. กำหนดใหม่ ทั้งนี้ ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่จะแต่งตั้ง และเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด

4. เห็นชอบ การขออนุมัติปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานวิชาเอกที่กำหนดให้มีในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

สืบเนื่องจากที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขอปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานวิชาเอกที่กำหนดให้มีในสถานศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามเกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ว 23/2563) เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารอัตรากำลังสายงานการสอนในสถานศึกษา และเพื่อให้สถานศึกษามีครูครบชั้น ครบวิชา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และยกระดับคุณภาพการศึกษา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานศึกษาขนาดเล็กที่จะมีครูครบทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ อันจะส่งผลให้ผู้เรียนมีความสามารถในการเรียนรู้ สามารถอ่านออกเขียนได้ (Literacy) และมีทักษะในการคิดวิเคราะห์และคำนวณ (Numeracy) รวมทั้งจะสามารถพัฒนาผู้เรียนได้ครบทั้ง 4 ด้าน (4H) คือ ด้านการคิดวิเคราะห์ (Head) ด้านจิตใจและค่านิยม (Heart) ด้านทักษะการทำงาน (Hands) และมีสุขภาพอนามัยที่ดี (Health)

Advertisements

ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วว่าเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการบริหารอัตรากำลังดังกล่าว จึงเห็นชอบให้มีการปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานวิชาเอกที่กำหนดให้มีในสถานศึกษา สังกัด สพฐ. โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

  1. ให้ปรับแก้ไขสาขาวิชาเอกในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ ให้ถูกต้องตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ 921/2561 สั่ง ณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2561 ซึ่งส่งผลให้สถานศึกษาทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา สามารถกำหนดให้มีจำนวนครูในการจัดการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับโครงสร้างเวลาเรียนขั้นพื้นฐานได้อย่างเหมาะสมต่อไป
  2. ให้ปรับจำนวนอัตราครูขั้นต่ำในเกณฑ์มาตรฐานวิชาเอกระดับมัธยมศึกษาเพื่อให้สถานศึกษาเกิดความยืดหยุ่นต่อการจัดครูของสถานศึกษาที่เป็นไปตามความต้องการตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานและหลักสูตรสถานศึกษาตามความต้องการจำเป็น
  3. เพิ่มความคล่องตัวในการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูในสถานศึกษา โดยการปลดล็อค เรื่อง การเรียงลำดับครูตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาเอกระดับประถมศึกษา แต่สถานศึกษายังคงได้ครูครบวิชา ซึ่งเป็นไปตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 และหลักสูตรสถานศึกษา

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารอัตรากำลังสายงานการสอนในสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ต่อไป

5. อนุมัติ การจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2565จำนวนทั้งสิ้น 18,546 อัตรา ดังนี้
  • สังกัดสำนักงานปลัด กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 141 อัตรา
  • สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จำนวน 163 อัตรา
  • สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จำนวน 2 อัตรา
  • สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 17,548 อัตรา
  • สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 692 อัตรา

ทั้งนี้ ให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สงวนอัตราว่างจากโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ที่ได้รับการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการฯ

เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 6 อัตรา จำนวน 4,576 อัตรา และจำนวน 228 อัตรา ตามลำดับเพื่อรองรับการบรรจุบุคคลตามโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ตามมติ ครม. และที่ประชุมกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้เป็นไปตามข้อตกลงของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับส่วนราชการนั้น ๆ

6. อนุมัติ ขยายเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปัจจุบันต่อไปอีก เป็นระยะเวลา 1 ปี กรณีครบระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 4 ปี จำนวน 4 ราย
7. อนุมัติ การย้ายและแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้ดำรงตำแหน่งและวิทยฐานะเดิม ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งใหม่ จำนวน 75 ราย
8. อนุมัติ บรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 77 ราย

 

ที่มา ศธ.360 องศา

 

Comments are closed.