สพฐ. ต่อยอด Active Learning เพิ่มโอกาสนักเรียนมีงานทำ มีอาชีพตามความถนัด

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ผนึกกำลังทางวิชาการจากสำนักต่างๆ ภายใน สพฐ. ประกอบด้วยบุคลากรจากสังกัด สวก. ศนฐ. และ สบว. เข้าเยี่ยมชมการจัดการศึกษาและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา สำนักพระราชวัง สนามเสือป่า กรุงเทพฯ โดยมีอธิการบดี รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ และคณะผู้บริหารของสถาบันฯ ให้การต้อนรับพร้อมบรรยายพิเศษและแนะนำการดำเนินงานของสถาบัน

โดยสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา เป็นสถานศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง มุ่งเน้นให้การศึกษาด้านทักษะวิชาชีพและเทคโนโลยีบนฐานของวิทยาศาสตร์และวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความชำนาญในการปฏิบัติ ทำการสอน วิจัย ริเริ่ม ถ่ายทอด ฝึกอบรม พัฒนาบุคลากร พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม

Advertisements

โดยให้ผู้เข้ารับการศึกษามีโอกาสศึกษาด้านวิชาชีพเฉพาะทางจนถึงระดับอุดมศึกษา พร้อมทั้งให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ปลูกฝังให้นักเรียนและนักศึกษาเป็นพลเมืองดี มีจิตอาสา และมีวินัย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 จากพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงให้มีการขยายการศึกษาจากโรงเรียนจิตรลดาเพิ่มขึ้นในสายอาชีพ

Advertisements

ปีการศึกษาปัจจุบัน มีนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในประเภทวิชาอุตสาหกรรม วิชาพาณิชยกรรม วิชาคหกรรม วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารวิชาอุตสาหกรรมบันเทิงและดนตรี และวิชาเกษตรนวัต และนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในประเภทวิชาอุตสาหกรรม วิชาบริหารธุรกิจ วิชาคหกรรม วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วิชาอุตสาหกรรมบันเทิงและดนตรี และวิชาเกษตรกรรม จำนวนรวม 628 คน และนักศึกษาระดับปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ จำนวน 203 คน คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม จำนวน 181 คน และคณะเทคโนโลยีดิจิทัล จำนวน 77 คน รวมทั้งสิ้น 1,089 คน

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จากการเยี่ยมชมสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาในครั้งนี้ ทำให้ สพฐ. ได้รับโอกาสในการเพิ่มความรู้กับตัวเอง และมีแนวทางการบริหารจัดการศึกษา เพื่อนำองค์ความรู้ แนวคิด และแนวปฏิบัติ ไปใช้ในการวางแผนการปฏิบัติงานได้จริง โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะอาชีพให้กับนักเรียน การส่งเสริมสนับสนุนนักเรียนตามความถนัดและความสนใจในด้านอาชีพ การพัฒนาตัวเองเพื่อนำไปสู่การพัฒนาครูและนักเรียน

รวมถึงได้มองเห็นแนวทางการต่อยอดเพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนได้อย่างหลากหลาย อาทิ การต่อยอดพหุปัญญาของนักเรียนสู่เส้นทางอาชีพ การสร้างความร่วมมือในการพัฒนาครูและบุคลากรในด้านทักษะอาชีพ เสริมเติมต่อทักษะในการจัดการเรียนการสอน และเน้นการจัดการเรียนรู้แบบ Project-based Learning อย่างแท้จริง อีกทั้งยังสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่เน้นการปฏิบัติจริงแล้วเกิดการต่อยอดทางอาชีพให้กับนักเรียนได้ เช่น Coding กับทักษะอาชีพ การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนที่มีความแตกต่างของผู้เรียนตามศักยภาพ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรที่น่าสนใจ อาทิ “เรียนคู่งาน” “งานคู่เรียน” เป็นการจัดการศึกษาที่เกิดจากการทำความร่วมมือระหว่างโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ กับสถานประกอบการรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ในเรื่องของการจัดการหลักสูตรการเรียนการสอน การวัดผลและประเมินผล โดยผู้เรียนใช้เวลาส่วนหนึ่งเรียนในสถานศึกษาและภาคปฏิบัติในสถานประกอบการรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนทักษะให้กับนักศึกษาให้มีศักยภาพที่สูงขึ้น

“ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดามีความโดดเด่นในด้านการจัดการเรียนการสอนที่เน้นสมรรถนะทางวิชาชีพอย่างชัดเจน จึงเป็นแนวทางการต่อยอดของหลักสูตรการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสู่การพัฒนาทักษะอาชีพตามความถนัดและความสนใจ

นอกจากนี้ ยังมีการร่วมมือกันเพื่อสร้างภาคีเครือข่ายในการวางเส้นทางอาชีพการเรียนต่อของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน กับสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ซึ่งจะได้นำข้อมูลจากการเยี่ยมชมครั้งนี้ไปวางแผนการปฏิบัติงานภายใต้ภารกิจของแต่ละสำนัก เพื่อพัฒนาผู้เรียนต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับ KPI ของเลขาธิการ กพฐ มีมุ่งเน้นให้นักเรียนได้ความรู้ ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต เติมเต็มการเรียนรู้ให้ครบมิติ และเรียนตามความถนัดและความสนใจของนักเรียนอย่างมีความสุข” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ที่มา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

Comments are closed.