ปลัด ศธ.เผยชาวต่างชาติแต่งชุดนักเรียนไทย ถือเป็น “ความน่ารัก” ไม่ใช่ความเสียหาย ให้ดูที่เจตนา

วันที่ 8 มีนาคม 2566 นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 มุ่งเน้นไม่ให้ผู้ใดแต่งกายเลียนแบบนักเรียน เจตนารมณ์ที่ออกกฎนี้ขึ้นมา เพราะจะมีบางคนที่แต่งเครื่องแบบนักเรียน มีเครื่องหมาย มีตราสัญลักษณ์ที่แสดงชื่อสถาบัน ไปก่อเหตุวิวาทแล้วอ้างชื่อสถาบัน รวมถึงเรื่องของการค้าบริการทางเพศ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงในยุคนั้น แต่ในส่วนของนักท่องเที่ยวแต่งชุดนักเรียนเที่ยวเมืองไทย เราก็ต้องดูที่เจตนาว่า แต่งเพื่อความบันเทิง ไม่ได้มีเจตนาที่จะลบหลู่ หรือสร้างความเสียหายกับสถาบันการศึกษา

“ผมได้เห็นในสื่อออนไลน์ว่า มีการใส่ชื่อของเค้าที่หน้าอกเสื้อ แสดงความน่ารัก มีความสวยงาม ไม่ใช่เรื่องที่เสียหาย เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย แสดงว่านักท่องเที่ยวได้มองเห็นว่าเครื่องแบบนักเรียนไทย “เป็นที่น่ารัก” จนสนใจที่จะแต่งตาม ในอดีตเราก็มองเครื่องแบบนักเรียนญี่ปุ่นในยุคนั้นว่าสวยงามจนแต่งตาม มายุคนี้เค้าให้ความสำคัญกับชุดนักเรียนไทย ก็อย่าไปซีเรียส ดูที่เจตนาเป็นหลัก มองในเรื่องของความบันเทิงและการท่องเที่ยว ศธ.มองที่ภาพรวมในเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากกว่า อยากฝากเรื่องของความเหมาะสมในสถานที่ และเวลาที่ควรระวังคือ ยามวิกาลอาจไม่เหมาะสม อาจเกิดอันตรายให้กับนักท่องเที่ยว และสร้างการเข้าใจผิดแก่สังคมได้ ตรงนี้ทีมท่องเที่ยวหรือหัวหน้าไกด์ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน”

Advertisements

ปลัด ศธ.กล่าวด้วยว่า เรื่องของระเบียบถือเป็นกฎหมายเล็ก ๆ ที่อยู่ในสถานศึกษา ไม่ว่าจะการแต่งกาย ทรงผม เวลาเด็กเข้ามาเรียนจะเกิดความคุ้นชินว่าเราต้องมีวินัยมีหน้าที่ต้องทำอะไร เวลาที่จบจากการศึกษาไปอยู่ในโลกของการทำงานในสังคมจริงมีบทลงโทษที่รุนแรงกว่า ตอนเรียนแค่โดนว่ากล่าวตักเตือน ทัณฑ์บน คุมประพฤติ แต่ในโลกของการทำงานในสังคมจริงมีกฎหมายแรงกว่าทั้งปรับทั้งจำคุก เราต้องเตรียมพร้อมให้เด็กเรียนรู้เรื่องระเบียบวินัย เมื่อเติบโตในโลกของการทำงาน จะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีคุณภาพ

Advertisements

 

Comments are closed.