Take a fresh look at your lifestyle.

การเปลี่ยนแปลง… หลังจากการประชุมทางไกลการสร้างความเข้าใจหลักสูตรฯ 2560

          มีคำกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงย่อมนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ในวงการการศึกษาก็เช่นกัน ในปี 2560 ได้มีการประกาศหลักสูตร ปรับปรุง 2560 ขึ้น ซึ่งทำให้หลาย ๆ โรงเรียนมีการปรับตัว และเปลี่ยนแปลงกัน และวันนี้ Krupatom.com มีความคิดเห็นของครูท่านหนึ่งมาฝาก ซึ่งกล่าวไว้ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว มาติดตามกันค่ะ

“แล้วโรงเรียนต้องทำอย่างไรต่อไปกับหลักสูตรสถานศึกษาฯ2560 ?
          หลังจากคุณครูได้รับฟังการประชุมทางไกลการสร้างความเข้าใจ การนำมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และสาระภูมิศาสตร์ ตามหลักสูตรฯ ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560 ไปสู่การปฏิบัติ เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา (รับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=vfb3r7YCq0o)
นับจากนี้คงเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนแล้ว ที่จะเปิดภาคเรียนในปีการศึกษา 2561 โดยโรงเรียนจะต้องเตรียมทั้งการเปิดสอนตามรายวิชาที่กำหนดไว้ในหลักสูตร จัดสรรคาบสอบ จัดครูผู้สอน และจัดตารางสอน ซึ่งหากยังปรับปรุงหลักสูตรไม่เสร็จสิ้น ก็คงไม่สามารถที่ดำเนินการสิ่งเหล่านั้นได้ ขณะนี้หลายๆ โรงเรียนได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษาไปบ้างแล้ว หลายๆโรงเรียนยังไม่ได้เริ่มทำอะไรเลย เพราะไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงดี หลายๆ โรงเรียนก็รอเขตฯ เรียกไปทำหลักสูตรพร้อมกัน ซึ่งมีคุณครูสอบถามผมเข้ามามากว่าจะต้องทำอย่างไรกันต่อไป ผมจึงได้จัดทำเป็น Flow Chart ที่เป็นการสรุปแนวทางการดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษานี้ขึ้น เพื่อเป็นช่วยให้เห็นภาพรวมของการดำเนินการทั้งหมดแบบ Step by Step ที่ได้นำข้อมูลจากประกาศ คำสั่ง และเอกสารที่เกี่ยวข้องของ สพฐ. มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ จัดทำเป็น Flow Chart นี้ขึ้น โดยสามารถอธิบายเป็นขั้นตอนได้ดังนี้
1. โรงเรียน โดยกลุ่มบริหารวิชาการต้องแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างหลักสุูตรสถานศึกษาของโรงเรียน (จะนำตัวอย่างของคำสั่งมาให้ดูในลำดับต่อไป) โดยอ้างอิงจากคำสั่งและประกาศต่อไปนี้
– คำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สพฐ. 1239/2560 เรื่อง ให้ใช้มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสาระภูมิศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ลงวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2560 คลิกที่นี่
– คำสั่ง สพฐ. ที่ 30/2561 เรื่อง ให้เปลี่ยนแปลงมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ลงวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2561
คลิกที่นี่
– ประกาศ สพฐ. เรื่อง การบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษา กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ลงวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2561 คลิกที่นี่
– ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การบริหารจัดการเวลาเรียนของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 คลิกที่นี่

2. โรงเรียน โดยกลุ่มบริหารวิชาการควรจัดประชุมครูทั้งโรงเรียนเพื่อชี้แจง สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ในภาพรวม ตลอดจนรับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปีการศึกษาหน้า ทั้งนี้สำหรับเอกสารประกอบการประชุมอาจนำมาจาก
– Powerpoint ประกอบการบรรยายในการประชุมทางไกลการสร้างความเข้าใจหลักสูตรฯ 2560 ของ สพฐ. และ สสวท. คลิกที่นี่
– Mind Map ที่ผมได้จัดทำสรุปภาพรวมของหลักสูตร 60 ไว้ใน 1 หน้า คลิกที่นี่
– เอกสารสรุปหลักสูตรฯ 2560 ของ สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช คลิกที่นี่
หรือเอกสารอื่นๆตามความเหมาะสม

3. จัดประชุมคณะกรรมการยกร่างหลักสูตรฯ เพื่อวางแผนการดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร ซึ่งอาจประกอบด้วย หัวหน้างานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

3.1 หัวหน้างานหลักสูตรสถานศึกษา ดำเนินการต่างๆ อาทิเช่น
การจัดรายวิชา
– ประถม : 1 กลุ่มสาระฯ จัด 1 รายวิชา
– ม.ต้น : 1 กลุ่มสาระฯ จัด 1 รายวิชาหรือมากกว่า
– ม.ปลาย : 1 กลุ่มสาระฯ จัด 1 รายวิชาหรือมากกว่า (เรียนภาคเรียนปีใดก็ได้ขึ้นกับ รร.)

โครงสร้างเวลาเรียน
+ เวลาเรียนพื้นฐาน
– ประถม 840 ชม./ปี
– ม.ต้น 880 ชม./ปี
– ม.ปลาย รวม 3 ปี 1,640 ชม./ปี
+ เวลากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 120 ชั่วโมง/ปี
+ เวลาเรียนเพิ่มเติม สถานศึกษากำหนด
+ เวลาเรียนรวม เป็นไปตามเกณฑ์การจบแต่ละชั้น
– ประถม ไม่เกิน 1,000 ชม./ปี
– ม.ต้น ไม่เกิน 1,200 ชม./ปี
– ม.ปลาย รวม 3 ปี ไม่น้อยกว่า 3,600 ชม./ปี

กำหนดรหัสวิชา ชื่อวิชาและจำนวนหน่วยกิตที่ไม่ซ้ำกับรหัสวิชาเดิมตามบริบทของแต่ละ รร.

รวบรวมคำอธิบายรายวิชาและจัดทำเป็นร่างหลักสูตรสถานศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) เสนอต่อคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อขออนุมัติ
นอกจากนี้งานหลักสูตรสถานศึกษา จะต้องมีการวิจัย นิเทศ ติดตามและประเมินผลการใช้หลักสูตรสถานศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) อีกด้วย

3.2 หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ สำหรับกลุ่มสาระหลักที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงหลักสูตรครั้งนี้โดยตรง ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษาฯ รวมทั้ง กลุ่มสาระฯ การงานอาชีพที่ได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากนำสาระเทคโนโลยี มาอยู่กับกลุ่มสาระฯวิทยาศาสตร์ ตลอดจนต้องมีการบูรณาการกับกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ด้วย ส่วนกลุ่มสาระอื่นๆ อาจตั้งขึ้นมามีส่วนร่วมในการปรับปรุงหลักสูตรด้วย ในกรณีที่ต้องการปรับเปลี่ยนรายวิชาใหม่ ให้เป็นปัจจุบันมากยิ่งขึ้นก็ถือโอกาสปรับปรุงไปพร้อมกันเลยทีเดียว
ทั้งนี้ 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้หลักที่มีการปรับปรุงหลักสูตร จะต้องนำตัวชี้วัดและผลการเรียนรู้มาทำการวิเคราะห์เพื่อจัดทำคำอธิบายรายวิชา ตามที่เคยปฏิบัติมาในหลักสูตรฯ 2551
สำหรับรายวิชาพื้นฐาน สามารถดาวน์โหลดตัวชี้วัดได้จาก
– ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลาง กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) คลิกที่นี่
– ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลาง กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) คลิกที่นี่
– ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลาง สาระภูมิศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) คลิกที่นี่
นอกจากนี้ ในการเทียบเคียงตัวชี้วัดกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยีในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สามารถศึกษาได้จาก https://drive.google.com/…/1Z77HWV9ww_LADD1fG2gUu4EZ1y…/view
สำหรับคำอธิบายรายวิชาเทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) ของ สสวท. ดาวน์โหลดได้ที่ สสวท.
สำหรับรายวิชาเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดการเทียบเคียงตัวชี้วัดและผลการเรียนรู้ ได้จาก
– การเทียบเคียงตัวชี้วัดและผลการเรียนรู้ กลุ่มสาระคณิตศาสตร์ คลิกที่นี่
– การเทียบเคียงตัวชี้วัดและผลการเรียนรู้ กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ คลิกที่นี่
โดยเมื่อแต่ละกลุ่มสาระจัดทำคำอธิบายรายวิชาเสร็จแล้ว งานหลักสูตรสถานศึกษาจะทำการรวบรวมทั้งหมดจากทุกกลุ่มสาระฯ ต่อไป

3.3 หัวหน้างานทะเบียน
การลงทะเบียนเรียนตามรายวิชาที่หลักสูตรกำหนดและตรวจสอบการจบการศึกษาตามเกณฑ์การจบหลักสูตร

3.4 หัวหน้างานวัดและประเมินผล
ลงทะเบียนรายวิชา นำรหัสวิชา ชื่อวิชาและจำนวนหน่วยกิตจากงานหลักสูตรสถานศึกษามาจัดทำระบบวัดและประเมินผล โดยให้ครูผู้สอนประเมินผลแล้วส่งผลการเรียนให้งานวัดและประเมินผล เพื่อสรุปผลการเรียนของนักเรียนตลอดหลักสูตรส่งให้งานทะเบียนตรวจสอบการจบการศึกษาตามเกณฑ์การจบหลักสูตรต่อไป

4. เมื่อได้ร่างหลักสูตรสถานศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) แล้วจึงนำเสนอต่อคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อขออนุมัติ

5. คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานพิจารณาเห็นชอบหลักสูตรสถานศึกษา ถ้าไม่เห็นชอบจะต้องนำไปปรับปรุงใหม่ แต่ถ้าเห็นชอบ โรงเรียนจึงประกาศใช้หลักสูตรและนำหลักสูตรสถานศึกษาไปใช้ในระดับชั้นเรียน

6. กลุ่มบริหารวิชาการ ขับเคลื่อนให้กลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ดำเนินการ
– จัดครูผู้สอน คาบสอนและตารางสอน
– ลงทะเบียนเรียนตามรายวิชาที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
– การนำหลักสูตรไปใช้นระดับชั้นเรียน โดยครูผู้สอนจัดทำโครงสร้างรายวิชา
ออกแบบหน่วยการเรียนรู้ ออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ แล้วนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน

7. ครูผู้สอนประเมินผลในรายวิชาที่ได้มอบหมายให้ปฏิบัติการสอน โดยส่งผลการเรียนให้งานวัดและประเมินผลผ่านระบบการวัดและประเมินผลตามบริบทของแต่ละโรงเรียน

8. งานวัดและประเมินผลสรุปผลการเรียนของนักเรียนตลอดหลักสูตรส่งให้งานทะเบียนตรวจสอบการจบการศึกษาตามเกณฑ์การจบหลักสูตรต่อไป

อนึ่ง สำหรับ Flow Chart นี้เป็นเพียงฉบับร่างที่ผมจัดทำขึ้นเท่านั้น ซึ่งได้ให้ผู้เชี่ยวชาญบางท่านได้พิจารณาดูเบื้องต้น อย่างไรก็ตามขอให้ทุกท่านได้ช่วยพิจารณาตรวจสอบอีกครั้ง และหากมีบกพร่อง ผิดพลาดประการใดหรือมีคำแนะนำ เสนอแนะ ในการแก้ไขปรับปรุง กรุณาแจ้งให้ทราบด้วย เพื่อผมจะได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้มีความถูกต้อง สมบูรณ์ อันจะเป็นประโยชน์ต่อคุณครูและโรงเรียนในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
โดย ดร.กอบวิทย์ พิริยะวัฒน์

ขอขอบคุณ : FB คูปองครู หลักสูตรพัฒนาครู

 

 

ความเห็นถูกปิด

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี