Take a fresh look at your lifestyle.

การศึกษา ในยุค Thailand 4.0

การศึกษาในยุค Thailand 4.0” มีความหมายมากกว่าการเตรียมความพร้อมของคนหรือให้ความรู้กับคนเท่านั้น แต่เป็นการเตรียมมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ กล่าวคือ นอกจากให้ความรู้แล้ว ต้องทำให้เขาเป็นคนที่รักที่จะเรียน มีคุณธรรม และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วย นั่นก็คือการสร้างคนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยเน้นทักษะในการคิดวิเคราะห์เป็นหลัก ในขณะเดียวกัน Thailand 4.0 คือ การพัฒนาประเทศให้มีความทันสมัย มีรายได้มากขึ้น และก้าวพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง โดยจะต้องผลิตนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาประเทศ และต้องสามารถติดต่อค้าขายกับนานาประเทศได้ด้วย รมช.ศึกษาธิการกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Education Reform & Entrance 4.0” ภายในงานมหกรรมการศึกษา Think Beyond 4.0 ที่โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ Enconcept สาขาสยามโอเอซิส ชั้น 13 ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การศึกษา

จุดเริ่มการศึกษาในยุค Thailand 4.0

การศึกษา จึงต้องเร่งดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้ให้กับเด็กไทย ได้เข้าก้าวสู่ Thailand 4.0 อย่างเป็นรูปธรรมในหลายด้าน เช่นการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ เป็นหัวใจสำคัญในการสื่อสารกับนานาชาติ ทั้งเพื่อการติดต่อสื่อสาร การแลกเปลี่ยนความรู้ การประสานความร่วมมือ และการค้าขาย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการยกระดับภาษาอังกฤษของประเทศผ่านโครงการสำคัญต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาครูภาษาอังกฤษผ่านกระบวนการ Boot Camp, จัดทำแอพพลิเคชั่น Echo Hybrid, Echo English เป็นต้น

การส่งเสริม การศึกษา วิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสะเต็มศึกษา (STEM Education) เพื่อให้เด็กมีความเข้าใจเกี่ยวกับศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของโลกและวัตถุต่าง ๆ ในขณะเดียวกันเด็กไทยในอนาคตก็ต้องคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมของไทยที่ดีงาม ควบคู่กับการเรียนรู้ศาสตร์ใหม่ ๆ ที่มีความทันสมัยด้วยเช่นกัน

การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ สิ่งสำคัญหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ค้นพบเกี่ยวกับ Communication Thinking Skill คือการสอนเรื่องการคิดวิเคราะห์ ไม่สามารถแยกวิชาสอนต่างหากได้ แต่จะต้องมีการเรียนวิชาการแต่ละเรื่องอย่างลึกซึ้งเสียก่อน หลังจากนั้นการคิดวิเคราะห์จะตามมาเอง เช่นเดียวกับการเรียนภาษาอังกฤษ ต้องมีความรู้เรื่องไวยากรณ์ควบคู่กับการอ่าน จนมีความรู้เรื่องคำและเรื่องภาษาจริง ๆ เมื่อนั้นเราก็จะสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ รวมทั้งสามารถนำความรู้ไปใช้งานต่อได้ด้วย

การศึกษา

การปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการกำลังปรับปรุงหลักสูตรใหม่ เพื่อนำมาใช้ในปีการศึกษา 2561 จากเดิมเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ อาจจะปรับให้เรียนเป็นรายวิชาเฉพาะเช่นในอดีต โดยเนื้อหาหลักสูตรจะเปลี่ยนไปตามองค์ความรู้ในโลกยุคใหม่ พร้อมกับการเรียนเฉพาะเรื่องที่สำคัญ ๆ และเรียนให้รู้อย่างลึกซึ้ง

ทั้งนี้อาจเกิดวิชาใหม่ ๆ เช่น Computing ที่จะเป็นการเรียนเกี่ยวกับโปรแกรม ที่ใช้ควบคุมการทำงานของเครื่องจักร เครื่อง กล เพื่อให้เด็กสร้างนวัตกรรมและรู้เท่าทันเทคโนโลยี, ความรู้เรื่องวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมได้ในที่สุด รวมทั้งอาจจะนำวิชาเดิม ๆ กลับมาสอนอีก เช่น วิชาภูมิศาสตร์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เรื่องของโลก เกี่ยวโยงไปสู่วิชาวิทยาศาสตร์และเกษตรกรรม คือความเข้าใจการเกิดของมนุษย์ เข้าใจพื้นที่ เป็นต้น

การพัฒนาปรับปรุงตำราเรียนให้มีมาตรฐาน 5 ดาว กระทรวงศึกษาธิการมีความพยายามที่จะสร้างตำราเรียน ให้มีมาตรฐาน เพราะตำราที่ดีจะช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้เด็กอยากรู้ อยากเห็น อยากตั้งคำถาม ดังนั้น ตำราเรียนต้องตอบสนองต่อผู้เรียนจริง ๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรฐานตำราเรียน โดยจะมีการให้คะแนน (ดาว) ตามองค์ประกอบของตำราที่กำหนดขึ้น เช่น มีรูปเล่มสวยงาม มีภาพประกอบที่ดี มีหัวเรื่องบทเรียนและเป้าหมายที่ชัดเจน มีวิธีการและตัวอย่างในการแก้โจทย์-แก้ปัญหา

ตลอดจนมีแบบฝึกหัดและมีลิ๊งค์เชื่อมโยงแบบออนไลน์ เป็นต้น ล่าสุดได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับสำนักพิมพ์ที่ผลิตตำราเรียนทั้งหมด เพื่อผลิตตำราเรียนที่ดีมีคุณภาพ และในอนาคตรัฐบาลก็จะใช้ตำราเรียนที่ได้ 5 ดาวเท่านั้น หากตำราใดมีมาตรฐานที่เท่ากัน ก็จะพิจารณาจากราคาต่อไป จากนั้นจึงส่งรายชื่อตำราเพื่อให้โรงเรียนไปจัดหามาใช้ต่อไป

การบริหารจัดการคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก ภายใต้โครงการโรงเรียนดีใกล้บ้าน ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินโครงการแล้วในโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการรอบแรก ซึ่งจะเริ่มดำเนินในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 259 แห่ง โดยทุกอย่างต้องเกิดจากการยอมรับและตัดสินใจของคนในพื้นที่ ชุมชน พ่อแม่และผู้ปกครอง แม้ที่ผ่านมาเราจะมีความพยายามที่จะยกระดับโรงเรียนขนาดเล็ก แต่ยังทำไม่สำเร็จ เพราะหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย

แต่ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ พยายามชี้แจงให้เห็นถึงทางเลือกที่ดีกว่าของบุตรหลาน โดยให้เด็ก ๆ ย้ายไปเรียนในโรงเรียนแม่เหล็กที่มีความพร้อมมากกว่าซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากสำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อพัฒนาทั้งทางด้านกายภาพและวิชาการให้สามารถรองรับนักเรียนและครูที่เพิ่มขึ้นได้

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ในส่วนของระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือสอบเข้ามหาวิทยาลัยในยุคของ Thailand 4.0 นั้น อาจจะยังไม่ได้ตอบโจทย์ Thailand 4.0 โดยตรง แต่จะมีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหา (Content) ในตำราเรียน ซึ่งเป็นเรื่องหรือเนื้อหาที่เด็กต้องเรียน เพื่อนำความรู้เหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการได้หารือกับผู้เกี่ยวข้อง

เพื่อปรับระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ภายใต้หลักคิด “ลดภาระของเด็กและผู้ปกครองในการวิ่งรอกสอบ เพิ่มความยุติธรรมสำหรับเด็กด้อยโอกาสและเด็กยากจน และเพิ่มความเที่ยงตรงในการสอบคัดเลือก” เนื่องจากระบบเดิมให้โอกาสกับเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะ มากกว่าเด็กด้อยโอกาสและเด็กยากจน ที่ไม่มีเงินและไม่สามารถวิ่งรอกไปสอบได้หลายแห่ง รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยทำการคัดเลือกเด็กเอง ทำให้สร้างความไม่เท่าเทียมและไม่เที่ยงตรงให้เกิดขึ้นในการคัดเลือก เพราะมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เร่งที่จะช้อนเด็กเก่งไว้ทั้งหมด

การศึกษา

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเร็วๆ นี้ ระบบการสอบจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน โดยแนวโน้มคือการสอบจะต้องน้อยลง เพื่อให้เด็กได้เรียนจนครบหลักสูตร และไม่ต้องกังวลกับการเตรียมสอบต่าง ๆ มากจนเกินไป

cr. ข้อมูล-ภาพ / กระทรวงศึกษาธิการ www.moe.go.th

นอกจากนี้คุณยังอาจต้องการ

ความเห็นถูกปิด

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี