Take a fresh look at your lifestyle.

อ่าน “Teach Like Finland (1)” กับ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

เป็นบทความที่ดีมากเกี่ยวกับเรื่องราวของครูท่านหนึ่ง เป็นเรื่องที่อ่านแล้วได้แง่คิดดีๆ คุณครูประถมที่ตั้งใจทำเพื่อลูกศิษย์ อย่าหักโหมมากเกินตัวจะมีแต่จะทำให้ร่างกายทรุดโทรม รักลุกศิษย์และต้องรักตัวคุณครูเองด้วย ขอแนะนำหนังสือ Teach Like Finland: สอนฟิน เรียนสนุก สไตล์ฟินแลนด์ ซึ่งจะทำให้คุณครูประถมมีแรงพักดันมากขึ้น ว่างๆลองมาอ่านดูนะครับ

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

หนังสือปกสีน้ำเงิน Teach Like Finland: สอนฟิน เรียนสนุก สไตล์ฟินแลนด์ โดยผู้เขียน Timothy D. Walker ครูชาวอเมริกันที่ย้ายไปทำงานที่ฟินแลนด์ เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่น่าอ่านต่อจากเล่มแรกหน้าปกสีขาวคือ Finnish Lesson 2.0ซึ่งเขียนโดย Pasi Sahlberg และได้เขียนคำนำเสนอให้แก่หนังสือเล่มนี้ด้วย

หนังสือปกสีน้ำเงินนี้เป็นเล่มหนึ่งที่ครูไทยควรอ่าน เพื่อให้รู้ว่ามีประเทศและโรงเรียนที่อีกซีกโลกหนึ่งเปลี่ยนแปลงตนเองได้ การเปลี่ยนแปลงนี้มิได้หมายถึงนวัตกรรมการศึกษาที่ทันสมัยแปลกใหม่พิสดาร ที่แท้แล้ววิธีเรียนวิธีสอนของฟินแลนด์มิได้มหัศจรรย์มากจนเกินไป พวกเขามีการสอนหนังสือและมีการบ้าน แต่ก็มีนวัตกรรมการสอนที่ไร้รูปแบบด้วย

อย่างไรก็ตามส่วนที่หนังสือเล่มนี้พูดถึงมากกว่าคือเรื่องการจัดการปัจจัยแวดล้อมที่ช่วยให้ครูทำงานได้ดีที่สุด โดยมีผลลัพธ์ที่ดีที่สุดให้แก่นักเรียนทุกคน

แล้วไม่ทิ้งนักเรียนสักคนไว้ข้างหลัง

หนังสือแบ่งเป็น 5 บท แต่ละบทพูดถึงปัจจัยแวดล้อมที่เราควรจัดการ 6-7 หัวข้อ แต่ละหัวข้อง่ายเสียจนไม่น่าเชื่อว่าทำไมเราไม่ทำ

หากอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างผ่านเลยเราก็จะพบว่าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่ถ้าอ่านแล้ว ใคร่ครวญ เห็นจริง และลองทำ เชื่อได้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน

ข้อเขียน 5 ตอนจบต่อไปนี้จะขยายความและตีความเนื้อหาในแต่ละบทแต่ละตอนของหนังสือเล่มนี้เพื่อจูงใจให้ครูไทยสมัยใหม่ได้ลองทำ ด้วยรู้อยู่ว่าในระบบราชการที่รัดรึงพวกเราอยู่ทุกวันนี้นั้นใครจะไม่ทำอะไรก็ไม่เป็นอะไร การอบรมต่างๆ จึงไร้ผลอยู่เสมอๆ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีแรงจูงใจมากพอที่จะลุกขึ้นเปลี่ยนแปลง หวังว่าการขยายความและตีความนี้จะช่วยให้ครูสมัยใหม่เข้าถึงเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ได้มากขึ้นและมีแรงจูงใจมากพอที่จะเปลี่ยนแปลง

หนังสือเล่มนี้มีเชิงอรรถและเอกสารอ้างอิงเพื่อยืนยันเรื่องที่เขียน ข้อเขียนนี้จะข้ามเชิงอรรถเหล่านั้นเพื่อมิให้ดูรกรุงรัง หากใครอ่านแล้วแคลงใจควรตามไปดูเชิงอรรถและไล่ต่อไปถึงเอกสารอ้างอิงต้นฉบับ

1. จัดเวลาพักสมอง

ขึ้นตอนที่ 1 ก็เป็นเรื่องได้แล้วในบ้านเรา ทิโมธี ดี. วอล์กเกอร์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้พบว่าวัฒนธรรมครูในฟินแลนด์ไม่เหมือนอเมริกาที่เขาจากมา ที่อเมริกาครูทำงานตลอดเวลา และทุกคนทำงานล่วงเวลา

ครูว่างๆ คือครูขี้เกียจ

วัฒนธรรมการทำงานแบบนี้เกิดจากค่านิยมวิ่งไขว่คว้าเพื่อไปให้ถึงความสำเร็จแบบอเมริกัน

ต่างจากวัฒนธรรมครูของฟินแลนด์ ครูฟินแลนด์มีเวลาพัก 15 นาทีทุก 1 ชั่วโมง มิหนำซ้ำยังเป็นเวลาพักผ่อนจริงๆ ครูมารวมตัวกันที่ห้องพักครูเพื่อกินกาแฟ พูดคุย อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่มีใครเตรียมการสอนของชั่วโมงถัดไป ในขณะที่ทิโมธีหรือทิมง่วนกับการเตรียมการสอนตลอดเวลาจนกระทั่งไม่มีเวลาเดินมาห้องพักครู สร้างความกังวลใจและเป็นห่วงให้แก่เพื่อนครูชาวฟินแลนด์เป็นอันมากว่าเขาจะหมดไฟ

ทิมเอางานกลับไปทำงานที่บ้านและวันหยุดในขณะที่ครูฟินแลนด์ไม่ทำเช่นนั้น  พวกเขาทำได้อย่างไรกัน

ทำได้อย่างไรมิใช่เรื่องสำคัญ สำคัญที่วิธีคิดก่อน หากวิธีคิดชัดเจนคนเราจะค้นหาวิธีทำจนได้

วิธีคิดของเรื่องนี้คือ “ความสุขไม่ใช่ผลลัพธ์ของความสำเร็จ แต่เป็นต้นกำเนิดของมันต่างหาก”

จะเห็นว่าขึ้นบทแรกตอนแรกบ้านเราก็หงายหลังเสียแล้ว เมื่อหันมาดูวัฒนธรรมบ้านเราใครไม่ทำงานให้เจ้านายเห็นก็จะเป็นคนขี้เกียจได้ง่ายๆ ใครทำงานล่วงเวลามักได้รับการจับตา แต่คนที่บริหารเวลาเป็นและทำงานเสร็จในเวลากลับไม่มีใครมองเห็นประสิทธิภาพของเขา ทั้งนี้ยังไม่นับเรื่องการใช้เวลาไปในการเอาใจเจ้านายซึ่งมีอยู่ไม่น้อย วัฒนธรรมเหล่านี้เป็นตัวขัดขวางการปฏิรูป

ข้าราชการจำนวนหนึ่งทำงานเพื่อผลงานแต่มิได้ทำงานเพื่อผลลัพธ์ คือผลลัพธ์ที่จะตกแก่นักเรียน อีกจำนวนหนึ่งทำงานเพื่อให้เจ้านายเห็น

ทิมให้ความเห็นต่อไปว่าเวลา 15 นาทีที่ครูและนักเรียนได้มานั้น ต้องมี 3 ลักษณะคือ มีความสนุกสนานสูง เป็นอิสระ และแปลกใหม่ พูดง่ายๆ ว่านักเรียนจะทำอะไรก็ได้ ผลลัพธ์ที่ได้คือนักเรียนเรียนรู้ได้ดีขึ้น ครูก็ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เป็นอิสระ” เป็นข้อความสำคัญ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หาได้ยากในวัฒนธรรมบ้านเรา ระบบราชการและวัฒนธรรมบ้านเราให้ความเป็นอิสระแก่ครูและนักเรียนได้มากน้อยเพียงใด

2. เรียนรู้ขณะเคลื่อนไหว

ทิมเขียนว่าปัญหาเรื่องเด็กเคลื่อนไหวน้อยลงเป็นเหมือนกันทุกประเทศรวมทั้งในฟินแลนด์ บางครั้งเขาปล่อยให้นักเรียนนั่งเฉยนานเกินไปในชั่วโมงเรียนจนกระทั่งเพื่อนครูตั้งข้อสังเกต หรือแม้แต่เวลาพัก 15 นาทีของเด็กๆ ก็มิได้ประกันว่าเด็กๆ จะเคลื่อนไหวกันมากพอ โดยอ้างอิงเอกสารที่บอกว่าการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมีผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้

ทิมได้ยกตัวอย่างบางเรื่องที่น่าสนใจและลองได้ไม่ยาก เช่น ให้นักเรียนยืนเรียนได้ ให้นักเรียนลุกเดินได้ หรือแม้กระทั่งใช้ลูกบอลเด้งได้แทนเก้าอี้เรียน อีกวิธีหนึ่งคือแทนที่จะให้นักเรียนแสดงผลงานหน้าชั้น เราอาจจะให้นักเรียนแสดงผลงานหน้าห้องแล้วเปิดโอกาสให้นักเรียนแต่ละห้องเดินแวะชมผลงาน

มีอีกหลายตัวอย่างที่อาจจะช่วยให้ครูไทยได้คิดคำนึง ลำพังเฉพาะที่ยกตัวอย่างมาก็ขัดกับวัฒนธรรมของเรามากพออยู่แล้ว คืออยู่ในห้องเรียนต้องนั่งเรียบร้อย เงียบ! และฟังครู

ไม่ต้องนั่งเรียบร้อย ไม่ต้องเงียบ และฟังกันเอง คือขั้วตรงข้ามอีกด้านหนึ่ง

เฉพาะตอนที่ 1 และ 2 นี้มีคำถามในใจคือเรื่องการรักษาเวลา ทิมไม่ได้เขียนถึงเวลา 15 นาทีที่ทั้งครูและนักเรียนได้พักทุกหนึ่งชั่วโมงว่าแต่ละคนรักษาเวลากันได้อย่างไร ทำเสมือนฟินแลนด์ไม่มีปัญหาเรื่องการรักษาเวลา เมื่อครบ 15 นาทีแล้วทุกคนเริ่มภารกิจต่อไปได้เลยเช่นนั้นหรือ ซึ่งเดาได้ว่าหากเป็นบ้านเราจะมีคำถามว่า 15 นาทีรวมเวลาเดินด้วยหรือเปล่า เป็นต้น

เรื่องกลับมาที่ปัญหาวัฒนธรรมรักษาเวลาซึ่งบ้านเราไม่ค่อยจะมี

3. เติมพลังหลังเลิกเรียน

ทิมเล่าว่าครูใหญ่จะมาเตือนให้เขากลับบ้านตอนบ่ายสาม เทียบกับที่บอสตันที่ครูอเมริกันต้องตอกบัตรเข้าออกโรงเรียนเหมือนงานก่อสร้าง การเพ่งเล็งเวลาทำงานไม่มีประโยชน์อะไรเลย

ครูฟินแลนด์ใส่ใจการกำหนดจังหวะเวลามากกว่าปริมาณของเวลา เมื่อถึงเวลาเลิกเรียนเป็นเวลาพักเพื่อเติมพลังสำหรับงานข้างหน้า เพราะงานของครูเหมือนวิ่งมาราธอนที่จะไม่มีวันหยุด

คำเล่าลือว่านักเรียนฟินแลนด์ไม่มีการบ้านนั้นไม่จริง ความจริงคือครูฟินแลนด์ให้การบ้าน ซึ่งมีลักษณะ 3 ประการ คือ ให้น้อย ให้ทำหลายวัน และง่ายพอที่เด็กจะทำเองได้ (โดยไม่ต้องรบกวนผู้ปกครอง)

จุดประสงค์ของการบ้านดูเหมือนจะเป็นเพียงการชาร์จแบตเตอรี่อย่างสม่ำเสมอเสียมากกว่าที่จะอัดอะไรเข้าไปในตัวเด็กๆ หลังเลิกเรียนอย่างจริงจัง หากให้วิจารณ์ก็น่าจะเป็นไปเพียงเพื่อบอกว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องที่ทำได้ทุกเวลาตลอดชีวิต

วัฒนธรรมบ้านเราใส่ใจเวลาเซ็นชื่อเข้าออก เปลี่ยนมาเป็นตอกบัตรหรือสแกนนิ้วเข้าออกหรือใส่รหัสส่วนตัวเข้าออกที่ทำงาน โดยที่ทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่าทั้งหมดเป็นเพียงการแสดงละครเพราะเราสามารถคิดค้นกลวิธีในการทำหลักฐานการเข้าออกโรงเรียน (รวมทั้งโรงพยาบาล) ได้เสมอ ทั้งด้วยการทำงานเป็นทีมหรือขอความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ จากผู้วางระบบ เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมการทำอะไรเพียงเพื่อได้ชื่อว่าทำแล้วแบบของเรา

4. จัดพื้นที่ให้เรียบง่าย

ทิมเล่าเรื่องการจัดบอร์ดในห้องเรียนของฟินแลนด์ว่าไม่มีผลงานของนักเรียนมากมายติดจนเปรอะไปหมด ดูเหมือนฟินแลนด์ถือหลักน้อยคือมาก หรือ minimalism โดยยกตัวอย่างสไตล์การตกแต่งบ้านหรือออกแบบของอิเกีย เทียบกับที่อเมริกาที่ครูจะถูกตำหนิทั้งจากผู้ปกครองและผู้ตรวจคุณภาพโรงเรียนเมื่อพบว่าบอร์ดแสดงผลงานของนักเรียนว่างเปล่า

มีเอกสารอ้างอิงอีกเช่นเคยว่าการติดผลงานจนเปรอะรบกวนการเรียนรู้ของเด็กๆ ความว่างที่รอการติดผลงานบางชิ้นช่วยให้เด็กกระตือรือร้นและเรียนรู้ได้มากกว่า

กลับมาดูบ้านเราก็เห็นจริง เวลาไปเยี่ยมโรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนอนุบาลเราจะพบผลงานเด็กๆ มากมายบนผนังทั้งหน้าห้อง ในห้อง และทางเดิน อย่างไรก็ตามทิมมิได้เล่าว่าเขาหรือครูฟินแลนด์ใช้เกณฑ์อะไรในการคัดสรรผลงานของเด็กๆ ขึ้นบอร์ด หากเขาใช้บรรทัดฐานว่าเก่งที่สุดดีที่สุดสวยที่สุดได้ขึ้นบอร์ด ก็จะมีคำถามต่อไปว่าเก่งที่สุดดีที่สุดสวยที่สุดแปลว่าอะไรกันแน่ หรือหากใช้ระบบเวียนเทียนก็จะไม่มีประโยชน์ต่อการกระตุ้นแรงจูงใจมากนัก

5. สูดอากาศบริสุทธิ์

ที่ฟินแลนด์ มีมาตรฐานการคำนวณจำนวนนักเรียนต่อห้องโดยดูจากพื้นที่และความสูงของเพดาน รวมทั้งการเปิดหน้าต่างห้องเรียนเพื่อให้อากาศบริสุทธิ์ถ่ายเท โดยให้คำอธิบายว่าระดับคาร์บอนไดออกไซด์จากลมหายใจออกของทุกคนมีผลต่อการเรียนรู้

อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยว่าอุณหภูมิที่เหมาะแก่การเรียนรู้อยู่ที่ 20-23 องศาเซลเซียสซึ่งที่ฟินแลนด์อากาศภายนอกก็อาจจะหนาวเกินไป และสำหรับประเทศไทยอากาศในห้องก็อาจจะร้อนเกินไป ประเด็นน่าจะอยู่ที่ระดับของออกซิเจนมากกว่าเรื่องความร้อนความเย็น แต่ความร้อนความหนาวมีผลต่อการเรียนรู้แน่

 

6. เข้าสู่ธรรมชาติ

โรงเรียนในป่าเป็นเรื่องที่เราได้ยินเสมอมาโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศนอร์ดิกรวมทั้งฟินแลนด์ ครูฟินแลนด์พาเด็กออกไปเรียนรู้ในป่าเสมอๆ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าป่ามีทุกวิชา ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือการใช้ภาษา เพิ่มเติมว่าหน้าที่พลเมือง ศีลธรรมหรือศาสนาก็เรียนในป่าได้ด้วย มีข้อแก้ตัวได้ว่าพื้นที่ป่าของฟินแลนด์มีมากมายเหลือเกินจึงทำได้ แล้วโรงเรียนในเมืองจะทำได้อย่างไร

โรงเรียนบ้านเราจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ห่างจากธรรมชาติไม่ไกล เรื่องจะกลับมาติดขัดที่ทัศนคติเสียมากกว่ากล่าวคือพ่อแม่เด็กต้องการให้โรงเรียนเก็บตัวเด็กไว้ในบริเวณโรงเรียนด้วยห่วงเรื่องความปลอดภัย การกลับบ้านตรงเวลา และค่าใช้จ่ายพิเศษ

ส่วนครูเองก็ไม่อยากพบปัญหาเรื่องเด็กได้รับอันตรายเมื่อออกนอกสถานที่ การดูแลลิงหลายตัวนอกสถานที่เป็นเรื่องยากลำบาก และครูเองก็ต้องการเลิกงานตรงเวลาเหมือนกัน

มีครูไทยน้อยคนที่อยากทำงานมากเกินปกติ เมื่อรู้ๆ อยู่ว่าทำงานตามปกติก็ได้รับความดีความชอบเท่าๆ กัน

ข้อจำกัดข้างต้นสะท้อนถึงวัฒนธรรมอีกข้อของบ้านเราคือ การไม่รักษาเวลา ความไม่รับผิดรับชอบ และการโยนกลองให้ผู้อื่น กล่าวคือผู้ปกครองพร้อมกล่าวโทษโรงเรียนเมื่อเด็กๆ ได้รับอันตราย ในขณะที่ครูก็ไม่พร้อมจะรับผิดรับชอบแต่ผู้เดียวโดยไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยรองรับ เราจึงไปไหนไม่ได้อีกเช่นเคย

ทิมให้ทางออกสำหรับโรงเรียนในเมืองว่าวิธีง่ายๆ คือนำธรรมชาติเข้าสู่ห้องเรียนและโรงเรียน พร้อมยกตัวอย่างไว้บางเรื่อง หลักใหญ่ใจความสำคัญคือ ก้อนหินสักกอง ใบไม้สักกำมือ เด็กๆ ก็พร้อมจะกระโจนเข้าใส่และเรียนรู้

7. รักษาความสงบ

ความสงบคืออะไร

โดยทั่วไปเรามักนึกถึงความเงียบก่อน ห้องเรียนของบ้านเราก็เงียบและว่าที่จริงออกจะเงียบกริบด้วยซ้ำไป ดังนั้นความเงียบมิใช่เรื่องเดียวของความสงบแน่เพราะความเงียบของบ้านเรามิได้ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้อะไรมากมาย ในขณะที่ทิมอ้างถึงความสัมพันธ์ระหว่างความสงบกับผลการสอบ PISA ของฟินแลนด์!

แต่ความเงียบเป็นส่วนหนึ่งของความสงบด้วยแน่ มีเอกสารอ้างอิง มีเครื่องตรวจความดังของเสียงในห้องเรียนของฟินแลนด์ด้วย แต่ส่วนที่แตกต่างคือนักเรียนเป็นผู้วางกติกาและควบคุมกันเอง

ครูฟินแลนด์จะใช้เวลาส่วนหนึ่งในการให้นักเรียนได้ประชุมและวางกติกากันเองว่าจะทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้างในห้องเรียน เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่สงบ

ทิมเล่าว่าการควบคุมโดยครูไม่ก่อประโยชน์อันใด

นักเรียนหลากหลายวางกติกาหลากหลาย แต่โดยรวมๆ แล้วทั้งหมดมักจะจบลงที่หลักการ 3 ข้อ

เคารพตัวเอง

เคารพคนอื่น

เคารพสภาพแวดล้อม

ส่วนรายละเอียดจะแตกต่างกันไปในแต่ละห้อง แต่ละโรงเรียน น่าจะแต่ละภูมิภาคด้วย สังเกตให้ดีจะพบว่ากติกาสามข้อนี้ไม่ต่างจากกติกาสามข้อสำหรับเด็กๆ คือ ห้ามทำร้ายตนเอง ห้ามทำร้ายคนอื่น และห้ามทำลายข้าวของ

ทิมปิดตอนที่ 7 ของบทที่ 1 นี้ด้วยเรื่องการเจริญสติ โดยเขียนไว้ชัดเจนว่า การเจริญสติมิใช่กิจกรรมทางศาสนาและไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา เป็นเรื่องของความสงบภายใน

ความข้อนี้สำคัญมากสำหรับบ้านเราที่ซึ่งมิได้มีเพียงศาสนาพุทธเท่านั้น

ที่มา: bookscape

นอกจากนี้คุณยังอาจต้องการ

ความเห็นถูกปิด

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี