แนวทางกาสอนแบบโครงการ(Project Approach)

ครูประถมหลายคนเจอปัญหานักเรียนไม่สนใจเรียน การเรียนแบบโครงการจะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนมีกระบวนการคิด การแก้ปัญหา โดยเฉพาะ การทำงานกลุ่ม หากใช้วิธีครูประถมจะทำให้เด็กตั่งใจค้นคว้าเพราะเป้นสิ่งที่เด็กสงสัย อยากหาคำตอบ

จากบทความ แนวทางการสอนลูกให้คิดอย่างเป็นระบบด้วย Mind Map ผ่านการระดมความคิด (Brainstorm) โดยมีหัวข้อใหญ่เป็นแกนกลาง แล้วกระจายความคิดออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งช่วยให้เด็กคิดและตอบในเรื่องที่ตัวเองสนใจ และเรียนรู้ในสิ่งที่เด็กอยากเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว สำหรับเด็กปฐมวัยนั้น จะเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติ โดยที่คุณครูและผู้ปกครองสามารถส่งเสริมให้เด็ก ๆ จัดประสบการณ์การเรียนรู้ในรูปแบบโครงการ หรือที่เรียกว่า Project Approach

Project Approach คือ…

Project Approach (การสอนแบบโครงการ) เป็นการเรียนที่มุ่งเน้นให้เด็กมีส่วนร่วมและกระตุ้นให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง พร้อมเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ในสิ่งที่เด็กสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเด็ก และตอบสนองตามความต้องการที่หลากหลายของเด็ก ๆ โดยเป็นกิจกรรมเชิงปฏิบัติที่เน้นให้เด็กลงมือทำได้ด้วยตัวเอง การสอนแบบโครงการนี้ถือเป็นเครื่องมือการสอนที่ดีอย่างยิ่งสำหรับคุณครู เพราะจะแสดงให้เห็นถึงสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่แนวคิดในเรื่องแห่งความเป็นจริง การตั้งคำถามจากความสนใจที่แท้จริง และการค้นหาคำตอบในเชิงลึกของเด็กในหัวข้อหรือเรื่องที่เด็กสนใจ แล้วยังส่งเสริมทักษะและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ผ่านการสำรวจ การสืบค้น การจดบันทึก และการคิดวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อมูลและความรู้ต่าง ๆ ตามเรื่องที่เด็กสนใจ ผ่านประสบการณ์ตรงที่หลากหลาย ตลอดจนการใช้ความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะที่สรุปออกมาเป็นชิ้นงาน

คุณครูและเด็ก ๆ พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน

การจัดการเรียนการสอนแบบโครงการ (Project Approach) ผู้สอนสามารถจัดเป็นนิทรรศการที่เป็นการสรุปความคิดรวบยอดของเด็ก ๆ ที่จะนำมาเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้รู้ถึงวิธีการทำงานที่เป็นกระบวนการตามขั้นตอน นอกจากการเรียนรู้แล้ว Project Approach ยังเป็นการสอนเชิงลึกเกี่ยวกับหัวข้อในความเป็นจริงที่เด็ก ๆ มีความสนใจและพยายามสืบค้นด้วยตัวเอง ทั้งยังช่วยให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี

วิธีการสอนแบบ Project Approach

เป็นวิธีการสอนให้เด็กเลือกเรื่อง หรือหัวข้อของโครงการตามความสนใจของเด็ก ๆ โดยเฉพาะ คุณครูสามารถกำหนดขอบเขตตามพัฒนาการของเด็ก ๆ ผ่านกระบวนการ 3 ระยะ ตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นโครงการ ขั้นพัฒนาโครงการ จนถึงการสรุปโครงการ ซึ่งจะช่วยให้คุณครูสามารถจัดระเบียบ ดูความก้าวหน้าของกิจกรรมตามการพัฒนาความสนใจของเด็ก และการมีส่วนร่วมกับหัวข้อการเรียนรู้นั้น ๆ

ในระหว่างขั้นตอนการวางแผนเบื้องต้น คุณครูจะเลือกหัวข้อการเรียนรู้ตามความสนใจของเด็กเป็นหลัก และระดมประสบการณ์ความรู้ แนวคิดของตัวเด็ก แล้วนำเสนอเป็นหัวข้อใน Mind Map จากนั้นแตกออกมาเป็นหัวข้อย่อย เพื่อที่จะถูกเพิ่มในหัวข้อของ Mind Map และใช้สำหรับบันทึกความก้าวหน้าของโครงการอีกด้วย

เด็ก ๆ ตื่นเต้น ดีใจที่ได้เรียนรู้ข้าวโพดจากของจริง

การกำหนดหัวข้อโครงการ

หัวข้อการเรียนรู้สามารถกำหนดได้จากเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของตัวเด็กเอง เพราะทุก ๆ คำถามที่เด็กถาม มักเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เด็กพบเห็นได้จากประสบการณ์ตรงในชีวิตประจำวัน และในคำถามที่เด็กถาม คุณครูจะเป็นเพียงผู้ชี้แนะและจะไม่ให้คำตอบทันทีกับคำถามที่เด็กถาม แต่คุณครูจะให้เด็กค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ผ่านการสืบค้นจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ ตัวอย่าง เช่น โครงการไปรษณีย์ เด็ก ๆ มีข้อสงสัยว่า ไปรษณีย์ คืออะไร… แล้วมีไว้ทำอะไร… คุณครูก็จะเป็นผู้แนะนำหรือชี้แนะ โดยใช้การระดมความคิดจากเด็ก ๆ ถึงความเป็นไปได้ในหัวเรื่องนั้น ๆ เด็กบางคนที่มีความรู้หรือมีประสบการณ์ตรง อาจจะแบ่งปันความรู้ให้เพื่อน ๆ ฟัง และให้เด็ก ๆ ไปหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต แผ่นพับ นิตยสาร และผู้ปกครองที่บ้าน เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว เด็ก ๆ ก็จะนำข้อมูลที่ได้มาสนทนาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันทีละหัวข้อ เพื่อที่จะตรวจสอบให้แน่ใจว่าเด็ก ๆ มีความเข้าใจในหัวข้อที่กำลังแลกเปลี่ยนกันหรือไม่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การสอนแบบโครงการใช้เวลาในการสอนค่อนข้างนาน หลายสัปดาห์กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ หรือในบางหัวข้อก็อาจใช้เวลาเป็นเทอม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสนใจของเด็ก ๆ ด้วยค่ะ

การสอน 3 ระยะของ Project Approach

การเรียนรู้แบบ Project Approach แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 : การเริ่มต้นโครงการ

คุณครูร่วมกันอภิปรายหัวข้อกับเด็ก ๆ เพื่อค้นหาประสบการณ์ที่เด็กมี สิ่งที่เด็กรู้แล้ว และสิ่งที่เด็กอยากรู้ เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ และแสดงความเข้าใจแนวคิดที่เกี่ยวข้อง จากการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน คุณครูจะใช้คำถามถาม เพื่อกระตุ้นให้เด็กตอบคำถาม และทำจดหมายเกี่ยวกับหัวเรื่องการเรียนรู้ของโครงการส่งกับบ้านถึงผู้ปกครอง เพื่อสนับสนุนให้ผู้ปกครองได้พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับหัวข้อนั้น ๆ และแบ่งปันความรู้ให้กับเด็ก ๆ เพื่อเด็กจะได้นำความรู้ใหม่ ๆ ที่ได้รับมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อน ๆ ในห้องต่อไป

ระยะที่ 2 : การพัฒนาโครงการขั้นตอนนี้จะเป็นการจัดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ทำงานภาคสนามและพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่เด็กสนใจเรียนรู้ โดยคุณครูจะเป็นผู้จัดหาทรัพยาการต่าง ๆ เช่น หนังสือ เอกสารงานวิจัย พร้อมทั้งแนะนำวิธีการตรวจสอบที่หลากหลายให้กับเด็ก เพื่อช่วยเด็กในการสืบค้นและรวบรวมข้อมูลด้วยวัตถุจริง เปิดโอกาสให้เด็กแต่ละคนมีส่วนร่วมในการเป็นตัวแทนของสิ่งที่เค้ากำลังสืบค้น และช่วยให้เด็กสามารถทำงานตามความสามารถของตัวเองได้ เช่น บางคนมีทักษะพื้นฐานด้านงานประดิษฐ์ การวาดภาพ การนำเสนอ และการเล่นละคร โดยคุณครูช่วยสนับสนุนให้เด็กได้ทำงานตามความถนัดของแต่ละคนผ่านการอภิปรายในห้องเรียน ซึ่งหัวข้อของ Mind Map ที่ออกแบบไว้ก่อนหน้า จะให้ข้อมูลย่อเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการด้วยค่ะ

เด็ก ๆ เรียนรู้เรื่องข้าวและลงมือดำนาด้วยตนเองอย่างสนุกสนาน

ระยะที่ 3 : การสรุปโครงการ

เด็กและคุณครูร่วมกันจัดนิทรรศการ โดยให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้เกี่ยวกับหัวข้อ Project Approach ให้เด็ก ๆ ช่วยกันอภิปรายถึงหลักฐานที่สืบค้น เปรียบเทียบการตั้งสมมุติฐานว่าตรงกันหรือไม่ เล่าเรื่องโครงการของพวกเขาให้ผู้อื่นฟัง โดยเน้นจุดเด่นของโครงการ คุณครูและผู้ปกครองช่วยเด็ก ๆ วางแผนการดำเนินการ พร้อมเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่เด็ก ๆ ทำและค้นพบ อย่างเต็มความสามารถ ความสนุกสนาน ความกระตือรือร้นและความภูมิใจในตัวเด็กผ่านผลงานต่าง ๆ ทั้งนี้ครูควรบันทึกความคิดและความสนใจของเด็กในระหว่างการทำโครงการ เพื่อเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงทางความสนใจ ความรู้ และความคิดของเด็ก ๆ ว่าก่อนเริ่มโครงการและหลังจากสรุปโครงการมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และเพื่อเป็นแนวทางในการหาหัวข้อของโครงการในครั้งต่อไป

โครงการ Project Approach เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

จากที่กล่าวมาการสอนแบบ Project Approach หรือการสอนแบบโครงการ คือ กิจกรรมที่เน้นกระบวนการการลงมือปฏิบัติ และการใช้กระบวนการคิดที่เกิดจากการศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จากความสนใจของตัวเด็กเอง ที่เด็ก ๆ ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ อย่างลึกซึ้งในรายละเอียดของหัวเรื่องที่เด็กเลือก อย่างมีความสุข สนุกสนาน และยังส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเองและรู้จักทำงานอย่างมีแบบแผน นอกจากนั้นยังสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงเรียน ชุมชน และผู้ปกครอง เนื่องจากการสอนแบบโครงการผู้ปกครองและชุมชน จะมีส่วนสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างมาก

ตัวอย่างการเขียน Mind Map ใน Project Approach

ตัวอย่าง Mind Map เรื่อง AEC

ตัวอย่าง Mind Map ใน Project Approach เรื่อง AEC

ตัวอย่าง Mind Map เรื่อง ไอศกรีม

ตัวอย่าง Mind Map ใน Project Approach เรื่อง ไอศกรีม
ที่มา youngciety.com