Take a fresh look at your lifestyle.

อ่าน “Teach Like Finland (2)” กับ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ครูประถมดอทคอม ขอนำบทความดีดีจากนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาคต่อจากครั้งที่แล้ว ที่มีประโยชน์สำหรับคุณครูทุกท่าน หากครูท่านใดมีบทความดีดี สามารถนำมาแบ่งปันแลกเปลี่ยนกันได้นะคะ

ตอนที่ 1 ผ่านไปแล้ว เนื้อหาในตอนที่ 1 มาจากบทที่ 1 ของเล่ม Teach Like Finland เป็นเรื่องของบริบทหรือการจัดการสิ่งแวดล้อมเสียมาก หากตั้งใจอ่านจะพบว่าทิมมิได้เล่าเรื่องนวัตกรรมการสอนที่มหัศจรรย์อะไรมากมาย หากจะมีอะไรมหัศจรรย์สำหรับการสอนหนังสือที่ฟินแลนด์ก็คือครูฟินแลนด์มีเสรีภาพในการจัดการ “วิธีสอน” อย่างมาก กล่าวคือขอให้เด็กเรียนรู้ได้ วิธีไหนก็ทดลองได้ทั้งนั้น แล้วประเมินผลอย่างจริงจัง

อ่านตอนที่ 1 ด้วยสายตาของบ้านเรา จะพบว่าทุกเรื่องเราก็ทำได้ แต่ที่ทำไม่ได้เพราะปัญหาทางวัฒนธรรมมากกว่าอย่างอื่น รวมทั้งวัฒนธรรม “พูดไว้ก่อนว่าทำไม่ได้” ซึ่งเป็นกันมากโดยเฉพาะในระบบราชการ

วันนี้เรามาอ่านตอนที่ 2 ด้วยกันต่อ ซึ่งแบ่งเป็นหัวข้อย่อย ดังนี้

1. สรรหาทีมสวัสดิภาพ

ทิมเล่าเรื่องการทำงานอย่างโดดเดี่ยวในอเมริกาเปรียบเทียบกับการทำงานเป็นทีมในฟินแลนด์

ที่อเมริกาเขาทำแต่งานจนกระทั่งมิได้พบเพื่อนครูเลย  ครูอเมริกันบางคนอดข้าวกลางวันเพื่อเตรียมการสอนคาบต่อไปอย่างดีที่สุด แต่ที่ฟินแลนด์ครูๆ ทั้งหลายได้พบปะกันที่ห้องพักครูระหว่างคาบเสมอ กินข้าวเที่ยงด้วยกัน ดื่มน้ำชายามบ่ายด้วยกัน เพียงแค่ความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการนี้ก็ช่วยให้ทิมรู้สึกถึงความแตกต่างได้แล้วว่าเรามิได้ทำงานคนเดียว

แต่เรื่องนี้มิได้มีเพียงเรื่องความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการ ฟินแลนด์มีสิ่งที่เรียกว่าทีมสวัสดิภาพ ประกอบด้วยครูใหญ่ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และครูการศึกษาพิเศษ ครูฟินแลนด์จะได้ประชุมร่วมกับทีมสวัสดิภาพของโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอเพื่อพูดคุยกันเรื่องเด็กๆ หนังสือมิได้เขียนชัดเจนว่าทุกโรงเรียนมีทีมสวัสดิภาพของตนเองหรือไม่ หรือว่าทีมสวัสดิภาพ 1 ทีมดูแลกี่โรงเรียน อีกทั้งมิได้บอกว่าการประชุมหรือพูดคุยกันนี้เกิดขึ้นด้วยความถี่มากน้อยเพียงใด แต่ทิมเขียนไว้ตอนหนึ่งว่าปีละ 1-2 ครั้งก็ยังดี

เรื่องทีมสวัสดิภาพนี้ว่าที่จริงแล้วบ้านเราจะทำวันพรุ่งนี้ก็ได้ ด้วยยุทธศาสตร์เริ่มต้นก่อนปรับปรุงทีหลัง กล่าวคือเริ่มต้นอย่างไม่เป็นทางการ แล้วค่อยๆ ปลุกปล้ำกันไปในแต่ละพื้นที่

หากอ่านที่ทิมเขียน การพูดคุยกับทีมสวัสดิภาพนี้ไร้รูปแบบ อาจจะต้องคุยกันโดยไม่เปิดเผยชื่อนักเรียนด้วยซ้ำไปเพื่อรักษาความลับของนักเรียนอย่างที่สุด คำว่าไร้รูปแบบนี้กินความตั้งแต่สมาชิกทีมสวัสดิภาพนี้มาจากหน่วยงานไหนในอำเภอหรือจังหวัดก็ได้ ต่างคนต่างมาก็ได้ เช่น จิตแพทย์เด็กจากโรงพยาบาลจังหวัด นักจิตวิทยาจากหน่วยงานด้านเด็กสักหน่วย นักสังคมสงเคราะห์จากกระทรวงพัฒนาสังคมฯ พยาบาลประจำโรงเรียนน่าจะมีหมดทุกที่แล้ว ครูการศึกษาพิเศษจากพื้นที่ที่โรงเรียนตั้งอยู่ เป็นต้น กล่าวคือเราประชุมร้อยพ่อพันแม่จากต้นสังกัดที่หลากหลายได้

การประชุมเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่การพูดคุยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คำแนะนำง่ายๆ สำหรับการประชุมนี้คือครูสักคนเล่าเรื่องนักเรียนคนหนึ่งที่ดูเหมือนจะมีปัญหาพฤติกรรมด้วยสไตล์การเล่าอย่างไรก็ได้ ไม่ต้องมีรูปแบบ ไม่มีแบบฟอร์ม เล่าหน้าลืมหลัง เล่าไปเล่ามา ได้ทั้งนั้น วงพูดคุยซึ่งประกอบด้วยวิชาชีพหลากหลายจะช่วยเหลือครูไปจนถึงสานต่อการพูดคุยเอง

ไม่ต้องกังวลว่าแต่ละโรงเรียนมีเด็กนับร้อยที่มีปัญหา สถานการณ์ปัจจุบันเรามีปัญหายกโรงเรียนทุกโรงเรียนอยู่แล้วยังไม่รู้ตัว การพูดคุยที่ดี ได้ความคิดคำนึงหรือไอเดียที่ดี ย่อมนำไปใช้ได้กับเด็กๆ อีกหลายคนโดยไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่องเด็กๆ หมดทั้งจังหวัดก็ได้

แต่อย่าลืมว่าทิมมิได้เขียนเรื่องวิชาการ หัวข้อนี้คือเรื่องทีมสวัสดิภาพและความสัมพันธ์ สิ่งที่ทิมเล่าคือหลังจากการประชุมทำนองนี้ครูกันเองที่อีเมล์ปรึกษากันเองมากขึ้น และครูทิมเองกล้าที่จะเดินไปหานักสังคมสงเคราะห์สักคนเป็นส่วนตัวเพื่อขอคำปรึกษาเช่นกัน

2. รู้จักเด็กแต่ละคน

ทิมเขียนข้อดีของการรู้จักเด็กแต่ละคน ข้อสำคัญของเรื่องนี้คือทำให้เด็กรู้ว่าเขา “ถูกรู้จัก” เขาเป็นคนคนหนึ่ง มิใช่เป็นกลุ่มเด็กกลุ่มหนึ่งที่ครูก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

คนเราต้องการได้รับการ recognized ถูกรู้จัก ได้รับการยอมรับ เห็นหน้า และสบตา

ทิมเขียนว่ามี 5 วิธีที่ทำได้ 1. ทักทายเด็กทุกคนที่หน้าห้องทุกเช้า 2. ทำกิจกรรมล้อมวงทุกเช้า 3. กินข้าวกลางวันกับเด็กๆ 4. ไปเยี่ยมบ้านทีละคน 5. ครู 1 คนดูแลเด็ก 1 ห้องมากกว่า 1 ปี

คงเห็นแล้วว่าฟินแลนด์มิได้มีนวัตกรรมพิสดาร นี่คือเรื่องที่ใครๆ ก็ทำได้

ทิมดักพบนักเรียนทุกเช้า ทักทาย จับมือ ตีมือ หยอกล้อ ถามไถ่ แม้กระทั่งเล่นเกม ที่สำคัญคือทิมขานชื่อเด็ก น่าจะอย่างน้อยก็จนกว่าจะจำได้ขึ้นใจ ลำพังข้อแรกบ้านเราพบปัญหาวัฒนธรรมอีกแล้ว นักเรียนบ้านเราส่วนใหญ่ต้องยืนตรง ไหว้หรือโค้งเคารพอย่างเป็นพิธีการ น้อยคนที่จะผ่อนคลายเมื่อพบครูที่หน้าโรงเรียน ที่จริงแล้วหลายโรงเรียนใช้ระบบครูเวรมายืนหน้าโรงเรียน มิใช่ครูประจำชั้นมายืนหน้าประตูห้อง

ทิมทำกิจกรรมล้อมวงทุกเช้าก่อนเริ่มการเรียนการสอน จุดประสงค์ของกิจกรรมล้อมวงเพื่อกล่าวทักทายกัน  ทำให้ตอนเช้าที่โรงเรียนเริ่มด้วยความเบิกบาน สร้างสัมพันธ์ทั้งระหว่างครูกับเด็ก และเด็กๆ กับเด็กๆ ด้วยกัน

ทิมสละเวลาตอนกลางวันลงไปนั่งกินข้าวกับนักเรียนเป็นกลุ่มๆ หมุนเวียนกันไป โดยแบ่งเวลาบางวันนั่งกินข้าวกับเพื่อนครูด้วย เพราะความสัมพันธ์ทั้งกับนักเรียนและครูสำคัญพอๆ กัน

ทิมไปเยี่ยมบ้าน แน่นอนด้วยการนัดหมายล่วงหน้า ไปเพื่อให้รู้จักเด็กๆ มากขึ้น เขาสนใจอะไร ถนัดอะไร เป็นสองคำถามที่ครูควรรู้ สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง เราไปเพื่อเช็กความคาดหวังของพ่อแม่ผู้ปกครอง

สุดท้ายเป็นเรื่องระดับนโยบาย โรงเรียนทั่วโลกใช้ระบบนักเรียนเปลี่ยนครูทุกปีการศึกษา พอรู้จักกันก็จากกันเสียแล้ว แต่ที่ทิมพบคือเด็กๆ ประถม 1-4 ที่ฟินแลนด์อยู่กับครูประจำชั้นคนเดียว และหลังจากประถม 5 พวกเขาอยู่กับครูประจำชั้นคนเดิม 2 ปี ทิมเห็นข้อดีของระบบนี้ในขณะที่บางประเทศอาจระแวงระบบนี้ว่าทำให้ครูและนักเรียนใกล้ชิดหรือรู้จักกันมากเกินไป

ความระแวงนี้มีที่มาที่ไป ประการที่หนึ่ง ในแง่วิชาชีพ ครูเป็นวิชาชีพ (professional) เช่นเดียวกับแพทย์ จึงมีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ (code of ethics) ห้ามการมีสัมพันธ์ส่วนตัวที่เกินขอบเขต ประการที่สอง คือบางประเทศยังเป็นอำนาจนิยมอยู่มาก ครูเป็นของสูงเกินกว่าที่นักเรียนจะอาจเอื้อมหรือกล้ำกราย การหมุนเวียนครูทุกปีจะช่วยธำรงอำนาจนี้ไว้

3. เล่นกับนักเรียน

ทิมเล่าว่าคู่มือครูที่มีชื่อเสียงในอเมริกาเล่มหนึ่งสอนให้ครูชาวอเมริกันเตรียมการสอนวันแรกอย่างเพอร์เฟ็กต์ที่สุด วันแรกตัดสินวันที่เหลือทั้งหมด ประมาณนั้น

ครั้นทิมมาทำงานที่เฮลซิงกิ เขาพบว่าในขณะที่เขาใช้เวลาเป็นเดือนตอนปิดเทอมฤดูร้อนเตรียมการสอนวันแรกด้วยการลงรายละเอียดเป็นนาทีตั้งแต่การเดินแถวเข้าห้องเรียน ปรากฏว่าครูฟินแลนด์ยังไม่มาดูห้องเรียนเลยแม้ว่าอีกสัปดาห์เดียวจะเปิดเทอมวันแรก และไม่มีใครเตรียมการสอนสำหรับวันแรกเลย

เขาพบว่าที่ฟินแลนด์ วันแรกของการเปิดเทอมเป็นวันผ่อนคลาย ไม่มีการเรียนตามรูปแบบปกติ ครูและเด็กทักทายกันและหาอะไรทำด้วยกัน ครูบางคนใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์แรกเพื่อการนี้ วัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กๆ ได้ปรับตัว เริ่มปีใหม่ด้วยความผ่อนคลายและเบิกบาน

ทิมทำตามแต่เขายังคงติดรูปแบบการนำ ซึ่งพบว่าเด็กๆ ไม่สนุกเลย ครั้นเปิดโอกาสให้เด็กคิดเอาเองว่าจะเล่นอะไรกัน เด็กๆ เลือกจะเล่นเตะกระป๋องซึ่งสนุกมาก ตามด้วยการเล่นซ่อนหาอะมีบาที่ครูทิมต้องเป็นผู้หาในขณะที่เด็กๆ เป็นผู้ซ่อน หากจับใครได้อะมีบาจอมเขมือบจะขยายตัวขึ้น

อีกเกมหนึ่งที่ทิมแนะนำและเด็กๆ ก็โอเคด้วยคือเกมบิงโกมนุษย์ รายละเอียดหาอ่านได้ในหนังสือว่าทำอย่างไร จุดประสงค์คือเด็กๆ ได้ใช้เวลาในวันแรกหรือสัปดาห์แรกในการเรียนรู้ว่าเพื่อนๆ แต่ละคนไปทำอะไรมาตอนปิดภาค รวมทั้งได้เรียนรู้นิสัยใจคอ ความชอบ ความถนัดส่วนตัวของแต่ละคนไปพร้อมๆ กัน

จะเห็นว่าผ่านมาสามข้อแล้ว เรื่องยังวนเวียนที่ความสัมพันธ์ การรู้จักกัน และไม่ยอมเริ่มเรียนหนังสือกันเสียที

4. เฉลิมฉลองการเรียนรู้กับนักเรียน

“หยุดสักครู่เพื่อร่วมกันกล่าวคำขอบคุณสำหรับผลงานที่ดีของเด็กๆ ร่วมกัน” คือบทสรุปของตอนนี้

ทิมเล่าเรื่องวิชาคหกรรมศาสตร์ที่ฟินแลนด์ นักเรียนมาช่วยกันเตรียมอาหาร ทำอาหาร และเก็บกวาด ด้วยความสนุกสนาน

ว่าที่จริงกิจกรรมทำอาหารนี้บ้านเราก็มี แต่เชื่อได้ว่ามิได้สนุกสนานและเบิกบานเท่าไรนัก อย่างหนึ่งเพราะมิได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงทุกคนตามประสางานกลุ่มบ้านเราที่ขาดความพิถีพิถันเรื่องการมีส่วนร่วม คนเตรียมก็เตรียมไป คนทำก็ทำไป เหนื่อยอยู่กลุ่มเดียว อีกเหตุผลหนึ่งคือขาดอิสระในการคิดและทำ อีกเหตุผลหนึ่งคือทำเพื่อให้ได้เกรดที่ดี

ทิมเขียนว่ามี 3 องค์ประกอบที่จะช่วยให้กิจกรรมทำนองนี้ได้ผลดีคือ

ความสัมพันธ์ที่ดี
อิสระ
และความเชี่ยวชาญ

กล่าวคือนี่เป็นงานของทีม เป็นผลงานของนักเรียน และมิได้ทำเล่นๆ ผลลัพธ์ที่ได้คือความอร่อยที่เกิดจากการทำงาน “ด้วยกัน” ทิมเน้นย้ำที่คำว่า “ด้วยกัน” แล้วปิดท้ายคาบนี้ด้วยการเฉลิมฉลองความอร่อยด้วยกัน

เตรียมอาหาร ทำความสะอาดครัว ล้างถ้วยล้างจาน ซักผ้า จัดเก็บจาน ถ้วยน้ำ จัดโต๊ะอาหาร นี่คืองานครบวงจรตั้งแต่ต้นจนจบที่ไม่มีใครละเลย มิใช่ทำครัวเสร็จหรือกินเสร็จแล้วสะบัดก้นหนี

ความพร้อมพรั่งเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรน่าจะเป็นปริศนาที่บ้านเราต้องช่วยกันคิดให้แตก ทิมเขียนถึงงานช่างทอและงานก่อสร้างด้วย เหล่านี้ล้วนนำมาใช้เรียนรู้แล้วปิดท้ายด้วยการเฉลิมฉลองความสำเร็จได้

หากเป็นเรื่องหนังสือ ทิมยกตัวอย่างการทำสโมสรหนังสือหรือ book club ว่าที่จริงทิมมิได้ใช้คำนี้ อาจเพราะทำให้ดูเคร่งขรึมเกินไป ทิมเล่าเรื่องให้นักเรียนผลัดกันมาเล่าหนังสือที่อ่านให้เพื่อนฟัง เป็นกิจกรรมที่เด็กชอบเพราะผู้เล่าได้แสดงออกถึงความภูมิใจที่ได้นำเสนอ นำเสนออะไร?

นำเสนอผลสำเร็จที่ตนเองอ่านหนังสือจบเล่มแล้วมาเล่า มิใช่นำเสนอเนื้อหาในหนังสือจริงๆ อย่างที่เราเข้าใจ เด็กๆ ที่นั่งฟังก็ใส่ใจที่จะซักถามและกระตือรือร้นที่จะอ่านหนังสือเล่มนั้นบ้าง พอๆ กับรอคิวอ่านหนังสือของตัวเอง เชื่อได้ว่าเด็กๆ มีอิสระที่จะเลือกหนังสือ

ถัดจากหนังสือเป็นเรื่องการอ่านบทกวี ทิมบรรยายถึงชั่วโมงอ่านบทกวีที่เด็กๆ สามารถจัดสิ่งแวดล้อมใหม่ได้เลย มีโต๊ะเก้าอี้นั่งฟังสำหรับผู้ปกครอง มีขนมและน้ำชาพร้อมเสิร์ฟ เด็กๆ ผลัดกันอ่านบทกวีให้ท่านผู้ชมและผู้ฟัง  เช่นกัน เมื่อเราตั้งใจอ่านสิ่งที่ทิมเขียน อย่าหลงประเด็นว่านี่เป็นการนำเสนอบทกวีเพราะพริ้งอลังการ แต่ที่แท้แล้วคือการนำเสนอผลงานและความภูมิใจเฉพาะตัว

บ้านเราเรียนอย่างบ้าคลั่ง เด็กๆ ภูมิใจในสิ่งที่ตนเรียนและรู้หรือทำสำเร็จมากน้อยเพียงใด?

“ผมไม่เห็นเด็กๆ เคี่ยวเข็ญตัวเองให้ทำอาหารได้ดีเพื่อเอาใจครูหรือเพื่อเพิ่มเกรดเฉลี่ย ผมคาดว่าเด็กๆ ทำอาหารได้ดีเพราะกระบวนการทำนั้นสนุกสนานเพลิดเพลิน” ทิมว่า

บ้านเรามีความพยายามทำทุกอย่างที่เล่ามา แต่เราติดขัดตรงไหน ทำไมเด็กไม่สนุก?

5. ไล่ตามฝันของห้อง

ฟินแลนด์มีกิจกรรมเข้าค่ายเมื่อจบชั้นประถม กิจกรรมเข้าค่ายนี้เป็นเรื่องใหญ่ประจำปีที่ทุกคนรอคอย มีงานต้องเตรียมมากมายกว่าที่จะถึงวันเข้าค่ายจริง ตั้งแต่การหาทุน การเลือกกิจกรรม ไปจนถึงงานธุรการด้านการเงินและจองที่พัก

ทิมเล่าถึงความผิดพลาดของตนเอง 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเมื่อเขาเผลอกำหนดธีมของงานเองว่าจะเป็นเรื่องนักกีฬาพิการ เขาฝันเฟื่องถึงการเชิญนักกีฬาพาราลิมปิกเหรียญทองมาพบปะเด็กๆ แต่แล้วเขาพบว่ากิจกรรมนี้ล้มไม่เป็นท่าเพราะไม่มีนักเรียนแสดงความสนใจเลย บทเรียนของเรื่องนี้คือค่ายปลายปีนี้จะต้องเป็น “วิสัยทัศน์” ร่วมของเด็กๆ และครู  มิใช่ของครูเพียงคนเดียว เรื่องจึงหนีไม่พ้นต้องมีเวลาพูดคุยกัน

เรื่องที่สองเมื่อทิมทำหน้าที่คัดเลือกสถานที่พักและจองที่พัก เขาพบว่าเด็กๆ ไม่ชอบที่พักที่เขาเลือกเลยและแสดงปฏิกิริยาให้เห็น บทเรียนข้อที่สองนี้เป็นงานที่ต้องการการมีส่วนร่วมของเด็กๆ มาก พวกเขาเป็นเจ้าของงานและอยากทำเอง ไม่ว่าจะไปไหน ไปทำอะไร พวกเขาพร้อมจะวางแผนเองแล้วลงมือจัดการเอง

ดูเหมือนเหลือแต่งานด้านการเงินที่ครูยังมีส่วนในการช่วยเหลืออยู่ แต่การหาทุนก็เป็นงานของนักเรียนอีกเช่นกัน จะทำขนมขายหรือจัดงานลีลาศก็ว่ากันไป

ทิมเล่าว่าค่ายทำให้ความสัมพันธ์ของนักเรียนดีขึ้นผิดหูผิดตา เมื่อกลับจากค่ายพวกเขาทำงานเป็นทีมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน บางทีค่ายอาจจะมิใช่ประเด็น ประเด็นคือ “ไล่ตามความฝันของห้อง” คำสำคัญคือของห้อง มิใช่ของคนเดียว ดังนั้นกิจกรรมอื่นนอกเหนือจากค่ายก็เป็นเรื่องทำได้

6. กำจัดการกลั่นแกล้ง

ที่ฟินแลนด์ กิจกรรมที่เล่ามาในบทนี้ทุกตอนเป็นไปเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามการกลั่นแกล้งยังคงมีอยู่ มาตรการอื่นๆ ที่ทำกันก็เหมือนกับที่อเมริกาทำ เช่น การลงนามร่วมกันของนักเรียนที่จะช่วยกันต่อต้านการกลั่นแกล้ง หรือการเล่นบทบาทสมมติเรื่องการกลั่นแกล้ง

แต่ที่นี่มีต่างออกไปคือโปรแกรม KiVa โปรแกรมนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อขจัดการกลั่นแกล้งและใช้ในโรงเรียนส่วนใหญ่ของฟินแลนด์ สั้นๆ คือเมื่อเด็กคนหนึ่งถูกกลั่นแกล้ง หรือเด็กคนหนึ่งพบเห็นการกลั่นแกล้ง เขาสามารถร้องขอให้มีการประชุม KiVa ซึ่งประกอบด้วยครู ผู้ถูกกลั่นแกล้ง พวกที่กลั่นแกล้ง และนักเรียนรุ่นพี่ทำหน้าที่อำนวยการประชุม

วิธีประชุมคือให้ผู้ถูกกลั่นแกล้งเขียนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วอธิบายจากมุมมองของตัว จากนั้นให้พวกที่กลั่นแกล้งทำอย่างเดียวกัน นักเรียนรุ่นพี่ผู้อำนวยการประชุมจะเปิดอภิปรายให้ทั้งสองฝ่ายคิดหนทางอื่นที่เป็นไปได้ จากนั้นทำข้อตกลงแล้วลงนามร่วมกัน เป็นอันปิดประชุมได้ ฟังดูง่ายดีทีเดียว

มีสองเรื่องที่ต้องเน้นย้ำ การกลั่นแกล้งในโรงเรียนต้องได้รับความใส่ใจแม้ว่าจะเป็นเพียง “ความรู้สึก” อีกข้อหนึ่งคือไม่มีใครจำเป็นต้องเอยคำขอโทษหากไม่เต็มใจจะขอโทษ ประการหลังนี้ดีมาก พบว่าพิธีกรรมขอโทษในกรณีการกลั่นแกล้งนี้ไม่ช่วยอะไร

ความจริงหลังการปิดประชุมมิได้แปลว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยแต่อย่างน้อยขั้นตอนที่ 1 ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และเมื่อประเมินแล้วไม่มีอะไรดีขึ้นจะมีการประชุมครั้งที่สองซึ่งผู้ปกครองจะเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

ย้ำว่าการกลั่นแกล้งมิใช่เรื่องส่วนตัวระหว่างผู้ถูกแกล้งหรือผู้แกล้ง นี่เป็นเรื่องส่วนรวมของทั้งโรงเรียน

7. หาคู่หู

มาถึงข้อสุดท้ายเป็นปัญหาวัฒนธรรมอีกแล้ว ที่โรงเรียนของทิมในเฮลซิงกิ ทิมเล่าเรื่องระบบคู่หูเด็กประถมหกกับเด็กประถมหนึ่ง ซึ่งมิได้รับการปฏิบัติแพร่หลายทั่วฟินแลนด์

ทิมพบว่าเด็กประถมหกจะได้รับมอบหมายให้ดูเด็กประถมหนึ่งหนึ่งคน บางทีพวกเขาก็ช่วยน้องทำการบ้าน หรือไปนอกสถานที่ร่วมกัน สิ่งที่เห็นคือประถมหกซึ่งเป็นวัยรุ่นนี้มีการเปลี่ยนแปลงและความรับผิดชอบอย่างไม่น่าเชื่อ พวกเขาไม่ต้องทำตัวเท่หรือคูล ก็แค่ดูแลน้องก็พอ

ในห้องเรียนหนึ่งมีพลวัตเฉพาะตัว บางทีเพียงเราสับเปลี่ยนองค์ประกอบของห้องพลวัตนั้นก็เปลี่ยนไป เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทดลองทำได้

เรื่องคู่หูประถมหก-ประถมหนึ่งนี้มาใช้บ้านเราท่าจะยาก ด้วยบ้านเราไม่ไว้วางใจกันมากพอ คือ trust  จะเห็นว่าหลายๆ เรื่องในฟินแลนด์วางอยู่บนคำว่าความไว้ใจคือ trust พ่อแม่ของเด็กประถมหนึ่งไว้ใจเด็กประถมหกซึ่งจ่อวัยรุ่นเต็มแก่ให้ดูแลลูกของตนเอง เพียงแค่คิดก็ทำใจได้ลำบากแล้ว ก่อคำถามขึ้นได้มากมาย คำถามสำคัญที่สุดคือประถมหกมีความสามารถมากขนาดนั้นจริงหรือ กับแค่ทำตัวเองให้เรียบร้อยยังทำไม่ได้เลย เป็นต้น

บทสรุปของบทที่ 2 นี้อย่างสั้นที่สุดคือครูไม่จำเป็นต้องทำงานคนเดียว

ที่มา: bookscape

You might also like

Comments are closed.

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี