Take a fresh look at your lifestyle.

หลงตัวเองคิดว่าตัวเองเก่งที่สุด คืออาการที่เรียกว่า “Dunning–Kruger effect”

คนเรามักจะประเมินทักษะความสามารถของตัวเองว่าสูงกว่า เก่งกว่าคนอื่นอยู่เสมอ จะเป็นอีกหนึ่งบทความดีๆ จากครูประถมที่จะช่วยให้คุณครูเข้าใจในเรื่องของ Dunning–Kruger effect มากยิ่งขึ้น จะต้องปลูกฝังให้เด็กได้รู้จัก ว่าถ้าเกิดเรื่องแบบนี้อาจจะไม่เป็นผลดีต่อเรา และคนอื่น

Bertrand Russell นักปรัชญาบอกว่าโลกนี้วุ่นเพราะคนที่ฉลาดก็คิดว่าตัวเองไม่เก่ง ลังเลสงสัยในตัวเองอยู่นั่น ส่วนพวกโหลยโท่ยก็ดันมั่นใจในตัวเองซะเหลือเกิน

ในมิติของปรัชญาและความรู้นักปรัชญาผู้ลุ่มลึกเช่นขงจื๊อเน้นย้ำว่า “ความรู้ที่แท้จริงคือการรู้ว่าตัวเองไม่รู้” คือต้องรู้ว่าจริงๆ แล้วเรามีโลกส่วนที่เราไม่รู้ก่อน ฟังดูแล้วก็พยักหน้าเบาๆ ว่า เออ จุดเริ่มต้นที่เราจะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองขึ้นไป คือการต้องยอมรับก่อนว่าเราไม่รู้ ไม่เก่ง หรือไม่ถูกต้องก่อน เราถึงจะเริ่มการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้

ในทางวิทยาศาสตร์มีนักคิดเรียกอาการที่คนไม่เก่งแต่คิดว่าตัวเองว่า ‘Dunning–Kruger effect’ คือเป็นอาการที่เกิดขึ้นในระดับ ‘การรับรู้’ ที่ว่าคนๆ หนึ่งหลงคิดไปว่าตัวเองนี่แสนจะเก่งกาจ เป็นอคติที่ทำให้ไม่สามารถ ‘ประเมิน’ ความสามารถที่แท้จริงของตัวเองได้

งานศึกษาที่ว่าตีพิมพ์ในปี 1999 แค่ชื่องานวิจัยก็สุดแสนจะแสบคือชื่องานวิจัยเริ่มว่า “ไม่ได้เรื่อง แถมยังไม่รู้ตัว (unskilled and unaware of)” โดยรวมแล้วพูดเรื่องปัญหาว่าไอ้ความไม่ได้เรื่องเนี่ย มันรวมเรื่องการกะ ประมาณ วัดค่าสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะตัวเอง จนทำให้เกิดความเข้าใจและความผิดพลาดจากการประเมินนั้นๆ – คือประเมินตัวเองสูงเกินไป และปัญหาที่สำคัญคือการกะประมาณตนที่ผิดพลาดนี้กลายเป็นอุปสรรคของการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้

ตรงนี้เองที่ตรงข้ามกับคนเก่งๆ ทั้งหลายที่มักจะประสบปัญหาที่ตรงข้ามกัน คือประเมินตัวเองต่ำกว่าความเป็นจริง ตรงนี้อาจจะเป็นทัศนคติส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้คนเก่งพัฒนาตัวเองได้เรื่อยๆ แต่ก็ประสบปัญหาเรื่องความเครียดและความกดดันจาก imposter syndrome คือคิดว่าตัวเองไม่เก่งจริง แค่โชคดีเฉยๆ (ความไม่พอดีของโลก)

ในบทคัดย่อของงานศึกษาเรื่อง Dunning–Kruger effect เริ่มต้นด้วยประโยคที่ว่า “คนเรามักจะประเมินทักษะความสามารถของตัวเองว่าสูงกว่า เก่งกว่าคนอื่นอยู่เสมอ” และงานศึกษาในชั้นหลังก็บอกว่าคนทั่วไปประเมินตัวเองว่าเจ๋งกว่าคนอื่นเสมอ เช่น ในสหรัฐฯ มีการทำสำรวจทักษะการขับขี่ของนักศึกษา ผลคือนักศึกษาจำนวน 93% ประเมินว่าตัวเองมีทักษะการขับขี่ที่ ‘เก่งกว่าทั่วๆ ไป (above average)’ หรือเจ้าของร้านอาหารทั้งหลายก็บอกว่าร้านข้าพเจ้าเตรียมรับรางวัลได้เลย แต่ผลที่แท้จริงคือร้านส่วนใหญ่มักจะปิดตัวลงภายในเวลาไม่เกินสามปี

สรุปแล้วพอเป็นเรื่องของตัวเอง มี ‘ตัวเรา (self)’ เข้ามาเกี่ยวข้อง การประเมินต่างๆ ก็อาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง ในแง่ของ ‘ความห่วย’ ถ้าเราใช้วิธีของนักปรัชญาที่ค่อนข้างระแวงสงสัยและทบทวนตัวเองอยู่เสมอ การที่เราพยายามรับรู้และตรวจสอบว่าตัวเองยังไม่รู้อะไรบ้าง ที่รู้มันจริงไหม ที่คิดว่าเก่งแล้วเก่งจริงรึเปล่า มันคือการสำรวจขอบเขตว่างๆ ซึ่งพอเราเห็นพื้นที่ว่างๆ เหล่านั้นแล้ว เราก็ย่อมสามารถที่จะค่อยๆ ขยายและเติมช่องว่างที่ว่านั้นต่อไป เพราะถ้าไม่เห็นช่องว่างก็คงจะเติมมันไม่ได้เนอะ

ที่มา: thematter.co

อ้างอิงข้อมูลจาก psychologytoday.com  Unskilled and Unaware of It: How Difficulties in Recognizing One’s Own Incompetence Lead to Inflated Self-Assessments (1999)

Comments are closed.

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี