Take a fresh look at your lifestyle.

นักจิตวิทยาโรงเรียน สพฐ.ร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0

สพฐ.ชู นักจิตวิทยาโรงเรียน ร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดมิติใหม่พัฒนาคุณภาพการศึกษา ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 นำร่องโครงการ “นักจิตวิทยาโรงเรียน” 26 เขตพื้นที่การศึกษา พร้อมเร่งกระจายให้ครบทั่วประเทศ พุ่งเป้าปรับทัศนคติให้เด็กกลับสู่ห้องเรียนด้วยความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ สร้างความมั่นคงและเติมเต็มศักยภาพการเรียนรู้

บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เล่าว่า เนื่องจากสังคมเปลี่ยน การแข่งขันที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ประเทศไทยเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล การศึกษาจึงต้องปรับขนานใหญ่ ไม่เพียง “ทักษะทางวิชาการ” ที่ต้องสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 ตามเป้าหมายของ สพฐ.ที่ตั้งเป้าที่จะพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคล “ทักษะอาชีพ” เป็นอีกสิ่งที่ต้องเตรียมให้นักเรียนเข้าสู่อาชีพที่เหมาะสมกับความถนัดของตนเอง

และที่สำคัญที่สุดคือ “ทักษะชีวิต” ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน เพราะเป็นการเข้าไปดูแลจิตใจให้เด็กคิดได้-ทำได้ โดยยึดหลักการทำงานเพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืนสำหรับเด็กนักเรียน จึงเริ่ม โครงการนำร่อง “นักจิตวิทยาโรงเรียน” ใน 26 เขตการศึกษาทั่วประเทศไทย โดยนำนักจิตวิทยาเข้าไปแบ่งเบาภาระครู รวมทั้งปรับทัศนคติให้เด็กพร้อมกลับสู่ห้องเรียนในกรณีที่พบว่าเด็กอาจประสบเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงและเติมเต็มศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน

ทั้งนี้ สพฐ.จะเป็นแกนหลักที่จะจัดให้มีนักจิตวิทยาโรงเรียนให้ครบทุกเขตพื้นที่การศึกษา ในเบื้องต้นมีนักจิตวิทยาโดยตรง จำนวน 26 เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งในระยะเร่งด่วน สพฐ.จะพัฒนาศึกษานิเทศก์ทุกเขตพื้นที่ให้เป็นนักจิตวิทยาโรงเรียน ซึ่งโครงการนักจิตวิทยาโรงเรียนถือเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงภาคเอกชนที่สนใจเรื่องของการพัฒนาเรื่องเด็กและเยาวชน ต้องระดมความร่วมมือเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนการดำเนินโครงการทั้งในด้านของความรู้และการลงสู่ภาคปฏิบัติในพื้นที่จริง

“จากการลงพื้นที่เพื่อติดตามการทำงานของหน่วยงานที่มีภารกิจให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ฉก.ชน.สพฐ.) ดำเนินการอยู่นั้น แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่ในการติดตาม ประสานงาน ช่วยเหลือนักเรียนอย่างเต็มกำลังความสามารถ หลังการทำงานทุกครั้งจะนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงการช่วยเหลือเด็กนักเรียนให้มากที่สุด

แต่หลายกรณีที่เกิดผลกระทบทางด้านสภาวะจิตใจเด็ก จึงจำเป็นต้องบูรณาการด้วยการนำความรู้ความเชี่ยวชาญของนักจิตวิทยาเข้ามาเยียวยา ด้วยการผสานทักษะและความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันในการก่อประโยชน์สูงสุดแก่ตัวเด็ก โดยศูนย์เฉพาะกิจมีใจเกินร้อยที่จะให้ความช่วยเหลือเด็กให้คืนกลับสู่เส้นทางการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพและตั้งใจจะเป็นศูนย์ช่วยเหลือเด็กนักเรียนแบบครบวงจร ซึ่งโครงการนักจิตวิทยาในโรงเรียนอาจเริ่มต้นด้วยก้าวเล็กๆ แต่มุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความมั่นคงและเติมเต็มศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน อยากให้ทุกคนเข้าใจถึงเหตุและผลของโครงการ จากนั้นจะได้เข้าสู่กระบวนการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

ด้าน ธีร์ ภวังคนันท์ ผู้อำนวยการ ฉก.ชน.สพฐ. กล่าวว่า จากการนำร่องโครงการนักจิตวิทยาโรงเรียนเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี ใน 26 เขตพื้นที่การศึกษา พบว่านักจิตวิทยาสามารถประเมินสถานการณ์และช่วยเหลือเด็กที่เผชิญปัญหาต่างๆ ในชีวิต เช่น ภาวะซึมเศร้า ได้อย่างลึกซึ้งและทันท่วงที ด้วยการทดสอบทางจิตวิทยาคลินิก ซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะของนักจิตวิทยาที่มีทักษะด้านการให้คำปรึกษาที่จะสามารถช่วยให้เด็กนักเรียนที่มีปัญหาเหล่านี้รอดพ้นจากภาวะดังกล่าวและกลับเข้าสู่ห้องเรียนด้วยความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยจะเร่งดำเนินการให้มีนักจิตวิทยาประจำทุกเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศไทย ด้วยการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับครูที่ปรึกษาและครูแนะแนวซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อตัวเด็กนักเรียน

“เพื่อให้เห็นมิติที่รอบด้านของการเข้าไปให้ความช่วยเหลือเด็กนักเรียนในแต่ละเคส รวมทั้งสร้างขวัญกำลังใจให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรครูที่อยู่ในพื้นที่เป็นหน้าด่านเผชิญปัญหาต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้เด็กได้เข้าสู่เส้นทางการเรียนรู้ได้อย่างสมบูรณ์พร้อมนั้น เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ฉก.ชน.สพฐ.จึงได้ผลิตรายการสารคดีเชิงวาไรตี้ในชื่อ ‘พระคุณที่สาม’ โดยออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 11.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในกระบวนการทำงานของ ฉก.ชน.สพฐ.ในมิติต่างๆ” ผู้อำนวยการ ฉก.ชน.สพฐ.บอก

สำหรับผู้สนใจสามารถรับชมรายการ “พระคุณที่สาม” ได้ทุกวันเสาร์ เวลา 11.30 น. ทางช่องเอ็นบีที รวมทั้งรับชมย้อนหลังผ่านทางเฟซบุ๊ก “พระคุณที่สาม ฉก.ชน.สพฐ.” และยูทูบ “พระคุณที่สาม สพฐ.” ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก มติชนออนไลน์

You might also like

Comments are closed.

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี