สอนอย่างไร ให้เด็กเป็น นักสื่อสารที่ดี

มาเริ่มเปลี่ยนเด็กนักเรียนกันเถอะครับ คุณครูประถมเองบางท่านคงมีปัญหาสำหรับเด็กบางกลุ่มที่อาจจะ สื่อสารพูดคุยกันไม่รู้เรื่องในแต่ละครั้ง จึงควรมีการฝึกฝนให้เด็กๆ มีการสื่อสารที่ดีต่อตนเองแล้วผู้อื่นได้ดีอีกด้วย

การสื่อสารคือหนึ่งในทักษะที่สำคัญสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21  นักสื่อสารที่ดี จะทำให้การสื่อสารสัมฤทธิ์ผล จึงควรเป็นคนพูดเก่ง มีทักษะในการฟัง สามารถถ่ายทอดความคิดได้อย่างถูกต้อง ทำให้ผู้ส่งสารและผู้รับสารเข้าใจตรงกัน

การสอนให้เด็กเป็นผู้ที่ฉลาดในการสื่อสาร โดยเฉพาะการพูด ครูจะสอนให้เด็กฉลาดในการเลือกคำพูด เลือกใช้ภาษาที่เหมาะสม และพูดอย่างสุภาพอ่อนโยน ด้วยการให้เด็กพิจารณาโทษของการพูดเท็จว่ามีอะไรบ้าง การพูดโกหก จะทำให้จิตใจของเราเศร้าหมอง ทำให้เราเคารพนับถือตัวเองได้ยาก ยิ่งพูดเท็จบ่อย ก็ยิ่งเกิดความเครียด กังวลว่าเขาจะรู้หรือระแวงว่าเขารู้แล้ว เขาจะโกรธ ถ้าเราถูกจับได้ ก็ต้องได้รับความเดือดร้อน นอกจากนี้ การพูดเท็จจะทำให้คนอื่นไม่เชื่อถือเรา และเราเองก็จะไม่เชื่อคนอื่นด้วย คนพูดเท็จก็จะต้องอยู่กับจิตใจที่ไม่ปลอดโปร่งและเต็มไปด้วยความระแวง ครูจึงสอนเด็กให้ถือว่า การไม่พูดเท็จและการเป็นผู้ตั้งอยู่ในสัจจะ เป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นเป้าหมายหนึ่งในชีวิต ดังนี้

1. “ฟังให้เป็น” หรือสอนให้เด็กรู้จักฟังคือ การตั้งใจฟัง ทำความเข้าใจกับเรื่องที่ฟัง การที่เราไม่ตั้งใจฟัง จะทำให้การสื่อสารมีปัญหา ในการพูด เด็กจะต้องมีสติ ทั้งในการพูดและในการฟัง คนที่หมกมุ่น คิดแต่เรื่องตัวเอง จะฟังคนอื่นไม่เป็น บางทีฟังยังไม่ทันจบก็พูดแทรกแล้ว พยายามฝึกให้เด็กเป็นผู้ที่รู้จักฟังคนอื่น โดยไม่แทรก ไม่ขัดจังหวะ ไม่พูดหรือแสดงความเห็นใดๆ ตัวอย่างกิจกรรมที่จะฝึกให้เด็กฟังเป็น คือ

– การฝึกสมาธิในการฟัง สร้างบรรยากาศให้เด็กฝึกฟังอย่างมีจุดมุ่งหมาย โดยครูและเด็กนั่งล้อมเป็นวงกลม สงบ นิ่ง ครูพากล่าวคำระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดา มารดา ครูอาจารย์ จากนั้นครูส่งน้ำที่มีดอกไม้ลอยอยู่ ให้เด็กที่นั่งอยู่ข้างๆ เด็กตั้งจิตอธิษฐานการทำความดีของตัวเอง พูดให้เพื่อนๆ ได้ยิน แล้วจึงส่งต่อถ้วยนั้นให้เพื่อนคนที่อยู่ถัดไป ทำเช่นนี้ต่อเนื่องจนครบทุกคน

Advertisements

– การฟังนิทานชาดก นิทานที่มีคติสอนใจ ครูเล่านิทานที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก เมื่อเล่าจบ ครูตั้งคำถามให้เด็กได้ฝึกจับใจความ เรียงลำดับเหตุการณ์ จดบันทึกสิ่งที่ฟังและนำความรู้ที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เป็นการฝึกให้เด็กมีสมาธิจดจ่ออยู่กับเรื่องที่ตนเองฟัง

Advertisements

– การทบทวนสิ่งที่ฟังด้วยภาษาของตัวเอง เมื่อเด็กๆ ได้ฟังเรื่องใดแล้ว ลองให้เด็กพูดสรุปความอีกครั้ง ด้วยประโยคของเด็กเองให้ครูและเพื่อนฟัง หากมีอะไรที่ตกหล่นหรือเข้าใจผิดพลาด ครูและเพื่อนจะได้ช่วยกันเพิ่มเติมให้ข้อความสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้ลดความเข้าใจผิดต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้

2. “พูดให้เป็น” หรือสอนให้เด็กรู้จักพูด การพูดที่ดีสมบูรณ์แบบและได้ผล ควรครอบคลุมลักษณะของวาจาสุภาษิต 5 ประการ คือ เป็นเรื่องจริง เป็นประโยชน์ ถูกกาลเทศะ พูดด้วยความหวังดี และพูดอย่างสุภาพอ่อนโยน ตัวอย่างกิจกรรมที่จะฝึกให้เด็กพูดให้เป็น ได้แก่

– การคิดก่อนพูด การใคร่ครวญไตร่ตรองให้ละเอียดถี่ถ้วน ก่อนจะพูด จะทำ เป็นสิ่งที่ดี เพราะบ่อยครั้งที่ปัญหาของการสื่อสารเกิดจากความเข้าใจผิด ครูจะฝึกให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องวาจา สังเกตการพูดของตนเอง หาเวลาทบทวนการพูด และฝึกคิดให้ดีก่อนพูดบ่อย ๆ

– การกล่าวคำขอบคุณ-ขอโทษ ก่อนเลิกเรียนในแต่ละวัน ครูจะให้เด็กได้กล่าวคำขอบคุณแก่เพื่อนหรือครูที่ได้ทำประโยชน์แก่ตนเอง และกล่าวคำขอโทษแก่เพื่อนหรือครูที่ตนเองได้กระทำล่วงเกินลงไป เด็กควรจะมีโอกาสได้กล่าวประโยคเหล่านี้ทุกคนและทุกวัน

– การตั้งวงสนทนาระหว่างครูกับเด็ก โดยเด็กและครูนั่งล้อมวงกัน เพื่อพูดคุยถึงปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเกิดขึ้นภายในห้องเรียน เด็ก ๆ จะต้องฝึกการช่วยกันระบุและยอมรับปัญหา รวมทั้งแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

3. “อ่านให้เป็น” หรือสอนให้เด็กรู้จักอ่าน ภาษาไทยเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนจนเกิดความชำนาญในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร เพื่อการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ดี ครูจึงฝึกให้เด็กมีนิสัยรักการอ่านและอ่านหนังสืออย่างสม่ำเสมอ ตัวอย่างกิจกรรมที่จะฝึกให้เด็กอ่านให้เป็น ได้แก่

– การอ่านออกเสียง ครูฝึกให้เด็กอ่านออกเสียงและบอกความหมายของคำ โดยอ่านคำคล้องจอง คำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องหมายแสดงความปลอดภัยและแสดงอันตราย ข้อความเชิงอธิบาย การปฏิบัติตามคำสั่ง ข้อแนะนำ ประกาศ ป้ายโฆษณา คำขวัญ แผนภาพ แผนที่ แผนภูมิ รวมถึงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน และคำที่ใช้เรียนรู้ในวิชาอื่น ๆ

– การอ่านจับใจความ โดยอ่านจากสื่อต่าง ๆ เช่น นิทาน เรื่องสั้น บทเพลง เรื่องราวจากบทเรียนในวิชาต่าง ๆ ข่าวและเหตุการณ์ประจำวัน ทั้งนี้ ครูอาจให้เด็กได้เลือกอ่านหนังสือที่สนใจ และมีโอกาสนำเสนอเรื่องที่อ่าน พร้อมทั้งฝึกมารยาทในการอ่าน คือ ไม่อ่านเสียงดังจนรบกวนผู้อื่น ไม่เล่นกันขณะที่อ่านหนังสือ ไม่ทำลายหนังสือ และไม่ควรแย่งอ่านหรือชะโงกหน้าไปอ่านขณะที่ผู้อื่นกำลังอ่านอยู่

4. “เขียนให้เป็น” หรือสอนให้เด็กรู้จักเขียน การเขียนเป็นการสื่อสารชนิดหนึ่งของมนุษย์ ที่ต้องอาศัยความพยายามและการฝึกฝน การเขียนเป็นการแสดงความรู้ ความคิด ความรู้สึก ความต้องการ เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ผู้รับสารสามารถอ่านได้เข้าใจ ด้วยรูปแบบต่าง ๆ ของการเขียน เช่น เขียนเรียงความ ย่อความ รายงาน เขียนตามจินตนาการ วิเคราะห์ วิจารณ์ และเขียนเชิงสร้างสรรค์ ตัวอย่างกิจกรรมที่จะฝึกให้เด็กเขียนให้เป็น ได้แก่

– การเขียนบันทึกประจำวัน ครูอาจให้เด็กได้มีการฝึกเขียนทุกวัน ด้วยการเขียนบรรยายความรู้สึก เขียนบันทึกสิ่งที่พบเห็นจากการเดินทาง หรือเขียนบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ด้วยภาษาของเด็กเอง โดยที่เด็กสามารถเลือกสมุดบันทึกและออกแบบวิธีการเขียนให้มีความน่าอ่านอย่างสร้างสรรค์

– การเขียนสื่อสาร ครูจะฝึกให้เด็กรู้จักเขียนสื่อสาร ด้วยคำและประโยคง่ายๆ ที่พบในชีวิตประจำวัน ฝึกเขียนบรรยายเกี่ยวกับลักษณะของคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ ธรรมชาติ เขียนเล่าเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ของตัวเอง เขียนตามจินตนาการของตัวเอง โดยคำนึงถึงมารยาทในการเขียน เขียนให้อ่านง่าย สะอาด ใช้ภาษาเขียนที่เหมาะสม ไม่เขียนล้อเลียนผู้อื่น และไม่ขีดเขียนในที่สาธารณะ

ที่มา: www.taamkru.com

Comments are closed.