Take a fresh look at your lifestyle.

“หนุนเสริมเชิงบวก” ลงโทษอย่างไรให้เด็กรู้ผิดถูกเอง เลี่ยงการใช้ความรุนแรง

สำหรับครูประถม หรือผู้ปกครองท่านใด ที่ประสบปัญหาว่าจะทำอย่างใดให้เด็กรู้ผิดถูกได้เอง โดยที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรงใดๆ ที่ก่อเกิดปัญหาทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ดังนั้นการหนุนเสริมเชิงบวก (positive reinforcement) เป็นอีกแนวทางที่หน้าสนใจเลยที่เดียว

จากรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2560 พบว่าเด็กปฐมวัยเป็นช่วงอายุที่ถูกทำโทษด้วยวิธีรุนแรงทางร่างกายมากกว่าวัยอื่น

ราว 3 ใน 4 ของเด็กวัย 3-4 ขวบถูกสมาชิกในครอบครัวทำร้ายร่างกายใน 1 เดือนที่ผ่านมา และเกือบครึ่งหนึ่งของผู้เลี้ยงดูเชื่อว่าการลงโทษทางร่างกายเป็นสิ่งจำเป็นในการเลี้ยงเด็ก

เมื่อลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม การหยุดตำหนิหรือว่ากล่าวลูกในทันที ดูเหมือนเป็นเรื่องยากสำหรับพ่อแม่ การตอบสนองด้วยปฏิกิริยาบางอย่าง เช่น การใช้คำพูดทำนอง

“อย่าทำแบบนั้น”

“ทำอย่างนี้ไม่ได้นะ”

หรือแม้กระทั่งการตี เป็นสิ่งที่แทบจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติตามสัญชาตญาณ

แต่รู้หรือไม่ว่า การตอบสนองดังกล่าว ยิ่งทำให้ลูกได้ใจ เพราะได้รับความสนใจ (attention) รับประกันได้ว่าแทนที่ลูกจะหยุดพฤติกรรมเหล่านั้น ลูกกลับหันมาเรียกร้องความสนใจด้วยวิธีการเดิมอีกในอนาคต ในทางกลับกันกรณีที่ลูกทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม แทนที่จะโฟกัสไปที่การห้ามทำพฤติกรรมดังกล่าวโดยตรง พ่อแม่สามารถใช้วิธีการ หนุนเสริมเชิงบวก (positive reinforcement) แทนการตำหนิ ว่ากล่าว หรือการตีได้

Positive Reinforcement หรือการหนุนเสริมเชิงบวกคืออะไร แล้วจะช่วยปรับพฤติกรรมของลูกได้อย่างไร?

ลำดับแรก พ่อแม่ต้องจำให้ขึ้นใจก่อนว่า การลงโทษโดยใช้ความรุนแรง ตาต่อตาฟันต่อฟันกับลูกไม่ส่งผลดีอะไรเลยในระยะยาว แถมยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของลูก The Potential เคยนำเสนอบทความเกี่ยวกับการลงโทษไว้ใน ยังตีอยู่ไหม เมื่อตีลูกให้จำ ทำลายความผูกพันและเพิ่มพฤติกรรมเสี่ยง

Positive Reinforcement หรือการหนุนเสริมเชิงบวก ไม่ใช่การกล่าวชมเชย หรือการดึงดูดความสนใจด้วยของรางวัลเท่านั้น แต่เป็นการปรับการตอบสนองของพ่อแม่ต่อพฤติกรรมของลูกในหลากหลายส่วน

ยกตัวอย่างเช่น การให้ลูกรับผิดชอบงานบ้านมากขึ้น หรือให้ลูกไปช่วยงานคนอื่นในเวลาว่าง โดยบอกให้ลูกเข้าใจว่าที่ลูกได้รับมอบหมายให้ทำสิ่งต่างๆ เพิ่มขึ้นนั้น เป็นเพราะลูกทำความผิดเรื่องอะไร

การให้ลูกเขียนจดหมายขอโทษเมื่อลูกทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดี หรือเมื่อรังแกผู้อื่น เป็นต้น

การตอบสนองด้วยวิธีการลักษณะนี้เรียกว่าการหนุนเสริมที่เด็กจะได้เรียนรู้และได้รับประสบการณ์จากสิ่งที่ตัวเองลงมือทำควบคู่กันไป อีกทั้งยังทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าโดยไม่รู้ตัว เพราะได้ทำตัวเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น

วิธีการหนุนเสริมเชิงบวกดีกว่าการวางเฉยแบบเฉยชา และดีกว่าการลงโทษอย่างที่ทำกันอยู่ เพราะไม่เพียงทำให้ลูกมีพฤติกรรมดีขึ้น แต่จะทำให้ลูกเชื่อฟัง รับฟังเหตุผล มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น และเข้ากับคนอื่นได้ดีขึ้น

ถึงตรงนี้พ่อแม่หลายคนอาจกำลังกุมขมับ แล้วคิดว่านอกจากตัวอย่างที่บอกไป ยังมีวิธีการหนุนเสริมเชิงบวกแบบไหนอีก
การหนุนเสริมเชิงบวก ทำได้ง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อนเลยสักนิด ยกตัวอย่างเช่น

– การไฮไฟว์ (high five) หรือการประกบมือกับลูกเมื่อลูกทำสำเร็จหรือทำได้ดี

– การกอดหรือการลูบหลัง

– การปรบมือ ส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจ หรือแม้แต่การยกนิ้วโป้ง เพื่อแสดงว่า “ยอดเยี่ยม”

– การบอกกับคนอื่นว่าภูมิใจในตัวลูกมากแค่ไหนต่อหน้าลูก

การกล่าวคำชมเชยหรือการให้รางวัล ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลย พ่อแม่สามารถทำได้เมื่อลูกลงมือทำบางอย่างที่น่าชื่นชมอย่างเห็นได้ชัด เช่น เมื่อลูกทำความสะอาดห้องตัวเองทั้งที่พ่อแม่ไม่ได้บอก กรณีนี้พ่อแม่สามารถหนุนเสริม ให้รางวัลลูกด้วยการพาไปสนามเด็กเล่นได้

หรือให้เวลาลูกเล่นแท็บเล็ตหรือทำในสิ่งที่เขาอยากทำมากขึ้น เมื่อเขามีความกระตือรือร้นทำการบ้านจนเสร็จอย่างรวดเร็วและทำออกมาได้ดี

ในวัยรุ่นการเลื่อนเวลาเคอร์ฟิว (curfew) ให้ลูกกลับบ้านช้าขึ้นได้อีก 1 ชั่วโมงสักครั้งหนึ่ง เมื่อเขาทำสิ่งที่ดีและน่าชื่นชมก็เป็นการหนุนเสริมอย่างหนึ่ง

การกล่าวชมเชยหรือให้รางวัลในจังหวะที่ถูกต้องจะเป็นแรงกระตุ้นและเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกทำพฤติกรรมที่ดีนั้นอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่พ่อแม่ควรระวังไม่ใช้วิธีชื่นชมหรือให้รางวัล เป็นการเสนอเงื่อนไขหรือแลกเปลี่ยนเมื่อลูกกระทำความผิด

พ่อแม่เป็นฝ่ายตั้งรับ

เอมี มอริน (Amy Morin) นักจิตอายุรเวท (psychotherapist) และอาจารย์มหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์น (Northeastern University) เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ กล่าวถึงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ตามธรรมชาติของเด็กๆ ที่พ่อแม่ควรลิสต์เอาไว้ เพื่อเตรียมพร้อมตั้งรับ ในบทความ ‘Common Child Behavior Problems and Their Solutions’ ได้แก่

การโกหก (lying) การต่อต้าน (defiance) การใช้เวลาอยู่หน้าจอมากเกินไป (too much screen time) ปัญหาเกี่ยวกับอาหาร (food-related problems) พฤติกรรมไม่สุภาพ/ไม่ให้เกียรติผู้อื่น (disrespectful behavior) การร้องไห้สะอึกสะอื้น (whining) พฤติกรรมหุนหันพลันแล่น ห้ามไม่ได้ไล่ไม่ทัน (impulsive behavior) ไม่ยอมหลับยอมนอน (bedtime behavior problems) ความก้าวร้าว (aggression) และอารมณ์แปรปรวน (temper tantrums)

เอมีกล่าวถึง วิธีตั้งรับการโกหก (lying) ว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กๆ ต้องโกหกมีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน หนึ่ง เรียกร้องความสนใจ สอง ไม่อยากตกที่นั่งลำบาก เช่น ไม่อยากโดนดุ โดนตี และ สาม ทำให้พวกเขารู้สึกดีกับสิ่งที่ตัวเองทำ

หากพ่อแม่แยกแยะสาเหตุการโกหกของลูกได้ ความขุ่นเคืองของพ่อแม่จะเบาบางลง และทำให้เข้าใจลูกมากขึ้น

“สิ่งที่ลูกบอกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ หรือเป็นสิ่งที่ลูกอยากให้เกิดขึ้น? บอกความจริงกับแม่”

ถามลูกอย่างใจเย็น ด้วยน้ำเสียงธรรมดาที่สุด เพื่อให้ลูกรู้สึกปลอดภัย พร้อมเล่าความจริงทั้งหมด

เมื่อลูกบอกความจริง

“แม่ภูมิใจในตัวลูกมากที่ลูกบอกความจริงกับแม่ ว่าลูกแอบกินขนมเค้กไปหลังจากที่แม่บอกว่าพอแล้ว วันนี้แม่จะไม่ให้ลูกเล่นเกม แต่เพราะลูกพูดความจริงพรุ่งนี้ลูกจะได้เล่นเกมเหมือนเดิม”

ไม่พาลใส่ลูก โฟกัสให้ตรงจุด แล้วให้อภัย

การรับมือกับลูกในวัยเด็ก พ่อแม่ต้องใช้กลยุทธ์แบบหนึ่ง แต่สำหรับเด็กในวัยที่โตขึ้น พ่อแม่ต้องอาศัยการทำความเข้าใจในกระบวนการคิดที่ซับซ้อนขึ้นของพวกเขาเช่นกัน

ซารา บีน (Sara Bean) ผู้ให้คำปรึกษาด้านการศึกษา ที่มีประสบการณ์ทำงานกับเด็กและครอบครัวมากว่า 10 ปี กล่าวไว้ในบทความ ‘The Surprising Reason for Bad Child Behavior: “I Can’t Solve Problems’ เผยแพร่ในเว็บไซต์เอ็มพาวเวอร์ริ่งแพเรนส์ (empowering parents) ว่า เด็กมีพฤติกรรมเชิงลบ เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาของตัวเองอย่างไร
ซาราแนะนำให้พ่อแม่ลองสังเกตว่าลูกมีปัญหาเหล่านี้หรือไม่…

หนึ่ง ปัญหาด้านอารมณ์ (emotional problems)

วัยรุ่นต้องรับมือกับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง เหวี่ยงไปมาจนยากจะควบคุม ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธเคือง เศร้าเสียใจ ผิดหวัง ไม่ได้อย่างใจ หรือตื่นเต้น หลายครั้งพวกเขาไม่รู้วิธีการรับมือกับอารมณ์เหล่านี้ หลายอารมณ์อาจนำมาสู่พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการตะโกน การขว้างปาข้าวของ หรือแม้แต่การต่อยฝาผนัง เป็นต้น

สอง ปัญหาด้านการเข้าสังคมหรือความสัมพันธ์กับผู้อื่น (social/relationship problems)

วัยรุ่นหลายคนต้องการการยอมรับ แต่กลับแสดงออกด้วยการรังแก แกล้งเพื่อนคนอื่น ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

และ สาม ปัญหาการเรียน/ทำงาน (functional problems)

เป็นไปได้ที่หลายครั้ง เด็กๆ อาจไม่เข้าใจบทเรียนที่ครูสอนในห้องเรียน จนทำให้รู้สึกเบื่อ ไม่อยากสนใจ ไม่อยากเรียน ไม่ยอมทำการบ้าน แต่โกหกพ่อแม่ว่าทำการบ้านแล้ว หรือเลยเถิดไปถึงการหนีเรียน หากพ่อแม่ไม่สังเกตพฤติกรรมลูก สุดท้ายมักมารู้เมื่อผลการเรียนออกมาต่ำกว่าที่เคยเป็น สอบตก หรือได้รับจดหมายเชิญผู้ปกครอง ซึ่งไม่สามารถช่วยหนุนเสริมลูกแก้ปัญหาเรื่องนั้นได้แล้ว

ซาราบอกว่า เมื่อพ่อแม่เข้าใจลูกจากต้นเหตุของปัญหา ไม่โทษตีโพยตีพายว่าเป็นความผิดของใคร พ่อแม่จะอยู่ในสถานะที่พร้อมพูดคุยกับลูก เพื่อแนะนำวิธีการแก้ปัญหาและช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายได้ ดังนี้

หนึ่ง หลีกเลี่ยงการถามว่า “ทำไม”

“ทำไมลูกถึงทำแบบนี้?” แต่เปลี่ยนเป็นการถามเปิดใจ เช่น “เล่าให้แม่ฟังได้ไหมลูกว่าเกิดอะไรขึ้น? มีอะไรที่แม่ช่วยได้บ้าง?”

สอง โฟกัสไปทีละปัญหา ไม่ซ้ำเติม

หลีกเลี่ยงการฉายภาพตอกย้ำสิ่งที่ลูกทำผิดพลาด แต่ร่วมเป็นทีมเวิร์คเพื่อหาทางแก้ไข…ทีละอย่าง!!! เพื่อไม่ให้เกิดภาวะเครียด

สาม แนะนำด้วยการแนะแนวทาง

เมื่อวิธีการที่ลูกใช้แก้ปัญหาไม่ใช่ทางออก ลองถามลูกว่า “ลูกคิดว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ยังไงได้อีก? ไม่มีผิดไม่มีถูก แม่อยากรู้ว่าลูกคิดยังไง?” แล้วร่วมแสดงความคิดเห็น

สี่ พ่อแม่พิจารณาตัวเองว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้ลูกหรือไม่

หลายครั้งที่พฤติกรรมเชิงลบของลูกมาจากการเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่ หากพ่อแม่ชอบบ่น ทะเลาะกันให้ลูกเห็น ไม่มีความกลมเกลียวในครอบครัว ก็เป็นเรื่องยากที่ลูกจะได้เรียนรู้ตัวอย่างที่ดี

เห็นได้ว่า หากอยากให้ลูกเปลี่ยนพฤติกรรม พ่อแม่ก็ต้องปรับตัว ทั้งหมดต้องอาศัยความอดทน เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างเรียนรู้และเข้าใจกันและกัน เป็นการเลี้ยงลูกให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดี โดยไม่สร้างบาดแผลทั้งทางกายและทางใจ

เรียบเรียง: วิภาวี เธียรลีลา

อ้างอิง:   https://www.verywellfamily.com/

https://www.verywellfamily.com/

https://www.verywellfamily.com/

http://drjamesdobson.org/

https://www.verywellfamily.com/

https://www.psychalive.org/

https://www.empoweringparents.com/

ความเห็นถูกปิด

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี