“หยุด ติวหนักเพื่อเข้าเรียนป.1” ติวหนักมากไปอาจส่งผลร้ายต่ออนาคตเด็ก
-
กลุ่มไลน์ข่าวการศึกษา
กลุ่มไลน์ข่าวการศึกษา
คุณครูประถม หรือผู้ปกคลอง น่าจะทราบกันดีในเรื่องของการสอบเอ็นทรานซ์อันดุเดือดเพื่อสอบเข้าป.1 ของโรงเรียนชื่อดังต่างๆ ซึ่งไม่แปลงที่พ่อแม่อยากจะให้เด็กๆ ได้เรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จและความปลื้มปิติ ใครจะรู้ว่าการยัดเยียดให้เด็กเก่งเกินวัยนั้นส่งผลกระทบทางลบต่อพัฒนาการเรียนรู้ในอนาคตอย่างไม่น่าเชื่อของเด็ก
โดย…วรรณโชค ไชยสะอาด
ยัดเยียดมากไปทำให้เด็กอยากฆ่าตัวตาย
“เพื่อนเครียดมาก เธอมีลูกอายุไม่ถึง 1 ปี แต่คอร์สติวสอบเข้าป.1 โรงเรียนสาธิตในปี 2564 นั้นเต็มแล้ว” พญ.กุลนิดา เต็มชวาลา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเล่าที่มาของความกังวลต่อทัศนคติของพ่อแม่ยุคใหม่ที่ยอมจ่ายเงินหลักหมื่นหลักแสนหวังให้ลูกได้เข้าคอร์สติวสอบ ป.1
เธอบอกว่า เด็กที่ถูกเร่งรัดหรือทำเกินกว่าวัยในหลายๆ เรื่องเรียกว่า Hurried Child Syndrome ในช่วงแรกเด็กอาจตั้งใจเรียนดีและไม่มีปัญหา เพราะอยากทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจ แต่หากต้องใช้ชีวิตลักษณะนี้ไปนานๆ อาจทำให้เด็กมีความรู้สึกเฉื่อยชา ไม่มีความสุข ไม่รู้สึกอยากเรียนเหมือนเคย ผลการเรียนตกลง และรู้สึกผิดว่าไม่สามารถทำให้พ่อแม่ภูมิใจได้แบบเดิม
ช่วงหนึ่งจะเริ่มท้อ เหนื่อย ถ้าเกิดขึ้นเร็วในระดับ ป.1 ก็อาจจะไม่อยากไปโรงเรียน และถ้าต้องอยู่ในสภาวะแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งประมาณ ป.5 ป. 6 หรือ ม.1 เด็กอาจเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนละคน เนื่องจากขาดทักษะในการปรับตัวและอยู่กับความคาดหวังด้านผลการเรียนมาตลอด
“เขาอาจไม่ใช่เด็กที่ว่านอนสอนง่ายและตั้งใจเรียนเหมือนเดิม กลายเป็นเด็กก้าวร้าวรุนแรงและความสัมพันธ์กับพ่อแม่ไม่ดี บางคนซึมเศร้าหรือคิดอยากฆ่าตัวตายเลยก็มี”
พญ.กุลนิดา เล่าว่าได้พูดคุยกับเด็กหลายคน อายุประมาณ 5-7 ขวบ ที่ต้องเข้าคอร์สติวตั้งแต่อยู่ชั้นอนุบาล 2 พอขึ้นอนุบาล 3 ต้องติวที่รร.ตอนเช้าตั้งแต่ 7 โมงก่อนเคารพธงชาติ เรียนพิเศษตอนเย็น และมีติวพิเศษวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย โดยอาการนั้นแตกต่างกันไป เช่น มีความคิดอยากตาย ในเด็กวัยเพียง 6 ขวบ ไม่อยากไปโรงเรียน มีอาการทางกายที่ไม่ทราบสาเหตุ เช่น น้ำลายไหลตลอดเวลา ปัสสาวะบ่อย และมีพฤติกรรมถดถอยกว่าที่เคยเป็น
“ทุกเคส เด็กๆ บอกตรงกันว่าอยากมีเวลาเป็นอิสระ ได้เล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน ได้ไปเที่ยวกับพ่อแม่และได้ใช้เวลาอยู่กับพ่อแม่”
ไตร่ตรองให้ดีถึงความสุขและความสำเร็จของลูก
ผลคะแนนสอบของเด็กๆ ที่เกิดจากความฉลาดทางเชาวน์ปัญญาหรือไอคิว (Intelligence Quotient) นั้นอาจไม่สำคัญต่อความสำเร็จในชีวิตเท่ากับความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิว (Emotional Quotient)
พญ.กุลนิดา บอกว่า มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยเปิดเผยงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า “อีคิวมีผลต่อการประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าไอคิวถึง 4 เท่า” เนื่องจากสามารถรับรู้และเข้าใจอารมณ์ทั้งของตัวเองและผู้อื่น ตลอดจนสามารถปรับหรือควบคุมได้อย่างเหมาะสมกับสภาพการณ์ รวมถึงมีทักษะในการสร้างความน่าเชื่อถือและไว้วางใจ หมายความว่า ความเก่งและคะแนนสอบที่พ่อแม่คนไทยให้น้ำหนักอาจไม่สำคัญในชีวิตของเด็กเหมือนที่ทุกคนพยายามยัดเยียด
“หลายคนส่งลูกเข้าเรียนตั้งแต่ 2 ขวบ ทั้งๆ ที่พัฒนาการหลายอย่างของเขาก็ไม่พร้อม เมื่อเข้าไปอยู่ในภาวะเร่งรัด ทำไม่ได้อย่างที่หวังพ่อแม่ก็เครียด”
ภาวะเร่งรัดที่พ่อแม่ยัดเยียดให้กับลูก มักมีสาเหตุมาจากพ่อแม่ต้องการเติมเต็มในสิ่งที่ตัวเองเคยขาดหายไปตอนเด็กและเป็นหน้าเป็นตาของพ่อแม่
“ถ้าพ่อแม่อยู่ในความคิดแบบนี้อยู่ก็ควรไปไตร่ตรองดีๆ เรากำลังเอาลูกมาทดแทนในสิ่งที่ตัวเองขาดอยู่หรือเปล่า เป้าหมายในการเลี้ยงลูกของเราคืออะไร สิ่งที่ทำนั้นเป็นความสุขที่แท้จริงของเขาหรือไม่ ทำเพื่อลูกหรือเพื่อตัวเอง ต้องการให้ลูกมีชีวิตแบบนี้จริงๆ เหรอ”
เลี้ยงลูกรักให้มีความสุขสมวัย
พ่อแม่ควรพัฒนาลูกด้วยความเข้าใจ ส่งเสริมพัฒนาการเด็กและเลี้ยงลูกรักให้มีความสุขสมวัย โดยพัฒนาการเด็กเล็กนั้นมีอยู่ 4 ด้านสำคัญคือ ด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว , ด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก ที่เกี่ยวข้องกับข้อต่อต่างๆ , ด้านภาษา ซึ่งเป็นความเข้าใจภาษาและการใช้ภาษา ด้านสุดท้ายคือ การช่วยเหลือตนเองและสังคม
พญ.กุลนิดาบอกว่าเด็กแรกเกิดถึง 1 ขวบ เป็นวัยที่ต้องการความใกล้ชิดและสร้างสายสัมพันธ์กับพ่อแม่ ซึ่งเป็นรากฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจและมีความสัมพันธภาพอย่างราบรื่นกับผู้อื่นในอนาคต
“พ่อแม่ควรตอบสนองการกระทำของเขา เช่น หากร้องไห้เพราะปัสสาวะ ก็ต้องเปลี่ยนผ้าอ้อม ถ้าร้องเพราะหิวก็ต้องให้นม ลักษณะนี้คือการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับลูกตั้งแต่วัยเยาว์”
ขณะที่ช่วง 2-3 ขวบ เป็นช่วงที่เด็กเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง เอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่ หากถูกขัดใจจะเริ่มแสดงออกถึงความไม่พอใจ เช่น อาละวาด ร้องไห้งอแง เป็นต้น พ่อแม่ควรเข้าใจพัฒนาทางจิตใจและมีวิธีรับมืออย่างถูกต้อง
“อย่าดุด่า ต่อล้อต่อเถียง ควรรับมือด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น ให้ทางเลือกแทนการออกคำสั่ง เนื่องจากเด็กวัยนี้จะต่อต้านคำสั่ง พ่อแม่ไม่ควรสั่งว่าให้ไปอาบน้ำเดี๋ยวนี้ แต่ให้ทางเลือก หนูจะไปอาบน้ำกับแม่หรือเดินไปเอง เขาฟังแล้วจะรู้สึกว่าได้กำหนดสิ่งที่ตนเองต้องการ นั่นจะทำให้ความสันพันธ์ในครอบครับเป็นไปในทิศทางที่ดีกว่า” คุณหมอบอกและว่าสำหรับช่วงวัย 3-5 ขวบ ถือเป็นวัยที่เต็มไปด้วยจินตนาการและควรมีอิสระในการเรียนรู้
“ถ้ามัวแต่ดุด่า สั่งห้ามนั่นนี่ จับเขามานั่งเฉยๆ จินตนาการและศักยภาพทางความคิดเขาจะถูกขัดขวาง” แพทย์หญิงระบุ
โดยสรุปคือ การยัดเยียดความรู้และการพัฒนาก่อนวัยนั้นไม่ใช่เรื่องที่ควรส่งเสริม เพราะนอกจากไม่ดีต่อลูกรักแล้วยังกลับมาสร้างความเครียดให้กับคนเป็นพ่อเป็นแม่ด้วย
ที่มา: posttoday.com