รมช.ศธ.‘คุณหญิงกัลยา’ มอบนโยบายการศึกษาพิเศษ “ปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู”

(15 เมษายน 2563) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการประชุมมอบนโยบายการดำเนินงานการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส ให้กับสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษทั่วประเทศ ผ่านระบบ Video Conference โดยมีนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ กพฐ. นายวุฒิศักดิ์ เหล็กคำ ผอ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 กระทรวงศึกษาธิการ

Advertisements

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวถึงนโยบายสำคัญในขณะนี้ คือ การเตรียมการรองรับการเปิดภาคเรียนโดยใช้การเรียนการสอนทางไกล ซึ่ง ศธ. มีความคุ้นเคยกันมาพอสมควรแล้ว ตามที่เรียกกันว่า “ครูตู้” โดยต้องทำให้เข้มข้นมากขึ้น

ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมกระบวนการบริหารจัดการการศึกษาพิเศษด้วยนโยบาย “กระทรวงศึกษาธิการไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยมี Platform ของ ศธ. เอง เพื่อเป็นเวทีเชื่อม 176 หน่วยงาน และโยงคนพิการทั้งประเทศให้สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาตนเองได้มากขึ้น ตามแนวทาง “ปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู” โดยที่ Platform นี้จะสามารถทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเรียนรู้วิธีการดูแล พัฒนาผู้เรียนที่พิการ ตามแบบต่าง ๆ ต่อไปได้ ทั้งยังสามารถบรรจุสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ การให้คำปรึกษา แนะนำ และเรื่องอื่น ๆ ไปยังหน่วยงาน สถานศึกษาในสังกัด ศธ. ได้ด้วย

ขณะนี้ ศธ. กำลังทำ Platform ของโรงเรียนที่จัดการศึกษาพิเศษ คือ เมื่อค้นหาเข้าไปก็จะทราบข้อมูลว่าจังหวัดนี้มีคนพิการประเภทใดบ้าง มีกี่คน บ้านอยู่ที่ไหน เป็นต้น โดยดำเนินการได้แล้ว 3 จังหวัด และจะขยายผลให้ครบทุกจังหวัด

นอกจากนี้ ศธ.ยังมีแนวทางสนับสนุนให้มีครูต่อจำนวนนักเรียนอย่างเหมาะสม รวมถึงเรื่องการสอบเลื่อนวิทยฐานะและการบรรจุครูการศึกษาพิเศษ เนื่องจากคนที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษาพิเศษจะต้องอยู่ประจำและดูแลเด็กเหมือนเป็นพ่อแม่

ดังนั้น หน้าที่และความรับผิดชอบจะมีความแตกต่างจากครูประเภทอื่น จึงอยากสนับสนุนให้มีหนทางที่จะได้เลื่อนวิทยฐานะและบรรจุ โดยการแข่งขันกันเอง ตามที่สำนักงาน ก.ค.ศ. เห็นชอบหลักการให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ซึ่งเลขาธิการ กพฐ. ก็ได้เน้นย้ำว่าจะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส เพื่อให้ได้ครูที่มีความสามารถและเหมาะสม

สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เป็นหน่วยงานสังกัด สพฐ. โดยมีการกิจหลัก คือ จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสผ่านการให้บริการในรูปแบบที่หลากหลาย และมีคุณภาพ มีทักษะชีวิตที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้ อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข มีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดี

Advertisements

มีสถานศึกษาในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ รวมทั้งสิ้น 16 แห่ง ประกอบด้วย 1) โรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ จำนวน 51 แห่ง 2) โรงเรียนเฉพาะความพิการ จำนวน 48 แห่ง และ 3) ศูนย์การศึกษาพิเศษ จำนวน 77 แห่ง ทั่วประเทศ

ที่มา : ศธ 360

Comments are closed.