ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ จิตวิทยาการศึกษา
-
กลุ่มไลน์ข่าวการศึกษา
กลุ่มไลน์ข่าวการศึกษา
จิตวิทยาสำหรับครู (Psychology for Teachers)
จิตวิทยาการศึกษา มีความสำคัญต่อวิชาชีพครู เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับความต้องการ ความสนใจ ความถนัด วิธีการเรียนรู้ (Learning styles) และพัฒนาการตามวัยของผู้เรียน การจัดบริการแนะแนวในสถานศึกษา การให้คำปรึกษาเพื่อช่วยเหลือผู้เรียนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนให้เต็มศักยภาพ
จิตวิทยา หรือ Psychology มาจากรากศัพท์ภาษากรีก 2 คำ คือ
Psyche หมายถึงวิญญาณ
Soul กับ Logos หมายถึง วิทยาการหรือการศึกษา (Study)
ดังนั้น หากให้ความหมายตามนิยามดั้งเดิม จิตวิทยาจึงหมายถึง การศึกษาเกี่ยวกับจิตหรือวิญญาณ ( Study of mind หรือ Study of soul ) ต่อมา มีการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในเชิงวิทยาศาสตร์กันมากขึ้น โดยมุ่งศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการกระทำ หรือกระบวนการคิด พร้อมๆ กับการศึกษาเรื่องสติปัญญา ความคิด ความเข้าใจ การใช้เหตุผล รวมทั้งเรื่องของตน (Self) และเรื่องราวของบุคคลที่แสดงพฤติกรรมที่มุ่งเน้นเรื่องการปรับตัวของบุคคล โดยนำการสังเกตและการทดลองมาเกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมความรู้มาใช้ในการศึกษาอย่างเป็นระบบ เป็นการศึกษาที่เน้นเฉพาะพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์เท่านั้น
จิตวิทยามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตอย่างกว้างขวาง ผู้ศึกษาจิตวิทยาสามารถได้รับประโยชน์ดังต่อไปนี้
1.ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ เช่น ความต้องการ การแก้ปัญหา การปรับตัว อารมณ์และความรู่สึกในสถานการณ์ต่างๆ
2.ช่วยในการแก้ปัญหาทางจิต รู้จักวิธีรักษาสุขภาพจิตได้ดี สามารถเอาชนะปมด้อยต่างๆ รู้วิธีแก้ปัญหาและปรับตัวอย่างเหมาะสม ขจัดความขัดแย้งในใจได้และความวิตกกังวลได้
3.สามารถเข้าใจ ตัดสินใจ และมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลในสังคม
4.ช่วยในการวางแผนการใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสม
ขอบข่ายของจิตวิทยา
1.จิตวิทยาทั่วไป (General Psychology) ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมทั่วไปของมนุษย์การรับรู้ การเรียนรู้ อารมณ์ ความรู้สึก สติปัญญา ประสาทสัมผัส เป็นต้น จิตวิทยาสาขาพื้นฐานของการเรียนจิตฺวิทยาสาจาอื่นต่อไป
2.จิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology) ศึกษาเกี่ยวกับลำดับขั้นตอนของพัฒนาการเจริญเติบโตในแต่ละวัยต่างๆ ของมนุษย์ ตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงวัยชรา
3.จิตวิทยาสังคม (Social Psychology) ศึกษาเกี่ยวกับบทบาทความสัมพันธ์และพฤติกรรมของบุคคลในกลุ่มสังคม ปฏิกิริยาตอบสนองของบุคคลที่อยู่รวมกัน เจตคติและความคิดเห็นของกลุ่มชน
4.จิตวิทยาการทดลอง (ExperimentalPsychology) ศึกษาเกี่ยวกับระบบประสาทและพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ในห้องทดลอง
5.จิตวิทยาการแนะแนว(Guidance Psychology) นักจิตวิทยาแนะแนวทำหน้าที่ให้คำแนะนำ ให้แนวทาง และให้คำปรึกษาสถานศึกษากับนักเรียน นักศึกษา เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้มีปัญหาด้านการปรับตัว ปัญหาการเรียน และปัญหาส่วนตัวอื่นๆ
6.จิตวิทยาคลีนิค (Clinical Psychology) นักจิตวิทยาคลินิกทำงานในโรงพยาบาลที่มีคนไข้โรคจิต สถาบันเลี้ยงเด็กปัญญาอ่อน หรืออาจเปิดเป็นคลินิกส่วนตัวก็ได้
7.จิตวิทยาประยุกต์ (Applied Psychology) เป็นการนำหลักการทางจิตวิทยามาใช้ประโยชน์ในสาขาวิชาชีพต่างๆ เช่น ธุรกิจอุตสาหกรรม การแพทย์ การทหาร เป็นต้นT
8.จิตวิทยาอุตสาหกรรม (Industrial Psychology) ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการทำงาน ผลกระทบของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อการทำงาน แรรงจูงใจในการทำงาน การคัดเลือกคนงาน การประเมินผลงาน
9.จิตวิทยาการศึกษา (Educational Psychology) ศึกษาสิ่งที่เกี่ยวกับงานด้านการเรียนการสอน การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นวิชาที่สำคัญสำหรับครูและนักการศึกษา
10.จิตวิทยาการทดลอง (ExperimentalPsychology) มีการศึกษาโดยการทดลองกับมนุษย์และสัตว์ทั้งในสภาพแวดล้อมทั่วไปและในห้องปฏิบัติการ วิธีการศึกษาส่วนใหญ่ใช้การสังเกต
ระเบียบวิธีการศึกษาทางจิตวิทยา จำแนกได้ 7วิธี ดังนี้
1.วิธีทดลอง (Experimental Method)
การทดลองสามารถทำได้ 2 ลักษณะ คือ การทดลองในสภาพธรรมชาติกับการทดลองในห้องปฏิบัติการ แต่ไม่ว่าจะเป็นการทดลองชนิดใดต้องคำนึงถึงสิ่งสำคัญ ได้แก่ การปฏิบัติซ้ำเพื่อตรวจสอบผลให้เกิดความมั่นใจ การควบคุมเพื่อไม่ให้ผลลัพธ์คลาดเคลื่อนจากความจริง ตัวแปร คือ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงค่าได้ และต้องมีขอบเขตจำกัด ในการทดลองจะมีการหาค่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวประกอบ 2 ตัว หรือ 2กลุ่ม โดยให้กลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มทดลอง (Experimental Group) เป็นกลุ่มที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงและอีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มควบคุม (Control Group) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะถูกเปรียบเทียบกัน ปัจจุบัน วิธีทดลองถูกนำไปใช้ในจิตวิทยาสมัยใหม่เกือบทุกสาขาอย่างได้ผลดี
2.วิธีการตรวจสอบจิต (Introspection)
เป็นการให้บุคคลสำรวจตรวจสอบตนเองด้วยการย้อนทบทวน และความรู้สึกนึกคิดของตนเองในอดีตที่ผ่านมา แล้วรายงานความรู้สึกออกมาดายการอธิบายทั้งเหตุและผลของการกระทำนั้นๆ การศึกษาด้วยวิธีการนี้มีข้อดีตรงที่เป็นข้อมูลตรงจากผู้ได้รับประสบการณ์ หากผู้รายงานจดจำได้แม่นยำ รายงานตามความเป็นจริงไม่ปิดบัง มีความซื่อสัตย์และจริงใจ แต่อาจเป็นข้อเสียถ้าผู้รายงานจำเหตุการณ์ไม่ได้หรือไม่ชัดเจนหรือไม่ต้องการบอกข้อมูลที่แท้จริงให้ทราบซึ่งจะทำให้การตีความหมายของเรื่อง เหตุการณ์นั้นคิดพลาดไม่ตรงตามข้อเท็จจริง
3.วิธีใช้แบบทดสอบ (Testing Method)
เป็นการใช้เครื่องมือที่มีเกณฑ์ในการวัดลักษณะพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่งหรือหลายๆพฤติกรรม โดยให้ผู้รับการทดลองเป็นผู้ทำแบบทดสอบ ซึ่งอาจเป็นแบบทดสอบข้อเขียนหรือข้อสอบปฏิบัติก็ได้ แบบทดสอบจะช่วยวัดความสามารถด้านต่างๆ ของมนุษย์ รวมทั้งการวัดบุคลิกภาพ อารมณ์ ความถนัด ความสนใจ ทัศนคติ และความคิดเห็นโดยใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาซึ่งมีหลายประเภท การใช้แบบทดสอบมีสิ่งที่ควรระวังมากที่สุดคือค่าความเชื่อมั่นและค่าความเที่ยงตรงของแบบทดสอบซึ่งควรได้มาตรฐานและสามารแปรผลได้อย่างถูกต้อง
4.วิธีสังเกต (Observation)
การสังเกตมี 2 ลักษณะ คือ การสังเกตอย่างไม่มีแบบแผน และการสังเกตอย่างมีแบบแผน สำหรับการสังเกตอย่างไม่มีแบบแผน เป็นวิธีสังเกตธรรมชาติ ไม่มีการเตรียมการหรือการวางแผนล่วงหน้า ผู้จะสังเกตสามารถสังเกตได้ตามความสะดวก เป็นการศึกษาพฤติกรรมของบุคคลตามสภาพธรรมชาติ วิธีนี้มีข้อเสียคือ ผู้สังเกตไม่สามารถควบคุมตัวประกอบเฉพาะส่วนที่สนใจจะศึกษาได้ ส่วนการสังเกตอย่างมีแบบแผนเป็นการสังเกตที่มีการเตรีมการและการวางแผนล่วงหน้า กำหนดวัน เวลา สถานที่ บุคคล พฤติกรรมและสถานการณ์ไว้เรียบร้อยแล้ว จุดสำคัญของการสังเกตคือ จะต้องทำอย่างระมัดระวัง ผู้สังเกตต้องไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตัวสังเกต และต้องจดบันทึกสิ่งที่ได้เห็นอย่างละเอียด โดยไม่เพิ่มเติมความรู้ส่วนตัวลงไป นอกจากนั้นผู้สังเกตควรได้รับการฝึกหัดสังเกตมาพอสมควร ต้องเป็นคนละเอียดถี่ถ้วน และรู้จัดเทคนิคการสังเกตเป็นอย่างดีเพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดและกำจัดความลำเอียงให้มีน้อยที่สุด
5.วิธีวิทยาศาสตร์ (Scientific Method)
เป็นวิธีการศึกษาในการแก้ปัญหาเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ ความเข้าใจในสิ่งนั้น วิธีนี้ประกอบด้วยขั้นตอน ดังนี้
– ขั้นการตั้งปัญหา (Problem) เป็นการตั้งประเด็นปัญหาที่สนใจ ต้องการศึกษาและค้นคว้าเพื่อหาทางแก้ปัญหานั้น
– ขั้นการตั้งสมมุติฐาน (Hypothesis) เป็นการคาดคะเนคำตอบของปัญหาไว้ล่วงหน้าอย่างมีเหตุผลเพื่อช่วยให้ผู้ศึกษาดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างรวดเร็วและถูกต้อง
– ขั้นการรวบรวมข้อมูล (Collecting Data) เป็นขั้นรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหานั้นให้มากที่สุด และต้องวางแผนไว้ว่าจะสามารถหาข้อมูลได้ด้วยวิธีใด เช่น การใช้แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ การทดลอง
– ขั้นการวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis of Data) เป็นการนำข้อมูลต่างๆที่ได้มานำแปลความหมายด้วยกาสรวิเคราะห์ตามหลักสถิติ
– ขั้นการสรุปผล (Conclusion) เป็นการสรุปผลและรายงานผลที่ได้จาการศึกษาค้นคว้าและนำผลนั้นไปใช้ รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อไปด้วย
6.วิธีการศึกษารายกรณี (Case Study Method)
เป็นการศึกษาชีวประวัติความเป็นมาของบุคคลซึ่งต้องใช้เวลาศึกษาติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง แล้วรวบรวมข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ พิจารณา ตีความเพื่อให้เขาใจความเป็นมาในอดีตและช่วยชี้ให้เห็นปัญหาที่บุคคลนั้นกำลังเผชิญอยู่ ทำให้เข้าใจสาเหตุของปัญหาและพฤติกรรมปัจจุบัน เพื่อหาทางช่วยเหลือ แก้ไข ปรับปรุง ตลอดจนส่งเสริมพฤติกรรมให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์ โดยการศึกษาหาข้อมูลของบุคคลอย่างละเอียด เช่น ประวัติการตั้งครรภ์ การคลอด สุขภาพ การเรียน สังคม อารมณ์ ซึ่งอาจได้จากการสัมภาษณ์ จากบุคคลใกล้ชิด เช่น บิดา มารดา ญาติพี่น้อง ทั้งนี้เพือให้ได้ข้อมูลอย่างละเอียดให้มากที่สุด
7.วิธีการสัมภาษณ์ (Interview)
เป็นวิธีการที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน สามารถทำได้ทั้งอย่างมีแบบแผนและไม่มีแบบแผน จุดประสงค์เพื่อต้องการรู้รายละเอียดและทำให้เข้าใจในตัวบุคคล การใช้เทคนิคการสัมภาษณ์มีลักษณะคล้ายแบบสอบถาม คือ เป็นการถามตอบเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการซึ่งสามารถทำได้ทั้งเป็นหมู่และเป็นรายบุคคล โดยมีวิธีการเป็นขั้นตอนคือ ขั้นเตรียมการ ได้แก่ การเตรียมสถานที่ คำถาม นัดหมายเวลา และสร้างความคุ้นเคยกับบุคคลที่จะถูกสัมภาษณ์ ขั้นสัมภาษณ์ เป็นการดำเนินการตามแผนที่วางไว้ พยายามให้ผู้ถูกสัมภาษณ์พูดหรือแสดงความคิดเห็นให้มากที่สุด และขั้นสุดท้ายเป็นการยุติการสัมภาษณ์เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม