ปลัด ศธ. หารือ สทศ. เพื่อหาทางออกในการจัดสอบโอเน็ต จะจัดสอบหรือไม่?

เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ ปลัด ศธ. ไปหารือกับ สทศ. เรื่องการหาทางออก เกี่ยวกับการจัดสอบโอเน็ตของนักเรียนชั้น ม.3 และ ม.6  แต่สำหรับการสอบของชั้น ป.6 ยังมีการจัดสอบอยู่

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ตนได้หารือร่วมกับผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถึงเรื่องการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ปีการศึกษา 2563 โดยตนได้มอบหมายให้ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ.นำข้อมูลต่างๆ ไปหารือร่วมกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินการเรื่องนี้ เพราะ สทศ.เองก็ได้มีการส่งหนังสือชี้แจงความจำเป็นของการจัดสอบโอเน็ตมาให้ ศธ.พิจารณาแล้ว

Advertisements

อย่างไรก็ตาม จากการที่ตนได้ลงพื้นที่สัมผัสกับครู ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ก็ได้รับทราบถึงภาระงานและการทดสอบประจำปีที่มีขึ้นในทุก ๆ ปีอยู่แล้ว ซึ่งในส่วนของการสอบโอเน็ต ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นั้น ยังคงสอบอยู่ แต่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ ม.3 คงจะต้องมีการหารือ รวมถึงศึกษากฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ตนยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีการจัดสอบหรือไม่ เรื่องนี้ต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบถึงความจำเป็น และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ตนขอยืนยันว่าไม่ว่าแนวทางการจัดสอบโอเน็ตจะมีผลการตัดสินออกมาเป็นอย่างไร จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของครู นักเรียน และผลการศึกษาของประเทศไทย

ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เสนอข้อเสนอแนะในฐานะผู้ใช้คะแนนโอเน็ต

โดยสำหรับระดับชั้น ม.6 สพฐ.ลงความเห็นว่า เนื่องจากเป็นข้อผูกพันระหว่างต่างหน่วยงาน คือ สพฐ.และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในปีการศึกษา 2563 คงต้องมีการสอบ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ส่วนระดับ ป.6 และ ม.3 นั้น จะมีผลกระทบใน 2 เรื่อง คือ

1.เรื่องการนำผลคะแนนโอเน็ตมาบันทึกไว้ในเอกสารประเมินผลตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ปพ.) ซึ่งเรื่องนี้มีกำหนดไว้ในประกาศ ศธ.เรื่อง สัดส่วนการใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนที่จบการศึกษาตามหลักสูตร สพฐ. พ.ศ.2551 และ

2.การกำหนดให้สถานศึกษาสามารถใช้คะแนนโอเน็ตเป็นตัวชี้วัดในการคัดนักเรียนเข้าศึกษาต่อได้ ทั้งนี้หาก ศธ.มีแนวทางที่จะไม่ใช้คะแนนโอเน็ตกับการดำเนินการทั้ง 2 เรื่องที่กล่าวมา สพฐ.ก็เสนอให้ดำเนินการยกเลิกด้วยการออกประกาศ ศธ.ยกเลิกได้ทันที ไม่จำเป็นต้องมีการประกาศให้ทราบล่วงหน้า แต่สำหรับเรื่องการยกเลิกสอบหรือไม่สอบโอเน็ตนั้น เป็นอำนาจของ สทศ.เป็นผู้ดำเนินการ เพราะ สพฐ.เป็นเพียงผู้ใช้ผลคะแนนเท่านั้น อีกทั้งแนวทางการปฏิบัติเรื่องนี้จะเป็นไปในทิศทางใด คงต้องให้ รมว.ศธ. เป็นผู้พิจารณา

Advertisements

 

ขอขอบคุณที่มา : At_HeaR

Comments are closed.