“ตรีนุช” ลงพื้นที่ตรวจสนามสอบ รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ครั้งต่อไปจะเปลี่ยนเป็นระบบ e-Testing ทั้งหมด
-
กลุ่มไลน์ข่าวการศึกษา
กลุ่มไลน์ข่าวการศึกษา
เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา, ศ.ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูฯ, ผศ.ดร.นวรินทร์ ตาก้อนทอง รองผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยา มศว, และคณะผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสนามสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ณ สนามสอบโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย กรุงเทพฯ
โดยเป็นการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2565 ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้ดำเนินการจัดการทดสอบฯ พร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 24 – 25 ธันวาคม 2565 จำนวน 4 วิชา ได้แก่ วิชาการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร วิชาการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร วิชาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา
และวิชาชีพครู ใน 9 สนามสอบ และจะประกาศผลสอบวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ผ่านทางเว็บไซต์ https://ksp.thaijobjob.com/202211/index.php หรือผ่านระบบ “KSP Self-Service” ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา โดยตรวจสอบและพิมพ์ผลการทดสอบฯ เป็นรายบุคคล ในรายวิชาที่เข้าทดสอบผ่านช่องทางออนไลน์ได้ด้วยตนเอง
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมสนามสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาดำเนินการจัดการทดสอบฯ ในภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี ทุกสนามสอบมีมาตรการเข้มข้นในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 อย่างเคร่งครัด
รวมถึงมีผู้มีสิทธิ์เข้าสอบที่เป็นกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ เช่น เป็นผู้บกพร่องทางการเห็น ผู้ตั้งครรภ์ บกพร่องทางการได้ยิน และบกพร่องทางร่างกาย เป็นต้น ขณะที่บางคนต้องนั่งวิลแชร์ ซึ่งทางสนามสอบต่าง ๆ ก็ได้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าสอบให้อย่างเหมาะสม รวมถึงข้อสอบที่ใช้ในการสอบก็เป็นไปตามมาตรฐานในการจัดสอบด้วย
“การสอบครั้งนี้เป็นการใช้ Paper-Based Testing เป็นครั้งสุดท้าย โดยกระทรวงศึกษาธิการและคุรุสภาพยายามที่จะใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาการสอบให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งครั้งต่อไปจะใช้การสอบรูปแบบ e-Testing ทั้งหมด ส่งผลให้ใช้คนน้อยลง ไม่ต้องเดินทางและประหยัดเวลา
สำหรับวิชาที่สอบก็จะลดลงจากเดิมที่ทุกคนต้องสอบ 4 + 1 วิชา แต่ในการสอบครั้งต่อไปจะสอบเพียงแค่วิชาเอกและวิชาชีพครูเท่านั้น เช่น ครูนาฏศิลป์ก็สอบวิชาเอกนาฏศิลป์กับวิชาชีพครูเท่านั้น โดยไม่ต้องสอบวิชาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง เพราะเป้าหมายเราต้องการคัดคนมาเป็นครูที่ตรงวิชาเอกจริง ๆ โดยจะเริ่มสอบระบบนี้ในครั้งต่อไปช่วงเดือนมีนาคม 2566” นางสาวตรีนุช กล่าว
ในการทดสอบฯ ครั้งที่ 2 ผู้มีสิทธิ์เข้าทดสอบทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศรวมทุกวิชา 156,256 ที่นั่ง มี 9 ศูนย์สอบ 20 สนามสอบ จำแนกผู้มีสิทธิ์เข้าสอบตามสนามสอบ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ สนามสอบกรุงเทพฯ 24,636 คน จังหวัดนครปฐม 13,523 คน จังหวัดเชียงใหม่ 14,559 คน จังหวัดพิษณุโลก 15,561 คน จังหวัดชลบุรี 6,148 คน จังหวัดขอนแก่น 36,551 คน จังหวัดนครราชสีมา 19,130 คน จังหวัดสงขลา 17,287 คน และจังหวัดสุราษฎ์ธานี 8,853 คน