ข่าวการศึกษา

เตรียมชงร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ เข้า ครม. ยึดร่างเดิมจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

วันที่ 30 ตุลาคม 2566 ขอนำเสนอ “เพิ่มพูน” เตรียมชงร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ เข้าครม. เผย ยึดร่างเดิมของสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา จัดทำประชาพิจารณ์ควบคู่ไปด้วย พร้อมเห็นชอบฉากทัศน์อนาคตการศึกษาไทยปี 70

เมื่อวันที่ 27 ต.ค.พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษา (สกศ.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการจัดทำร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.. ฉบับที่อยู่กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว  เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

ซึ่งจะได้ขับเคลื่อนร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวสู่กระบวนการตามฎหมายต่อไป โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้สภาการศึกษา (สกศ.) ไปจัดทำประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแหงชาติ พ.ศ..ควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นการสอบถามความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบฉากทัศน์แนวโน้มและทิศทางการพัฒนาการศึกษา พ.ศ. 2570 เพื่อคาดการณ์แนวโน้มและทิศทางการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยในอนาคต เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการศึกษาใน 4 รูปแบบ คือ 1 เรียนดี มีความสุข แข่งขันได้ 2 ลดเหลื่อมล้ำ ลดคุณภาพ ลดทักษะ 3 เชิงพื้นที่ เชิงนวัตกรรม เชิงโอกาส และ4 ไม่ยืดหยุ่น ไม่ปลอดภัย ไม่มีงานทำ เป็นฉากทัศน์ที่ไม่พึงประสงค์ คือ ครูและผู้บริหารไม่ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ และหลักสูตรการศึกษามีความแข็งตัว นโยบายและแผนทางการศึกษาไม่มีความต่อเนื่อง ตลอดจนไม่มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษา

ด้านนายอรรถพล สังขะวาสี รักษาการเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำหรับการจัดทำร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..นั้นจะยึดร่างเดิมที่ผ่านจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาแล้ว เนื่องจากที่ประชุมมองว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นชอบไปแล้ว แต่ทั้งนี้หลายฝ่ายก็มีข้อห่วงใยว่าการยึดร่างพ.รบ.การศึกษาฯของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอาจมีความขัดแย้งทางสังคมเหมือนที่ผ่านมาได้

ดังนั้นระหว่างนี้จึงให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาควบคู่ไปด้วย เพื่อทุกภาคส่วนของสังคมได้มีส่วนร่วม ขณะเดียวกันร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับใหม่จะมุ่งเน้นคุณภาพการศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยในส่วนของกฎหมายด้านบริหารงานบุคคลจะให้ไปอยู่ในร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอีกฉบับแทน เพื่อให้การศึกษาเป็นการบริหารงานแบบนิติบุคคลอย่างแท้จริง

Related Articles

Back to top button