การศึกษาผู้เรียนเป็นรายบุคคล
-
กลุ่มไลน์ข่าวการศึกษา
กลุ่มไลน์ข่าวการศึกษา
ความหมายของ การศึกษา ผู้เรียนเป็นรายบุคคล
กระบวน การศึกษา รายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือหลายคนเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันไปในระยะเวลาหนึ่งโดยใช้เครื่องมือ เทคนิค หรือวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งรายละเอียดของข้อมูลแล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจสภาพผู้ถูกศึกษา สาเหตุของพฤติกรรมตลอดจนข้อเสนอแนะที่เป็นแนวทางการให้ความช่วยเหลือกรณีที่ผู้ศึกษากำลังประสบปัญหา
ความสำคัญของ การศึกษา ผู้เรียนเป็นรายบุคคล
ประโยชน์ต่อครูหรือผู้แนะแนวที่เป็นผู้ศึกษาโดยตรง
1. ช่วยให้ครูหรือผู้แนะแนวได้ทราบรายละเอียด เกี่ยวกับตัวนักเรียนอย่างกว้างขวาง ทำให้รู้จักและเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์อย่างแท้จริง
2. ช่วยให้ครูและผู้แนะแนวเข้าใจถึงสาเหตุและเงื่อนไขต่างๆ ที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ทำให้มองเห็นลู่ทางที่จะช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับนักเรียนได้อย่างเหมาะสม
3. ช่วยให้ครูและผู้แนะแนวมีความรู้และมีทักษะในการใช้เครื่องมือและกลวิธีต่างๆ ในการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตัวนักเรียน และยังช่วยให้เป็นคนที่มีเหตุผล รู้จักเก็บข้อมูลอย่างมีระบบ รู้จักแก้ปัญหาโดยใช้ข้อมูลที่ได้รวบรวมไว้มาประกอบในการพิจารณาตัดสินใจ
ประโยชน์ต่อนักเรียนที่เป็นผู้ไดรับการศึกษา
1. ช่วยให้นักเรียนได้เกิดความเข้าใจตนเอง ยอมรับความเป็นจริงเกี่ยวกับตัวเองมีการปรับปรุงตนเอง หรือแก้ไขปัญหาของตน เพื่อช่วยให้มีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น
2. ช่วยให้นักเรียนมีกำลังใจและมีความเต็มใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีความหวัง
ประโยชน์ต่อคณะครูและโรงเรียน
1. ช่วยให้ครูรู้จักและเข้าใจนักเรียนของตนดีขึ้น ยินดีให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้นักเรียน
2. ช่วยให้โรงเรียนได้ทราบความเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาและความต้องการของตัวเด็ก ทำให้สามารถนำข้อเท็จจริงเหล่านั้นมาใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมและการใช้บริการด้านต่างๆ แก่นักเรียนได้อย่างเหมาะสม
ประโยชน์ต่อผู้ปกครองของนักเรียนที่ได้รับการศึกษา
1. ช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจเด็กของตนดีขึ้น ทำให้สามารถปฏิบัติต่อบุตรได้อย่างเหมาะสม
2. ช่วยให้ผู้ปกครองเกิดความสบายใจ เพราะตระหนักได้ว่า โรงเรียนมีความตั้งใจและจริงใจในการป้องกัน ช่วยเหลือ แก้ไขและส่งเสริมพัฒนานักเรียน
ลักษณะของการศึกษาผู้เรียนเป็นรายบุคคล
ในการศึกษารายกรณีนั้น ครูสามารถเลือกนักเรียนได้หลายประเภท ไม่จำเป็นจะต้องเลือกเฉพาะนักเรียนที่มีปัญหาเท่านั้น ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายในการศึกษาของครูว่า ต้องการทราบเรื่องอะไร ครูควรเลือกนักเรียนเพื่อทำการศึกษารายกรณี สามารถจำแนกได้ดังนี้
1) นักเรียนที่ประสบผลสำเร็จในด้านการเรียนดีเยี่ยม
2) นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษบางอย่าง เช่น ศิลปะ ดนตรี ฯลฯ
3) นักเรียนที่มีปัญหามาก
4) นักเรียนที่มีความทะเยอทะยานมีกำลังใจเข้มแข็งที่จะเอาชนะอุปสรรค
5) นักเรียนที่เรียนอ่อนไม่สามารถที่จะทำงานในระดับที่เรียนอยู่ได้
6) นักเรียนที่มีพฤติกรรมดีเด่นสมควรเอาเป็นตัวอย่าง
7) นักเรียนที่มีพฤติกรรมปรกติธรรมดาทั่วๆ ไป
ขั้นตอนการศึกษาผู้เรียนเป็นรายบุคคล
ลำดับขั้นของการทำการศึกษารายกรณี (นิรันดร์ จุลทรัพย์, 2539: 210) มีดังนี้
1) คัดเลือกนักเรียน ที่จะทำการศึกษาโดยทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมของนักเรียนแต่ละคนว่าใครประสบปัญหาด้านใดบ้าง เช่น ปัญหาการเรียน ปัญหาด้านความประพฤติ ปัญหาด้านอารมณ์และสังคม เป็นต้น หรือเป็นนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเป็นที่สนใจของคนส่วนใหญ่ในโรงเรียน ผลการเรียนดีเป็นเยี่ยมเป็นนักกีฬายอดเยี่ยม มีความสามารถสูงทางศิลปะ เป็นต้น
2) รวบรวมข้อมูล เป็นการค้นหารายละเอียดข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวผู้ถูกศึกษาโดยพยายามรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อนำไปวิเคราะห์และวินิจฉัยต่อไป ข้อมูลที่รวบรวมนั้นควรได้มาจากตัวนักเรียนเองหรือผู้เกี่ยวข้องกับนักเรียน เช่น บิดามารดา หรือผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท ครูประจำชั้น ครูประจำวิชา เป็นต้น โดยใช้เครื่องมือ เทคนิคหรือวิธีการต่าง ๆ เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การใช้แบบสอบถาม การเยี่ยมบ้าน สังคมมิติและแบบทดสอบชนิดต่าง ๆ เป็นต้น
3) วิเคราะห์ข้อมูล เป็นการแยกแยะให้เห็นรายละเอียดของข้อมูลและสภาพของข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้น
4) วินิจฉัยข้อมูล เป็นการนำผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลมาพิจารณาหาสาเหตุของพฤติกรรมที่เป็นปัญหาหรือพฤติกรรมในทางบวกโดยใช้หลักทฤษฎีทางจิตวิทยามาเป็นพื้นฐานประกอบการพิจารณา การสรุปผลจากการวินิจฉัยในขั้นนี้อาจจะยังไม่ได้ข้อยุติ แต่ก็เป็นแนวทางที่จะนำไปประกอบการสังเคราะห์ข้อเท็จจริงในขั้นต่อไป
5) การสังเคราะห์ เป็นการศึกษาหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มารวมกับข้อมูลเดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ศึกษาเกิดความมั่นใจในการวิเคราะห์ และวินิจฉัยได้ตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น
6) การให้ความช่วยเหลือ เป็นการคิดหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ให้ความช่วยเหลือและแนะแนวทางในการแก้ปัญหา ตลอดจนช่วยให้นักเรียนสามารถเข้าใจตนเองได้อย่างถูกต้องและปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม สามารถตัดสินใจได้อย่างฉลาดโดยแบ่งวิธีการให้ความช่วยเหลือเป็น 3 วิธีการ คือ
(6.1) การแก้ไข ผู้ศึกษาสามารถใช้วิธีการแก้ไขเพื่อให้ความช่วยเหลือได้ดังนี้
(6.1.1) ให้คำปรึกษาเพื่อให้คลายความกังวลใจโดยให้ผู้รับคำปรึกษาได้เข้าใจในปัญหาจนกระทั่งสามารถหาทางแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง
(6.1.2) ส่งให้ผู้มีประสบการณ์หรือผู้เชี่ยวชาญในปัญหานั้น ๆ โดยตรงในกรณีที่ผู้ศึกษาพบว่า ปัญหาต่าง ๆ ที่พบนั้นมีผู้ที่มีความสามารถช่วยเหลือได้อยู่ตรงประเด็นหรือในกรณีที่ผู้ศึกษาขาดความมั่นใจในการให้ความช่วยเหลือในปัญหานั้น ๆ
(6.1.3) ถ้าเป็นปัญหาที่รุนแรงเกี่ยวกับทางด้านจิตใจจนเกิดความสามารถของผู้ศึกษาต้องหาทางส่งต่อ ไปยังจิตแพทย์ หรือผู้มีความชำนาญโดยเฉพาะเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป
(6.2) การป้องกัน โดยการหาทางป้องกันหรือสกัดกั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นในอนาคตโดยการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมแก่ผู้รับการศึกษาเพื่อแนวทางในการปฏิบัติ
(6.3) การส่งเสริม เป็นการช่วยส่งเสริมให้ผู้รับการศึกษามีความสามารถที่จะปรับตัวได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพการณ์ต่าง ๆ เป็นแรงเสริมให้เกิดกำลังใจในการสร้างเสริมสิ่งต่าง ๆ รอบตัวให้ดีขึ้น
7) การติดตามผล เป็นการศึกษาถึงวิธีการต่าง ๆ ที่ได้ให้ความช่วยเหลือแล้วนั้นว่าได้ผลประการใด มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใดมีสิ่งที่ควรต้องปรับปรุงแก้ไขหรือเพิ่มเติมอะไรบ้าง
การรายงานการศึกษาผู้เรียนเป็นรายบุคคล
ในการเขียนรายงานการศึกษารายกรณี ควรเขียนให้มีรายละเอียดมากพอที่จะช่วยให้เข้าใจได้เป็นอย่างดี ซึ่งการเขียนนั้นไม่มีแบบแผนที่ตายตัวอาจจะแตกต่างกันไปบ้าง ตามลักษณะของปัญหาทั้งนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้ศึกษา ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไป ควรประกอบด้วยหัวข้อต่าง ๆ ที่สำคัญ (นิรันดร์ จุลทรัพย์, 2539: 213) ดังนี้
(1) ชื่อ – สกุลผู้รับการศึกษา
(2) สาเหตุที่ศึกษา
(3) วันเริ่มต้นและสิ้นสุดการศึกษา รวมระยะเวลาที่ใช้ศึกษา
(4) ลักษณะของปัญหาที่สำคัญ/ลักษณะเด่นที่สำคัญ
(5) ข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับการศึกษา
(5.1) ลักษณะทั่วไป
(5.2) ประวัติส่วนตัว
(5.3) ประวัติครอบครัว
(5.4) ประวัติทางด้านการศึกษาและผลการเรียน
(5.5) ประวัติสุขภาพ
(5.6) ประวัติด้านสังคม
(5.7) ประสบการณ์การทำงานและงานอดิเรก
(5.8) ความใฝ่ฝันในอนาคต
(5.9) เจตคติที่มีต่อตนเอง
(5.10) เจตคติที่มีต่อครอบครัว
(5.11) เจตคติที่มีต่อสถานศึกษา
(5.12) เจตคติที่มีต่อสังคม
(6) เทคนิค เครื่องมือหรือวิธีการที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลมีกี่อย่าง อะไรบ้าง
(7) สรุปข้อมูลที่ได้จากการรวมข้อมูลด้วยเทคนิค เครื่องมือหรือวิธีการต่าง ๆ พร้อมทั้งตีความหมายจากข้อมูล
(8) การสรุปผลและข้อเสนอแนะ
(9) ภาคผนวก (แนบเทคนิค เครื่องมือ หรือวิธีการที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลพร้อมทั้งเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการศึกษา)