Take a fresh look at your lifestyle.

ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับผ่านการพิจารณากฤษฏีกา

ข่าว ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับผ่านการพิจารณากฤษฏีกา มีทั้งหมด 101 มาตรา โดย กอปศ.เห็นด้วยกับ ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับผ่านการพิจารณากฤษฏีกา มีทั้งหมด 101 มาตรา ระบุหลักการ วิธีการรับนักเรียน นักศึกษาเข้าเรียนไว้ในกฎหมายด้วย เปลี่ยนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เป็น ใบรับรองความเป็นครู ครูใหญ่ ตั้ง คนไม่ใช่ครู มาเป็นผู้ช่วยครูใหญ่ได้

วันนี้ (5 มี.ค.) ศ. นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยผลการประชุม กอปศ.เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ว่า รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ กรรมการใน กอปศ.ได้รายงานว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติเสร็จสิ้นแล้ว โดยล่าสุดมี 101 มาตราเท่าเดิมตามที่ กอปศ.เสนอไป และทางคณะกรรมการกฤษฎีกาจะมีหนังสือถามยัง กอปศ. ซึ่งที่ประชุม กอปศ.จะมีหนังสือยืนยันกลับไปว่าเห็นด้วยตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ส่วนขั้นตอนต่อไปอยู่ที่รัฐบาล เชื่อว่ารัฐบาลผลักดันเรื่องนี้เต็มที่แล้ว

ด้าน รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา มีสาระสำคัญใหญ่ๆ 29 ประเด็น อาทิ กำหนดเป้าหมายการศึกษาบนฐานสมรรถนะ, แบ่งรายละเอียดเป็น 7 ช่วงวัย, จัดระบบหน้าที่และสิทธิของผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาให้มีความชัดเจนและสร้างการมีส่วนร่วมที่เหมาะสม โดยให้หลักการการจัดการศึกษาของเอกชนว่าต้องเป็นไปโดยไม่แสวงหาผลกำไร เว้นแต่กฎหมายอนุญาตไว้ เอกชนมีสิทธิในการจัดการศึกษาทุกระดับ รัฐต้องจัดงบฯให้แก่ผู้เรียนที่ไปนั่งเรียนกับการศึกษาเอกชนให้เพียงพอ ให้ครูเอกชนได้รับเงินเดือนค่าตอบแทนที่สอดคล้องกับครูภาครัฐ โดยรัฐอาจจัดเงินอุดหนุนเพิ่มเติมให้ครูเอกชนได้ด้วย

รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าวต่อไปว่า สถานศึกษาเป็นนิติบุคคลได้ตามที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนมีบทบาทในการเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ประชาชนด้วยเพื่อรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้สถานศึกษามีอิสระตามหลักเกณฑ์ แนวทาง เงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องครอบคลุมการบริหารกระบวนการจัดการเรียนรู้ การบริหารเงิน การใช้จ่าย การบริหารงานบุคลากร การบริหารทรัพย์สิน ซึ่งเงินได้ของสถานศึกษาก็สะสมเป็นของสถานศึกษาได้ภายในหลักเกณฑ์ที่กำหนด มีคณะกรรมการสถานศึกษาที่มีความยืดหยุ่น และมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการไปเจรจากับกระทรวงการคลัง เรื่องจัดซื้อจ้างและบริหารพัสดุ การจัดสรรงบฯให้แก่สถานศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนวัยเรียนถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นเงินอุดหนุนทั่วไป ไม่กำหนดวัตถุประสงค์และไม่ต่ำกว่าจำนวนเงินขั้นต้น โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นและไปกำหนดว่าเงินขั้นต้นต้องเป็นจำนวนเท่าไร เพื่อแก้ปัญหาสถานศึกษาขนาดเล็ก มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการศึกษาทางเลือกโดยผู้ปกครอง การศึกษาคนพิการ และผู้ที่มีความสามารถพิเศษ กระจายไว้ในมาตราต่างๆ และให้ประชาชนสามารถรวมตัวกันเป็นคณะบุคคลได้ เช่น สมัชชาการศึกษาจังหวัด และให้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยเหลือสนับสนุนอุดหนุน
 
“ ในร่างกฎหมายยังให้หลักการ วิธีการรับผู้เรียนเข้าศึกษาในสถานศึกษาของรัฐ โดยการศึกษาระดับก่อนวัยเรียนและการศึกษาภาคบังคับต้องไม่ใช้วิธีการสอบแข่งขัน หรือ คัดเลือกด้วยวิธีการอื่นใด ถ้ามีหากมีผู้เข้าเรียนมากกว่าที่นั่งเรียนให้ใช้วิธีจับสลาก ส่วนระดับ ม.ปลาย กับ อุดมศึกษา การคัดเลือกต้องใช้ผลการเรียนหรือสิ่งที่ได้เรียนมาในช่วงระดับก่อนหน้าเท่านั้น การวัดผลคัดเลือกที่สูงกว่าที่กำหนดถือว่าเป็นการจงใจทำให้บุคคลอื่นเสียหาย”รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังให้หลักการสำคัญเกี่ยวกับครูและความเป็นครู โดยให้คณะกรรมการนโยบาย กับ สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ไปศึกษาวิจัยต้นแบบและวิธีการในการพัฒนาผลิตครู และบังคับไว้ในกฎหมายว่าคุรุสภาต้องนำผลการวิจัยไปประกอบกำหนดในมาตรฐานและจรรยาบรรณครูด้วย, ครูที่จัดการศึกษาในระดับก่อนวัยเรียนและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยกเว้นอาชีวศึกษา ต้องมี “ใบรับรองความเป็นครู” ยกเว้นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่จัดการศึกษาในวิชาใดวิชาหนึ่งเป็นการเฉพาะ โดยใบรับรองความเป็นครู ใช้ได้ตลอดภายใต้เงื่อนไขของการได้รับการพัฒนาตามระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติ ให้มี“ครูใหญ่”เป็นผู้รับผิดชอบการบริหารสถานศึกษา และบังคับบัญชาครูในสถานศึกษา โดยครูใหญ่สามารถแต่ตั้ง“ผู้ช่วยครูใหญ่”ในการบริหารได้ตามความจำเป็น ซึ่งผู้ช่วยครูใหญ่ อาจไม่ใช่ครูก็ได้ เป็นต้น

ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอังคารที่ 5 มีนาคม 2562 เวลา 15.02 น.

ความเห็นถูกปิด

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี