Take a fresh look at your lifestyle.

ประวัติความเป็นมาของ การศึกษาของไทย 2

การจัด การศึกษา ของไทย มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยโบราณเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยความเชื่อที่ว่าการศึกษาช่วยกำหนดทิศทางของชาติ เพื่อพัฒนาคนไทยให้มีความพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า

 สมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ได้มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบบ การศึกษา อย่างมากมาย เนื่องจากเหตุผลทางการเมืองเห็นได้จากนโยบายการจัด การศึกษา ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีว่า

1. จัดการศึกษาเพื่อผลิตคนเข้ารับราชการ

2. จัดการศึกษาเพื่อผลิตคนให้มีความรู้ความสามารถแบบตะวันตก

3. เพื่อเปลี่ยนแปลงฐานของคนไทย (สมัย ชื่นสุข. 2520 : 91-92)

การที่พระองค์ทรงมีนโยบายจัดการศึกษา พัฒนาคนไทยให้มีความรู้แบบคนตะวันตก เพื่อเข้ารับราชการ ก็เพื่อไม่ให้ชาวตะวันตกดูแคลนคนไทยและประเทศไทย อีกทั้งสะดวกในการติดต่อกับชาวตะวันตก สามารถที่จะรู้ความคิดความอ่าน และรู้เท่าทันชาวตะวันตก เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของไทยโดยส่วนรวม มิให้เหมือนกับนานาประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องเป็นเมืองขึ้นของประเทศตะวันตกสมัยนี้มีการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนอย่างจริงจังได้ตั้งกระทรวงธรรมการเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบด้านการศึกษามีการประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติในรูปแบบโครงการการศึกษาปี พ.ศ. 2441, 2445, และ 2456

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มีแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2475 แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2479 แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2494 และแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2503 ซึ่งแผนการศึกษาดังกล่าวระบุแนวทางการจัดการศึกษา ปรัชญาและจุดมุ่งหมายของการศึกษาแต่ละระดับโดยส่วนรวม กำหนดโครงสร้างของการศึกษา คือ กำหนดระดับการศึกษา กำหนดรายอายุผู้ที่จะเข้าเรียนในระดับต่างๆ กำหนดชั้นเรียนและกำหนดความเกี่ยวเนื่องระหว่างระดับการศึกษา (เจือจันทร์ จงสถิตอยู่. 2529 : 49) โดยทั่วๆ ไปมีระดับการศึกษาภาคบังคับหรือระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา หรือที่เรียกว่าระดับ 2 และระดับอุดมศึกษาเป็นการศึกษาระดับที่ 3 หลักสูตรการจัดการเรียนการสอน ทฤษฎีที่ใช้ในการเรียนการสอนของไทยยังนำเอาความรู้วิชาการ การจัดการเรียนการสอนตลอดถึงรูปแบบของการจัดการศึกษามาจากประเทศตะวันตกจวบจนถึงปัจจุบัน

แม้จะมีการปรับปรุงหลักสูตรกี่ครั้งก็ตาม สภาพการศึกษาไทย สภาพการจัดการศึกษาไทย มีระบบการบริหารเป็นระบบราชการที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบบริหารราชการแผ่นดิน แบ่งออกเป็นการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ

ระบบการบริหาร

1. บริหารส่วนกลาง

หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่

1 สำนักนายกรัฐมนตรี มีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ

2 ทบวงมหาวิทยาลัย กำลับดูแลการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยทั่งของรัฐและของเอกชน

3 กระทรวงศึกษาธิการ รับผิดชอบการจัดการศึกษาระดับก่อนวัยเรียน ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา การศึกษานอกโรงเรียน การฝึกหัดครู นอกจากนั้นยังรับผิดชอบงานด้านพลศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมีหน่วยงานระดับกรม 14 หน่วยงาน และมีเขตการศึกษา 12 เขต

4 กระทรวงมหาไทย มีองค์กรท้องถิ่นรับผิดชอบในการจัดการศึกษา ได้แก่ เทศบาลเมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร

5. กระทรวงอื่น ๆ จัดการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ โดยจัดการศึกษาใน 2 รูปแบบ ดังนี้

5.1. จัดการศึกษาเฉพาะกิจเพื่อเตรียมบุคคลเข้ารับราชการในหน่วยงานของตน เช่น กระทรวงกลาโหม มีโรงเรียนนายทหารทุกเหล่าทัพ วิทยาลัยพยาบาล วิทยาลัยแพทยศาสตร์ โรงเรียนดุริยางค์ โรงเรียนช่างฝีมือ โรงเรียนนายสิบ เป็นต้น กระทรวงสาธารณสุข มีวิทยาลัยพยาบาล โรงเรียนอนามัย กระทรวงคมนาคม มีโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ โรงเรียนไปรษณีย์โทรเลข เป็นต้น กระทรวงการคลัง มีโรงเรียนศุลการักษ์ และกระทรวงเกษตร มีโรงเรียนชลประทาน โรงเรียนป่าไม้ เป็นต้น

5.2 การจัดการศึกษาเพื่อสนองภารกิจของหน่วยงานของตน เช่น กรมพัฒนาชุมชน กรมอนามัย กรมการแพทย์ กรมแรงงาน กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กรมการปกครอง นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอิสระอื่น ๆ เช่น สภาการชาดไทย เป็นต้น

2. การบริหารส่วนภูมิภาค

มีเขตจังหวัดเป็นเขตจัดการศึกษา หน่วยงานการศึกษาในเขตจังหวัด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

2.1 หน่วยงานส่วนจังหวัด ได้แก่ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานศึกษาธิการอำเภอ และหน่วยงานที่เจ้าสังกัดในส่วนกลางมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจัดหวัดดูแลรับผิดชอบ

2.2 หน่วยงานส่วนกลาง เป็นหน่วยงานส่วนงานที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดแต่ขึ้นตรงกับส่วนกลาง เช่น สำนักงานศึกษาธิการเขต มหาวิทยา วิทยาลัยนาฏศิลป์ วิทยาลัยพลศึกษา วิทยาเขตต่าง ๆ ของสถาบันเทคโนโลยีราบมงคล

3. การบริหารส่วนท้องถิ่น

หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่

3.1 สำนักงานการศึกษาท้องถิ่น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบการศึกษา 2 หน่วย ดังนี้

3.1.1 เทศบาล จัดการศึกษาระดับประถมศึกษาในเขตเทศบาล

3.1.2 เมืองพัทยา จัดการศึกษาในระดับประถมศึกษาในเขตเมืองพัทยา

3.2 สำนักงานการศึกษากรุงเทพมหานคร รับผิดชอบในการจัดการศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร (วิโรจน์ สารรัตนะ. 2539:72-73) การศึกษาในระดับอุดมศึกษา เมื่อพิจารณาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาระดับที่สาม ต่อจากระดับที่สอง คือ มัธยมศึกษา การจัดอุดมศึกษาของไทย มีระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง อนุปริญญาถึงระดังปริญญาตรี โท และเอก การศึกษาระดับนี้ปัจจุบันเป็นทั้งของรัฐและเอกชน

ปรัชญาการอุดมศึกษานั้นในอดีตจะมุ่งเฉพาะด้านปัญญาและการปลูกฝังคุณธรรมเป็นแหล่งชุมนุมของผู้อยากรู้อยากเห็นต้องการหาความจริงที่เป็นสากลและนิรันดร (วิจิตร ศรีสะอ้าน. 2518 :7) โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับสังคม การเมือง หรือผลิตกำลังคนเพื่อการประกอบอาชีพแต่อย่างใด ต่อมาสมัยกลางยุโรป ปรัชญาของการอุดมศึกษาได้เปลี่ยนแปลงไป คือมุ่งผลิตกำลังคนสนองความต้องการของสังคม การเมือง เศรษฐกิจ อีกทั้งวัฒนธรรมแบบใดแบบหนึ่ง

ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เริ่มตั้งแต่ยุคกลางของยุโรป การอุดมศึกษาจะมุ่งผลิตกำลังคนเพื่อรับราชการ ดังเช่นมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดของอังกฤษ (สุลักษณ์ ศิวรักษ์. 2530 : 33) ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยของไทยที่ได้แบบอย่างมาจากตะวันตก เช่นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร ต่างก็สอนวิชาชีพชั้นสูง เพื่อที่ให้ผู้ที่จบออกไปรับราชการไม่ว่าจะเป็นยุคแรกที่มีความจำเป็นทางด้านการเมืองดังที่กล่าวมาแล้ว หรือยุคหลังโดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รัฐต้องการกำลังคนอย่างมากเพื่อช่วยพัฒนาประเทศ

สถาบันอุดมศึกษาได้จัดตั้งเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างมากมาย เพื่อผลิตกำลังคนให้กับส่วนราชการ เอกชน ตามสาขาหลัง คือ แพทย์ เกษตร วิศวกร ทั้งนี้เพราะถือว่า สถาบันอุดมศึกษาเป็นแหล่งผลิตกำลังคนระดับสูงตามความต้องการของรัฐเพื่อพัฒนาประเทศ (วิจิตร ศรีสะอ้าน. 2518:31) ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยจึงมีหน้าที่ที่จะถ่ายทอดความรู้วิชาการที่ได้รับจากประเทศที่เจริญแล้วมาแจกจ่ายให้นิสิตนักศึกษาโดยมิได้มีการสอบทาน หรือประยุกต์ให้เป็นความรู้ที่เหมาะสมกับประเทศไทย เพียงทำหน้าที่คนกลางรับสิ่งที่โลกตะวันตกค้นพบและนำมาจ่ายเพื่อผู้เรียนจะได้นำความรู้วิชาการตลอดถึงเทคโนโลยีเหล่านี้พัฒนาประเทศให้เหมือนกับประเทศทางตะวันตกที่เจริญแล้วเท่านั้นเอง (วิทย์ วิศทเวทย์. 2530:11)

เมื่อเป็นเช่นนี้ สถาบันอุดมศึกษาของไทยย่อมมิได้ทำหน้าที่ให้ครบถ้วนตามปรัชญา โดยเฉพาะด้านการวิจัยค้นคว้าเพื่อความก้าวหน้า และความเป็นเลิศทางวิชาการที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อความเจริญของมนุษยชาติ (วิจิตร ศรีสะอ้าน. 2518:11) เพราะมุ่งเพียงการถ่ายทอดความรู้จากประเทศที่เจริญแล้วให้นิสิตนักศึกษา เมื่อนักศึกษาจบออกไปสู่สังคมก็จะตกเป็นทาสทางวิชาการและเทคโนโลยีตะวันตก อีกทั้งไม่สามารถนำความรู้เหล่านั้นไปใช้กับชีวิตประจำวัน หรืออาชีพที่มีอยู่ในชนบท

ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของไทยโดยเฉพาะการเกษตรนอกจากนี้ยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อชนบทอีกด้วย มองเห็นชนบทนั้นล้าหลัง ขาดความเจริญ ไม่มีความสะดวกสบายเท่าในตัวเมืองเห็นว่าอาชีพด้านการเกษตรเป็นอาชีพที่ต่ำต้อย ไม่สามารถที่จะนำตนเจริญก้าวหน้าหรือช่วยยกระดับตัวเองได้ในอนาคต ตลอดถึงมองเห็นข้อแตกต่างความได้เปรียบเสียเปรียบของอาชีพและสังคมทำให้ผู้ที่จบอุดมศึกษาไม่ยอมประกอบอาชีพหรืออยู่ในสังคมที่มีความเสียเปรียบมาก ดังนั้นจึงมุ่งแต่จะรับราชการ เพราะเป็นหนทางเดียวที่สามารถยกระดับฐานะทางสังคมและความเป็นอยู่ของตนให้สูงขึ้น จึงไม่ยอมกลับไปสู่อาชีพเดิมของบิดามารดาไม่คิดที่จะแก้ไขปรับปรุงอาชีพเดิมให้ดีขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้เกษตรกรและสังคมในชนบทแต่เดิมเคยเสียเปรียบหรือมีความเป็นอยู่เช่นไรก็ยังเป็นอยู่เช่นนั้น จะเปลี่ยนแปลงบ้างก็ในด้านวัตถุ คือ มีสภาพที่เรียกว่า เจริญแต่ไม่พัฒนา สภาพเช่นนี้จะพบเห็นได้อย่างมากมายตามชนบทของไทย (สุพล วุฒิเสน. 2532 : 22)

ความเป็นมาและความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาประเทศ เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงประเทศต่าง ๆ ในโลกต่างก็ประสบความเสียหายจากภัยของสงคราม ยกเว้นประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้รับความเสียหายจากภัยสงครามน้อยที่สุด สหรัฐอเมริกาพยายามที่จะให้ความช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะประเทศในยุโรป นอกจากนี้อุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็มองเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนว่ามีสองค่ายใหญ่ ๆ คือค่ายที่ยึดมั่นในอุดมการณ์เศรษฐกิจการปกครองแบบทุนนิยม ค่ายนี้มีประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศสเป็นผู้นำ และค่ายที่ยึดมั่นอุดมการณ์การปกครองเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม มีโซเวียต รัสเซีย และจีนในแผ่นดินใหญ่เป็นผู้นำ (ณัฐพล ขันธไชย. 2527 : 1) ซึ่งทั้งสองค่ายนี้ ต่างก็พยายามนำความเชื่อและอุดมการณ์ทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจมาเป็นหลักในการพัฒนาประเทศในระยะหลังสงคราม ประเทศต่าง ๆ ในยุโรป

เมื่อได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ได้ใช้อุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมาพัฒนาประเทศ โดยเน้นการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจจนประสบผลสำเร็จ สามารถฟื้นฟูประเทศได้อย่างรวดเร็วทั้งนี้เพราะประเทศเหล่านี้มีฐานความเจริญมาก่อนทั้งทางด้านอุตสาหกรรมอีกทั้งประชาชนได้รับการศึกษามาแล้วเป็นอย่างดีและมีคุณภาพจากการที่ประเทศในทวีปยุโรปสามารถพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็วโดยเน้นการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจทำให้เกิดความเชื่อว่า “ถ้าจะพัฒนาประเทศแล้ว ต้องพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ” (ก่อ สวัสดิพานิช. 2529 : 3)

ดังนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา เมื่อมีการกล่าวถึงการพัฒนาประเทศ ก็เป็นที่เข้าใจว่า หมายถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจจะต้องเร่งรัดให้มีการเพิ่มผลผลิตรวมของประเทศ เพื่อเป็นผลให้รายได้เฉลี่ยของบุคคลในประเทศสูงขึ้นทั้งนี้เพราะเชื่อว่าถ้าประชาชนในประเทศมีรายได้สูงขึ้นแล้วภาวะความยากจนของประเทศก็จะหมดไป แต่ความเข้าใจดังกล่าวนี้ยังไม่ถูกต้องนัก เพราะถึงแม้ผลผลิตรวมของประเทศสูงขึ้นและรายได้ของบุคคลภายในประเทศมีระดับสูง แต่การกระจายรายได้ยังไม่มีความเป็นธรรม คือ มีความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจระหว่างประชาชน ที่มีอาชีพด้านสาขาการเกษตร และประชาชนที่มีอาชีพนอกสาขาการเกษตรอยู่มากดังจะเห็นได้จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ระบุว่าประเทศไทยผลิตภัณฑ์ประชาชาติตั้งแต่ปี 2523 ถึงปี 2528 ของสาขาเกษตรกรรม

เห็นได้อย่างชัดเจนว่าประชาชนในอาชีพการเกษตรยังมีรายได้น้อยกว่าสาขาวิชาชีพ อื่นอยู่มาก แม้จะสิ้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 แล้ว การกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ นอกจากความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจแล้วประชาชนที่อยู่ในชนบทและอยู่ในเมืองยังมีความแตกต่างกันทางสังคมอีกด้วย

ดังนั้นถึงแม้ว่าผลผลิตรวมของประเทศจะเพิ่มขึ้น รายได้เฉลี่ยต่อบุคคลในประเทศสูงขึ้น แต่ประชาชนบางกลุ่มบางอาชีพยังไม่สามารถที่จะได้รับผลจากความเจริญเหล่านั้น เมื่อครั้งองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้สำรวจประชากรโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง พบว่า ประชากรที่ไม่รู้หนังสือมีอยู่ประมาณ 2,000 ล้านคน ซึ่งประชากรเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกาและเอเชีย การที่ประชากรไม่รู้หนังสือนี้ทำให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ เพราะผู้ไม่รู้หนังสือเหล่านี้ไม่สามารถที่จะพัฒนาอาชีพและเพิ่มผลผลิตได้มากเนื่องจากความไม่รู้

ซึ่งจะส่งผลไปถึงความยากจน ขาดอาหารอีกทั้งมีโรคภัยไข้เจ็บอีกด้วย ถ้าประเทศใดมีประชากรดังกล่าวเช่นนี้มากนับว่าประเทศนั้นยังด้อยพัฒนาอยู่ เพราะไม่สามารถพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจได้เต็มที่ (บุญทัน ฉลวยศรี. 2526 : 52) ดังนั้นประเทศที่เป็นผู้นำทั้งสองค่ายต่างก็พยายามให้ความช่วยเหลือประเทศที่มีความล้าหลังและด้อยพัฒนาในกลุ่มของตน ตามความเชื่อ อุดมการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ ประเทศที่ด้อยพัฒนาเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในแถบแอฟริกาและเอเชียหรือประเทศที่เคยเป็นอานานิคมของจักวรรดินิยมตะวันตกมาก่อน ก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนานี้ด้วย (ณัฐพล ขันธไชย. 2527 : 1) ประเทศไทยมีประชากรประมาณร้อยละ 81.8 ที่อาศัยอยู่ในชนบท (สำนักงานสถิติแห่งชาติ. 2526 : 7) และประมาณร้อยละ 90 มีอาชีพทางการเกษตร (สุเทพ เชาวลิต. 2526 : 6) ประชากรเหล่านี้มีความเป็นอยู่ที่ยากจนขาดแคลนอาหาร เจ็บป่วย ด้อยการศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยต่างก็ทราบดี และทุกรัฐบาลต่างก็พยายามที่จะพัฒนาชนบทเพื่อแก้ปัญหาที่ประชาชนในชนบทประสบอยู่ตลอดเวลา

ขอบคุณที่มา : kroobannok

นอกจากนี้คุณยังอาจต้องการ

ความเห็นถูกปิด

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี