มาดูความหมายของ จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) “ความสุขเราคืออะไร?”

สำหรับครูประถมแล้วนี้ อาจจะเป็นแนวทางในการสอนในเรื่องของความสุขนั้นคืออะไร เพื่อที่เด็กๆ จะได้รู้จักว่าความสุขเกิดจากตัวเรา และไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนด้วย แล้วความสุขที่แท้จริงมันคืออะไร ลองมาหาคำตอบกัน

ทฤษฎีเกี่ยวกับสุขภาวะ (Theories of well-being)

พัฒนาการด้านการมีสุขภาวะที่ดี (well-being) มีการพัฒนามาตั้งแต่สมัยยุคกรีกโบราณเพื่อตอบคำถามสำคัญว่า

คนเราเกิดมาทำไม?

แล้วอะไรคือความสุขของการมีชีวิตอยู่?

Advertisements

โดยนักจิตวิทยาสมัยใหม่ได้แบ่งแนวคิดทางปรัชญาเกี่ยวกับสุขภาวะออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

แนวคิดสุขภาวะแบบ เฮโดนิกส์ (hedonic well-being) หรือแนวคิดเกี่ยวกับสุขภาวะที่ให้ความสำคัญกับความพึงพอใจในชีวิต (life satisfaction)

แนวคิดเกี่ยวกับสุขภาวะแบบยูไดโนมิกส์ (eudainomic well-being) หรือแนวคิดเกี่ยวกับสุขภาวะที่ให้ความสำคัญกับความหมายและเป้าหมายในการดำรงชีวิต (meaning and purpose) (Deci & Ryan, 2008)

Lyubomirsky, Sledon, Schkade (2008 อ้างถึงใน The Hาappiness Hypothesis; Haidt, 2006; ภาษาไทย โตมร สุขปรีชา, 2019) ได้ทำการวิจัยและทบทวนปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อความสุข พบว่า มีปัจจัยภายนอกสองประเภทที่แตกต่างกันโดยพื้นฐาน ได้แก่ ปัจจัยแรก คือ ปัจจัยเงื่อนไขต่างๆในชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือต้องใช้เวลานานในการเปลี่ยนแปลง เช่น เชื้อชาติ เพศ อายุ ความพิการ และปัจจัยที่สองคือกิจกรรมที่ทำโดยสมัครใจ เช่น การนั่งสมาธิ การออกกำลังกาย การเรียนรู้ทักษะใหม่ การเข้าร่วมในกิจกรรมเชิงบวกต่างๆ (positive activities) โดยเรียกองค์ประกอบเหล่านี้ว่า

สูตรแห่งความสุข อันประกอบไปด้วย H = S + C + V

ระดับความสุขที่ประสบจริง คือ H เท่ากับ ค่าตั้งต้นทางชีววิทยา คือ S บวกกับ เงื่อนไขในชีวิต คือ C บวกกับ กิจกรรมที่ทำโดยสมัครใจ คือ V ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกับหลักคำสอนสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ อริยสัจ 4 ที่พระพุทธเจ้าได้อธิบายถึงความจริงอันประเสริฐ 4 ประการที่ทำให้ผู้คนเข้าถึงหรือกลายเป็นอริยะ อันประกอบไปด้วย ความจริงที่ว่าด้วยความทุกข์ (ทุกข์) ความจริงที่ว่าด้วยเหตุให้เกิดทุกข์ (สมุทัย) ความจริงที่ว่าด้วยความดับทุกข์ (นิโรธ) และความจริงที่ว่าด้วยทางแห่งความดับทุกข์ (มรรค) ซึ่งมีองค์ประกอบ 8 ประการ อันได้แก่

  1. สัมมาทิฐิ คือ การเห็นชอบ (Right View)
  2. สัมมาสังกัปปะ คือ การดำริชอบ (Right Thought)
  3. สัมมาวาจา คือ การเจรจาชอบ (Right Speech)
  4. สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติชอบ (Right Action)
  5. สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพชอบ (Right Livelihood)
  6. สัมมาวายามะ คือ การเพียรชอบ (Right Effort)
  7. สัมมาสติ คือ การตั้งสติชอบ (Right Mindfulness)
  8. สัมมาสมาธิ คือ การตั้งมั่นชอบ (Right Concentration) จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบของมรรคทั้ง 8 ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่สามารถทำได้โดยสมัครใจทั้งสิ้น

การทำงานเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะ ในมุมมองของจิตวิทยาเชิงบวก (Seligman, 2011) จึงได้มุ่งเน้นการทำงานไปกับสิ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดสุขภาวะ ว่าสิ่งเป็นที่ควรให้ความสำคัญจริง (real thing) มากกว่าการทำงานเพื่อเพิ่มระดับ ความพึงพอใจในชีวิต (life satisfaction) เป็นซึ่งผูกโยงกับเงื่อนไขในการดำรงชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงได้ยากและใช้เวลานาน อีกทั้งการทำงานเพื่อเสริมสร้างความรู้สึกและการจัดการภายในของผู้คนที่มีต่อสิ่งที่ประสบพบเจอ ซึ่งเป็นการให้ความสนใจ ให้ความสำคัญในการ

สร้างสิ่งที่ดีต่อชีวิตที่เหลืออยู่ แทนที่การซ่อมแซมที่หายไป อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้ผู้คนสามารถปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในการดำรงชีวิตในระยะยาวได้

ในปี 2011 หนังสือ เรื่อง ความเจริญงอกงาม (Flourish) ได้ถูกตีพิมพ์ โดย Seligman ได้รวบรวมความรู้และการวิจัยของเขาและนักวิชาการจากทั่วโลกที่ได้พยายามค้นหาคำตอบเกี่ยวกับองค์ประกอบของความเป็นอยู่ที่ดี Seligman ได้สังเคราะห์องค์ประกอบไว้ใน P.E.R.M.A. ซึ่งประกอบด้วยห้าองค์ประกอบ โดยคัดเลือกจากเกณฑ์ดังนี้ คือ เป็นองค์ประกอบของการก่อให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดี, เป็นสิ่งที่หลายๆคนต้องการผ่านเห็นคุณค่าในองค์ประกอบนั้นๆด้วยตัวเอง และแต่ละข้อให้ความหมายชัดเจนและสามารถวัดได้อย่างอิสระจากองค์ประกอบอื่น ๆ (Seligman 2011, หน้า 28) อันประกอบไปด้วย

P

องค์ประกอบแรกใน PERMA ส่วนใหญ่มาจากการวิจัยของ Barbara Fredrickson เรื่อง “อารมณ์เชิงบวก หรือ Positive Emotions” (2010,2013) แสดงให้เห็นว่าอารมณ์ในเชิงบวกเป็นสิ่งที่จำเป็นในการเป็นอยู่ที่ดี Fredrickson แสดง 10 อารมณ์เชิงบวกที่แตกต่างกัน ได้แก่ ความเบิกบานใจ ความรัก ความกตัญญู ความสงบ ความสนใจ ความภาคภูมิใจ ความกลัว ความหวัง แรงบันดาลใจ และความบันเทิง

E

องค์ประกอบที่สองใน PERMA คือ “ความรู้สึกมีส่วนร่วมในสิ่งที่ทำ (Engagement)” ในการวิจัย Mihaly Csikszentmihalyis ในเรื่อง ความสุขในการเรียนรู้หรือการทำงานแบบลืมวันเวลา (Flow) (2005,2011) เราเรียนรู้ที่ดีที่สุดเมื่อมีความสุขที่มีความรู้และทักษะของเราให้ตรงกับความท้าทายที่เราพบ นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมเป็นฐานใน Edward L. Deci และทฤษฎีกำกับตนเองของ Richard M. Ryan (1980,1985,2000) เกี่ยวกับการสร้างแรงจูงใจภายในผ่านการนำตนเอง (Autonomy) ความสามารถ (Competence) และความสัมพันธ์ (relatedness)

R

องค์ประกอบที่สามใน PERMA คือ “ความสัมพันธ์ที่ดี (Positive Relationships)” พัฒนามาจากงานวิจัยของ Christopher Peterson และSeligman เรื่องความสัมพันธ์ระยะยาวของเพื่อนและเพื่อนร่วมงาน Peterson เป็นที่รู้จักจากงานวิจัยเรื่อง “Other people matter” การวิจัยมุ่งเน้นในเรื่องมนุษย์เป็นสัตว์สังคมและความสำคัญของความสัมพันธ์ที่ดี นอกจากนี้องค์ประกอบนี้ได้รับการสนับสนุนโดย Roy Baumeiter และ Mark Leary (1995) ที่มีการวิจัยยืนยันสมมติฐานเรื่องความสัมพันธ์ระยะยาว

M

องค์ประกอบที่สี่ใน PERMA คือ “การรับรู้ถึงความหมายของชีวิต หรือสิ่งที่ทำ (Meaning)” ความหมายอยู่ในส่วนที่เกี่ยวกับการวิจัยของ George Vailant (Norrish 2015; Seligman 2011) ที่ระบุว่าความเป็นอยู่ที่ดีเป็นแรงผลักดันโดยการกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ได้มาจากความคิดของเรา ซึ่งมีความแตกต่างกันของการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ ความหมาย และการตัดสินใจและการกระทำ

A

องค์ประกอบที่ห้าใน PERMA คือ “การบรรลุถึงเป้าหมาย (Accomplishment)” ซึ่งมีฐานจากการวิจัยของ Senia Maimin ของ (Seligman 2011) เจาะลึกถึงวิธีการที่เรามุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จ ความสามารถ (performance) สิ่งที่ได้รับ (gain) และการเรียนรู้เพื่อประโยชน์ในชีวิต

ซึ่ง 4 องค์ประกอบแรก (P.E.R.M.) ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ ของทฤษฎี ส่วน การบรรลุถึงเป้าหมาย (Accomplishments) เป็นองค์ประกอบที่ประเมินในรูปแบบของ momentary form อันเกิดจากการให้ความหมายของตนเองต่อสิ่งที่เป็นความสำเร็จในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต


เรียบเรียงโดย: นายอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ 

ร่วมดัวย: นางสาววิภาพร อุ่นเจริญกุล แล นางสาวกัญจน์ณัฏฐ์ แซ่อึ้ง

ภาพประกอบโดย: นายดิเรกฤทธิ์ พิมพ์สอน

เอกสารอ้างอิง

Advertisements

Jonathan Haidt. (2019(2006)). The Happiness Hypothesis: Finding Modern Truth in Ancient Wisdom; วิทยาศาสตร์แห่งความสุข: สำรวจความสุขและความหมายของชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์. แปลไทยโดย โตมร ศุขปรีชา. กรุงเทพฯ: SALT Publishing Co., Ltd.

Fredrickson, B. (2010(2011)). Positivity: Groundbreaking Research to Release Your Inner Optimist and Thrive. London: Oneworld Publications.

Seligman, M. E. (2011). Flourish: A visionary new understanding of happiness and well-being. Australia: A William Heinemann book. Published by Random House Australia Pty Ltd.

พระพรหมคุณาภรณ์. (2542). หลักสูตรอารยชน. กรุงเทพฯ: วัดญาณเวศกวัน. พิมพ์ที่ เจริญมั่นคงการพิมพ์

และขอขอบคุณ lifeeducation.in.th

Comments are closed.