สาระน่ารู้

วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ตรงกับวันที่วันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี เป็นหนึ่งในวันสำคัญของคนไทย  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” พระองค์ทรงคำนวณการเกิด สุริยุปราคา ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411 ทรงได้เสด็จพระราชดำเนินชลมารคและสถลมารค ทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ที่ทรงคำนวณพยากรณ์ไว้ล่วงหน้า 2 ปี ว่าจะเกิดในวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230 โดยจะเห็นหมดดวงและชัดเจนที่สุด คือ ที่หมู่บ้านหัววาฬ ตำบลหว้ากอ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่บริเวณ เกาะจาน ขึ้นไปถึง ปราณบุรี และลงไปถึง จังหวัดชุมพร

จึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ไปสงค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับ มีคณะนักดาราศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และเซอร์แฮรี ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และร่วมในการสังเกตการณ์ และต่อมาได้มีการสร้าง “อุทยานวิทยาศาสตร์” ที่ อำเภอบ้านหว้ากอ โดย มติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2525 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอันเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”

วันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี ได้มีการจัดงานวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติขึ้นทั่วประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา โดยมีกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน เป็นหน่วยงานหลักในการจัดร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีทั้งภาครัฐและเอกชน ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 งานวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติได้รับการขยายให้เป็นงานใหญ่ขึ้น เป็นงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยจะมีการจัดงานในระหว่างวันที่ 18-24 สิงหาคม

ที่มาของชื่อ วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออุทยานนี้ว่า “อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์” และได้รับพระบรมราชานุญาติให้จัดสร้าง พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมรูปหล่อประทับนั่งบนพระเก้าอี้ฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารเรือ ชุดเดียวกับวันที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาบ้านหว้ากอ เพื่อเป็นการระลึกถึง วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

ที่มาของวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

เหตุการณ์ดังกล่าว เซอร์แฮรี ออด ได้ทำการบันทึกเหตุการณ์ไว้ และเมื่อ พ.ศ.2518 หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้ทำการแปลเป็นภาษาไทยในงานหว้ากอรำลึก ณ ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพมหานคร ว่า “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระสำราญมาก เพราะการคำนวณเวลาสุริยุปราคาของพระองค์ ได้พิสูจน์แล้วว่าถูกถ้วนที่สุด ถูกถ้วนยิ่งกว่าที่ชาวยุโรปได้คำนวณไว้”
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงรับเอาศิลปวิทยาการ และความคิดสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการปกครองประเทศ ด้วยเหตุนี้องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จึงได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณของพระองค์ให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้วยพระราชกรณียกิจและพระเกียรติคุณนานัปการ โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจด้านดาราศาสตร์
รัชกาลที่ 4 กับวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงสนพระทัยวิชาคณิตศาสตร์และวิชาดาราศาสตร์ในตำราโหราศาสตร์ของไทยในที่สุดพระองค์ทรงได้ค้นคิดวิธีการคำนวณปักข์ (ครึ่งเดือนทางจันทรคติ) เพื่อประโยชน์ในการกำหนดวันธรรมสวนะ (วันพระ) ให้ถูกต้องตามการโคจรของดวงจันทร์ที่เรียกว่า “ปฏิทินปักขคณนา” (ปักขคณนาคือวิธีนับปักข์หรือรอบครึ่งเดือนของข้างขึ้นข้างแรม เป็นวิธีนับที่แม่นยำสูง) และทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ทำปฏิทินจันทรคติพระทุกปี แทนปฏิทินฆราวาส ขณะเดียวกันพระองค์ได้ทรงค้นคิดสูตรสำเร็จในการคำนวณปักข์ออกมาในรูปกระดานไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า เพื่อจะได้วันพระที่ถูกต้องโดยไม่ต้องเสียเวลาคำนวณ และมีชื่อเรียกว่า “กระดานปักขคณนา” ซึ่งสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสาเหตุที่จุดประกายให้พระองค์ทรงเริ่มสนพระทัยในวิชาดาราศาสตร์อย่างจริงจัง และถือเป็นเหตุของที่มาของวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติอีกทางหนึ่ง

ความหมายของคำศัพท์ในวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

วิทยาศาสตร์ หมายถึง ความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆในธรรมชาติทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตรวมทั้งกระบวนการประมวลความรู้เชิงประจักษ์ที่เรียกว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์และกลุ่มขององค์ความรู้ที่ได้จากกระบวนการดังกล่าว
การศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์ยังถูกแบ่งย่อยออกเป็น วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และ วิทยาศาสตร์ประยุกต์คำว่า science ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่า วิทยาศาสตร์นั้น มาจากภาษาลาติน คำว่า scientia ซึ่งหมายความว่า ความรู้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ฟรานซิส เบคอนได้พยายามคิดค้นวิธีมาตรฐานในการอุปนัย เพื่อนำมาใช้สร้างทฤษฎีหรือกฎต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์จากข้อมูลที่ทดลองหรือสังเกตได้จากธรรมชาติ

วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

1. เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”
2. เพื่อเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ
3. เพื่อสนับสนุนให้กำลังใจและโอกาสแก่นักวิจัย นักประดิษฐ์ ได้แสดงผลงานต่อสาธารณชน
4. เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่าภาครัฐและเอกชนในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
5. เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศทางวิทยาศาสตร์ อันเป็นวิถีทางหนึ่งของการแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

Related Articles

Back to top button
QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี