สาระน่ารู้

ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Robert Darwin)

ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Robert Darwin)

ชาลส์ โรเบิร์ต ดาร์วิน เกิดที่เมืองชรูซบรี ชรอพเชอร์ ประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1809       ที่บ้านของตระกูล คือเดอะเมานท์ เขาเป็นบุตรคนที่ห้าในจำนวนทั้งหมด 6 คนของครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยและมีชื่อเสียงครอบครัวหนึ่งของอังกฤษ บิดาของดาร์วินเป็นนายแพทย์ชื่อว่า โรเบิร์ต วอริง ดาร์วิน มารดาชื่อ  ซูซานนา ดาร์วิน เขาเป็นหลานของเอรัสมัส ดาร์วิน กับ โจสิอาห์ เวดจ์วูด ทั้งสองตระกูลนี้ผู้เคร่งครัดที่เชื่อว่ามีพระเจ้าเพียงองค์เดียว แต่ตัวโรเบิร์ต ดาร์วิน นั้นเป็นคนหัวเสรี และให้ชาลส์บุตรชายไปรับศีลในโบสถ์ของนิกายแองกลิกัน แต่ชาลส์กับพี่น้องก็ไปเข้าโบสถ์ของยูนิทาริสต์กับมารดา เมื่อชาลส์อายุ 8 ขวบ ได้หลงใหลในประวัติศาสตร์ธรรมชาติและเริ่มสะสมสิ่งต่างๆ เมื่อเขาเข้าโรงเรียนเมื่อปี ค.ศ. 1817 มารดาของเขาเสียชีวิตเมื่อเดือนกรกฎาคมปีนั้น นับจากเดือนกันยายน ค.ศ.1818 เขาก็ไปอยู่ประจำที่โรงเรียนซรูซบรีอันเป็นโรงเรียนนิกายแองกลิกัน กับพี่ชายของตนคือ เอรัสมัส อัลวีย์ ดาร์วิน

ช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ.1825 ดาร์วินใช้เวลาเป็นผู้ช่วยแพทย์ฝึกหัด โดยช่วยบิดาของตนในการรักษาคนยากจนในชรอพเชอร์ ก่อนจะเข้าเรียนวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ พร้อมกับเอรัสมัสพี่ชาย ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1825 แต่ดาร์วินกลับเห็นชั่วโมงบรรยายเป็นสิ่งน่าเบื่อ ทั้งไม่ชอบการผ่าตัด จึงไม่เอาใจใส่การเรียนเขาเรียนวิธีสตาร์ฟสัตว์ตายจาก จอห์น เอ็ดมอนสโตน ทาสผิวดำที่ได้เป็นไทซึ่งร่วมงานอยู่กับชาลส์ วอเทอร์ทันในป่าดงดิบตอนใต้ของอเมริกา และมักจะนั่งคุยกับ “ชายผู้เฉลียวฉลาดและน่าคบหา” คนนี้อยู่เป็นประจำ

เมื่อขึ้นปีสอง ดาร์วินเข้าร่วมสมาคมพลิเนียน ซึ่งเป็นกลุ่มศึกษาด้านประวัติศาสตร์ธรรมชาติในมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ เขาช่วยเหลือโรเบิร์ต เอ็ดมอนด์ แกรนท์ ในการสำรวจศึกษาลักษณะทางกายภาพและวงจรชีวิตของสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลังในเฟิร์ธออฟฟอร์ธ วันที่ 27 มีนาคม ค.ศ.1827 เขานำเสนอการค้นพบของตนต่อสมาคมพลิเนียนว่า จุดสีดำที่พบในเปลือกหอยนางรมนั้นเป็นไข่ของปลิง วันหนึ่ง แกรนท์ยกย่องแนวคิดเรื่องวิวัฒนาการของ ชอง-แบบติสต์ ลามาร์ค ดาร์วินถึงกับตะลึง แต่ก่อนหน้านั้นเขาเคยอ่านแนวคิดคล้ายคลึงกันนี้จากเอรัสมัสผู้เป็นปู่ และเห็นว่ามันไม่ต่างกัน ดาร์วินค่อนข้างเบื่อหน่ายกับวิชาประวัติศาสตร์ธรรมชาติของโรเบิร์ต เจมสัน ซึ่งวุ่นวายกับธรณีวิทยา รวมถึงการโต้แย้งกันระหว่างทฤษฎีการเกิดของน้ำกับทฤษฎีการเกิดพลูตอน เขาได้เรียนรู้การจัดอันดับของพืช และได้ช่วยงานด้านการเก็บรักษาในรอยัลมิวเซียม ซึ่งเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปในเวลานั้น

การไม่เอาใจใส่การเรียนแพทย์เช่นนี้ทำให้บิดาของเขาไม่พอใจ ภายหลังจึงส่งเขาไปยังวิทยาลัยไครสต์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เพื่อศึกษาในคณะอักษรศาสตร์สำหรับการเตรียมตัวเข้าบวชในนิกายแองกลิกัน   ดาร์วินสอบไทรพอส ไม่ผ่าน จึงสำเร็จการศึกษามาด้วยปริญญาระดับปกติ เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ.1828
ดาร์วินชอบท่องเที่ยวและกีฬายิงปืนมากกว่าการเล่าเรียน ญาติคนหนึ่งของเขาคือ วิลเลียม ดาร์วิน ฟ็อกซ์ จึงแนะนำให้เขาไปเข้าร่วมชมรมสะสมแมลงเต่าทอง ซึ่งดาร์วินตั้งหน้าตั้งตาร่วมกิจกรรมอย่างกระตือรือร้น
จนงานค้นพบของเขาได้รับการตีพิมพ์ใน Illustrations of British entomology ของเจมส์ ฟรังซิส สตีเฟน
ดาร์วินกลายเป็นเพื่อนสนิทและผู้ติดตามของศาสตราจารย์ด้านพฤกษศาสตร์ จอห์น สตีเฟน เฮนสโลว์ และได้พบปะกับนักธรรมชาติวิทยาชั้นแนวหน้าหลายคน จนกระทั่งใกล้ถึงการสอบปลายภาค ดาร์วินจึงหันมาสนใจการเรียนแล้วมาชื่นชอบงานเขียนของวิลเลียม พาลีย์ ดาร์วินทำคะแนนได้ดีในการสอบไล่ครั้งสุดท้ายในเดือนมกราคม ค.ศ.1831 โดยได้ลำดับที่ 10 จาก 178 คนที่อยู่ในหลักสูตรปริญญาปกติ

ดาร์วินยังต้องอยู่เคมบริดจ์จนกระทั่งเดือนมิถุนายน เขาศึกษางานของพาลีย์ เรื่อง Natural Theology ซึ่งทำให้เกิดข้อโต้แย้งเรื่องการออกแบบธรรมชาติจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยอธิบายถึงการปรับตัวของธรรมชาติว่าเป็นการกระทำของพระผู้เป็นเจ้าโดยผ่านกฎของธรรมชาติ เขาอ่านหนังสือใหม่ของจอห์น เฮอร์เชล ซึ่งอธิบายจุดประสงค์สูงสุดของปรัชญาทางธรรมชาติด้วยการทำความเข้าใจกับกฎเกณฑ์เหล่านั้นผ่านการให้เหตุผลโดยอุปนัยโดยมีพื้นฐานจากการสังเกต และงานเขียนของอเล็กซานเดอร์ ฟอน ฮัมโบลท์ เรื่อง Personal Narrative เกี่ยวกับการเดินทางของวิทยาศาสตร์ ด้วยแรงบันดาลใจจากภายใน ดาร์วินวางแผนจะไปเยือนเตเนรีเฟกับเพื่อนร่วมชั้นหลังจากจบการศึกษา เพื่อไปศึกษาประวัติศาสตร์ธรรมชาติในบริเวณภูมิภาคนั้น ระหว่างเตรียมการ เขาเข้าเรียนหลักสูตรธรณีวิทยาของอดัม เซดจ์วิค จากนั้นใช้เวลาครึ่งเดือนในช่วงฤดูร้อนเพื่อทำแผนที่ในเวลส์ และอีก 1 สัปดาห์กับเพื่อนนักเรียนในบาร์มอธ หลังจากนั้นเมื่อเขากลับมาบ้าน จึงได้รับจดหมายฉบับหนึ่งจากเฮนสโลว์เสนอให้ดาร์วินเป็นนักธรรมชาติวิทยา (แม้ยังเรียนไม่จบ) โดยใช้ทุนวิจัยของตนเอง ร่วมกับกัปตันโรเบิร์ต ฟิตซ์รอย ในการเดินทางร่วมกับเรือหลวงบีเกิลที่กำลังจะออกเดินทางไปยังชายฝั่งอเมริกาใต้ภายในเวลา 4 สัปดาห์ บิดาของเขาไม่เห็นด้วยกับการต้องออกเดินทางไปถึง 2 ปี ด้วยเห็นว่าเป็นการเสียเวลาเปล่า แต่จากการเกลี้ยกล่อมของ โจซิอาห์ เวดจ์วูด ผู้เป็นน้องเขย จึงได้ยินยอมให้ดาร์วินร่วมเดินทางได้

ดาร์วินเสียชีวิตในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ.1882 ศพของเขาถูกฝังอยู่ที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ ผลงานหนังสือที่ตีพิมพ์ของดาร์วินเป็นผลงานที่มีประโยชน์อย่างมากทั้งทางชีววิทยา และมานุษยวิทยา โดยเฉพาะทฤษฎีวิวัฒนาการถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในวงการชีววิทยา

การเดินทางกับเรือบีเกิล

การเดินทางเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1831 และใช้เวลาเดินทางรวมทั้งสิ้น 5 ปี ขณะที่เรือหลวงบีเกิลทำการสำรวจและทำแผนที่ชายฝั่งอเมริกาใต้นั้น ดาร์วินใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนฝั่งเพื่อสำรวจด้านธรณีวิทยาและเก็บสะสมตัวอย่างสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ สมดังที่ที่ฟิตซ์รอยตั้งใจไว้ เขาเขียนบันทึกผลการสังเกตการณ์และการคาดเดาทางทฤษฎีอย่างละเอียด ระหว่างช่วงหยุดพัก ดาร์วินส่งของตัวอย่างกลับไปยังเคมบริดจ์ พร้อมกับจดหมายซึ่งมีสำเนาบันทึกงานเขียน การเดินทางของบีเกิล (The Voyage of the Beagle) ไปให้ครอบครัวด้วย ดาร์วินค่อนข้างเชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา รวมถึงการสะสมเต่าทอง และการผ่าตัดศึกษาสัตว์ทะเล แต่ในสาขาอื่นๆ แล้วเขาแทบไม่รู้อะไรเลย และเก็บตัวอย่างเอาไว้เพื่อส่งต่อไปให้ผู้เชี่ยวชาญอื่นตรวจสอบ
ดาร์วินเมาคลื่นมาก แต่กระนั้นก็ยังเขียนหนังสือมากมายขณะอยู่ในเรือ งานเขียนเชิงสัตววิทยาส่วนใหญ่เกี่ยวกับสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง เริ่มจากแพลงตอนซึ่งเก็บได้ระหว่างช่วงทะเลสงบ

เมื่อเรือหยุดพักครั้งแรกที่ St. Jago ดาร์วินพบว่าแถบสีขาวที่อยู่ด้านบนหินภูเขาไฟนั้นมีเปลือกหอยอยู่ด้วย ฟิตซ์รอยมอบหนังสือเล่มแรกในชุด Principles of Geology ของ Charles Lyell ให้เขาเพื่อศึกษาแนวคิดหลักความเป็นเอกภาพของผืนดินที่ค่อยๆ ดันตัวขึ้นหรือถล่มลงหลังจากเวลาผ่านไปนานๆ ดาร์วินเห็นเช่นเดียวกับ Lyell และได้เริ่มทฤษฎีและคิดจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับธรณีวิทยา ดาร์วินดีใจมากที่พบป่าเขตร้อนที่บราซิล แต่ก็ไม่ชอบใจที่พบเห็นการใช้งานทาสที่นั่น

ที่ Punta Alta ใน Patagonia เขาได้ค้นพบครั้งใหญ่คือกระดูกฟอสซิลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สูญพันธุ์ไปแล้วในหุบเขา ข้างกันกับเปลือกหอยใหม่ๆ ซึ่งบ่งชี้ว่าเป็นการสูญพันธุ์เมื่อไม่นานมานี้โดยที่ไม่มีร่องรอยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศหรือหายนะภัยใดๆ เลย เขาแยกแยะว่าซากนั้นคือ Megatherium โดยดูจากฟันและความสัมพันธ์ของโครงกระดูกซึ่งในตอนแรกเขาคิดว่าดูเหมือน armadillo ในท้องถิ่นที่มีขนาดยักษ์ การค้นพบนี้กลายเป็นจุดสนใจอย่างมากเมื่อพวกเขากลับไปยังอังกฤษ ขณะขี่ม้าไปกับพวกกอโช(gaucho) สู่ด้านในแผ่นดินเพื่อสำรวจทางธรณีวิทยาและเก็บรวบรวมฟอสซิลเพิ่มขึ้น เขาได้รับมุมมองด้านสังคม การเมือง และมานุษยวิทยา ในหมู่ชนพื้นเมืองกับชาวอาณานิคมในยุคของการปฏิวัติ และได้เรียนรู้ว่านก rhea สองชนิดนั้นอยู่แยกกันแต่มีอาณาเขตที่คาบเกี่ยวกัน ยิ่งสำรวจไกลลงไปทางใต้ เขาแลเห็นที่ราบลดหลั่นกันเป็นชั้น เต็มไปด้วยกรวดและเปลือกหอยเหมือนกับชายหาดที่ยกตัวขึ้นมา เขาอ่านหนังสือเล่มที่ 2 ของ Lyell และยอมรับมุมมองว่าด้วย “ศูนย์กลางการสร้างสรรค์” ของสปีชีส์ แต่การค้นพบของเขากับทฤษฎีที่คิดขึ้นมานั้นท้าทายต่อแนวคิดของ Lyell ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องราบรื่น กับการสูญพันธุ์ของบางสปีชีส์

 

การริเริ่มทฤษฎีวิวัฒนาการ

ทฤษฎีวิวัฒนาการ คือแนวคิดของนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามจะอธิบายว่าวิวัฒนาการมีจริงและเกิดขึ้น ได้อย่างไรโดยอาศัยหลักฐานทางด้านต่างๆประกอบและยืนยันแนวโน้มของวิวัฒนาการมีดังนี้

  1. เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไปข้างหน้าไม่ย้อนกลับ มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงจากแบบ ง่าย ๆ เป็นซับซ้อนจากแบบโบราณเป็นแบบก้าวหน้าและจากแบบทั่วไปเป็นแบบจำเพาะเจาะจงเช่น การลดจำนวนของกระดูก ก้นกบหรือการเชื่อมของ กลีบดอกเป็นต้น
  2. ลักษณะทางพันธุกรรมที่ไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมจะถูกกำจัด หรือสูญหายไป

ทฤษฎีวิวัฒนาการของนักวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ ๆ ได้แก่

  1. ทฤษฏีของลามาร์ค (Jean Lamarck)
  2. ทฤษฎีของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ( Charles Darwin)
  3. ทฤษฏีของดาร์วิน และ วอลเลช (Alfred Russel Wallace)

 

Related Articles

Back to top button
QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี