หายสงสัยสักที! ว.PA จะประกาศใช้ พ.ค.2564 จะทำให้ผู้ที่เกิดสิทธิ์ ว.17, ว.21 มาก่อน เสียสิทธิ์หรือไม่

วันนี้ ครูประถม.คอม ข่าวการศึกษา ได้นำรายละเอียดที่หลายคนสงสัยมาฝากกัน เพราะจะมีการประกาศใช้ PA ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึง ทำให้หลายคนสงสัยว่า ว.PA จะประกาศใช้ พ.ค.2564 จะทำให้ผู้ที่เกิดสิทธิ์ ว.17, ว.21 มาก่อน เสียสิทธิ์หรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบค่า

ตามมติที่ประชุม ก.ค.ศ. เมื่อ 25 มกราคม 2564 เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามข้อตกลงพัฒนางาน (PA) ใหม่ ที่เลขาธิการ ก.ค.ศ. รองศาสตราจารย์ ดร.ประวิต  เอราวรรณ์ ได้แจ้งว่า “จะประกาศใช้ ว.PA ในเดือนพฤษภาคม 2564 และมีเวลากำหนดยื่น PA ต่อผู้อำนวยการโรงเรียน ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564” และในเวลาต่อมามีแผ่นภาพเผยแพร่ โดย เพจ สำนักงาน ก.ค.ศ. ดังนี้

ภาพประกอบ 1 รอบปีงบประมาณในการพัฒนางานตามข้อตกลงแบบ PA   (ที่มา : INFO  สนง.ก.ค.ศ. https://otepc.go.th/th/content_page/item/3265-pa.html)

คำถามสำคัญ คือ เมื่อ ว.PA จะประกาศใช้ พ.ค.2564 จะทำให้ผู้ที่เกิดสิทธิ์ ว.17, ว.21 มาก่อน แต่ยังไม่ครบกำหนดยื่นคำขอ จะต้องเริ่มต้นนับ 1 ใหม่ กับ ว.PA-64 และนับไปอีก 4 ปีหรือไม่

ผู้เขียนพยายามประมวลข้อมูลความรู้ทั้งในแง่ข้อกฎหมาย และหลักวิชาการ เพื่ออธิบายความจากฐานข้อมูลของก.ค.ศ.ที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มพรมแดนความรู้ความเข้าใจให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ความชัดเจนใดๆ จำเป็นต้องรอคู่มือคำอธิบายประกอบหลักเกณฑ์ฯ ข้างต้นจากก.ค.ศ.ต่อไป

ภาพประกอบ 2 แสดงระยะเวลาสิ้นสุดของหลักเกณฑ์เดิมต่อเนื่องหลักเกณฑ์ใหม่

จากแผนภาพเปรียบเทียบนี้ แปลความว่า 1) การประเมินเพื่อพิจารณาเลื่อนเงินเดือน 2) การประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ ตามมาตรา 55  หรือ 3) การประเมินเพื่อขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามเกณฑ์ ว.17 หรือ ว.21 ก็จะปรับเข้าสู่หลักเกณฑ์ใหม่ ภายใน 1 ตุลาคม 2564 แต่สำหรับผู้ที่เกิดสิทธิ์วิทยฐานะตามเกณฑ์ ว.17 หรือ ว.21 มาก่อนประกาศใช้หลักเกณฑ์ใหม่นี้ มีเวลา 1 ปี สามารถยื่นคำขอตามหลักเกณฑ์เดิมได้ ภายใน 30 กันยายน 2565

หากมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์เดิม แต่หากอายุการครองวิทยฐานะเดิมครบไม่ทันภายใน 30 กันยายน 2565 จำเป็นต้องเข้าสู่หลักเกณฑ์ใหม่ต่อเนื่องไป ตามคำกล่าวของเลขาธิการ ก.ค.ศ. ว่า “สำหรับสายผู้สอน ที่ใช้เกณฑ์การประเมินวิทยฐานะ (ว 21) การนับระยะเวลาจะไม่เสียไป จะสามารถนับต่อได้และจะมีผลดี คือเมื่อครบเวลา 4 ปี จะมีสิทธิในการยื่นวิทยฐานะ” (ที่มา:เลขา.ก.ค.ศ.) ดังตัวอย่างแผนภาพนี้

ภาพประกอบ 3 แสดงการนับเวลาต่อเนื่องหลักเกณฑ์เดิมกับหลักเกณฑ์ใหม่  (ที่มา : INFO  สนง.ก.ค.ศ. https://otepc.go.th/th/content_page/item/3265-pa.html)

กรณีตัวอย่างที่ 1 บรรจุ 1 เมษายน 2558  จะครบ 6 ปี (กรณีจบปริญญาโท) ในวันที่ 1 เมษายน 2564 สามารถยื่นขอตามเกณฑ์ ว.17 ได้ หากจบปริญญาตรี จะครบเมื่อ 1 เมษายน 2566 (8 ปี) ซึ่งไม่ทัน แต่กรณีที่ 1 นี้ สามารถเลือกช่องทางการยื่นคำขอและเลื่อนตามหลักเกณฑ์ ว.21 แบบเปลี่ยนผ่าน ได้ เนื่องจากได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งครู (คศ.1) เมื่อ 1 เมษายน 2560 ก่อนประกาศใช้หลักเกณฑ์ ว.21 ใน 5 กรกฎาคม 2560 ถ้าหากเก็บสะสมคุณสมบัติ 5 ข้อ ตั้งแต่ปี 2560-2561, 2561-2562, 2562-2563, 2563-2564, 2564-2565 จะครบ 5 ปี ในวันที่ 1 เมษายน 2565 จะยื่นแบบ ว.21 ก่อน 30 กันยายน 2565 ได้ทัน

 

กรณีตัวอย่างที่ 2 บรรจุ 1 เมษายน 2559  จะครบ 6 ปี (กรณีจบปริญญาโท) ในวันที่ 1 เมษายน 2565 สามารถยื่นขอตามเกณฑ์ ว.17 ได้ทัน หากจบปริญญาตรี ยื่นเกณฑ์ ว.17 ไม่ทัน และเนื่องจากได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งครู (คศ.1) 1 เมษายน 2561 ถ้าหากเก็บสะสมคุณสมบัติ 5 ข้อ ตามเกณฑ์ ว.21 ตั้งแต่ปี 2561-2562, 2562-2563, 2563-2564, 2564-2565, 2565-2566 จะครบ 5 ปี ในวันที่  1 เมษายน 2566 ก็จะยื่นแบบ ว.21 ก่อน 30 กันยายน 2565 ไม่ทัน

 

กรณีตัวอย่างที่ 3 บรรจุ 1 เมษายน 2560  จะครบ 6 ปี (กรณีจบปริญญาโท) ในวันที่ 1 เมษายน 2566 ไม่สามารถยื่นขอตามเกณฑ์ ว.17 ได้ และเนื่องจากได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งครู (คศ.1) 1 เมษายน 2562 ถ้าหากเก็บสะสมคุณสมบัติ 5 ข้อ ตามเกณฑ์ ว.21 ตั้งแต่ปี 2562-2563, 2563-2564, 2564-2565, 2565-2566 จะครบ 5 ปี ในวันที่  1 เมษายน 2567 ก็ยื่นแบบ ว.21 ก่อน 30 กันยายน 2565 ไม่ทัน

ภาพประกอบ 4 แสดงการนับเวลาหลักเกณฑ์ ว.17

เมื่อไม่สามารถยื่นตามเกณฑ์เดิมทั้งแบบ ว.17 หรือ ว.21 ได้ทันในวันที่ 30 กันยายน 2565 เลขาธิการ ก.ค.ศ. มีคำอธิบายว่า“สำหรับสายผู้สอน ที่ใช้เกณฑ์การประเมินวิทยฐานะ (ว 21) การนับระยะเวลาจะไม่เสียไป จะสามารถนับต่อได้และจะมีผลดี คือเมื่อครบเวลา 4 ปี จะมีสิทธิในการยื่นวิทยฐานะ (ที่มา:เลขา.ก.ค.ศ.)”

ภาพประกอบ 5 ตารางการนับเวลาต่อเนื่องหลักเกณฑ์ ว.17 กับหลักเกณฑ์ใหม่

จากภาพในตาราง กรณีที่อายุไม่ครบ 6 ปี หรือ 8 ปี ตามเกณฑ์ ว.17 ก็เริ่มเข้าสู่เกณฑ์ ว.PA ในรอบปีที่ 1 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564-30 กันยายน 2565 และหรือ ปีที่ 2 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565-30 กันยายน 2566 โดยเป็นการนำผลงานเกณฑ์ ว.17 เดิม จำนวน 2 ปีการศึกษา มานับต่อเนื่องกับผลการประเมิน PA ได้ จำนวน 1 ปี หรือ 2 ปี ขึ้นกับปีที่บรรจุ ดังตารางตัวอย่าง มีผลดีคือ ลดระยะเวลากว่าหลักเกณฑ์เดิมด้วย

สำหรับผู้ที่เกิดสิทธิ์ ว.21 ในช่วงก่อน 30 กันยายน 2560 ซึ่งเริ่มประกาศใช้ 5 กรกฎาคม 2560 ถ้าหากเก็บสะสมคุณสมบัติ 5 ข้อ ตั้งแต่ปี 2560-2561, 2561-2562, 2562-2563, 2563-2564, 2564-2565 จะครบ 5 ปี ก่อน 30 กันยายน 2565 ก็สามารถยื่นแบบ ว.21 ได้ ดังแผนภาพ

แต่คุณสมบัติ ข้อ 4 จำนวนชั่วโมงการพัฒนาตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ใน ว.22/60 ไม่สามารถยืดระยะเวลาได้ถึง 30 กันยายน 2565 ด้วยเหตุว่า หลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนารับรองในปีงบประมาณ 2562 สามารถจัดอบรมได้ ระหว่างวันที่ 13 สิงหาคม 2562-13 สิงหาคม 2564 เท่านั้น ดังภาพ

ภาพประกอบ 7 หนังสือระบุระยะเวลารับรองหลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนาอนุมัติ

ดังนั้น หากครูเก็บสะสมชั่วโมงอบรมจากหลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนารับรองในวันสุดท้าย คือ 13 สิงหาคม 2564 ก็จะนับไปถึง 13 สิงหาคม 2565 เท่านั้น เพราะวิธีการตรวจนับคุณสมบัติข้อ 4 กำหนดให้นับย้อนหลังจากวันยื่นคำขอ แปลว่า ปีที่ 5 เป็นช่วง 13 สิงหาคม 2565-12 สิงหาคม 2564, ปีที่ 4 เป็นช่วง 13 สิงหาคม 2564-12 สิงหาคม 2563, ปีที่ 3 เป็นช่วง 13 สิงหาคม 2563-12 สิงหาคม 2562, ปีที่ 2 เป็นช่วง 13 สิงหาคม 2562-12 สิงหาคม 2561, ปีที่ 1 เป็นช่วง 13 สิงหาคม 2561-12 สิงหาคม 2560, ฉะนั้น วันสุดท้ายของการยื่นคำขอแบบ ว.21 จึงเป็นวันที่ 13 สิงหาคม 2565 มิใช่ วันที่ 30 กันยายน 2565 ดังที่ ก.ค.ศ. สื่อสารให้ครูเข้าใจ

ภาพประกอบ 8 ตารางการนับเวลาต่อเนื่องหลักเกณฑ์ ว.21 กับหลักเกณฑ์ใหม่

จากแผนภาพนี้ แสดงว่าผู้ที่จะยื่นคำขอแบบว.21 ได้ คือครองวิทยฐานะ ในปี 2560 และจะต้องสะสมคุณสมบัติ 5 ข้อ ในปีการศึกษา 2560 เป็นต้นมา นอกเหนือจากนั้น จะเข้าเกณฑ์กรณีเงื่อนไข อายุเกณฑ์เดิม + อายุเกณฑ์ใหม่

Advertisements

หลักเกณฑ์ใหม่ กำหนให้ผู้ที่จะขอมีและเลื่อนวิทยฐานะให้สูงขึ้นได้ จะต้องมีผลการประเมินตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) ทุกรอบปีงบประมาณ (1 ตุลาคม – 30 กันยายน) จำนวน 4 รอบ ผ่านการประเมินตามเกณฑ์ (ร้อยละ 70 ขึ้นไป) จึงจะมีคุณสมบัติในการยื่นคำขอฯ ได้

ในกรณีที่ได้สะสมเวลามาระยะหนึ่งแต่ไม่ครบอายุตามเกณฑ์เดิม ทั้งกรณี ว.17 หรือ ว.21 ก็จะนับต่อเนื่องกับหลักเกณฑ์ใหม่ (วPA) ร่วมด้วย ดังแผนภาพตารางข้างต้น ส่วนรายละเอียดแนวปฏิบัติจะปรากฎตามคู่มือการประเมินหลักเกณฑ์ใหม่ ที่ ก.ค.ศ. จะออกมาเผยแพร่ในโอกาสต่อไป เพียงแต่ประเด็นที่วิเคราะห์และนำเสนอนี้ เป็นผลการศึกษาจากแผนภาพตัวอย่างของ ก.ค.ศ. เท่าที่เผยแพร่ออกมาเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สมมติฐานเบื้องต้นในการออกหลักเกณฑ์ใดๆ ก็ตาม ผู้มีอำนาจในการออกหลักเกณฑ์ก็จะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้านพอสมควร และจะต้องแก้ไขข้อบกพร่องของหลักเกณฑ์เดิมๆ ให้ได้ การจะบรรลุเจตนารมณ์ของหลักเกณฑ์ใดๆ มิใช่ขึ้นอยู่กับว่าหลักเกณฑ์นั้นๆ มีความเป็นธรรม เหมาะสมเพียงใด แต่การขับเคลื่อนการนำหลักเกณฑ์สู่การปฏิบัติของหน่วยงานทางการบริหาร ก็เป็นปัจจัยสำคัญไม่น้อย ถึงเวลานี้ ประเทศไทยผ่านการใช้หลักเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับการเลื่อนวิทยฐานะของครูมายาวนาน ก็เชื่อได้ว่า ผู้มีอำนาจได้คำนึงถึงบทเรียนต่างๆ ที่ผ่านมาอย่างครบถ้วน

หลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ (วPA) เป็นไปตามหลักปฏิบัติราชการที่ดีทางปกครองหรือไม่

เมื่อ ก.ค.ศ. เป็นองค์กรกลางในการบริหารงานบุคคล ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ซึ่งได้ให้อำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการต่างๆ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจไว้ การจะกำหนดหลักเกณฑ์ใดๆ ก็ตาม จะต้องคำนึงถึงหลักปฏิบัติราชการที่ดีทางปกครอง ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังเช่น

พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 “มาตรา ๕ ในพระราชบัญญัตินี้

“วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง” หมายความว่า การเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง หรือ กฎ และรวมถึงการดำเนินการใดๆในทางปกครองตามพระราชบัญญัตินี้

“กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวงข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ”

แปลความว่า หลักเกณฑ์และวิธีการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) พ.ศ. 2564 ที่ ก.ค.ศ. กำหนดนี้ มีสภาพเป็น “กฎ” ตามกฎหมายปกครองในมาตรา 5 ซึ่งทำให้การบังคับใช้ตามหลักเกณฑ์นี้ เป็นการเตรียมการทางปกครอง เพื่อจัดให้มี “คำสั่งทางปกครอง” นั่นเอง โดยมีสภาพบังคับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการตามหลักปฏิบัติราชการที่ดีดังความที่บัญญัติในพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 “ (1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของ รัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือ การกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือ มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

แปลความง่ายๆว่า หลักเกณฑ์ ว.PA นี้ จะต้องไม่ไปจำกัดสิทธิ์ เปลี่ยนแปลงสิทธิ์ หรือทำให้เสียสิทธิ์ที่มีอยู่เดิมได้ หากผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อน หรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้น การกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือมีข้อโต้แย้ง ตามหลักเกณฑ์ฯ นี้ สามารถฟ้องร้องเป็นคดีปกครอง ตามมาตรา 42 ได้

อีกทั้ง ในการออกกฎหมายใดๆ ก็ตาม จำเป็นต้องคำนึงถึงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 ดังความบางส่วนว่า “รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น…. ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟัง ความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟัง ความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน….”

แม้ว่า บทบัญญัติในมาตรา 77 นี้ จะใช้กับกรณีออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ก็ตาม แต่หลักเกณฑ์และวิธีการที่ก.ค.ศ.กำหนด ก็มีสภาพเป็น “กฎ” หรือกฎหมายภายในที่จะต้องคำนึงถึงเช่นกัน

 

เอกสารอ้างอิง
คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, สำนักงาน. (2564). INFO การประเมินวิทยฐานะครู ช่วงเปลี่ยนผ่านจากเกณฑ์เก่าสู่ระบบ PA.https://otepc.go.th/th/content_page/item/3265-pa.html

ประวิต เอราวรรณ์, รศ.ดร. วิทยฐานะครูตามหลักเกณฑ์ใหม่. คลิปบรรยาย เผยแพร่ทางโซเซียลมีเดีย.ราชกิจจานุเบกษา. (2547). พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547.เล่ม 121/ตอนพิเศษ 79 ก/หน้า 22/23/23 ธันวาคม 2547.

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113/ตอนที่ 60 ก/หน้า 1/14 พฤศจิกายน 2539. “พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116/ตอนที่ 94 ก/หน้า 1/10 ตุลาคม 2542. พระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542.

Advertisements

ประวัติ ผู้เขียนบทความ – ดร.รัชศักดิ์ แก้วมาลา

ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรี (การประถม) มข., ปริญญาตรี (นิติศาสตร์), ปริญญาโท (การวิจัยและประเมินผลการศึกษา), ปริญญาเอก (ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค)

 ประสบการณ์วิทยากร ด้านวิทยฐานะ 2538-40 (อ.2/7), 2540-47 (อ.3/8) 2547-50 (คศ.3เชิงประจักษ์), 2550-53 (คศ.3 ว.17), 2554-55 (คศ.3-4 ก่อนแต่งตั้ง) 2556-57 (เยียวยาคศ.4/ว.17), 2558  (ว.7/58 ว.PA), 2560-2563 (ว.21/ว.23 ทั่วประเทศ)  2564 -ว.PA64 (ทั่วประเทศ)

ประธานหลักสูตรอบรมครูที่สถาบันคุรุพัฒนาอนุมัติ 73 หลักสูตร ปี 2561-2564 ทั้งพบปะ + ออนไลน์ หน่วยพัฒนา หจก.เพื่อครู

ขอขอบคุณที่มา : เมื่อ ว.PA จะประกาศใช้ พ.ค.2564 จะทำให้ผู้ที่เกิดสิทธิ์ ว.17, ว.21 มาก่อน เสียสิทธิ์หรือไม่ อย่างไร จาก ดร.รัชศักดิ์ แก้วมาลา เป็นอย่างสูงค่ะ

เกณฑ์PA,วิทยฐานะครู,วิทยฐานะ PA, PA, ว.21,ว.17, กคศ, เปลี่ยนวิทยฐานะครู , วิทยฐานะ, วิทยฐานะครูใหม่  วิทยฐานะเกณฑ์ใหม่ ,หลักเกณฑ์ PA

Comments are closed.