ครบรอบ 129 ปี ศธ.! รู้จักกับโครงสร้างและภารกิจปัจจุบันของหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัด

วันนี้ ครูประถม.คอม ข่าวการศึกษาได้นำเรื่องราวเพื่อช่วยให้รู้จักกับโครงสร้างและภารกิจปัจจุบันของหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดมาฝากกัน ซึ่งเป็นเร่องราวที่นำมาฝากเพราะครบรอบ 129 ปี ศธ. นั่นเองค่า สามารถอ่านเรื่องราวได้ก้านล่างเลยนะคะ

1 เมษายน 2564 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ครบรอบ 129 ปี มาทำความรู้จักกับโครงสร้างและภารกิจปัจจุบันของหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัด

กระทรวงศึกษาธิการ เดิมมีชื่อว่า “กระทรวงธรรมการ” ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2435 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทำการกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบันตั้งอยู่ที่วังจันทรเกษม ถนนราชดำเนินนอก จากอดีตจนถึงวันนี้ กระทรวงศึกษาธิการ มุ่งมั่นพัฒนาการจัดการการศึกษาของประเทศ ทุกระดับ ทุกประเภท เพื่อให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ให้เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

โครงสร้างการบริหารจัดการ

4 องค์กรหลัก

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.)  ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย พัฒนาระบบบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา การบริหารจัดการและปฏิบัติงานของหน่วยงานส่วนกลางและภูมิภาค มี 3 หน่วยงานหลักในสังกัด คือ

  • สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) มีภารกิจรับผิดชอบระบบบริหารงานบุคคล ออกกฎ ก.ค.ศ. ระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์ วิธีการต่างๆ สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
  • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จัดการศึกษาเอกชนของประเทศ การดำเนินงานเกี่ยวกับกองทุน การจัดสรรเงินอุดหนุนการศึกษาเอกชน
  • สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานการจัดการศึกษา กศน. ภาคีเครือข่าย การใช้ประโยชน์จากเครือข่าย ICT ด้วยสถานีโทรทัศน์และวิทยุเพื่อการศึกษา วิทยุชุมชน และแหล่งการเรียนรู้อื่น

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)  เป็นองค์กรหลักในการเสนอนโยบาย แผน มาตรฐานการศึกษาของชาติ ทรัพยากรเพื่อการศึกษา และการประเมินผล การจัดการศึกษา

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  เป็นองค์กรหลักจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ ให้ประชากรวัยเรียนทุกคนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม คุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)  เป็นองค์กรหลักในการจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษาของประเทศ และการอบรมวิชาชีพ ให้มีคุณภาพมาตรฐาน ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานกำลังคนสายอาชีพสู่สากล

7 หน่วยงานในกำกับ

สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา (คส.)  เป็นองค์กรวิชาชีพที่กำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ออก เพิกถอนใบอนุญาต กำกับดูแลมาตรฐานวิชาชีพ และจรรยาบรรณวิชาชีพครู

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)  ส่งเสริมสวัสดิการ สวัสดิภาพ สิทธิประโยชน์เกื้อกูลอื่น และส่งเสริมความมั่นคงแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ส่งเสริมความสามัคคี ยกย่องเชิดชู และผดุงเกียรติครูและบุคลากรทางการศึกษา

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นองค์กรหลักของประเทศ ที่เน้นการศึกษาค้นคว้า วิจัย พัฒนาหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน และการประเมินผล เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก

สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) พัฒนาลูกเสือทั้งทางกาย สติปัญญา จิตใจ และศีลธรรม ให้เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบ ช่วยสร้างสรรค์สังคม เพื่อความสงบสุข และความมั่นคงของประเทศชาติ

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) พัฒนาระบบ มาตรฐาน และเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอก สอดคล้องกับระบบการประกันคุณภาพของสถานศึกษา และหน่วยงานต้นสังกัด

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (มวส.) เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับนานาชาติ จัดการศึกษาสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ให้สามารถเป็นนักวิจัยและนักประดิษฐ์คิดค้น

สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทศ.) บริหารจัดการเกี่ยวกับการประเมินผลทางการศึกษาและทดสอบทางการศึกษา เป็นศูนย์กลางความร่วมมือด้านการทดสอบทางการศึกษาในระดับชาติและระดับนานาชาติ

ด้วยบุคลากร 660,189 คน สถานศึกษาทุกระดับของรัฐและเอกชน 35,415 แห่ง งบประมาณ 356,449 ล้านบาท มีโครงการหลากหลายที่ร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษา ตอบโจทย์ผู้เรียน 10,716,590 คน

ด้วยพลังของทุกองค์กรที่ผนึกเป็น “MOE One Team” ทำให้กระทรวงศึกษาธิการไม่เคยหยุดที่จะมุ่งมั่นพัฒนาผู้เรียน ได้รับการพัฒนาให้มีความรู้คู่คุณธรรม อย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง และเสมอภาค เป็นกำลังคนที่มีทักษะ และศักยภาพรองรับการพัฒนาประเทศ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21

 

ขอขอบคุณที่มา : ศธ.