ด่วนล่าสุด! องค์กรครู เข้าพบ ตรีนุช ค้าน พ.ร.บ.การศึกษาฯ กระทบคุณภาพต้องยกเครื่องใหม่

วันนี้ ครูประถม.คอม ข่าวการศึกษา ได้รับรายงานด่วนว่า องค์กรครู เข้าพบ ตรีนุช ค้าน พ.ร.บ.การศึกษาฯ ชี้กระทบคุณภาพต้องยกเครื่องใหม่ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่คุณครูและสถานศึกษาให้ความสนใจเป็นอย่างมาก สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมด้านล่างได้เลยค่า

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังหารือกับเครือข่ายองค์กรครูไทย (ค.อ.ท.) และตัวแทนองค์กรครูทั่วประเทศว่า ทางตัวแทนองค์กรครูเข้ามาเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เช่น ทางองค์กรครูไม่เห็นด้วยในการเปลี่ยนคำเรียกผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นหัวหน้าสถานศึกษา เป็นต้น ซึ่งตนขอรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อน เพราะทุกคนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ อย่างไรก็ตาม ตนจะทำการวิเคราะห์ไปด้วย ว่าจะมีแนวทางไหนที่จะแก้ไข หรือปรับเปลี่ยนกฎหมายให้เหมาะสมกับทุกภาคส่วนด้วย

นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) และ 247 องค์กรครูทั่วประเทศ ร่วมกันคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ

ซึ่งขณะนี้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภา ตามลำดับ โดยองค์กรครูทั่วประเทศ เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … มีประเด็นที่เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาและกระทบต่อคุณภาพการศึกษา ดังนี้ 1.คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่เคยนำเสนอปัญหาด้านการศึกษาให้สังคมทราบว่ามีปัญหาอะไร และมาตราใดของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เป็นต้นเหตุของปัญหา รวมถึงแนวทางในการแก้ปัญหาและการดำเนินการเพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพ การศึกษาแต่อย่างใด 2.ครูไม่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 3.ขณะนี้ไม่มี กอปศ.แล้ว

และร่างกฎหมายนี้ ก็ไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชนและบุคลากรในวงการศึกษา ดังนั้น ควรตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมายขึ้นใหม่และดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป 4.ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ลดทอนคุณค่าของผู้ประกอบวิชาชีพครูที่เคยได้รับการยกย่องและคาดหวังจากสังคมมาเป็นเวลานานว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูง เพื่อเป็นหลักประกันให้สังคมมีความมั่นใจ และเป็นการกำหนดเพื่อให้ครูได้ตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบต่อนักเรียนเสมือนเป็นพ่อแม่คนที่สอง แต่ร่างกฎหมายได้ตัดความสำคัญนี้ออกไปทั้งที่ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้มีบัญญัติไว้ในมาตรา 52

Advertisements

 

นายรัชชัยย์กล่าวต่อว่า 5.ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ กำหนดให้ใช้ “หัวหน้าสถานศึกษา”แทนคำว่า “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” โดยไม่มีเหตุผลอันควรและไม่เป็นที่ยอมรับของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา นอกจากนี้ ยังกำหนดให้เปลี่ยน “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” เป็น “ใบรับรองความเป็นครู” โดยไม่มีเหตุผลในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาแต่อย่างใด

และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจส่งผลให้ครูเสียสิทธิในเรื่องการได้รับเงินวิทยฐานะ 6.ไม่มีการกำหนดตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา เช่น ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นต้น ทำให้เห็นแนวโน้มว่าจะมีการยุบเขตพื้นที่ฯ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาที่ต้องแก้ไขต่อไป 7.ในมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ กำหนดให้รัฐสามารถมอบหมายให้เอกชนเข้าบริหารจัดการศึกษาโดยใช้ทรัพยากรของรัฐได้ การบัญญัติไว้เช่นนี้สุ่มเสี่ยงต่อการให้เอกชน และผู้มีอำนาจแสวงหาผลประโยชน์ได้

“และ 8.ร่างกฎหมายนี้มีเจตนารมณ์ไม่ให้มีข้าราชการครูอีกต่อไป โดยครูที่เข้าปฏิบัติหน้าที่หลังจากที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่จะเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ของรัฐ เหมือนพนักงานมหาวิทยาลัยเท่านั้น

ซึ่งถือว่าไม่เป็นการจูงใจให้คนดีและคนเก่งมาทำหน้าที่ครู นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ยังมีประเด็นที่น่าจะขัดกับหลักความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เช่น รัฐธรรมนูญ มาตรา 54 กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … มาตรา 12 กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาให้โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายเป็นเวลาสิบแปดปี ดังนั้น เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูทั้ง 247 องค์กร ขอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการศึกษาของชาติ ดำเนินการให้มีการถอนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ก่อนเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้มีการแก้ไขประเด็นที่เป็นปัญหา หรืออาจจะให้มีการยกร่างใหม่ทั้งหมดโดยทุกภาคส่วนจะต้องมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายฉบับใหม่ด้วย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.รับทราบเรื่องแล้ว และจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ต่อไป” นายรัชชัยย์กล่าว

Advertisements

ด้านนายไพศาล ปันแสน นายกสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ประธาน ค.อ.ท. กล่าวว่า เครือข่ายองค์กรครูทั่วประเทศได้รวมตัวกันเพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … โดยร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลัษณ์ พร้อมกับกระจายตัวยื่นข้อเสนอของเครือข่ายผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในแต่ละพื้นที่ให้ครบ 77 จังหวัด

 

 

ขอขอบคุณที่มา : มติชน

Comments are closed.