Take a fresh look at your lifestyle.

เงินเยียวยา 2,000 บาท ยังไม่ถึง โรงเรียน สพฐ. เสนอรร.ทำความเข้าใจผู้ปกครองด่วน!

วันนี้ ครูประถม.คอม ข่าวการศึกษา ได้นำรายละเอียดล่าสุดเกี่ยวกับ เงินเยียวยา 2,000 บาท ซึ่งมีรายงานว่าตอนนี้ยังไม่ถึง โรงเรียน ทำให้ สพฐ. เสนอรร.ทำความเข้าใจผู้ปกครอง ซึ่งถือเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมด้านล่างได้เลยค่า

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีมาตรการลดภาระทางการศึกษาให้แก่นักเรียนและผู้ปกครอง ด้วยการจ่ายเงินเยียวยานักเรียนคนละ 2,000 บาทนั้น ตนขอชี้แจงทำความเข้าใจเพิ่มเติมว่า การจ่ายเงิน 2,000 บาท จะจ่ายตามจำนวนนักเรียน เช่น หากผู้ปกครองมีบุตรหลานเรียนอยู่ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (อนุบาล-ม.6) จำนวน 1 คน ก็จะได้รับเงินเยียวยา 2,000 บาท

แต่หากมีบุตรหลานเรียนอยู่ จำนวน 3 คน ก็จะได้รับเงินรวม 6,000 บาท โดยคนที่จะรับเงินเยียวยา คือ ผู้ปกครอง หากนักเรียนอยู่กับพ่อแม่ ผู้ปกครองก็คือพ่อแม่ แต่หากนักเรียนอยู่กับญาติ ผู้ปกครองก็คือญาติที่นักเรียนอาศัยอยู่ด้วย ซึ่งครูประจำชั้นต้องรู้ข้อมูลในส่วนนี้ แต่หากเด็กอยู่กับมูลนิธิหรืออยู่บ้านพักเด็ก ทางโรงเรียนก็สามารถจ่ายเงินเยียวยาให้กับนักเรียนโดยตรงได้ โดยระบุว่าเด็กคนนี้อยู่บ้านพักเด็กที่ไหนหรืออยู่กับมูลนิธิอะไร เพื่อเป็นการยืนยันว่าเด็กอยู่กับใครและเงินถึงมือเด็กหรือไม่

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า สำหรับนักเรียนที่จะได้รับเงินเยียวยา ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนนักเรียนของโรงเรียนที่ได้ลงข้อมูลไว้ ณ วันที่ 25 มิ.ย.2564 เมื่อมีรายชื่อเป็นนักเรียนอยู่ที่ไหน สพฐ. ก็จะจัดสรรเงินไปตามรายชื่อของนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนนั้น โดยโรงเรียนจะจ่ายเงินให้เฉพาะนักเรียนที่มีตัวตนจริง ส่วนนักเรียนที่ไม่มีชื่อในทะเบียนในวันที่ 25 มิ.ย. แต่มาเรียนเพิ่มเติมในโรงเรียนนั้น นักเรียนจะยังมีชื่ออยู่ที่โรงเรียนเดิม ทางโรงเรียนใหม่ก็ต้องเพิ่มชื่อนักเรียนเข้าไป แล้วรายงานไปยังสำนักงานเขตฯ ในส่วนนี้ทางโรงเรียนยังไม่สามารถจ่ายเงินได้ จนกว่าสำนักงานเขตฯ จะเคลียร์ข้อมูลให้เรียบร้อยจึงจะอนุมัติการจ่ายเงินได้

โดยสรุปคือ ทุกโรงเรียนต้องสำรวจรายชื่อนักเรียนของตนเอง ว่ายังมีชื่ออยู่ในโรงเรียนครบถ้วนหรือไม่ และยังมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ หากมีครบไม่ได้ย้ายออกไปไหนถือว่าจบไม่มีปัญหา แต่หากมีย้ายออกไปก็ให้โรงเรียนกรอกข้อมูลเข้ามาว่าเด็กย้ายไปอยู่ที่ไหน หรือหากมีเด็กย้ายเข้ามาก็ให้กรอกข้อมูลว่ารับย้ายมาจากที่ไหนด้วย

“ขณะนี้อยู่ในช่วงระหว่างการเตรียมการ เมื่อเงินลงมาถึงโรงเรียนแล้วเราอยากให้เงินถึงผู้ปกครองภายใน 3 วัน โดยให้โรงเรียนถือปฏิบัติตามแนวทางในหนังสือฉบับใหม่ที่ได้ส่งไปเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2564 ซึ่งได้แจ้งว่าในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต้องเปิดบัญชีใหม่เพื่อรองรับ ส่วนโรงเรียนจะมีการซักซ้อมวิธีปฏิบัติเพื่อให้เข้าใจตรงกันอีกครั้งหนึ่ง แต่สิ่งที่เราห่วงมากที่สุดก็คือฐานข้อมูลของนักเรียน และการเตรียมการวิธีจ่ายเงินให้กับผู้ปกครองนักเรียน

โดยจะมีแนวปฏิบัติแจ้งออกไปให้ทราบอีกครั้งภายในสัปดาห์นี้ พร้อมกับเน้นย้ำว่าเมื่อ สพฐ. ได้รับเงินจัดสรรเมื่อใดก็จะโอนเงินไปยังบัญชีของสำนักงานเขตฯ ภายในวันเดียวกันนั้น และให้เขตฯโอนต่อไปยังโรงเรียนภายใน 3 วัน เมื่อถึงบัญชีโรงเรียนแล้ว ขอให้โรงเรียนโอนเงินหรือจ่ายเงินถึงมือผู้ปกครองภายใน 3 วันเช่นเดียวกัน โดยรวมแล้วทั้งกระบวนการขอให้จบภายใน 7 วัน” นายอัมพร กล่าว

นายอัมพร กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการจ่ายเงินนั้น เราได้กำหนดแนวทางไว้ 2 ประเด็น คือ หากผู้ปกครองมีบัญชีธนาคารก็สามารถโอนเงินเข้าบัญชีผู้ปกครองได้โดยตรง แต่หากใช้วิธีโอนเงินไม่ได้ จะให้โรงเรียนบริหารจัดการผ่านครูประจำชั้น ในการออกแบบการจ่ายเงินสดให้ผู้ปกครอง เช่น นัดหมายผู้ปกครองเข้ามารับเงินสดที่โรงเรียน

แต่ต้องเป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคของ ศบค. โดยให้ผู้ปกครองลงลายมือชื่อพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อเป็นหลักฐานในการจ่ายเงิน ทั้งนี้ ขอให้ทางโรงเรียนสื่อสารกับผู้ปกครองให้เข้าใจตรงกันว่า ในขณะนี้ สพฐ. ยังไม่ได้รับเงินจัดสรรจากกระทรวงการคลังมาถึงกระทรวงศึกษาธิการ จึงยังไม่มีเงินลงไปถึงโรงเรียน ซึ่งเมื่อใดที่เงินลงไปถึงโรงเรียนแล้ว ก็จะดำเนินการจ่ายเงินให้กับผู้ปกครองภายใน 3 วัน

“ทั้งนี้ นักเรียนและผู้ปกครองที่มีบุตรหลานกำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียน สังกัด สพฐ. สามารถตรวจสอบสถานะการมีสิทธิ์ตามโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา (COVID-19) ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ได้แล้วที่

เว็บไซต์ https://student.edudev.in.th ตรวจสอบสิทธิ์ โดยจะต้องมีข้อมูลเลขประจำตัวประชาชนและเลขประจำตัวนักเรียน ที่โรงเรียนรายงานเข้ามาในระบบและยืนยันข้อมูล ณ วันที่ 25 มิ.ย. 2564 (กรณีที่มีการย้ายสถานศึกษาหลังวันที่ 25 มิ.ย. 2564 ให้ใช้เลขประจำตัวของโรงเรียนเดิมจึงจะพบสิทธิ์ และนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์หรือเกินเกณฑ์ จะยังไม่ได้รับสิทธิ์ในรอบนี้)” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

 

ขอขอบคุณที่มา : At_HeaR ข่าวจริงเข้าหู

นอกจากนี้คุณยังอาจต้องการ

ความเห็นถูกปิด

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี