ทฤษฎี เชาวน์ปัญญา
-
กลุ่มไลน์ข่าวการศึกษา
กลุ่มไลน์ข่าวการศึกษา
มี นักจิตวิทยา เสนอไว้หลายทฤษฎีที่สำคัญจะนำเสนอ 3 ทฤษฎี ดังนี้
1. ทฤษฎีเชาวน์ปัญญาจิตมิติ(Psychometric Theory of Intelligence)
ทฤษฎี เชาวน์ปัญญา จิตมิติเป็นทฤษฎีที่นักจิตวิทยา ใช้หลักสถิติการวิเคราะห์องค์ประกอบ(Factor Analysis) โดยมี สเปียร์แมนเป็นคนแรกที่ใช้วิธีนี้
Alfred Binet นักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศส ศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เด็กเรียนช้า Binet ร่วมมือกับ Theodore Simon พัฒนาแบบทดสอบทางสติปัญญา (Test of Intelligence) ซึ่งประกอบด้วยคำถาม 30 ข้อ ใช้วัดความสามารถในการตัดสินใจ, ความเข้าใจ และการใช้เหตุผล แบบทดสอบนี้ยังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน Lewis Terman ในแนวคิดเกี่ยวกับ IQ (Intelligence Quotient) ซึ่งได้รับการปรับปรุงอีกหลายครั้งจนมีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย บิเนต์ (Alfred Binet) ได้รับยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งแบบทดสอบเชาวน์ปัญญา
ทฤษฎี เชาวน์ปัญญา จิตมิติมีหลายทฤษฎีแต่ที่จะขอนำเสนอ เพียง 5 ทฤษฎี คือ
1.1 ทฤษฎีองค์ประกอบเดียว (Single-Factor Theory หรือ Unitary Mental Factor)
ทฤษฎีองค์ประกอบเดียวเป็นของศาสตราจารย์ เทอร์แมน ผู้สร้างแบบทดสอบ สแตนฟอร์ด-บิเนต์
เทอร์แมน เชื่อว่าเชาว์ปัญญา คือความสามารถในการคิดแบบนามธรรม เป็นผลของพันธุกรรมแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้นจึงเป็นสิ่งคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง g – factor
1.2 ทฤษฎีองค์ประกอบสองตัว (Two – Factor Theory)
สเปียร์แมน(Charles Spearman) นักจิตวิทยาชาวอังกฤษได้นำการวัดทางจิตวิทยา(Psychometric หรือการวัดความแตกต่างระหว่างบุคคลในด้านพฤติกรรม และความสามารถ) มาศึกษาเชาวน์ปัญญา โดยศึกษาความสามารถของบุคคลจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ความสามารถการคิดคำนวณทางตัวเลข การประเมินระดับเสียง การจัดคู่ของสี และการให้เหตุผล เป็นต้น จากการศึกษาสเปียร์แมนสรุปว่า เชาวน์ปัญญาประกอบด้วยความสามารถสำคัญ 2 ประการ คือ
1) ความสามารถทั่วไป(General intelligence หรือ g – factor) ซึ่งเป็นความสามารถพื้นฐานของแต่ละบุคคล ผู้ที่มี g สูง จะมีความสามารถในการทำงานทุกอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนผู้ที่มี g ต่ำ จะมีประสิทธิภาพการทำงานต่ำ
2) ความสามารถเฉพาะ(Specific intelligence หรือ s – factor) เป็นความสามารถเฉพาะของแต่ละบุคคล เช่น ความสามารถทางคณิตศาสตร์ ภาษา ดนตรี ศิลปะ หรือความคิดสร้างสรรค์ และพบว่า g-factor มีค่าสหสัมพันธ์ไม่สูงนักกับ s- factor ความสามารถทั้งสองประการนี้ได้พัฒนาขึ้นมาในแต่ละบุคคลอย่างอิสระ ทั้งยังได้รับอิทธิพลมาจากการถ่ายทอดคุณลักษณะทางพันธุกรรมจากบรรพบุรุษ มาสู่ลูกหลานมากน้อยแตกต่างกันไป สเปียร์แมนกำหนดใด้ g-factor มีบทบาทเด่น และ s – factor มีบทบาทสำคัญรองลงมา
1.3 ทฤษฎีองค์ประกอบหลายตัว (Multiple Factor Theory)
เธอร์สโตน(L.L.Thurstone) อธิบายว่า เชาวน์ปัญญาไม่ได้เป็นความสามารถทั่วไปเพียงอย่างเดียว แต่ประกอบด้วยความสามารถทางสมองหลายชนิด หลายลักษณะที่มีอยู่ในตัวบุคคล เธอร์สโตนเรียกความสามารถทางสมองทั้งหลายนี้ว่า Primary Mental Abilities ประกอบด้วยความสามารถดังนี้
1) การคิดหาเหตุผล (Resoning หรือ R-factor)
2) ความจำ (Memory หรือ M-factor)
3) ความสามารถทางตัวเลข (Number หรือ N-factor)
4) ความรวดเร็วในการรับรู้ (Perceptual Speed หรือ P-factor)
5) ความเข้าใจภาษา (Verbal Comprehension หรือ V-factor)
6) ความคล่องแคล่วในการใช้คำ (Word Fluency หรือ W-factor)
7) การมองมิติของภาพ (Space หรือ S-factor)
ทฤษฎีเชาวน์ปัญญาของเธอร์สโตนบางครั้งเรียกทฤษฎี องค์ประกอบเป็นกลุ่มของเชาวน์ปัญญา
หรือ Group Factor Theory of Intelligence และเธอร์สโตนได้สร้างแบบทดสอบเชาวน์ปัญญาประกอบด้วย 7 องค์ประกอบนี้ เรียกแบบทดสอบว่า Primary Mental Ability Test
1.4 ทฤษฎีโครงสร้างทางปัญญาของกิลฟอร์ด
กิลฟอร์ด นักจิตวิทยา ชาวอเมริกันเสนอทฤษฎีโครงสร้างทางเชาวน์ปัญญาที่ เรียกว่า Structure of Intellectหรือเรียกย่อ ๆ ว่า SI กิลฟอร์ดเชื่อว่า ทฤษฎีองค์ประกอบเดียวหรือหลายองค์ประกอบไม่สามารถอธิบายความสามารถของมนุษย์ได้หมด ทฤษฎีของกิลฟอร์ดถือว่าความสามารถแต่ละอย่าง เป็นความสามารถเฉพาะ (Specific Ability) และได้เสนอว่าเชาวน์ปัญญาประกอบด้วย 3 มิติ คือ
มิติที่ 1 การคิด (Operation)
เป็นการรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่ได้รับและพยายามเข้าใจความหมายประกอบด้วย
1) การรับรู้และเข้าใจ(Cognition)
2) การจำ(Memory) – ความจำที่บันทึกไว้ (Recording)
– ความจำระยะยาว(Retention)
3) การคิดเอนกนัย(Divergent Thinking)
4) การคิดเอกนัย (Convergent Thinking)
5) การประเมินค่า (Evaluation)
มิติที่ 2 เนื้อหา (Content)
เป็นการจัดจำพวกหรือประเภทของข้อมูลข่าวสารที่ได้รับแบ่งออกเป็น 4 จำพวก
1) ภาพ(Figural) – ได้ยิน(Auditory)
2) สัญลักษณ์(Symbolic)
3) ภาษา(Seantic)
4) พฤติกรรม(Behavioral)
มิติที่ 3 ผลการคิด(Product)
เป็นแบบต่างๆ ที่ใช้ในการคิดประกอบด้วย
1) แบบหน่วย(Units)
2) แบบกลุ่ม(Classes)
3) แบบความสัมพันธ์(Relations)
4) แบบระบบ(Systems)
5) แบบการแปลงรูป(Transformations)
6) แบบการประยุกต์(ImPlication)
สรุปแล้วโครงสร้างเชาวน์ปัญญาของกิลฟอร์ด ประกอบด้วยความความสามารถที่แตกต่างกัน 180 ชนิด คือ(เนื้อหา 5 วิธีการคิด 6 ผลการคิด 6) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเชาวน์ปัญญาของแต่ละบุคคลไม่ควรที่จะวัดโดยใช้คะแนนรวมเพียงอย่างเดียว กิลฟอร์ดเชื่อว่าความสามารถแต่ละอย่างเปลี่ยนแปรได้ด้วยการฝึกหัดและการเรียนรู้
1.5 ทฤษฎีองค์ประกอบทั่วไปสองตัวของแคทเทลล์
ศาสตราจารย์ เรย์มอน แคทเทล ได้เสนอทฤษฎีเชาวน์ปัญญาว่าประกอบด้วยองค์ประกอบทั่วไป 2 ตัวคือ
1) Fluid Intelligence สัญลักษณ์ “ gf ” องค์ประกอบทางเชาวน์ปัญญาที่ได้รับสืบทอดมาจากพันธุกรรม เช่น ความสามารถในการคิดหาเหตุผล คิดแบบนามธรรม และความสามารถที่จะแก้ปัญหา
2) Crystallized Intelligence สัญลักษณ์ “ gc ” เชาวน์ปัญญาที่เป็นผลมาจากการเรียนรู้และประสบการณ์ วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
2. ทฤษฎีเชาวน์ปัญญา นีโอพีอาเจต์-อินฟอร์เมชั่นโพรเซสซิ่ง (Neo-Piaget Theory of Intelligence – Information Processing )
ตั้งแต่พีอาเจต์ได้ตั้งทฤษฎีพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาขึ้น นักจิตวิทยาที่เป็นศิษย์ของพีอาเจต์ก็ได้ตั้งทฤษฎีเชาวน์ปัญญาขึ้น หนึ่งในนั้นคือ สเตินเบิร์ก (Robert Sternberg) เชื่อว่า เชาวน์ปัญญาเป็นสิ่งที่แปรเปลี่ยนได้และได้ตั้งทฤษฎีเชาน์ปัญญาชื่อว่า ทฤษฎีสามองค์ประกอบที่ควบคุมเชาวน์ปัญญา(Triarchic Thoery of Intelligence ) ซึ่งหมายความว่าเชาวน์ปัญญาของมนุษย์ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ
1) เชาวน์ปัญญาคอมโพเนนเชียล (Componential Intelligence) หมายถึง ความสามารถในการคิด การเรียนรู้ การหาความรู้ การวางแผนในการทำงานและยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหา
2) เชาวน์ปัญญาเอ็กซ์พีเรียลเชียล (Experiential Intelligence ) หมายถึง ความสามารถที่จะสู้กับสถานการณ์ใหม่หรืองานใหม่ได้ แก้ปัญหาได้โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์และการหยั่งรู้
3) เชาวน์ปัญญาคอนเทคชวล (Conntectual Intelligence) หมายถึงความสามารถที่มนุษย์ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมได้ เป็นเชาวน์ปัญญาที่ทำให้มนุษย์อยู่รอด
3. ทฤษฎีเชาวน์ปัญญา ประสาทวิทยา-จิตวิทยา (Neuro-Psychological Theory of Intelligence)
การ์ดเนอร์(Howard Gardner) ได้เสนอทฤษฎีเชาวน์ปัญญาที่มีชื่อเรียกว่า ทฤษฎีพหุปัญญา หรือ Theory of Multiple Intelligence การ์ดเนอร์เชื่อว่า เชาวน์ปัญญาเป็นสิ่งที่ไม่คงที่เปลี่ยนแปลงได้ และเชื่อว่า คนเรามีเชาวน์ปัญญาหลายชนิด แต่ละชนิดเป็นอิสระไม่เกี่ยวข้องกัน ประกอบด้วยเชาวน์ปัญญา 8 แบบคือ
1) การใช้เหตุผลและความสามารถทางคณิตศาสตร์ (Logical /Mathemetic)
2) ความสามารถในการใช้ภาษาทั้งการพูดและการเขียน (Verbal/Linguistic)
3) ความสามารถทางดนตรีและเสียงสัมผัสจังหวะ (Musical/Rhythnmic)
4) ความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ (Visual-Spatial)
5) ความสามารถที่จะใช้ความรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกายและควบคุมได้ (Bodily/Kinesthetic)
6) ความสามารถที่จะมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น (Interpersonal)
7) ความสามารถที่จะเข้าใจตนเอง (Intrapersonal)
8) ความสามารถที่จะเป็นนักธรรมชาติวิทยา(Naturalist)
การ์ดเนอร์ เชื่อว่าบุคคลที่มีเชาวน์ปัญญาสูงหรือเด่นด้านใดด้านหนึ่งอาจจะมีเชาวน์ปัญยาด้อยในอีกด้านหนึ่งได้ จะไม่มีใครคนใดคนหนึ่งที่มีเชาวน์ปัญญาสูงหรือต่ำในทุก ๆ ด้าน และปัจจุบันนี้ นักจิตวิทยาและนักการศึกษาในความสนใจและตอบรับทฤษฎีพหุปัญญาของการ์ดเนอร์อย่างกว้างขวาง