Take a fresh look at your lifestyle.

คุณธรรมของครู : ความหมายและความสำคัญ

เนื่องจากสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปจนเกิดผลกระทบต่อการประพฤติปฏิบัติของครู  ทำให้ คุณธรรมของครู ตกต่ำ  จนเกิดวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับวิชาชีพครูในขณะนี้  อย่างไรก็ตามครูมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศมากที่สุดวิชาชีพหนึ่ง  ดังนั้นจึงมีการพัฒนาคุณธรรมของครู  เพราะคุณธรรมกับครูเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้  หากครูขาดคุณธรรมความเป็นปูชนียบุคคลของครูก็จะหมดไป

ความหมายของคุณธรรม

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พุทธศักราช  2525  ให้ความหมายของคุณธรรมไว้ว่า  เป็นสภาพคุณงามความดี  (ราชบัณฑิตยสถาน.  2525 : 187)

คาร์เตอร์ วี. กู๊ด  (Carter V. Good.  1973 : 641)  ให้ความหมายคุณธรรม  ไว้ว่า  คุณธรรมคือ  คุณลักษณะที่ดีงาม หรือพฤติกรรมที่ปฏิบัติจนเป็นนิสัย  และการที่บุคคลได้กระทำตามความคิดและมาตรฐานของสังคมในทางความประพฤติและจริยธรรม

ความสำคัญของคุณธรรม

คุณธรรมเป็นเสมือนหลักการสำคัญที่ให้ไว้สำหรับบุคคลหรือสังคมได้นำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต  จะช่วยให้บุคคลปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่น  มีความสำเร็จในงานที่ทำ  เป็นคนดีของครอบครัว  สังคม และประเทศชาติ  สำหรับครูกับคุณธรรมนั้นจะต้องเป็นของคู่กัน  หากครูขาดคุณธรรมเมื่อใดก็เหมือนกับนักบวชที่ไร้ศีล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานหลักคุณธรรมสำหรับคนไทยในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า  ณ  ท้องสนามหลวง  วันจันทร์ที่  5  เมษายน  พ.ศ. 2525  ทั้งนี้เพื่อยึดถือปฏิบัติมีอยู่  4  ประการ  คือ

ประการแรก      คือ     การรักษาความสัจ  ความจริงใจต่อตัวเอง ที่จะประพฤติปฏิบัต       แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม

ประการที่สอง    คือ     การรู้จักข่มใจตนเอง  ฝึกใจตนเอง  ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจ  ความดีนั้น

ประการที่สาม    คือ     การอดทน  อดกลั้น  และอดออม  ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจ  สุจริต  ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด

ประการที่สี่       คือ     การรู้จักละวางความชั่ว  ความสุจริต  และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง

คุณธรรมทั้ง  4  ประการนี้จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข  ร่มเย็น  โดยเฉพาะผู้ที่เป็นครู  จำเป็นต้องยึดถือปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้อื่น

ตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครูของคุรุสภา  ซึ่งได้จากการประชุมสัมมนาวิชาชีพครูครั้งที่  6  ระหว่างวันที่  27 – 28  เมษายน  พ.ศ. 2532  ได้สรุปว่า  บุคคลที่ประกอบวิชาชีพครูมีลักษณะพื้นฐาน  4  ประการ  คือ  รอบรู้  สอนดี  มีคุณธรรมตามจรรยาบรรณและมุ่งมั่นพัฒนาตนเอง  (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา.  2532 : 6 – 9)

ในที่นี้จะนำมากล่าวเฉพาะในส่วนที่เป็นข้อคุณธรรมตามจรรยาบรรณ  ซึ่งมีคุรุสภากำหนดไว้  9  ข้อ  ดังต่อไปนี้

1.  มีเมตตากรุณา  พฤติกรรมหลัก  คือ  มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานและสังคม  มีความสนใจและห่วงใยในการเรียนและความประพฤติของนักเรียน  ส่วนพฤติกรรมบ่งชี้  คือ  ไม่นิ่งดูดายและเต็มใจช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลังความสามารถ  ให้ความรักความเอาใจใส่ช่วยเหลือดูแลเด็กให้ได้รับความสุขและพ้นทุกข์  เป็นกันเองกับนักเรียน  เพื่อให้นักเรียนมีความรู้สึกเปิดเผยไว้วางใจ  และเป็นที่พึ่งของนักเรียน

2.  มีความยุติธรรม  พฤติกรรมหลัก  คือ  มีความเป็นธรรมต่อนักเรียนและมีความเป็นกลาง  ส่วนพฤติกรรมบ่งชี้  คือ  เอาใจใส่และปฏิบัติต่อนักเรียนทุกคนอย่างเสมอภาคและไม่ลำเอียง  ตัดสินปัญหาของนักเรียนด้วยความเป็นกลาง  ยินดีช่วยเหลือนักเรียน  ผู้ร่วมงานและผู้บริหารโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

3.  มีความรับผิดชอบ  พฤติกรรมหลัก  คือ  มุ่งมั่นในผลงาน  ใช้เวลาอย่างคุ้มค่าและปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วน  ส่วนพฤติกรรมบ่งชี้  คือ  มีวิธีการที่จะปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์  วางแผนการใช้เวลาอย่างเหมาะสม  และปฏิบัติงานให้ทันเวลา  ใช้เวลาคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ  วางแผนการปฏิบัติงานอย่างมีระบบ  ปฏิบัติงานตามแผนได้เสร็จและมีประสิทธิภาพ  มีความรอบคอบ  ระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ทุกด้าน  ปฏิบัติภารกิจทุกด้านได้ครบตามความสามารถและประเมินผลการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม

4.  มีวินัย  พฤติกรรมหลัก  คือ  มีวินัยในตนเอง และปฏิบัติตามกฎและระเบียบ  ส่วนพฤติกรรมบ่งชี้  คือ  ควบคุมตนเองให้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม  มีวิธีทำงานที่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่นได้  ปฏิบัติตามกฎและระเบียบของหน่วยงานและสถานศึกษาปฏิบัติหน้าที่การงานเป็นไปตามขั้นตอน

5.  มีความขยัน  พฤติกรรมหลัก คือ  มีความตั้งใจและมีความพยายาม  ส่วนพฤติกรรมบ่งชี้  คือ  กระตือรือร้นและปฏิบัติงานเต็มความสามารถอย่างสม่ำเสมอ  ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคในการทำงาน  และมีความพยายามที่จะสอนเด็กให้บรรลุจุดหมาย

6.  มีความอดทน  พฤติกรรมหลัก  คือ  อดทนเมื่อเกิดอุปสรรค และมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์  ส่วนพฤติกรรมบ่งชี้  คือ  ปฏิบัติงานเต็มไม่ทิ้งขว้างกลางคัน  ไม่โกรธง่าย และสามารถควบคุมอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม และอดทนอดกลั้นคำวิพากษ์วิจารณ์

7.  มีความประหยัด  พฤติกรรมหลัก  คือ  รู้จักประหยัดและออม  และใช้ของให้คุ้มค่าส่วนพฤติกรรมบ่งชี้  คือ  ช่วยรักษาและใช้ของส่วนรวมอย่างประหยัด  ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินฐานะของตน  รู้จักเก็บออมทรัพย์  เพื่อความมั่นคงของฐานะ  และรู้จักใช้และเก็บรักษาของอย่างถูกวิธี

8.  มีความรักและศรัทธาในอาชีพครู  พฤติกรรมหลัก  คือ  เห็นความสำคัญของอาชีพครูและรักษาชื่อเสียงวิชาชีพครู  ส่วนพฤติกรรมบ่งชี้  คือ  สนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรวิชาชีพครู  เข้าร่วมกิจกรรมวิชาชีพครู  ร่วมมือและส่งเสริมให้มีการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพครู  ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลดีและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ  รักษาความสามัคคีและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหน้าที่การงาน  ปกป้องและสร้างความเข้าใจอันดีต่อสังคมเกี่ยวกับวิชาชีพครู

9.  มีความเป็นประชาธิปไตยในการปฏิบัติงานและการดำรงชีวิต  พฤติกรรมหลัก  คือ  รังฟังความคิดเห็นของผู้อื่น  และมีเหตุผล  ส่วนพฤติกรรมบ่งชี้  คือ  เปิดโอกาสให้ผู้อื่นแสดงความคิดเห็น  รับฟังความคิดเห็นและข้อโต้แย้งของผู้อื่น  ยอมรับและปฏิบัติตามความคิดที่มีเหตุผล  โดยคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก  และใช้หลักการและเหตุผลในการตัดสินใจและแก้ปัญหา

ต่อมาในปี  พ.ศ. 2539  คุรุสภาประกาศใช้จรรยาครูใหม่  วันที่  7  พฤษภาคม  พ.ศ. 2539  เพื่อให้เหมาะสมกับครูไทยในยุคปัจจุบัน  จะเห็นได้ว่าจรรยาบรรณ  5  ข้อแรก  มีความสำคัญในระดับที่ครู  “ต้อง”  กระทำหรือไม่กระทำ  ส่วน  4  ข้อหลังมีน้ำหนักลดหลั่นกันลงมา  แต่ก็สำคัญและจำเป็นต่อความเป็นครู  โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูระดับ  “มืออาชีพ”   จรรยาบรรณแต่ละข้อมีข้อความที่กระชัก  กะทัดรัดและเจาะจง  แต่การตีความและความเข้าใจของแต่ละคนอาจแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด  ดังนั้นคุรุสภาจึงได้จัดทำคำอธิบายขึ้น  เพื่อชี้ให้เห็นเจตนารมณ์และความมุ่งหมายของจรรยาบรรณครูแต่ละข้อเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน  (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา.  2540)

จรรยาบรรณข้อที่  1 ครูต้องรักและเมตตาศิษย์  โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือส่งเสริม  ให้กำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์โดยเสมอหน้า

จรรยาบรรณข้อที่  2 ครูต้องอบรม  สั่งสอน  ฝึกฝน  สร้างเสริมความรู้  ทักษะ และนิสัยที่ถูกต้องดีงามให้แก่ศิษย์อย่างเต็มความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจ

จรรยาบรรณข้อที่  3 ครูต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์  ทั้งทางกาย  วาจา และจิตใจ

จรรยาบรรณข้อที่  4 ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย  สติปัญญา  จิตใจ  อารมณ์  สังคมของศิษย์

จรรยาบรรณข้อที่  5 ครูต้องไม่แสวงประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติและไม่ใช้ศิษย์กระทำการใดๆ  อันเป็นการหาประโยชน์ให้แก่ตนโดยมิชอบ

จรรยาบรรณข้อที่  6 ครูย่อมพัฒนาตนเองทั้งในด้านวิชาชีพ  ด้านบุคลิกภาพ  และวิสัยทัศน์  ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ  เศรษฐกิจ  สังคมและการเมืองอยู่เสมอ

จรรยาบรรณข้อที่  7 ครูย่อมรักและศรัทธาในวิชาชีพครู  และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การวิชาชีพ

จรรยาบรรณข้อที่  8 ครูพึงช่วยเหลือเกื้อกูลครูและชุมชนในทางสร้างสรรค์

จรรยาบรรณข้อที่  9 ครูพึงประพฤติ  ปฏิบัติตน  เป็นผู้นำในการอนุรักษ์ และพัฒนาภูมิปัญญาไทย และวัฒนธรรมไทย

ดังนั้นผู้ที่เป็นครูจึงต้องมีคุณธรรม  ซึ่งเป็นคุณธรรมของครู  หมายถึง  คุณสมบัติที่เป็นความดี  ความถูกต้อง  เหมาะสม  ซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจของครู และเป็นแรงผลักดันให้ครูกระทำหน้าที่ของครูอย่างถูกต้องเหมาะสมได้อย่างสมบูรณ์

สรุปความสำคัญของคุณธรรมของครูคือ
  1. ด้านตัวครู

1.1     สัมมาทิฏฐิ  การเห็นชอบ  หมายถึง  การเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม  เป็นแสงสว่างส่องทางให้พ้นทุกข์  ครูทั้งหลายหากมีสัมมาทิฏฐิและถือปฏิบัติเป็นอย่างดีย่อมเป็นครู

1.2  สัมมาสังกัปปะ  การดำริชอบ  หมายถึง  การคิดอย่างฉลาด  รอบคอบ  รู้จัก  ไตร่ตรอง  เป็นผู้มีวิธีคิด  รู้จักใช้ความคิดในทางที่ถูกต้องดีงาม  คิดในทางสร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง  ต่อศิษย์ และต่อสังคม

1.3  สัมมาวาจา  การพูดจาชอบ  หมายถึง  การไม่พูดจาส่อเสียด  ไม่เพ้อเจ้อ  ไม่พูดหยาบและไม่พูดปดพูดเท็จ  วิธีพูดของครูมีผลต่อความรู้สึกและจิตใจของศิษย์เสมอ  หากครูพูดด้วยความจริงใจ  อ่อนโยน  ไพเราะ  ย่อมทำให้ศิษย์มีความเคารพและรักนับถือ

1.4  สัมมากัมมันตะ  การทำการงานชอบ  หมายถึง  การกระทำกิจการต่างๆ  ด้วยความเต็มใจ  และตั้งใจอย่างเต็มความสามารถ  เพื่อให้เกิดผลดีต่อผู้เกี่ยวข้อง

1.5     สัมมาอาชีพ  การเลี้ยงชีวิตชอบ  หมายถึง  การทำอาชีพสุจริต  และไม่ผิดกฎหมายทั้งหลาย

1.6  สัมมาวายามะ  การเพียรชอบ  หมายถึง  การมุ่งมั่นพยายามในทางดี  ครูต้องมีความเพียร  คือ  พยายามศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ  มีมานะพยายามสร้างความก้าวหน้าในชีวิตและหน้าที่การงานตามทำนองคลองธรรม

1.7  สัมมาสติ  การระลึกชอบ  หมายถึง  การพิจารณาไต่ตรองในทางที่ถูก  ทั้งมีสติปัญญาเฉียบแปลมรอบคอบ  ในการผจญปัญหาต่างๆ

1.8  สัมมาสมาธิ  ความตั้งใจมั่นชอบ  หมายถึง  การตั้งอยู่ในความสงบ  ไม่ปล่อยให้กิเลสทั้งหลายเกิดขึ้นจนทำให้หลงผิด  หากครูผู้มีความตั้งใจมั่นชอบย่อมเป็นผู้ประสพความสำเร็จในการดำเนินอาชีพครู

สรุป  อริยมรรคนี้จำแนกได้เป็น  3  กลุ่ม  คือ

กลุ่มแรก  ได้แก่  สัมมาทิฏฐิกับสัมมาสังกัปปะเป็นเรื่องของปัญญาหรือความสว่าง  กล่าวคือ  ผู้มีปัญญาหรือความสว่างย่อมรู้  และคิดในทางที่ถูกและที่ดี

กลุ่มที่สอง  คือ  สัมมาวาจา  สัมมากัมมันตะ  และสัมมาอาชีวะ  เป็นกลุ่มธรรมที่เกี่ยวกับการรักษาศีลหรือความสะอาด  ผู้มีธรรมเหล่านี้ย่อมไม่เกิดความสับสน  วุ่นวาย  ทะเลาะเบาะแว้งแข่งขันชิงดีชิงเด่น

กลุ่มสุดท้าย  คือ  สัมมาวายามะ  สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ  เป็นธรรมที่เกี่ยวกับสมาธิหรือความสงบ

2. พรหมวิหาร  4  เป็นธรรมที่ค้ำจุนโลก  ครูจะต้องมีธรรมประจำใจอันประเสริฐนี้เพื่อเป็นหลักประพฤติปฏิบัติตนที่ดีงาม  ได้แก่

2.1     เมตตา  คือ  ความรักใคร่  ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข  มีจิตใจที่ดีงาม  ผู้ที่เป็นครูอาจารย์จะต้องมีเมตตาเป็นที่ตั้ง

2.2     กรุณา  ความสงสาร  เอ็นดูศิษย์  พึงช่วยเหลือให้พ้นจากความทุกข์และความไม่รู้

2.3  มุทิตา  คือ  ความชื่นชมยินดีเมื่อศิษย์ได้ดี  และยกย่องเชิดชูให้ปรากฏ  อันเป็นการให้กำลังใจและช่วยให้เกิดความภูมิใจในตนเอง

2.4  อุเบกขา  คือ  การวางตัววางใจเป็นกลาง  อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา  มีจิตเรียบตรงเพียงธรรมดุจตราชั่ง  ไม่เอนเดียงด้วยรักหรือชัง  พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม  พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลเมื่อผู้อื่นร้อนเป็นทุกข์

3. ฆราวาสธรรม  4  เป็นหลักธรรมที่ให้แนวคิดเกี่ยวกับการครองเรือน  และหลักการครองชีวิตของคฤหัสถ์  มี  4  ประการ  คือ

3.1  สัจจะ  คือ  ความจริง  ความซื่อตรง  ซื่อสัตย์ และจริงใจ  ซึ่งจำแนกออกได้เป็นสัจจะต่อตนเอง  ต่อผู้อื่น  ต่อหน้าที่การงาน และต่อประเทศชาติ

3.2     ทมะ  คือ  การฝึกฝน  การข่มใจ  ฝึกนิสัย  รู้จักควบคุมจิตใจ  แก้ไขข้อบกพร่อง   ตั้งมั่นในจุดหมาย  ไม่ท้อถอย

3.3  จาคะ  คือ  การเสียสละ  การให้รู้จักละกิเลส  มีใจกร้าวพร้อมที่จะรับฟังความทุกข์  ความคิดเห็น  แสดงความต้องการของผู้อื่น  พร้อมที่จะร่วมมือ  ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น

4.สังคหวัตถุ  4  เป็นหลักธรรมที่ให้แนวคิดเกี่ยวกับการยึดเหนี่ยวจิตใจบุคคล และการประสานความสามัคคีในกลุ่มคน  ประกอบด้วย

4.1     ทาน  หมายถึง  การให้  ครูอาจารย์จะต้องให้คำแนะนำสั่งสอน   ให้ความรู้และความเข้าใจในเรื่องต่างๆ

4.2  ปิยวาจา  หมายถึง  พูดจาด้วยน้ำใจหวังดี  มุ่งให้เป็นประโยชน์และเกิดผลดี  ทำให้เกิดความเชื่อถือและเคารพนับถือ

4.3  อัตถจริยา  หมายถึง  การประพฤติอันเป็นประโยชน์  การขวนขวายช่วยเหลือกิจการสาธารณประโยชน์  ตลอดจนช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางจริยธรรมแก่ผู้อื่น

4.4  สมานัตตตา  หมายถึง  การทำตนให้เสมอต้นเสมอปลาย  ตลอดจนการวางตัวให้เหมาะแก่ฐานะ  ภาวะ  บุคคล  เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม

5. อิทธิบาท  4  เป็นหลักธรรมที่ทำให้ทำงานประสพความสำเร็จ  ประกอบด้วย

5.1  ฉันทะ  คือ  ความพึงพอใจ  ความต้องการที่จะทำ  ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ  และปรารถนาทำให้ได้ผลดียิ่งๆ  ขึ้นไป

5.2     วิริยะ  คือ  ความเพียร  ขยันหมั่นเพียรประกอบสิ่งนั้นๆ  ด้วยความพยายามเข้มแข็งอดทน

5.3  จิตตะ  คือ  ความคิดตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำและทำสิ่งนั้นด้วยความคิด  เอาจิตฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านจากสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ

5.4  วิมังสา  คือ  ความไตร่ตรอง  หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผล และมีการวางแผน  ปรับปรุงงานอยู่เสมอ

นอกจากนี้คุณยังอาจต้องการ

ความเห็นถูกปิด

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี