ปรัชญาการศึกษา และจรรยาบรรณ สำหรับครูหลักธรรมสำหรับครู

หลักธรรม สำหรับครู : ครองตน ครองคน ครองงาน

หลักธรรม ที่นำมาฝากครูในครั้งนี้ ขอแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ
1.หลักธรรม สำหรับการครองตน
2.หลักธรรม สำหรับการครองคน
3.หลักธรรม สำหรับการครองงาน

1.หลักธรรม สำหรับการครองตน

1.1 ฆราวาสธรรม 4
ฆราวาสธรรม แปลว่า ธรรมสำหรับผู้ครองเรือน หรือธรรมสำหรับการครองเรือน มีอยู่ 4 ข้อ คือ
1) สัจจะ ซื่อสัตย์ต่อกัน
2) ทมะ รู้จักข่มจิตของตน
3) ขันติ มีความอดทน
4) จาคะ รู้จักเสียสละแบ่งปันของตนแก่คนที่ควรให้ปัน
ความซื่อสัตย์สุจริตต่อกันเป็นหัวใจของการครองเรือน สามีภรรยาและสมาชิกในครอบครัว ถ้ามี

คุณธรรมข้อนี้แล้ว จะอยู่ด้วยกันด้วยความราบรื่น สามัคคีกัน มีความสงบสุข และการอยู่ร่วมกันนั้น ถ้าสามีภรรยาและคนในครอบครัว รู้จักข่มจิตใจตนเอง ไม่เอาแต่ใจตนเอง จะทำอะไรก็มีความยับยั้งชั่งคิด ไม่ทำอะไรเกินขอบเขต หรือนอกลู่นอกทางตามอำเภอใจ ครอบครัวก็จะมีระเบียบวินัย เมื่อมีการกระทำสิ่งใดเป็นการกระทบกระทั่งกันเป็นบางครั้งบางคราว ก็มีน้ำใจอดทนไม่ถือโกรธ หรือไม่โกรธตอบ ฝ่ายหนึ่งเย็นเข้าไว้ ครอบครัวก็จะมีความสงบ ความเสียสละ คือรู้จักเสียสละช่วยเหลือญาติมิตร ตลอดถึงเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงกัน ก็จะทำให้ได้รับไมตรีจิตจากญาติมิตรและเพื่อนบ้าน ครอบครัวจะไม่อยู่โดดเดี่ยว จะมีคนช่วยเหลือเมื่อเกิดอันตรายหรือพบอุปสรรค

ข้าราชการครูควรปฏิบัติตามหลักฆราวาสธรรม 4 ประการนี้ เพื่อให้ครอบครัวมีความสามัคคี ไม่วิวาทบาดหมางกัน และอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขตลอดไป

1.2 วุฑฒิธรรม 4

วุฑฒิธรรม แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องนำไปสู่ความเจริญ ทำให้ผู้ปฏิบัติได้รับความเจริญก้าวหน้าในชีวิต
ตามความประสงค์ มีอยู่ 4 ข้อ คือ
1) สัปปุริสสังเสวะ การคบสัตบุรุษ คือคบกับคนที่มีความสงบกาย วาจา ใจ หรือประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ และมีสติปัญญา รู้จักเหตุรู้จักผล รู้จักตน รู้จักเวลา รู้จังสังคม และรู้จักบุคคลที่ควรคบและไม่ควรคบ และตนเองก็เป็นเช่นสัตบุรุษนั้น

2) สัทธัมมัสสวนะ ควรตั้งใจฟัง ตั้งใจศึกษา และปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอนของสัตบุรุษ เพราะสัตบุรุษจะไม่แนะนำในสิ่งที่ไร้ประโยชน์

3) โยนิโสมนสิการ คือ เมื่อฟังแล้ว ต้องรู้จักไตร่ตรองพิจารณาด้วยปัญญาของตนก่อน เพื่อจะได้เป็นคนไม่เชื่องมงาย ไตร่ตรองดูให้รอบคอบ ว่า สิ่งที่ได้ฟังมานั้นถูกต้องตามหลักเหตุผลหรือไม่เพียงใด การทำอย่างนี้ย่อมเป็นทางก่อให้เกิดปัญญา

4) ธัมมานุธัมมปฏิบัติ เมื่อฟังแล้ว ไตร่ตรองดีแล้ว ให้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง แล้เราจะเห็นผลด้วยตนเอง

วุฑฒิธรรม 4 ข้อนี้ ในพระไตรปิฎก พระพุทธองค์ทรงแสดงว่าเป็น ปัญญาวุฑฒิ คือธรรมเป็นเครื่อง

นำไปสู่ความเจริญแห่งปัญญา หมายความว่า เมื่อปฏิบัติธรรม 4 ข้อนี้แล้ว ย่อมจะเกิดปัญญา เกิดความรู้ ความเฉลียวฉลาดขึ้นในใจ

1.3 จักรธรรม 4

จักรธรรม แปลว่า ธรรมเป็นเหมือนล้อรถ หมายความว่า รถจะใช้เป็นพาหนะขับไปสู่เป้าหมายได้ ต้อง
เป็นรถที่มีล้อ คนเราจะก้าวไปสู่ความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็จะต้องมีธรรมเป็นล้อ กล่าวคือ ต้องดำเนินชีวิตโดยมีธรรมประจำใจ ได้แก่จักรธรรม 4 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า จักร 4 คือ

1) ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในถิ่นอันสมควร หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีความสะดวกปลอดภัย เจริญอุดมสมบูรณ์

2) สัปปุริสูปัสสยะ การคบสัตบุรุษ คือเลือกคบแต่คนดี ปรึกษาหารือ ร่วมคิด ร่วมทำ หรือประพฤติตามอย่างคนดีนั้น

3) อัตตสัมมาปณิธิ การตั้งตนไว้ชอบ ได้แก่การตั้งจิตใจของตนไว้ในทางที่ถูกที่ควร เช่น ตั้งใจระวังไม่กระทำความชั่ว ตั้งใจละเลิกความชั่ว ตั้งใจทำความดี ตั้งใจรักษาความดีไว้ให้คงอยู่และให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป หรือตั้งตนไว้ในทางยุติธรรม คือไม่ลำเอียงด้วยอคติทั้ง 4 ตั้งตนไว้ในคุณธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ตลอดจนวางตนให้เหมาะสมกับฐานะ ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น

4) ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ในปางก่อน ให้รู้จักการทำความดีไว้ เพราะการทำความดีย่อมมีส่วนสนับสนุนการกระทำในปัจจุบันให้ประสบความสำเร็จ ไม่มีใครสร้างบ้านให้เสร็จในวันเดียวได้ ดังนั้นเราควรประกอบความดีอย่างสม่ำเสมอ

1.4 อายุวัฒนธรรม 5

อายุวัฒนธรรม แปลว่า ธรรมที่ทำให้อายุยืน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อายุสสธรรม แปลว่า ธรรมที่เกื้อกูล
แก่อายุ หมายความว่า ธรรมที่ช่วยให้อายุยืน มีอยู่ 5 ประการ คือ

1) สัปปายการี รู้จักทำความสบายแก่ตน

2) สัปปารยมัตตัญญู รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย

3) ปริณตโภชี บริโภคอาหารที่ย่อยง่าย

4) กาลจารี ประพฤติเหมาะในเรื่องเวลา

5) พรหมจารี คือพรหมจรรย์

การรู้จักอยู่ในที่มีอากาศสบาย สถานที่สะอาดเรียบร้อย และรู้จักระงับสติอารมณ์ไม่ให้มีความวิตกกังวล หรือขุ่นเคืองอยู่ในใจ ชื่อว่ารู้จักทำความสบายแก่ตนเอง เมื่อได้รับสิ่งที่สบายแก่ตนเอง ก็ต้องรู้จักประมาณ คือรู้จักความพอดีในสิ่งนั้น ไม่ทำตนให้สบายเกินไป อย่างนี้เรียกว่า รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย การบริโภคอาหารที่ละเอียดอ่อน เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ชื่อว่าบริโภคอาหารที่ย่อยง่าย การทำสิ่งใดรู้จักทำเป็นเวลา ทำพอเหมาะแก่เวลา พักผ่อนพอเหมาะแก่เวลา กินนอนเป็นเวลา อย่างนี้ชื่อว่าประพฤติเหมาะในเรื่องเวลา ผู้เป็นบรรพชิตถือพรหมจรรย์ ผู้เป็นคฤหัสถ์ รู้จักประมาณในกามกิจ ไม่มักมากในกาม ชื่อว่าถือพรหมจรรย์ ผู้ที่ปฏิบัติตามหลักอายุวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ได้ ย่อมจะเป็นผู้ที่มีอายุยืน

1.5 สัปปุริสธรรม 7

สัปปุริสธรรม แปลว่า ธรรมของสัตบุรุษ คือคนดี หรือธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ มี 7 อย่าง คือ
1) ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ คือ ความรู้จักว่าสิ่งนี้เป็นเหตุของสิ่งนี้ เช่น รู้ว่าสิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ หรือพบผลแล้วรู้ชัดว่า ผลนั้นเกิดมาจากเหตุ ผลดีย่อมมาจากเหตุดี ผลชั่วย่อมมาจากเหตุชั่ว อย่างนี้เรียกว่า ธัมมัญญุตา

2) อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล คือ ความรู้ชัดว่า สิ่งนี้เป็นผลของสิ่งนี้ เช่น รู้ว่า สุขเป็นผลแห่งเหตุอันนี้ ทุกข์เป็นผลแห่งเหตุอันนี้ หรือพบเหตุแล้วรู้จักคาดผลได้ว่า เหตุนั้นจะต้องได้ผลอย่างนี้แน่นนอน เหตุดีย่อมได้ผลดี เหตุชั่วย่อมได้ผลชั่ว อย่างนี้เรียกว่าอัตถัญญุตา

3) อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตน คือ ความรู้ชัดว่า ตนเองมีฐานะเป็นอย่างไร แล้วประพฤติตนให้เหมาะสมกับภาวะและฐานะของตน

4) มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ คือ รู้จักพอดี รู้จักประมาณในการแสวงหาและใช้จ่ายทรัพย์เลี้ยงชีพ

5) กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาล คือรู้จักเวลาอันเหมาะสมแก่การประกอบกิจและระยะเวลาที่ต้องใช้ในการประกอบกิจ การตรงต่อเวลา มาปฏิบัติงานให้ตรงต่อเวลา ทำให้พอเหมาะกับเวลาที่กำหนด

6) ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักชุมชน คือรู้จักชุมชน หรือสังคมและรู้จักกิริยาที่ต้องประพฤติต่อชุมชนนั้น ๆ ว่า หมู่นี้เมื่อเข้าไปหาจะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ เป็นต้น

7) ปุคคลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักบุคคล คือรู้จักบุคคล รู้จักเลือกบุคคล ว่า ผู้นี้เป็นคนดีควรคบ ผู้นี้เป็นคนไม่ดีไม่ควรคบ ผู้นี้มีอัธยาศัยเป็นอย่างนี้ มีคุณธรรมอย่างนี้เป็นต้น

2.หลักธรรมสำหรับการครองคน

2.1 พรหมวิหาร 4

พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของท่านผู้ใหญ่ หมายความว่า ผู้ใหญ่จะเป็นบิดามารดา เป็นผู้ปกครอง ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง หรือเป็นใหญ่ในฐานะอื่น ๆ จะเป็นผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือ ควรกราบไหว้บูชาของผู้น้อย จะต้องตั้งอยู่ในพรหมวิหารธรรมทั้ง 4 นี้ คือ

1) เมตตา ความรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข กล่าวคือ ความรักที่เกิดจากความบริสุทธ์ใจอย่างพ่อแม่รักลูก หรือลูกรักพ่อแม่

2) กรุณา ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ กล่าวคือ เมื่อเห็นคนอื่นได้รับทุกข์แล้ว เกิดความสงสาร หวั่นใจ ไม่นิ่งนอนใจ คิดช่วยให้คนอื่นพ้นทุกข์ ให้พ้นโศก พ้นโรค พ้นภัย

3) มุทิตา ความพลอยยินดี เมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี กล่าวคือ เมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี มีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็มีความพลอยยินดี อนุโมทนาด้วย ไม่คิดอิจฉาริษยา มีแต่ความชื่นชมยินดีกับเขา

4) อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง กล่าวคือ ความวางใจเป็นกลาง ไม่เข้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือไม่คิดซ้ำเติมผู้อื่นในเมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ

2.2 สังคหวัตถุ 4 ได้แก่

1) ทาน การให้สิ่งตอบแทน ให้รางวัลการทำงาน

2) ปิยวาจา การพูดไพเราะอ่อนหวาน

3) อัตถจริยา การรู้จักวางตัวอย่างเหมาะสม

4) สมานัตตา การเสมอต้นเสมอปลาย ไม่หน้าไหว้หลังหลอก

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้นำต้องมีคือ ความเที่ยงธรรม หรือความยุติธรรม เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผู้นำลำเอียง เพราะรัก เพราะหลง เพราะโกรธ เพราะกลัว จะทำให้เกิดความแตกแยกในผู้ร่วมงาน

3.หลักธรรมสำหรับการครองงาน

3.1 อิทธิบาท 4 ได้แก่

1) ฉันทะ ความพึงพอใจในสิ่งที่ทำ สิ่งที่มีอยู่

2) วิริยะ ความเพียรพยายามอุตสาหะในหน้าที่การงาน ไม่ท้อแท้ ไม่เอาเปรียบผู้อื่น

3) จิตตะ ความเอาใจใส่ ความปฏิบัติงาน การใฝ่หาวิชาความรู้ประสบการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงาน

4) วิมังสา การใช้สติปัญญา ใคร่ครวญ ไตร่ตรองให้รอบคอบ

Related Articles

Back to top button
QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี