เทคนิคการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (co-operative learning)
สังคมเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน วิธีการสอนของครูก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย ครูประถม มี เทคนิคการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (co-operative learning) เป็นวิธีที่ผู้เรียนทำการแก้ปัญหาร่วมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ สมาชิกทุกคนในกลุ่มมีความสำคัญต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของกลุ่มเพื่อบรรลุเป้าหมายสมาชิกทุกคนจึงช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้เกิดการเรียนรู้และแก้ปัญหา ครูเป็นผู้คอยให้ความช่วยเหลือจัดหาและชี้แนะแหล่งข้อมูลในการเรียนตัวนักเรียนเองจะเป็นแหล่งความรู้ซึ่งกันและกันในกระบวนการเรียนรู้ โดย เทคนิคการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ …..
มี 24 เทคนิค
1. เทคนิคการพูดเป็นคู่ (Rally robin) นักเรียนแบ่งเป็นกลุ่มย่อย แล้วพูด ตอบ แสดงความคิดเห็นเป็นคู่ ๆ แต่ละคู่จะผลัดกันพูด และฟังโดยใช้เวลาเท่าๆ กัน (Kagan. 1995 : 35)
2. เทคนิคการเขียนเป็นคู่ (Rally table) นักเรียนแบ่งเป็นกลุ่มย่อย แต่ละคู่ผลัดกันเขียนหรือวาดแทนการพูด (Kagan. 1995 : 35)
3. เทคนิคการพูดรอบวง (Round robin) นักเรียนในกลุ่มจะผลัดกันพูด ตอบ อธิบาย โดยผลัดกันทีละคนตามเวลาที่กำหนดจนครบ 4 คน (Kagan. 1995 : 32-33)
4. เทคนิคการเขียนรอบวง (Round table) นักเรียนในกลุ่มแสดงความคิดเห็นเมื่อครูถามปัญหา นักเรียนจะผลัดกันเขียนลงในกระดาษที่เตรียมไว้ทีละคนตามเวลาที่กำหนด (Kagan. 1995 : 34-35)
5. เทคนิคการเขียนพร้อมกันรอบวง (Simultaneous round table) นักเรียนในกลุ่มแสดงความคิดเห็นเมื่อครูถามปัญหา นักเรียนทุกคนในกลุ่มเขียนคำตอบพร้อมกัน (Kagan. 1995 : 35)
6. เทคนิคคู่ตรวจสอบ (Pairs check) สมาชิกในกลุ่มจับคู่กันทำงาน เมื่อได้รับคำถามหรือปัญหาจากครู นักเรียนคนหนึ่งจะเป็นคนทำและอีกคนหนึ่งทำหน้าที่เสนอแนะแล้วผลัดกัน เมื่อทำเสร็จครบ2 ข้อ แต่ละคู่จะนำคำตอบมาแลกเปลี่ยนและตรวจสอบคำตอบของคู่อื่น (Kagan. 1995 : 32-33)
7. เทคนิคร่วมกันคิด (Numbered heads together) แบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มด้วยกลุ่มละ 4 คน ทีมีความสามารถคละกัน แต่ละคนมีหมายเลขประจำตัว แล้วครูถามคำถาม หรือมอบหมายงานให้ทำ แล้วให้นักเรียนได้อภิปรายในกลุ่มย่อยจนมั่นใจว่าสมาชิกในกลุ่มทุกคนเข้าใจคำตอบ ครูจึงเรียนหมายเลขประจำตัวผู้เรียน หมายเลขที่ครูเรียกจะเป็นผู้ตอบคำถามดังกล่าว (Kagan. 1995 : 28-29)
8. เทคนิคการเรียงแถว (Line-ups) นักเรียนยืนแถวเรียงลำดับภาพ คำ หรือสิ่งที่ครูกำหนดให้ เช่น ครูให้ภาพตัวเลขแก่นักเรียน นักเรียนเข้ามายืนเรียงลำดับตามหมายเลข เป็นต้น (Kagan. 1995 : 25)
9. เทคนิคการแก้ปัญหาด้วยจิ๊กซอ (Jigsaw problem solving) นักเรียนแต่ละคนคิดคำตอบของตนไว้ แล้วนำมารวมกัน เพื่อแก้ปัญหาให้ได้คำตอบที่สมบูรณ์เหมาะสมที่สุด (Kagan. 1995 : 32-33)
10. เทคนิควงกลมซ้อน (Inside–outside circle) นักเรียนนั่งหรือยืนเป็นวงกลมซ้อนกัน 2 วง จำนวนเท่ากัน วงในหันหน้าออกและวงนอกหันหน้าเข้า นักเรียนที่อยู่ตรงกับจับคู่กันเพื่อสัมภาษณ์หรืออภิปรายปัญหาร่วมกัน จากนั้นจะหมุนเวียนเพื่อเปลี่ยนคู่ใหม่ไปเรื่อยๆ ไม่ซ้ำคู่กัน โดยนักเรียนวงนอกและวงในเคลื่อนไปในทิศทางตรงข้ามกัน ( Kagan. 1995 : 10)
11. เทคนิคแบบมุมสนทนา (Corners) ครูเสนอปัญหาและประกาศมุมต่าง ๆ ภายในห้องเรียนแทนแต่ละข้อ แล้วนักเรียนแต่ละกลุ่มย่อยเขียนหมายเลขข้อที่ชอบมากกว่า แล้วเคลื่อนเข้าสู่มุมที่เลือกไว้ นักเรียนร่วมกันอภิปรายภายในกลุ่มตามมุมต่างๆ หลังจากนั้นจะเปิดโอกาสให้นักเรียนในมุมใดมุมหนึ่งอภิปรายเรื่องราวที่ได้ศึกษาให้เพื่อนในมุมอื่นฟัง (Kagan. 1995 : 20-21)
12. เทคนิคการอภิปรายเป็นคู่ (Pair discussion) ครูกำหนดหัวข้อหรือคำถาม นักเรียนทีนั่งใกล้กันร่วมกันคิดและอภิปรายเป็นคู่ (Kagan. 1995 : 35 อ้างถึงใน พิมพันธ์ เดชะคุปต์. 2541 : 45)
13. เทคนิคเพื่อนเรียน (Partners) นักเรียนในกลุ่มจับคู่เพื่อช่วยเหลือกัน คู่หนึ่งอาจไปขอคำแนะนำหรือคำอธิบายจากคู่อื่นๆ ที่คาดว่าจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และเช่นเดียวกันเมื่อคู่นั้นเกิดความเข้าใจที่แจ่มชัดแล้ว ก็จะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้คู่อื่นๆ ต่อไป (อรพรรณ พรสีมา. 2540 : 17)
14. เทคนิคการคิดเดี่ยว คิดคู่ ร่วมกันคิด (Think – pair – share) ครูกำหนดนัปัญหา นักเรียนแต่ละคนคิดหาคำตอบด้วยตนเองก่อนแล้วนำคำตอบไปอภิปรายกับเพื่อนที่เป็นคู่ จากนั้นจึงนำคำตอบของแต่ละคู่มาอภิปรายพร้อมกัน 4 คน เมื่อมั่นใจว่าคำตอบของตนถูกต้องหรือดีทีสุด จึงนำคำตอบเล่าให้เพื่อนทั้งชั้นฟัง (Kagan. 1995 : 46-47 อ้างถึงใน พิมพันธ์ เดชะคุปต์. 2541 : 41-44)
15. เทคนิคการทำเป็นกลุ่ม ทำเป็นคู่ และทำคนเดียว (Team – pair – solo) ครูกำหนดปัญหาหรืองาน นักเรียนทำงานร่วมกันทั้งกลุ่มจนงานสำเร็จแล้วแยกทำงานเป็นคู่จนงานสำเร็จ สุดท้ายนักเรียนแต่ละคนแยกมาทำเองจนสำเร็จได้ด้วยตนเอง (Kagan. 1995 : 10 อ้างถึงใน พิมพันธ์ เดชะคุปต์. 2541 : 41-45)
16. เทคนิคการอภิปรายเป็นทีม (Team discussion) ครูกำหนดหัวข้อหรือคำถาม นักเรียนทุกคนในกลุ่มร่วมกันระดมความคิด และพูดอภิปรายพร้อมกัน (Kagan. 1995 : 38 อ้างถึงใน พิมพันธ์ เดชะคุปต์. 2541 : 45)
17. เทคนิคโครงงานเป็นทีม (Team project) ครูอธิบายโครงงานให้นักเรียนเข้าใจก่อน กำหนดเวลา บทบาทของสมาชิกในกลุ่ม การหมุนเวียนบทบาท แจกอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันทำโครงงานที่ได้รับมอบหมาย จากนั้นจะมีการนำเสนอโครงงานของแต่ละกลุ่ม (Kagan. 1995 : 42-43)
18. เทคนิคสัมภาษณ์เป็นทีม (Team – interview) กำหนดหมายเลขของสมาชิกแต่ละคนในกลุ่ม ครูผู้สอนกำหนดหัวข้อให้นักเรียนอภิปรายทั้งชั้น สุ่มหมายเลขของนักเรียนในกลุ่มยืนขึ้นแล้วให้เพื่อนๆ ร่วมทีมเป็นผู้สัมภาษณ์และผลัดกันถาม โดยเรียงลำดับเพื่อนให้ทุกคนมีส่วนร่วมเท่า ๆ กัน เมื่อหมดเวลาตามที่กำหนด คนที่ถูกสัมภาษณ์นั่งลง และนักเรียนหมายเลขต่อไปนี้และถูกสัมภาษณ์หมุนเวียนเช่นนี้เรื่อยไปจนครบทุกคน (Kagan. 1995 : 40-41)
19. เทคนิคบัตรคำช่วยจำ (Color-coded co-op cards) เป็นเทคนิคที่ฝึกให้นักเรียนจดจำข้อมูลจากการเล่นเกมที่ใช้บัตรคำถาม บัตรคำตอบ นักเรียนแต่ละกลุ่มที่เตรียมบัตรมาเป็นผู้ถาม และมีการให้คะแนนกับกลุ่มที่ตอบได้ถูกต้อง (Kagan. 1995 : 38)
20. เทคนิคการสร้างแบบ (Formations) ครูผู้สอนกำหนดวัตถุประสงค์หรือสิ่งที่ต้องการให้นักเรียนสร้าง นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันอภิปรายและทำงานร่วมกันเพื่อสร้างชิ้นงาน หรือสาธิตงานที่ได้รับมอบหมาย (Kagan. 1995 : 22 )
21. เทคนิคเกมส่งปัญหา (Send- a-problem) นักเรียนทุกคนในกลุ่มตั้งปัญหาด้วยตัวเองคนละ 1 คำถามไว้ด้านหน้าของบัตรและคำตอบซ่อนอยู่หลังบัตร แต่ละคนในกลุ่มกำหนดหมายเลขประจำตัว 1-4 เริ่มแรกนักเรียนหมายเลข 4 ส่งปัญหาของกลุ่มให้หมายเลข 1 ในกลุ่มถัดไป ซึ่งจะเป็นผู้อ่านคำถามและตรวจสอบคำตอบส่วนสมาชิกคนอื่นในกลุ่มตอบคำถามในข้อถัดไปจะหมุนเวียนให้สมาชิกหมายเลขอื่นตามลำดับ คือ นักเรียนหมายเลข 2 เป็นผู้อ่านคำถาม และตรวจคำตอบจนครบทุกคนในกลุ่ม แล้วเริ่มใหม่ในลักษณะเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ในรอบต่อๆ ไป (Kagan. 1995 : 36-37)
22. เทคนิคแลกเปลี่ยนปัญหา (Trade-a-problem) นักเรียนแต่ละคู่ตั้งคำถามเกี่ยวกับหัวข้อที่เรียนและเขียนคำตอบเก็บไว้ จากนั้นให้นักเรียนแต่ละคู่แลกเปลี่ยนคำถามกับเพื่อนคู่อื่น แต่ละคู่จะช่วยกันแก้ปัญหาจนเสร็จ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับวิธีการแก้ปัญหาของเพื่อนเจ้าของปัญหานั้น (Kagan. 1995 : 59)
23. เทคนิคแบบเล่นเลียนแบบ (Match mine) นักเรียนกลุ่มหนึ่งเรียงวัตถุที่กำหนดให้เหมือนกัน โดยผลัดกันบอกซึ่งแต่ละคนจะทำตามคำบอกเท่านั้นห้ามไม่ให้ ดูกัน วิธีนี้ใช้ประโยชน์ในการฝึกทักษะด้านการสื่อสารให้แก่นักเรียนได้ (Kagan. 1996 : 16)
24. เทคนิคเครือข่ายความคิด(Team word – webbing) นักเรียนเขียนแนวคิดหลัก และองค์ประกอบย่อยของความคิดหลักพร้อมกับแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความคิดหลักกับองค์ประกอบย่อยบนแผ่นกระดาษลักษณะของแผนภูมิความรู้ (Kagan. 1995 : 36)
อ้างอิง
Kagan, S. Cooperative Learning & Wee Science. San Clemento : Kagan Cooperative Learning, 1995.
________. Cooperative Learning and Mathematics. San Juan Capistrano : Kagan Cooperative Learning, 1996 a.
http://www.sahavicha.com
http://kruvoice.com