Take a fresh look at your lifestyle.

คุณธรรมของครู : ลักษณะของครูดีตามคำสอนในพุทธศาสนา

ลักษณะของครูดี ตามคำสอนในพุทธศาสนา หลักคำสอนหรือหลักธรรมในพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับความเป็นคร ประกอบด้วย

หลักธรรม 7 ประการ คือ

  1. ปิโย น่ารัก คือ การทำตัวเป็นที่รักต่อศิษย์และบุคคลทั่วไป การที่ครูจะเป็นที่รักแก่ศิษย์ได้ ก็ควรตั้งตนอยู่ใน พรหมวิหาร4 คือ

1.1 มีเมตตา ปรารถนาดีต่อศิษย์ หาทางให้ศิษย์เป็นสุขและเจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านวิชาการและการดำเนินชีวิต คอยระวังมิให้ศิษย์ตกอยู่ในความประมาท

1.2 มีกรุณา สงสาร เอ็นดูศิษย์ อยากช่วยเหลือให้พ้นจากความทุกข์ ความไม่รู้

1.3 มีมุทิตา คือ ชื่นชมยินดีเมื่อศิษย์ได้ดี และยกย่องเชิดชูให้ปรากฏเป็นการให้กำลังใจและช่วยให้เกิดความภูมิใจในตนเอง

1.4 มีอุเบกขา คือ วางตัวเป็นกลาง จิตใจที่ตั้งอยู่ในความยุติธรรม ไม่ลำเอียง ไม่มีอคติ

  1. ครุ หมายถึง การเป็นบุคคลที่มีความหนักแน่นมั่นคง ทั้งในด้านของจิตใจที่หนักแน่นมั่นคง ที่จะดำรงตนอยู่ใน ความดีไม่หวั่นไหวไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา และความหนักแน่นในด้านของความรอบรู้ธรรม ที่จะช่วยให้ครู มีคุณสมบัติ ดังกล่าว คือ พละ5ประการ ได้แก่

2.1 ศรัทธาพละ คือ มีความเชื่อในทางที่ชอบ เช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

2.2 วิริยะพละ คือ ความเพียรในทางที่ชอบ คือ เพียรเลิกละความชั่ว เพียรระวังความชั่วไม่ให้เกิดในสันดาน

2.3 สติพละ หมายถึง ความระลึกได้ มีความรู้สึกตัวในการกระทำ การพูด การคิดให้รอบคอบ

2.4 สมาธิพละ หมายถึง ความมีใจจดจ่อแน่วแน่มั่นคงในสิ่งที่เป็นบุญกุศล พลังสมาธินี้จะเป็นกำลังต่อต้าน ความฟุ้งซ่านมิให้เกิดขึ้นในใจ

2.5 ปัญญาพละ หมายถึง ความรอบรู้ คือรู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรควรทำอะไรควรเว้น อะไรเป็นประโยชน์ และอะไรไร้ประโยชน์

  1. ภาวนิโย การเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีความประพฤติดีงามควรแก่การเคารพ
  2. วัตตา คือ เป็นผู้มีมานะในการตักเตือนสั่งสอน เพื่อให้ศิษย์มีความรู้ความสามารถ และเป็นคนดี คือใช้ความรู้ ความสามารถไปในทางสุจริต เป็นประโยชน์ ต่อตนเองและผู้อื่นได้ ลักษณะการสอนในแง่ของพุทธศาสนามี5 ประการ คือ

4.1 สันทัสสนา คือ สอนให้เข้าใจชัดเจน เห็นจริงอย่างที่ต้องการ ซึ่งจะต้องดำเนินไปตามลำดับขั้นดังนี้ คือ สอนจากสิ่งที่รู้แล้ว ไปหาสิ่งที่ยังไม่รู้ สอนจากสิ่งที่ง่ายไปหาสิ่งยาก สอนจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมไปหาสิ่งที่เป็นนามธรรม

4.2 สมาทปนา มีการกระตุ้นเร่งเร้า เพื่อให้เกิดความกระตือรืนร้นที่จะประพฤติปฏิบัติตามที่ครูสอน

4.3 สมุตเตชนา สร้างกำลังใจ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ ไม่ครั่นคร้าม ต่อความยากลำบากหรืออุปสรรคใดๆ

4.4 สัมปหังสนา สร้างความเพลิดเพลินให้แก่ผู้เรียน คือมีเทคนิคในการสอนที่จะทำให้การเรียนการสอนน่าสนใจ

  1. วจนักขโม เป็นผู้มีความอดทนต่อถ้อยคำโดยมีเจตนาดีเป็นที่ตั้งการอดทนต่อกริยา วาจาอันก้าวร้าวรุนแรงของ ผู้อื่นได้นั้น เป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง
  1. คัมภีรัญจกถัง กัตตา สามารถขยายข้อความที่ยากให้ง่ายแก่การเข้าใจได้ การตีความในวิชาการนั้นๆ ให้ละเอียดลึกซึ้งง่ายแก่การเข้าใจ เพราะวิชาการต่างๆ ที่ครูนำมาสอนนั้นล้วนเป็นเรื่องที่ผู้เรียนไม่เคยเรียนมาก่อน ครูจะต้องมีวิธีที่จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องยากๆ ได้โดยง่าย โดยวิธีการ ดังนี้คือ

6.1 แสดงจุดเด่น หัวข้อสำคัญๆ หรือโครงสร้างของวิชานั้น เพื่อให้ ผู้เรียนเกิดความคิดรวบยอด ก่อนที่จะอธิบาย ในรายละเอียดต่อไป

6.2 แสดงเหตุผลในวิชานั้น เช่น อธิบายจากเหตุไปสู่ผล อธิบายจากผลไปสู่สาเหตุ ยกตัวอย่างประกอบหรือ เปรียบเทียบกับเนื้อหาของวิชาอื่นๆ ที่ใกล้เคียง

6.3 แสดงเนื้อหาที่เป็นแก่นหรือสาระสำคัญของวิชานั้นๆ ตลอดจนชี้ให้เห็นคุณค่าในเชิงปฏิบัติ เพราะผู้เรียน จะเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้นถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งใกล้ตัวสามารถนำมาปฏิบัติได้

  1. โนจัฏฐาเน นิโยชเย คือ การรู้จักและแนะนำศิษย์ไปในทางถูกที่ควรหมายถึง ไม่นำศิษย์ไปในทางที่เสื่อมเสีย หรือชักชวนไปสู่อบายมุข เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนัน เที่ยวสถานเริงรมย์ต่างๆ วิธีการแนะนำศิษย์ไปใน ทาง ที่ถูกที่ควรนั้นมีอยู่3 ประการ คือ

7.1 คิดหาวิธี ใช้วิธีขู่กำหราบ เป็นวิธีเตือนให้ศิษย์รู้สึกตัวและ ละความชั่ว กล่าวคือ เมื่อเห็นศิษย์ ประพฤติ ไปใน ทางที่ไม่ถูกไม่ควร

7.2 นัคคหวิธี ใช้วิธียกย่องชมเชย เป็นการกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดนิสัยที่ดีและป้องกันไม่ให้เกิดนิสัยที่ไม่ดี เมื่อใด ที่เห็นศิษย์ทำความดีครูจะต้องยกย่องชมเชย

7.3 ทิฎฐานคติวิธี ใช้วิธีกระทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ครูต้องการให้ศิษย์ประพฤติปฏิบัติอย่างไร ครูก็ต้องปฏิบัติตน เช่นนั้นให้ศิษย์ได้เห็นเป็นตัวอย่าง

พุทธทาสภิกขุ ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับครูที่ดีไว้ในการบรรยาย ณ สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัด สุราษฎร์ธานี วันที่ 4-9กันยายน 2527 สรุปได้ดังนี้คือ (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ, 2529 : 109 – 124)

ครูที่ดี

  1. ครูดี คือ ผู้นำทางวัตถุ หมายถึง การเป็นผู้นำใน4 ประการดังนี้ คือ

1.1 เป็นผู้นำในการแสวงหาอย่างถูกต้อง ยึดหลักการแสวงหาอย่างสัตบุรุษไม่ก่อให้เกิดทุกข์ ทั้งแก่ตนเองและ ผู้อื่น ไม่กระทบกระทั่งให้ผู้อื่นเดือดร้อน

1.2 เป็นผู้นำในการเสวยผลอย่างถูกต้อง หมายถึง ไม่ผูกขาดเอาผลที่ได้รับจากการแสวงหามาเป็นของตนแต่ ผู้เดียว แต่จะต้องเผื่อแผ่ไปให้แก่ผู้อื่นโดยรอบด้าน

1.3 เป็นผู้นำในการเป็นอยู่อย่างถูกต้อง คือ ดำเนินชีวิตโดยปฏิบัติตามอริยมรรค อันมีองค์แปด ซึ่งเมื่อปฏิบัติ จนถึงที่สุดแล้วจะเกิดปัญญาเห็นธรรมชาติ ตามสภาพที่เป็นจริง คือ ความไม่มีตัวตน ทุกสิ่งเป็นเพียง ผลการปรุง แต่งของธาตุต่างๆ ตามธรรมชาติ และจะต้องเกิด-ดับ ไป ตามสภาพ จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราของเรา อันจะก่อให้เกิดความเห็นแก่ตัว และเบียดเบียนซึ่งกันและกัน

1.4 เป็นผู้นำในการใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

  1. เป็นผู้นำทางวิญญาณ หมายถึง ความเป็นผู้นำในเรื่องจิตใจ4 ประการดังนี้คือ

2.1 มีความเข้าใจในกฏอิทิปปัจจัยตา คือ มองเห็นตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งในโลกนี้เป็นไปตามเหตุตาม ปัจจัย เมื่อมีเหตุมีปัจจัยอย่างไรก็มีผลไปตามเหตุตามปัจจัย

2.2 มีความเข้าใจกฏตถตา ตถตาเป็นภาษาบาลี แปลว่า เป็นเช่นนั้นเอง คือ ทุกสิ่งเป็นเช่นนั้นเองตามธรรมชาติ เช่น มีการเกิดก็ต้องมีตาย ในความสบายก็มีความเจ็บไข้ซ่อนอยู่ การเจ็บการตายล้วนเป็นเช่นนั้นเอง ตามธรรมชาติ ไม่ใช่โชคร้ายหรือเคราะห์ภัยอะไรทั้งสิ้น เป็นต้น

2.3 มีความเป็นอยู่อย่างไม่มีอุปสรรค คือ ไม่ถือเอาอุปสรรคเป็นสิ่งขัดขวางหรือทำให้ท้อถอย แต่ให้ยินดีรับเอา อุปสรรคที่เกิดขึ้นในชีวิต ในการงานหรือในจิตใจมาเป็นบทเรียนที่จะช่วยให้มีความรู้มีประสบการณ์ และมีความ สามารถในเรื่องนั้นๆ ดียิ่งขึ้น

2.4 มีความเป็นอยู่อย่างไม่มีทุกข์ ความทุกข์เกิดจากความไม่รู้ เช่น เมื่อมีความต้องการแล้วไม่เป็น ไปตาม ความต้องการที่เกิดความทุกข์ ถ้าไม่ต้องการให้เกิดทุกข์ก็ต้องให้ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ต้องการให้มาก ไป กว่า ความเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยนั้น

  1. มีชีวิตเป็นธรรม คือ อยู่ด้วยธรรมและเพื่อธรรม หมายถึง ใช้กรรมเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตเพื่อ ให้ได้ผลคือธรรมที่พึงปรารถนา เช่น การดับทุกข์ ธรรมที่เป็นเครื่องมืออยู่มากมายเช่น ฆราวาสธรรม อัน เป็นธรรม สำหรับผู้ครองเรือนมี4 ประการคือ

1.สัจจะ ความจริง
2.ทมะ ความข่มใจ
3.ขันติ ความอดทน
4.จาคะ การเสียสละ การให้

อิทธิบาท 4 คือ ธรรมที่ช่วยให้สำเร็จประโยชน์มี 4 ประการคือ

  1. ฉันทะ ความพอใจในสิ่งนั้น
  2. วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น
  3. จิตตะ ความเอาใจใส่ในสิ่งนั้น
  4. วิมังสา ความสอดส่องค้นคว้าในสิ่งนั้น

อย่างไรก็ตามธรรมบางประการก็เป็นได้ทั้งธรรมที่เป็นเครื่องมือ และธรรมที่เป็นผลเช่น ใช้ศีลเป็นเครื่องมือ ให้เกิดสมาธิ สมาธิจึงเป็นผลที่ต้องการ ขณะเดียวกันก็ใช้เป็นเครื่องมือให้เกิดผลคือปัญญา เป็นต้น

  1. มีอุดมคติ ครูดีจะต้องมีอุดมคติ4 ประการ คือ

4.1 ทำงานเกินค่า คือทำงานให้แก่โลกเกินค่าที่ได้รับตอบแทนจากสังคม เพราะครูเป็นผู้สร้างทางจิตใจ ซึ่งมีค่าเกินกว่าจะตีค่าเป็นเงิน

4.2 ทำงานเพื่อหน้าที่มิใช่เพื่อตนเอง ไม่เห็นแก่ตัว และไม่หวังประโยชน์ส่วนตน

4.3 ทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม ไม่หลงใหลในความสุขทางกาม ไม่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ

4.4 ทำงานเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ คือ เป็นผู้มีธรรมและมีชีวิตเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเอง แก่ผู้อื่นและแก่โลก

นอกจากนี้คุณยังอาจต้องการ

ความเห็นถูกปิด

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี