ทฤษฎีการศึกษา (EDUCATIONAL THEORY)
-
กลุ่มไลน์ข่าวการศึกษา
กลุ่มไลน์ข่าวการศึกษา
ทฤษฎีการศึกษา (Educational theory) การศึกษา หมายถึง การถ่ายทอดความรู้ทักษะและทัศนคติของคนรุ่นก่อนให้กับอนุชนรุ่นหลังของสังคม เพราะอนุชนรุ่นหลังคงไม่อาจเติบโตไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ถ้าไม่ได้ดูดซับความเชื่อเกี่ยวกับโลกทัศน์ และ ทักษะในการดำรงชีวิตและแก้ปัญหาของผู้ใหญ่ก่อนที่การศึกษาจะกลายมาเป็นกระบวนการสำคัญที่ต้องกระทำด้วยความตั้งใจและเป็นทางการและเป็นระบบ
ความหมายของทฤษฎี
ทฤษฎี คือข้อสมมติต่าง ๆ (Assumptions) หรือข้อสรุปเป็นกฎเกณฑ์ (Generalization) Herbert Feigl ได้ให้ความหมายของทฤษฎีไว้ว่า “ทฤษฎีเป็นข้อสมมติต่าง ๆ ซึ่งมาจากกระบวนการทางตรรกวิทยาและคณิตศาสตร์” Kneller ได้ให้ความหมายของทฤษฎีไว้เป็น 2 ความหมายด้วยกัน คือ
หมายถึง ข้อสมมติฐานต่าง ๆ (Hypothesis) ซึ่งกลั่นกรองแล้วจากการสังเกตหรือการทดลอง
หมายถึง ระบบของความคิดต่าง ๆ ที่นำปะติดปะต่อกัน (Coherent) D.J. O’Connor ได้ให้คำจำกัดความของทฤษฎีไว้เป็น 4 ลักษณะด้วยกัน คือ เป็นข้อสมมติฐานต่าง ๆ ที่กลั่นกรองแล้วโดยหลักของตรรกวิทยา เป็นการนำเอาความคิดรวบยอดมารวมกันเป็นโครงสร้าง เป็นสาระที่เกี่ยวกับปัญหา เป็นการกำหนดเงื่อนไขหรือกฎต่าง ๆ เพื่อควบคุมพฤติกรรมบางอย่าง
ทฤษฎีการศึกษา คือ การผสมผสานทฤษฎีการศึกษาต่างๆ (Eclecticism) การประยุกต์เอาหลักการและทฤษฎีทางการศึกษาไปใช้เป็นหลักในการจัดการศึกษานั้นกระทำกันหลายวิธี โดยทั่วไปมักจะใช้วิธีผสมผสานโดยเลือกสรรหลักการที่ดีของหลายทฤษฎีที่พอจะประมวลเข้าด้วยกันได้โดย ไม่ขัดแย้งกัน มาใช้เป็นแนวการจัดการศึกษา
ปรัชญาทางการศึกษา เป็นสิ่งกำหนดทิศทางของการจัดการศึกษา หรือเป้าหมายของการศึกษาที่กำหนดให้ผู้เรียนมีลักษณะเป็นอย่างไร
กล่าวได้ว่า ปรัชญาของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 มีเป้าหมายเพื่อสร้างคนไทยให้เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข มีศักยภาพพร้อมที่จะแข่งขัน และร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ในเวทีโลกได้ เพื่อให้การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นไปตามแนวนโยบายการจัดการศึกษาของประเทศ จึงกำหนดหลักการของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไว้ดังนี้
เป็นการศึกษาเพื่อความเป็นเอกภาพของชาติ มุ่งเน้นความเป็นไทยควบคู่กับความเป็นสากล
เป็นการศึกษาเพื่อปวงชน ที่ประชาชนทุกคนจะได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน โดยสังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาและเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยถือว่า ผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด สามารถพัฒนาตามธรรมชาติ และเต็มตามศักยภาพ
เป็นหลักสูตรที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นทั้งด้านสาระ เวลา และการจัดการเรียนรู้
เป็นหลักสูตรที่จัดการศึกษาได้ทุกรูปแบบ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย สามารถเทียบโอนผลการเรียนรู้ และประสบการณ์
“ปรัชญา” มาจากคำ 2 คำ คือ “ปร+ชญา” คำว่า ปร แปลว่า โดนรอบ กว้าง ไกล ส่วนคำว่า ชญา แปลว่า ความรู้ คำว่า ปรัชญา มาจากคำภาษาอังกฤษว่า
Philosophy เป็นคำที่มาจากภาษากรีกว่า Philosophia ซึ่งเป็นการสนธิคำระหว่าง
Philos กับ Sophia
เมื่อรวมความแล้วจะแปลว่า ความรักในความรู้(Love of Wisdom) ปรัชญามีส่วนช่วยกำหนดจุดมุ่งหมายของการศึกษาเพื่อให้ได้แนวทางการจัดการศึกษาที่ดีที่สุด และเป็นสิ่งกำหนดทิศทางของการจัดการศึกษาหรือเป้าหมายของการศึกษาที่กำหนดให้ผู้เรียนมีลักษณะเป็นอย่างไร
ปรัชญาการศึกษา
เป็นปรัชญาที่แตกหน่อมาจากปรัชญาแม่บทหรือปรัชญาทั่วไปที่ว่าด้วยความรู้ความจริงของชีวิต หากบุคคลมีความเชื่อว่า ความจริงของชีวิตเป็นอย่างไรปรัชญาการศึกษาจะจัดการ
ศึกษาพัฒนาคนและพัฒนาชีวิตให้เป็นไปตามนั้น ส่วนการจัดการเรียนการสอนก็จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักปรัชญาการศึกษานั้นๆ ดังนั้นการศึกษาเรื่องการเรียนการสอนว่าควรจะเป็นอย่างไร จึงต้องศึกษาถึงที่มา คือ ปรัชญาด้วย “การจัดการศึกษาโดยไม่มีปรัชญาการศึกษาเป็นแนวทาง ก็เป็นเสมือนเรือที่แล่นไปในท้องทะเลโดยไม่มีหางเสือ”
ปรัชญาสากลที่มีความสำคัญและถูกนำมาใช้เป็นแนวคิดในการจัดการศึกษาของไทยประกอบด้วย 4 ปรัชญา ได้แก่
จิตนิยม(Idealism)
วัตถุนิยม(Materialism) หรือประจักษ์นิยม(Realism)
ประสบการณ์นิยม(Experimentalism) หรือปฏิบัตินิยม(Pragmatism)
อัตนิยม(Existentialism)
ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
จิตนิยม
จิตนิยม(Idealism) ปรัชญาจิตนิยมเป็นปรัชญาสาขาเก่าแก่ที่สุด ปรัชญาเมธีผู้ให้กำเนิดปรัชญาสาขานี้ คือ พลาโต(Plato) นักปรัชญาชาวกรีกผู้ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปี 427 – 347 ก่อนคริสตกาล ชื่อปรัชญาสาขานี้คือ Idealism มาจากคำว่า Idea – ism เติมตัว l เพื่อสะดวกแก่การออกเสียง ปรัชญาสาขานี้มีลักษณะเป็นจิตนิยม มีความเชื่อว่า โลกนี้เป็นโลกของจิตใจ(A World of Mind) จิตใจนั้นอยู่เหนือวัตถุ ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ใจมิใช่อยู่ที่วัตถุภายนอก จึงให้ความสำคัญกับความสุขทางใจ มากกว่าความสุขทางกาย ทัศนะ
ของพลาโตในด้านการศึกษา คือ การให้ความเจริญเติบโต เน้นการอบรมจิตใจให้มีระเบียบวินัย และให้รู้จักการใช้ความคิดอย่างมีระบบระเบียบ การจัดการศึกษาตามแนวปรัชญาสาขานี้มีลักษณะดังนี้
– ความเชื่อของครูตามปรัชญานี้ เชื่อว่า “การเรียนรู้ขึ้นอยู่กับการหยั่งเห็น(Insight)” ความรู้เกิดจากการคิด หรือการทำงานของจิต หรือประสาทสัมผัสทางใจ ดังนั้นครูจึงมุ่งพัฒนาจิตใจของผุ้เรียนเป็นสำคัญ
โดยเน้นคุณธรรมความดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีสันติสุข
– วิธีการสอน จะมุ่งสอนให้ผู้เรียนแสวงหาความสุขทางใจ มากกว่าแสวงหาวัตถุ เน้นการใช้สัญลักษณ์เป็นสื่อในการเรียนการสอน กิจกรรมการเรียนการสอนจึงเกี่ยวกับการใช้สื่อสัญลักษณ์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งได้แก่ การฟัง และการจดจำ ครูมักจะใช้วิธีการสอนแบบบอกเล่า บรรยาย ยกตัวอย่างอ้างอิงด้วยนิทาน เพื่อเปรียบเทียบให้เกิดความเข้าใจ มากกว่าใช้วิธีการอื่นๆ สอนให้จำให้คิดอย่างมีเหตุผลมากกว่าจะให้ทำการพิสูจน์หรือปฏิบัติจริง เพราะเชื่อว่าความรู้เป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม มิใช่รูปธรรม จึงไม่อาจมอง
เห็นด้วยตา การได้มาซึ่งความรู้ต้องใช้การคิดหรือการไตร่ตรองเท่านั้น และในบางครั้งสิ่งที่เห็นด้วยสายตา
มิใช่สิ่งที่เป็นจริงเสมอไปอาจจะเป็นเพียงภาพลวงตา การยึดติดอยู่กับภาพลวงตาหรือสิ่งที่มองเห็นด้วยสายตาทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความจริงหรือความรู้อันถูกต้อง การเรียนการสอนจะเน้นการเรียนในห้อง
เรียน และห้องสมุดมากกว่าการศึกษานอกสถานที่หรือทัศนศึกษา
– ตัวผู้เรียน ครูจะยึดตนเองเป็นศูนย์กลางของการสอน(Teacher Center) มากกว่ายึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการสอน ดังนั้น ครูจะเป็นผู้แสดง นักเรียนเป็นผู้ดู ครูเป็นผู้พูด นักเรียนเป็นผู้ฟัง เพราะเชื่อว่า การเรียนรู้ของเด็ก เกิดจากการบอกเล่าของผู้ใหญ่ จึงนิยมบังคับให้เด็กท่องจำในสิ่งที่ครูคิดว่าดี มีประโยชน์ ซึ่งเด็กอาจจะเบื่อเพราะมองเห็นประโยชน์ เนื่องจากสิ่งที่เรียนรู้เป็นนามธรรมและอยู่ไกลตัวเด็กเกินไป
กล่าวโดยสรุป คือ การเรียนการสอนตามแนวจิตนิยม จะเน้นความรู้ที่ได้มาจากการฟัง(สุตมยปัญญา) และความรู้ที่ได้มาจากการคิด(จินตมนปัญญา) ตามหลักในพุทธศาสนาหรือเน้นการเรียนรู้ที่ผ่านประสาทสัมผัสทางใจนั่นเอง
วัตถุนิยม
วัตถุนิยม(Materialism) หรือประจักษ์นิยม(Realism) ปรัชญาวัตถุนิยมหรือประจักษ์นิยมเป็นปรัชญาอีกสาขาหนึ่งที่มีต้นเค้าความคิดมาจากปรัชญาสมัยกรีก ผู้ที่เป็นปรัชญาเมธีที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น บิดาแห่งวัตถุนิยม คือ แอริสโตเติล(Aristotle) นักปรัชญาชาวกรีกผุ้ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง 384 – 322 ปี ก่อนคริสตกาล ปรัชญาวัตถุนิยม มีความเชื่อว่าโลกใบนี้เป็นโลกของวัตถุ(A World of Things) วัตถุย่อมอยู่เหนือจิตใจ ปรัชญาสาขานี้จึงให้ความสำคัญกับความสุขทางกายที่ได้จากวัตถุมากกว่าความสุขทางใจทัศนะ
ของแอริสโตเติลในด้านการศึกษาแตกต่างจากพลาโต แอริสโตเติลเห็นว่าการใคร่ครวญหาเหตุผลด้วยจิตใจอย่าง เดียวไม่เพียงพอจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามธรรมชาติด้วย เป็นการมองโลกทางด้านวัตถุและเป็นการเริ่มต้นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ การจัดการศึกษาตามแนวปรัชญาสาขานี้มีลักษณะดังนี้
– ความเชื่อของครูตามปรัชญานี้ เชื่อว่า “การเรียนรู้ขึ้นอยู่กับการมองเห็น” เพราะความรู้เกิดขึ้นจากสิ่งที่มองเห็น หรือเกิดจากสิ่งที่เป็นรูปธรรม รับรู้ได้โดยประสาทสัมผัสทางกาย คือ ตา หู จมูก
ลิ้น กาย ครูจะมุ่งสอนให้นักเรียนแสวงหาวัตถุ เช่น วิชาชีพต่างๆ สอนให้รู้จักทำมาหากินมากกว่าปลูกฝังคุณธรรมความดี ให้ความสำคัญกับวัตถุหรือการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าสิ่งอื่น เพราะเชื่อว่า ถ้าคนเรามีกินมีใช้ คงไม่มีใครคิดเป็นโจรเสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง
– วิธีการสอน เน้นการเรียนรู้ที่เกิดจากประสาทสัมผัสทางกายและสิ่งที่เป็นรูปธรรม มากกว่านามธรรม วิธีการสอนจึงมักจะใช้วิธีการสาธิต (Demonstation) โดยใช้อุปกรณ์การสอนต่างๆ เช่น ของจริง รูปภาพ การศึกษานอกสถานที่ เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้โดยไม่ต้องท่องจำ จะให้ความสำคัญกับวิชาที่มุ่งพัฒนาความเจริญทางวัตถุมากกว่ามุ่งพัฒนาจิตใจ
– ตัวผู้เรียน ครูยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของการสอนมากกว่ายึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการสอน ครูจะเป็นผู้แสดง นักเรียนเป็นผู้ดู ใช้การบอกเล่า บรรยายหรือการให้นักเรียนท่องจำจะมีน้อยลงแต่จะใช้การสาธิตหรือทดลองให้ดู มีอุปกรณ์ของจริงหรือรูปภาพให้นักเรียนเห็นแต่ผู้สาธิตหรือทดลองเป็นครูมิใช่นักเรียน ความสามารถของครูในการสาธิต การอธิบายและการใช้อุปกรณ์การสอนมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นอย่างมาก
กล่าวโดยสรุป คือ การเรียนการสอนตามแนววัตถุนิยม เน้นความรู้ที่ได้มาจากประสาทสัมผัสทางกายโดยเฉพาะการดูเป็นหลัก
ประสบการณ์นิยม
ประสบการณ์นิยม(Experimentalism) ปฏิบัตินิยม(Pragmatism) หรืออุปกรณนิยม(Instrumentalism) ปรัชญาประสบการณ์นิยมเป็นปรัชญาที่แพร่หลายทั่วไปในวงการปรัชญาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา นับว่าเป็นผลผลิตทางความคิดที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษาสมัยใหม่ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ปรัชญาเมธีที่เป็นผุ้บุกเบิกปรัชญานี้มี 2 ท่าน คือ เจมส์(William James) และดิวอี้(John Dewey) ปรัชญาสาขานี้มีความเชื่อว่า โลกใบนี้ คือ โลกของประสบการณ์(A World of Experience) ชีวิตคือการเดินทางเพื่อแสวงหาประสบการณ์ ในโลกนี้ไม่มีสิ่งมีค่าใดมีค่าเท่ากับการแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ ความสุขของคนเรา คือ การได้พบกับประสบการณ์แปลกๆใหม่ๆที่ท้าทายความอยากรู้อยากเห็นของตนเอง ทัศนะของดิวอี้เห็นว่า มนุษย์จะรับความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ จากประสบการณ์เท่านั้น การเรียนรู้ที่จะก่อให้เกิดประสบการณ์ที่เหมาะสม คือ การใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเป้นวิธีการแก้ปัญหาอย่างมีขั้นตอน โดยผู้เรียนจะต้องมีการทำกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย การจัดการศึกษาตามแนวปรัชญาสาขานี้มีลักษณะดังนี้
– ความเชื่อของครูตามปรัชญานี้ เชื่อว่า “การเรียนรู้ต้องควบคู่ประสบการณ์” เพราะวิชาการต่างๆ สอนกันได้ แต่ประสบการณ์สอนกันได้ ดังนั้น ครูต้องจัดกิจกรรมเพื่อให้เด้กเกิดประสบการณ์ เพราะเด็กเป็นผู้อ่อนต่อโลกหรืออ่อนประสบการณ์ ความรู้ที่แท้จริงเกิดจากประสบการณ์ตรงหรือการลงมือกระทำจริงๆ มิใช่เกิดจากการฟัง การดู หรือการนึกคิดอย่างในปรัชญาจิตนิยมหรือวัตถุนิยม คนที่มีประสบการณ์มากจึงฉลาดมาก สามารถเอาตัวรอดและอยู่เป็นสุขในสังคม
– การเรียนการสอน มีลักษณะสำคัญ คือ เน้นการเรียนโดยวิธีการแก้ปัญหา(Problem solving) ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง(Learner Centered Learning) และเรียนรู้ในขณะที่นำความรู้นั้นๆ มาใช้(Learning While Using Knowledge) จัดกิจกรรมการทดลองค้นคว้า ฝึกแก้ไขปัญหาด้วยตนเองและการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดประสบการณ์ตรง เช่น การสอนด้วยวิธีการแก้ปัญหาแบบวิทยาศาสตร์ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ มากกว่าการท่องจำเนื้อหาวิชา เพราะเนื้อหาวิชาอาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และเนื้อหาวิชาต่างๆนั้น มีมากมายเกินกว่าที่จะจดจำรายละเอียดได้หมด ขอเพียงผู้เรียนรู้วิธีการแสวงหาความรู้ก็พอ กล่าวคือ สอนให้รู้จักวิธีการตกปลา มิใช่นำปลาไปให้หรือเน้นกระบวนการแสวงหาความรู้(Process) มากกว่าตัวความรู้(Product)
– ตัวผู้เรียน การเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงประสบการณ์เก่ากับประสบการณ์ใหม่ของผู้เรียน นักเรียนจะเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ โดยมีครูเป็นผู้ชี้แนะเท่าที่จำเป็น ครูจะไม่พูดหรือสอนอะไรมาก แต่จะจัดกิจกรรมต่างๆ หรือสร้างสถานการณ์จำลองแล้วให้นักเรียนใช้ประสบการณ์เดิมมาแก้ปัญหา เพื่อการค้นพบประสบการณ์ใหม่ที่จะเป้นคำตอบของปัญหานั้นๆ ครูที่เก่งที่สุด คือ ครูที่สอน(พูด) น้อยที่สุดแต่นักเรียนเรียนรู้ได้น้อยที่สุด กล่าวโดยสรุป คือ การสอนตามแนวประสบการณ์นิยมจะเน้นการจัดกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง(Learning by Doing) เรียนรู้ด้วยตนเองจากประสบการณ์จริง หรือจากประสบการณ์ตรง(Direct Experience)
อัตนิยม
อัตนิยม(Existentialism) ปรัชญาอัตนิยมเป็นปรัชญาสาขาที่เกิดใหม่ที่สุด เป็นผลิตผลทางความคิดในศตวรรษที่ 20 นี้เอง ปรัชญาเมธีผู้ให้กำเนิดปรัชญาสาขานี้เป็นนักปรัชญาและศาสนาชาวเดนมาร์ค ชื่อว่า คีร์เคกอร์ด(Soren Kiekegaard) มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ.1844-1900 ปรัชญาสาขานี้มีความเชื่อว่า โลกนี้เป็นโลกส่วนตัว(A World of Individual) มนุษย์เกิดมาพร้อมกับเสรีภาพในตัวเอง จึงเป็นผู้ลิขิตชีวิตของตนเอง ความสุขเกิดจากการได้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ มนุษย์ไม่ควรตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งแวดล้อม เช่น ประเพณี วัฒนธรรม หรือกฏเกณฑ์ต่างๆในสังคม แต่ควรมีอิสะรภาพในการตัดสินใจเลือกหนทางของชีวิตด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีใครมาบงการ ด้วยการยึดตนเองเป็นศูนย์กลางทุกเรื่อง หากสิ่งที่ตนกระทำนั้นมิได้ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและขอให้ปัจจุบันตนมีความสุขก็พอ
การจัดการศึกษาตามแนวปรัชญาสาขานี้มีลักษณะดังนี้
– ความเชื่อของครูตามปรัชญานี้ เชื่อว่า “การเรียนรู้ต้องเริ่มต้นที่ตนเอง” จึงมุ่งพัฒนาศักยภาพของนักเรียนแต่ละคนตามความถนัดหรือความสามารถ บนพื้นฐานของความแตกต่างระหว่างบุคคล เพราะคนแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน ดังนั้น ไม่ควรบังคับให้เด็กทุกคนเรียนเหมือนกัน เพราะทำลายความเป็นตัวของตัวเองของเด็ก ซึ่งตรงกับความหมายของการศึกษา(Education) ซึ่งมาจากภาษาละตินว่า Educare แปลว่า การนำออก เพราะจุดมุ่งหมายของการศึกษา คือ การดึงเอาศักยภาพที่มีอยู่ในตัวผู้เรียนออกมา หรือเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงออกซึ่งความสามารถของตนเองอย่างอิสระนั่นเอง
– วิธีการสอน จะสอนให้นักเรียนเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด เน้นความเป็นปัจเจกบุคคลหรือเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ด้วยการกระตุ้นให้นักเรียนคิดอย่างอิสระไม่ควรคิดหรือทำอะไรตามผู้อื่น ให้อิสระในการเลือกวิชาเรียนตามความถนัดหรือความสนใจ บรรยกาศในชั้นเรียนจะเต็มไปด้วยเสีภาพ ครูจะไม่ดุว่านักเรียน นักเรียนอยากเรียนก็เรียน ไม่อยากเรียนก็ไม่มีการบังคับเพราะครูจะสอนก็ต่อเมื่อนักเรียนพร้อมที่จะเรียน ครูจะให้นักเรียนปกครองกันเอง ระเบียบวินัยต่างๆ ไม่ได้มาจากครูแต่นักเรียนเป็นผู้ช่วยกันกำหนดขึ้นมาเองตามความพอใจ
– ผู้เรียน ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียน โดยให้เด็กเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ ส่วนครูเป็นผู้ดูหรือพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำปรึกษา ถ้าเด็กต้องการ นักเรียนจะมีอิสระเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการคิดตัดสินใจด้วยตนเอง กล่าวโดยสรุป คือ การสอนตามแนวอัตนิยม จะให้เสรีภาพแก่ผู้เรียนในการเลือกทำกิจกรรมต่างๆ ตามความถนัดหรือความสนใจของแต่ละคน โดยไม่มีการบังคับเพื่อให้ผู้เรียนได้ค้นพบตนเอง การจัดการศึกษาตามแนวปรัชญาอัตนิยมจึงเป็นการศึกษาที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลางมากที่สุด นอกจากปรัชญาที่เป็นสากลแล้ว ยังมีปรัชญาที่เกี่ยวกับการศึกษาและบริบทของสังคมไทย ดังนี้
ปรัชญาการศึกษาไทยตามแนวพุทธธรรม โดยพระธรรมปิฏก
ปรัชญานี้มีความเชื่อว่าการศึกษาเป็นกิจกรรมของชีวิต เป็นกระบวนการที่ช่วยให้มนุษย์แสวงหาจุดหมายให้ชีวิตว่า ชีวิตควรอยู่เพื่ออะไรและอย่างไร การจัดการศึกษาตามปรัชญานี้ใช้หลักไตรสิกขา อันได้แก่ 1) ศีล คือ การประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง รู้จักยับยั้งควบคุมตัณหาให้อยู่ในขอบเขตและสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี ทำให้บุคคลอยู่ในภาวะปรอดโปร่งโล่งใจ 2) สมาธิ คือ การวางใจแน่วแน่ มั่นคง หนักแน่น ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 2 ประการดังกล่าวจะนำให้บุคคลเกิดปัญญา 3) ปัญญา คือ การเห็นแนวทางแก้ปัญหาปัญหาอย่างถูกต้องและเหมาะสม เป็นแนวทางที่เป็นไปเพื่อความดำรงชีวิตอยู่ด้วยดีร่วมกัน การจัดการศึกษาด้วยหลักไตรสิกขาดังกล่าวจะเป็นไปได้ดี จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะกัลยาณมิตรที่ดี และปัจจัยภายใน คือ โยนิโสมนสิการ อันได้แก่ การคิดอันแยบคายหรือการคิดอย่างถูกวิธี
ปรัชญาการศึกษาไทยตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงเห็นว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนาชีวิตของแต่ละบุคคลและพัฒนาประเทศชาติโดยส่วนรวม การศึกษาต้องมุ่งพัฒนาและเพิ่มพูนองค์ความรู้ใหม่ พัฒนาศักยภาพของผู้เรียน มุ่งสร้างปัญญาและคุณลักษณะของชีวิต การจัดการศึกษาจึงควรมุ่งเน้นที่การศึกษาด้านวิชาการ โดยการต่อยอดความรู้ควบคู่ไปกับการฝึกฝนขัดเกลาทางความคิด ความประพฤติ คุณธรรม โดยให้มีความเข้าใจในหลักเหตุผล มีความซื่อสัตย์สุจริต รู้จักรับผิดชอบและตัดสินใจในทางเลือกที่ถูกต้องเป็นธรรม และควรให้มีการเรียนรู้ทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กันไป โดยเน้นการเรียนรู้แบบสหวิทยาการและการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย ดังนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ประชาชนจะต้องได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตไปอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
ปรัชญาการศึกษาไทยตามแนวพุทธธรรมจากการวิเคราะห์ของสาโรช บัวศรี
เน้นการสร้างปรัชญาการศึกษาไทยจากพระพุทธศาสนา โดยให้ผู้เรียนได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง สิ่งแวดล้อมและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสิ่งแวดล้อม โดยให้เรียนวิชาต่างๆเพื่อจะได้พบว่าตนเองถนัดอะไร มีศักยภาพไปในทางใดและต้องมีการเรียน “จริยศึกษา” เพื่อควบคุมไม่ให้ปฏิสัมพันธ์นั้นเป็นไปในทางที่ไม่เหมาะไม่ควร ปรัชญาการศึกษาไทยตามแนวทางนี้เน้นกระบวนการจัดการเรียนตามหลักพุทธธรรม ได้แก่ การสอนตามขั้นทั้ง 4 ของอริยสัจ ซึ่งได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันเป็นขั้นตอนที่คล้ายกันกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ปรัชญาการศึกษาเป็นความคิด ความเชื่อถือที่ใช้เป็นหลักในการคิด และการจัดหลักสูตรและการสอนให้แก่ ผู้เรียน ดังนั้น ผู้ที่เป็นครูซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนการสอนให้แก่ผู้เรียน จึงจำเป็นต้องเข้าใจในเรื่องของปรัชญาการศึกษาด้วย ทิศนา แขมมณี (2548) ได้ทำการสรุปปัญหาความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาไว้ 2 ประการ ดังนี้
ครูส่วนใหญ่ตอบคำถามไม่ได้ว่า เหตุใดจึงจัดการเรียนการสอนแบบที่ทำอยู่
ทำไมจึงทำอย่างนี้ ทำไมไม่สอนแบบอื่น หรือถ้ายิ่งถามตรงๆ ว่า ครูใช้ปรัชญาหรือหลักการอะไรในการสอน ครูมักจะตอบไม่ได้ ทั้งๆที่ได้ทำไปแล้ว ความจริงก็คือ ครูส่วนใหญ่ปฏิบัติการสอนไปตามที่เคยได้รับการศึกษาเล่าเรียนมาและฝึกฝนมา เคยเห็น เคยทำอย่างไร ก็ทำตามนั้น โดยไม่ตระหนักว่า สิ่งที่ทำนั้นมาจากหลักการหรือฐานความคิดอะไร เพราะครูเหล่านั้นมักมุ่งความสนใจ หรือได้รับการสอนที่มุ่งไปที่วิธีการทำ วิธีการปฏิบัติ หรือเทคนิควิธีการมากกว่าการทำความเข้าใจในพื้นฐานหลักการของเทคนิควิธีการเหล่านั้น ซึ่งทำให้การจัดการเรียนการสอนของครูมักอยู่ในรูปแบบของการเลียนแบบ ไม่สามารถยืดหยุ่นการสอนของตนให้เหมาะสมกับผู้เรียนได้และไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งนั้นให้งอกงามได้ เพราะขาดหลักที่มั่นคง จะผิดกับครูที่ปฏิบัติโดยแม่นในหลักการ เขาจะสามารถแก้ปัญหา ปรับการสอน ใช้เทคนิควิธีการอื่นๆ ที่นอก
เหนือจากแบบอย่างที่เห็นเคยได้รับมา หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ซึ่งยังอยู่บนหลักการเดียวกันได้
ในทางตรงกันข้ามกับข้อแรก ครูบางคนบอกว่าตนมีความเชื่อ เห็นดีเห็นงามกับแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง และสอนตามแนวคิดนั้น แต่ปรากฏว่า พฤติกรรมในการสอนตลอดจนการกระทำหลายๆอย่างของครูกลับไม่เป็นไปอย่างสอดคล้องกับแนวคิดนั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ครูรู้ว่า ครูควรมีคุณสมบัติของความของความเป็นประชาธิปไตย ครูควรรับฟัง ยอมรับความคิดเห็นของผู้เรียน เคารพในความเป็นมนุษย์ของผู้เรียน และควรฝึกให้ผู้เรียนมีคุณสมบัติดังกล่าวด้วย แต่ปรากฏว่า ครูมีการกระทำหลายอย่างที่เป็นไปในทางตรงกันข้าม เช่น เมื่อผู้เรียนเสนอความคิดที่ไม่ตรงกับความคิดเห็นของตน ก็แสดงกิริยาท่าทางที่ไม่พอใจ บางครั้งก็เผลอใช้วาจาดูถูกผู้เรียนที่เรียนอ่อนและแสดงความไม่พอใจ
สนับสนุนผู้เรียนที่เรียนเก่ง โดยปฏิบัติต่อผู้เรียนอย่างไม่เสมอภาค ยุติธรรม ปัญหาลักษณะนี้ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น เนื่องจากการศึกษาเล่าเรียนหรือการรับรู้ในแนวคิดใดๆ นั้น แม้จะสามารถปลูกฝังความคิด ความเชื่อต่างๆได้ แต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้เต็มที่ว่าจะช่วยให้บุคคลนั้นมีความเชื่อถือศรัทธาในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างแท้จริง จนกระทั่งการกระทำต่างๆ ของตนมีความสอดคล้องกลมกลืน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความเชื่อของตนนั้น ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ที่สำคัญ คือ เวลา ประสบการณ์ บทพิสูจน์ ผลที่ได้รับ ฯลฯ ซึ่งสามารถช่วยปรับระดับความเชื่อให้มากขึ้นหรือลดลงได้แล้วแต่กรณี ปรัชญาการศึกษาเป็นที่มาหรือหลักยึดในการจัดการศึกษาและการจัดการเรียนการสอนของครู ครูควรให้ความสนใจในหลักการมิใช่มุ่งความสนใจไปที่เทคนิควิธีการสอนเท่านั้น ครูพึงศึกษาแนวคิด
ความเชื่อหรือหลักการต่าง ซึ่งมีอยู่อย่างหลากหลายและเลือกสรรสิ่งที่ตนเชื่อถือ หมั่นวิเคราะห์การคิดและการกระทำของตนว่าสอดคล้องกันหรือไม่ เปิดโอกาสให้ตนเองได้มีประสบการณ์ในสิ่งที่แตกต่างออกไปเพื่อพิสูจน์ทดสอบแนวคิดใหม่ๆอันอาจจะนำมาซึ่งทางเลือกใหม่ ทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นแล้วสถาบันที่ผลิตครูควรสอนโดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้หลักการให้แม่นมิใช่มุ่งเน้นแต่เทคนิคของการปฏิบัติเนื่องจากการปฏิบัติและการแก้ปัญหาโดยขาดความรู้ ความเข้าใจและความเชื่อในหลักการแล้วย่อมจะเกิดปัญหาในภายหลัง