Take a fresh look at your lifestyle.

เห็นด้วยกันไหม! จดหมายถึง ตรีนุช หลังเห็นกำหนดการในโปรแกรมอบรมครูทั่วประเทศ​

วันนี้ ครูประถม.คอม ข่าวการศึกษา ได้นำโพสต์ที่มีหลายคนพูดถึงมาฝากกัน ซึ่งสมาชิกเฟซบุ๊ก Athapol Anunthavorasakul ได้เขียนจดหมายถึง รมว.ศธ. หลังเห็นกำหนดการในโปรแกรมอบรมครูทั่วประเทศ​ ที่มีการแชร์ออกไป โดยมีราละเอียดดังนี้

เรียน​ รมว.ศธ.​(คุณตรีนุช​ เทียนทอง)​ ตรีนุช เทียนทอง
ผมได้เห็นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์​ และเห็นกำหนดการในโปรแกรมอบรมครูทั่วประเทศ​ที่ส่งต่อกันในไลน์อย่างกว้างขวางแล้ว​ เกิดข้อสงสัยอย่างยิ่งเกี่ยวกับคัดเลือกวิทยากรโดยระดมครูจากสถาบันกวดวิชา​ แ​ละเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมจากสถาบันเอกชนที่ขายคอร์สพัฒนาครูเป็นหลัก​ มาอบรมครูในระบบ เท่าที่ผมศึกษาดูจากนโยบายพัฒนาครูในหลายประเทศ​ ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา​ ยังไม่พบว่ามีประเทศใดในโลกดำเนินการด้วยแนวทางนี้นะครับ
ธรรมชาติของงานที่ติวเตอร์ทำกับครู​เต็มเวลาใน รร.ทำ​ ต่างกันมาก​ การดึงพวกเขามาไม่ใช่ความผิดพวกเขาเลย​ แต่มันสะท้อนว่าการกำหนดนโยบายยังขาดความเข้าใจเรื่องการศึกษา​และไม่ได้กำหนดนโยบายบนฐานปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม ปฏิรูปนิยม​ และมนุษยนิยมใหม่​ อันเป็นหัวใจของการศึกษากระแสหลักที่มีคุณภาพทั่วโลก​ รวมทั้ง​ระบุอยู่ใน พรบ.การศึกษาฉบับปัจจุบัน กิจกรรมตามนโยบายนี้สะท้อนชุดความคิดที่ยังติดอยู่ในโลกของการศึกษา​ 100 ปีที่แล้ว​ ที่คิดว่าต้องหาวิธีถ่ายทอด​ อธิบาย​ วิเคราะห์ให้ฟัง​ มองงานสอนเป็นงานเชิงเทคนิควิธีการมากกว่าการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน
ความรู้ว่าด้วยการพัฒนาครูประจำการ (In-service Teacher Development)​ ในระดับนานาชาติ.เน้นการสร้างความแข็งแกร่งชองชุมชนเรียนรู้ของครู ​(TLC : Teacher​ Learning​ Community)​ ใช้การสืบสอบ​ (Inquiry)​ การวิจัยชั้นเรียน​ (Classroom​Research)​ การศึกษาบทเรียน (Lesson​ Study)​ ทำให้ครูเป็นนักปฏิบัติที่ชำนาญขึ้นจากการไตร่ตรองสะท้อนคิด​ (Reflective Practitioner) และทำให้โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้​ (SLC​: School​ as Leaning Community​)​ ที่มีชีวิตชีวาสำหรับทุกคน
การอบรมแบบฟัง​อย่างเดียวให้ได้​ Input แบบนี้หลายประเทศยกเลิกไปนานแล้ว​ ใช้เฉพาะวาระรับฟังนโยบายบางอย่างที่สำคัญมาก​ ๆ​ หรือเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องระดับนานาชาติมาคุย
ในลิสต์รายชื่อวิทยากรที่มี​ ผมเชื่อว่าสำหรับครูไทยที่เก่ง​ ๆ​ ใฝ่รู้​ รักดี ก้าวข้ามกำแพงภาษาพอได้​ เห็นเข้าคงส่ายหัว​ พวกเขาหาฟังประชุมออนไลน์นานาชาติที่มีวิทยากรดัง​ ๆ​ ระดับเอเซีย-แปซิฟิค​ ระดับโลก​ ได้ด้วย​ Free Webinar​ หรือเรียนผ่าน​ Mooc และ Coursera ได้มากมาย​ ทั้งในและต่างประเทศ​ มาสักพักใหญ่แล้วนะครับ
ยิ่งไปกว่านั้นครูเก่ง​ ๆ​ ของเราเป็นวิทยากรอบรมระดับประเทศกันหลายคน​ พวกเขาน่าจะทำหน้าที่นี้ในการสื่อสาร​ แชร์ประสบการณ์จากห้องเรียนจริง​ ๆ​ สร้างแรงบันดาลใจ​ และพูดจาภาษาห้องเรียนเช่นเดียวกับเพื่อนครูได้มากกว่า
ปรากฎการณ์นี้ยังสะท้อนเรื่องใหญ่​ที่สำคัญในการพัฒนาครู​ นั่นคือการขาดการเชื่อมต่อยึดโยง​ (Alignment)​ กับสถาบันเตรียมครูพัฒนาอย่างคณะครุศาสตร์​ศึกษาศาสตร์​ ซึ่งเป็นปัญหาทั้ง​ 2 ฝั่ง​
กล่าวคือ​ ศธ.ก็มองไม่เห็นคุณค่า​ ไม่ศรัทธาเชื่อมั่น​ มองไม่เห็นทั้งความพร้อม​ที่มีอยู่​ (Availability)​ และการเปิดให้สาธารณะเข้าถึงได้​ (Accessibility) จากสถาบันครุศึกษา ในระดับสถาบัน​นะครับ ไม่ใช่การเชื้อเชิญเจาะจงตัวเป็นราย​ ๆ​ ไป
ในอีกมุมหนึ่ง​ สถาบันครุศึกษาเหล่านี้ก็ทำตัวห่างเหิน​ ไม่แสดงภาวะผู้นำทางการศึกษา​ ไม่กระตือรือร้นมากพอที่จะร่วมรับผิดรับชอบ​กับสถานการณ์ปัญหาทางการศึกษา ลอยตัวจากความล้มเหลวของระบบ​ มาอย่างยืดเยื้อเรื้อรังยาวนาน พูดภาษาชาวบ้าน​ คือ​ ผู้กำหนดนโยบายเขามองไม่เห็นหัวพวกท่าน​ เพราะพวกท่านไม่เคยอยู่ให้เห็นหัว
พอจะเห็นบางคน​ บางกลุ่ม​ ในบางสถาบัน​ ที่พยายามจัดกิจกรรม​ โปรแกรมพัฒนาครูอยู่พอสมควร​ แต่ก็เป็นการดิ้นรนพยายามด้วยความมีแก่ใจจะร่วมรับผิดชอบ​ระดับบุคคลและกลุ่ม โดยขาดแรงส่งจากกลไกเชิงสถาบันที่เป็นกลุ่มเป็นก้อน​ (เรายังมีสภาคณบดีครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ฯ​ และที่ประชุมคณบดีครุศาสตร์ฯ​ กลุ่ม​16+1 และกลุ่ม​มหาวิทยาลัย​ราชภัฏ​ อยู่นะครับ)​
แม้​ศธ.จะไม่ได้มีอำนาจโดยตรงในการสั่งการ​ และรีบูตบทบาทหน้าที่ให้คณะครุศาสตร์​ศึกษา​ศาสตร์​ แต่เป็น​หลักการพื้นฐานที่​ ศธ.​หรือ​ MOE.ทั่วโลก​ ต้องทำ​ คือ​ ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิ​ดกับสถาบันเตรียมครูพัฒนาครู​ อย่างคณะครุศาสตร์ศึกษา​ศาสตร์​
ถ้าพวกเขามองไม่เห็นบทบาทหน้าที่นี้​ ท่านก็ต้องหารือกับ​ กระทรวง​ อว.​ ให้จัดแพลตฟอร์มหารือกัน
เปรียบเทียบโดยง่าย​ กำลังเจอโจทย์ยากทางการแพทย์​ เช่น​ ​โรคระบาด​ ไม่มีประเทศใดจะกะเกณฑ์หมอ​ พยาบาล​ มานั่งฟังบรรยายจากนักเทคนิคการแพทย์​ หรือตัวแทนจำหน่ายยา ซึ่งทำหน้าที่ในฟังค์ชั่นอื่น มาอธิบายแนะนำ​ ‘เครื่องมือ’​ และ​ ‘สินค้า’​ แต่เขาจะสนับสนุนให้ระบบผู้ให้คำปรึกษา (Consultation)​ ระหว่างหมอและพยาบาลด้วยกันเข้มแข็ง​ ฟีดข้อมูลจากงานวิจัยและข้อมูลที่อัพเดตที่สุดให้คนทำงานภาคสนาม
ผมหาได้กล่าวโทษ​ หรือดูแคลนวิทยากรทุกท่านในลิสต์​ พวกเขาแค่ถูกเชิญ​ และเป็นการเลือกกำหนดโจทย์ที่ผิดจากผู้กำหนดนโยบาย
ผมเข้าใจว่า​ ท่าน​ รมว.ในฐานะผู้มาใหม่ของวงการย่อมถูกห้อมล้อม​ ให้คำแนะนำ​และมีคนพยายามขอเข้าพบจำนวนมากจากสารพัดบริษัทเอกชนที่ประกอบธุรกิจการศึกษา​และพร้อมเสนอความช่วยเหลือด้วยความหวังดีห่วงใย
น่าสนใจว่าเราเปลี่ยนรัฐมนตรีมาไม่รู้กี่คน​ แต่ปัญหาเหล่านี้ยังคงอยู่ ​เครือข่ายระหว่างเทคโนแครต ข้าราชการระดับสูง​ และหน่วยธุรกิจเหล่านี้​ น่าจะแข็งแกร่งเป็นกำแพงเหล็กที่ท่านคงต้องพยายามหาทางเจาะช่องรับฟังสื่อสารกับครูจริง ๆ ที่เป็นคนทำ​งานที่หน้างานให้มากขึ้น
ฟังเสียงครู​ เสียงเด็ก​ ๆ​ ที่เป็นผู้เรียนให้มากที่สุด​ ทำความเข้าใจกลไกเชิงระบบ​ จัดทีมศึกษาข้อมูลแนวปฏิบัติที่ดีจากต่างประเทศ​ แล้วกำหนดแผนการทำงานที่เป็นประโยชน์​ บนหลักวิชา ความรู้​ และงานวิจัย
ผมมีข้อเสนอ 3 ข้อ​สำหรับช่วงเลื่อนเปิดเทอม​ 11​ วัน
1. สนับสนุนให้ทุก รร.มีการจัดการประชุมออนไลน์ถอดบทเรียนการทำงานในรอบปีที่ผ่านมา​ ครูทุกคนได้มีประสบการณ์ตรงและลงมือแก้ปัญหามาหมดแล้ว​ ทั้ง​ Online​ (เลื่อมเวลา/ประสานเวลา)​ -​ On​ Air – On Screen – On Hand – On Site. รวมทั้ง​ Hybrid
ไม่มีติวเตอร์หรือนักวิชาการเจอบริบทการสอนการทำงานแบบเดียวกับคุณครูในช่วง​ พ.ค.-ก.ค.​63​ ​และ​ ธ.ค.63​ -​ม.ค.64​ ที่ต้องจัดกิจกรรมการเรียนทั้ง​ 5 ช่องทางนี้ผสมกัน
คุณครูเท่านั้นที่เคยล้มเหลว​ เรียนรู้​ หลายคนปรับตัว​ จนเกิดแนวปฏิบัติที่ดี​ สามารถแลกเปลี่ยน​ ให้คำแนะนำเพื่อนครูร่วม​ รร.ได้
การรับมือสถานการณ์นี้ เราเรียนรู้จากประสบการณ์ของเพื่อนครู​ รร.อื่น​ ผู้สอนในบริบทอื่นได้​ แต่เรื่องสำคัญ​ คือการแลกเปลี่ยนกันเองกับครูที่ดูแลนักเรียนในบริบทเดียวกัน​ วิธีที่ใช้ได้กับ​ รร.ขนาดกลางระดับชุมชนเมือง​ ไม่อาจใช้ได้กับ​ รร.ในพื้นที้ห่างไกล​ หรือกระทั่ง​ รร.ใหญ่ในเมือง​
และต่อให้ขนาดใกล้เคียงกัน​ รร.ในบริบทเด็กหลากชาติพันธุ์​ เด็กในบริบทวัฒนธรรมเฉพาะ​ และเด็กที่มีพื้นเพสถานะ​ ความพร้อมสนับสนุนของครอบครัวก็ไม่อาจเหมือนกัน
ให้เวลาคุณครูได้คุยหารือ​ ได้พัก​ ได้เตรียมตัวสอนเถิดครับ ดีกว่าบังคับให้เปิดหน้าจอเช็คชื่ออบรมออนไลน์กับใครก็ไม่รู้​ ที่ไม่ได​้เข้าใจปัญหาเฉพาะหน้าที่ครูกำลังต้องเผชิญ​ แล้วก็ต้องแอบปิดกล้องนั่งประชุมเตรียมสอนกันไป
และฝากโจทย์ให้คุณครูขบคิดวิธีการทำความรู้จักสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับ​ นร.​ ในการสอนทางไกลตั้งแต่สัปดาห์แรกของเทอม
2. ให้เด็ก​ ๆ​ ได้พัก​ ได้เล่นสนุกตามใจบ้างเถิดครับในช่วง​ 11​ วันที่เลื่อนเปิดเทอม​ เด็ก​ ๆ​ ล้ามาเต็มทีกับการเรียนปนไปปนมาระหว่างออนไลน์์/ออฟไลน์​ หลายคนเครียด เบื่อ​ เหนื่อยล้า​ หมดแรงจูงใจไปแล้ว​ รวมทั้งอีกไม่น้อยที่ซึมซับรับรู้ความเครียดทางเศรษฐกิจ สังคม​ และความหวั่นกลัวการติดเชื้อร่วมกับผู้ใหญ่
ให้เขาได้เล่​น ได้เป็นเด็ก มีเวลาว่างสั้น ๆ สัก​ 11​ วัน​ ถ้าท่านเกรงว่าจะสูญเปล่า​ แนะนำว่าให้ รร.ประสานงานกับเด็กล่วงหน้าว่าไม่มีงาน​ ไม่มีการบ้าน​ ให้เล่นเต็มที่​ แต่ฝากให้เขียนสั้น ๆ หรือวาดอะไร​ เตรียมมาเล่าให้เพื่อนและครูฟังในวันแรกที่ได้เปิดเทอมว่า​ ’11 วันที่ได้มีเวลาว่าง​ ฉันทำอะไร’
3. หารือด่วนกับ​ อว.​ และเครือข่ายสถาบันครุศึกษา​ เชิญชวนผู้นำองค์กรของกลุ่มมหาวิทยาลัยทึ่มีคณะครุศาสตร์​ศึกษา​ศาสตร์​ หารือ​ ร่วมกันแบ่งพื้นที่ดูแลสนับสนุนงานคุณครูในช่วงภาคการศึกษาต้น​ ไม่มีงบประมาณก็น่าจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่​ ทุกสถาบันภายใต้มหาวิทยาลัย​ถูกกำกับด้วยตัวชี้วัดต้องให้บริการวิชาการอยู่แล้ว​ ทำเป็นออนไลน์แพลตฟอร์ม​ ให้เรียนรู้สนับสนุนยึดโยงกันระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัย
เริ่มจากมหาวิทยาลัยไหนที่ส่งนิสิตนักศึกษาลงฝึกสอน​ ต้องร่วมสนับสนุนงาน​ รร.นั้น​ และ​ รร.ใดทึ่ไม่ใช่พื้นที่ฝึกงานของนิสิตนักศึกษา​ ก็ควร​จัดโซนพื้นที่​ ระดมพลังช่วยสนับสนุนกัน
ทั้งหมดนี้คือข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่อยากนำเรียนฝากไว้เพื่อพิจารณาใคร่ครวญอย่างถ้วนถี่รอบคอบ​
ด้วยความเคารพ
อรรถพล​ อนันตวรสกุล
คณะครุศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์​มหาวิทยาลัย​
……
หากข้อความนี้เป็นประโยชน์​ ฝากคุณครู​ นิสิตนักศึกษาครู​ นักการศึกษา​ นักวิชาการ​ สื่อมวลชน และทุกท่านช่วยแชร์เพื่อส่งไปให้ถึงท่านรัฐมนตรีและคณะทำงานด้วยครับ

 

ขอขอบคุณที่มา : Athapol Anunthavorasakul

นอกจากนี้คุณยังอาจต้องการ

ความเห็นถูกปิด

QR Code Generator | สร้างรหัส QR ของคุณได้ฟรี - สร้าง QR Code ออนไลน์อย่างง่ายและฟรี