ปรัชญา คืออะไร
-
กลุ่มไลน์ข่าวการศึกษา
กลุ่มไลน์ข่าวการศึกษา
ปรัชญา คืออะไร
ศึกษาความหมายและความเป็นมาของวิชา ปรัชญา
ความหมายของปรัชญา
(Meanings of Philosophy)
คำว่า “ปรัชญา” เป็นศัพท์ที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร) ทรงบัญญัติขึ้นเพื่อใช้คู่กับคำภาษาอังกฤษว่า “Philosophy” เป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤต 2 คำคือ
1. ปฺร : ประเสริฐ
2. ชฺญา : ความรู้, รู้, เข้าใจ
เมื่อรวมกันแล้ว เป็น “ปฺรชฺญา” (ปรัชญา) แปลว่า ความรู้อันประเสริฐ เป็นวิชาที่ว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง
คำว่า “ปรัชญา” ตรงกับคำภาษาบาลีว่า “ปัญญา” ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก ป (อุปสรรค = ทั่ว) + า (ธาตุ = รู้) เมื่อรวมกันแล้ว แปลว่า รู้ทั่ว, รู้รอบ
ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้นิยามความหมายของคำว่า “ปัญญา” เอาไว้ว่า “ความรู้แจ้ง, ความรอบรู้, ความสุขุม, ความฉลาด” และนิยามความหมายของคำว่า “ปรัชญา” ว่าเป็นวิชาที่ว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง หมายความว่า ปรัชญามีหน้าที่สืบเสาะหาความรู้เกี่ยวกับความจริงของสรรพสิ่ง ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม
จะเห็นได้ว่า ความหมายของคำว่า “ปรัชญา” ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ตรงกับความหมายของคำว่า “ปัญญา” เพราะการบัญญัติศัพท์คำว่า “ปรัชญา” ไม่ได้บัญญัติมาจากคำว่า “ปัญญา” แต่บัญญัติมาจากคำภาษาอังกฤษว่า “Philosophy” คำว่า “Philosophy” ในภาษาอังกฤษมาจากคำภาษาฝรั่งเศสโบราณว่า “Philosophie” ซึ่งมาจากคำภาษาลาตินว่า “Phiosophia” (ฟิลสโซฟิยา) ที่แผลงมาจากคำภาษากรีกว่า “Philosophia” (ฟิลสโซเฟีย) อีกต่อหนึ่ง
ดังนั้น คำว่า “Philosophy” จึงมาจากคำภาษากรีกว่า “Philosophia” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำ 2 คำคือ
Philos : Love of หรือ Loving of (ความรัก)
Sophia : Wisdom หรือ Knowledge (ความรู้, ปัญญา, ความฉลาด)
เมื่อรวมกันแล้ว คำว่า “Philosophy” จึงหมายถึง “Loving of Wisdom” ความรักปัญญา, ความรักในความรู้, ความรักในการแสวงหาความรู้ หรือ การใฝ่ใจในการแสวงหาความรู้
จะอย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตามคำแปลระหว่าง คำว่า “ปรัชญา” ที่มาจากภาษากรีก กับที่มาจากภาษาสันสกฤตจะแตกต่างกัน กล่าวคือ ที่แปลจากภาษากรีกแปลว่า ความรักในความรู้ หรือความรักปัญญา เพราะความรู้หรือปัญญา เป็นของพระเจ้าแต่ผู้เดียว มนุษย์มีสิทธิ์เพียงสามารถที่จะรัก หรือสนใจที่จะแสวงหาเท่านั้น ไม่สามารถเป็นเจ้าของได้
ส่วนที่แปลจากภาษาสันสกฤต แปลว่า ความรู้อันประเสริฐ หรือความรอบรู้ มนุษย์ทุกคนสามารถมีความรอบรู้ หรือมีความรู้อันประเสริฐได้ อันเนื่องมาจากความรู้ที่สมบูรณ์ สูงสุด สิ้นความสงสัย
————————
คำว่า ปรัชญา มีที่มามาจากภาษาสันสกฤต หมายถึงความรู้อันประเสริฐ โดยมีรากศัพท์มาจากคำว่า ปฺร ที่แปลว่าประเสริฐ กับ คำว่า ชฺญา ที่แปลว่ารู้ ซึ่งเป็นศัพท์บัญญัติโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ แทนคำว่า philosophy ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า Φιλοσοφία ฟีโลโซเฟีย ในภาษากรีกโบราณ ซึ่งแยกได้เป็นคำว่า φιλεῖν ฟีเลน แปลว่าความรัก และ σοφία โซเฟีย แปลว่าความรู้ เมื่อรวมกันจึงมีความหมายว่า “การรักในความรู้” หรือ ปรารถนาจะเข้าถึงความรู้หรือปัญญา
ปรัชญา ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลว่า วิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้และหลักแห่งความจริง กล่าวคือ ในบรรดาความรู้ทั้งหลายของมนุษยชาตินั้น อาจแบ่งได้เป็นสองเรื่องใหญ่ ๆ
เรื่องที่หนึ่ง คือ เรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น ฟิสิกส์ มีเป้าหมายในการศึกษาเพื่อหาความจริงต่าง ๆ และเข้าใจในธรรมชาติมากกว่าสิ่งรอบตัวเพราะรวมไปถึงจักรวาลทั้งหมดอย่างลึกซึ้ง ชีววิทยา มีเป้าหมายในการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย เคมี มีเป้าหมายในการศึกษาเกี่ยวกับธาตุและองค์ประกอบของธาตุ เป็นต้น
เรื่องที่สอง คือ เรื่องเกี่ยวกับสังคม เช่น เศรษฐศาสตร์ มีเป้าหมายในการศึกษาเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจของสังคม รัฐศาสตร์ มีเป้าหมายในการศึกษาเกี่ยวกับระบบการเมืองการปกครองของสังคม นิติศาสตร์ มีเป้าหมายในการศึกษาเกี่ยวกับระบบกฎหมายของสังคม เป็นต้น
เป้าหมายในการศึกษาของปรัชญา คือการครอบคลุมความรู้และความจริงในทุกศาสตร์และในทุกสาขาความรู้ของมนุษย์ รวมทั้งชีวิตประจำวันของตนด้วย ผลจากการศึกษาของปรัชญาก็สามารถนำไปใช้อ้างอิงได้ ผู้รอบรู้ด้านปรัชญามักขนานนามว่า นักปรัชญา ปราชญ์ หรือ นักปราชญ์
ประเด็นทางปรัชญา[แก้]
นักปรัชญาสนใจในเรื่องของ การมีอยู่ (Existence) หรือการเป็นอยู่ คุณธรรม ความรู้ ความจริง และความงาม นักปรัชญา ตั้งคำถามกับแนวคิดเหล่านี้ — ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่นอกขอบเขตของการศึกษาของวิทยาศาสตร์ ในอดีต
เรื่องที่อยู่ในขอบเขตการศึกษาของปรัชญา มีจำนวนมาก อาทิเช่น
ความคิดที่ถูกต้อง เป็นอย่างไร?
เราจะตรวจสอบว่า ความคิดใดถูกต้องหรือไม่ ได้อย่างไร? ธรรมชาติของความคิดและการคิดเป็นอย่างไร?
ความคิดที่ถูกต้องเป็นสิ่งสัมบูรณ์หรือว่าเป็นสิ่งสัมพัทธ์?
ธรรมชาติของความรู้เป็นอย่างไร?
ความรู้ เกิดจากเหตุปัจจัยใดบ้าง? อะไรคือกระบวนการที่ทำให้ได้มาซึ่งความรู้?
การกระทำ ควรจะมีเป้าหมายขั้นสุดท้ายอยู่ที่อะไร?
มีความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ดีกับสิ่งที่ชั่วหรือไม่? อะไรคือเกณฑ์แบ่งแยกระหว่างดีและชั่ว?
อะไรคือความจริง? อะไรคือสิ่งที่มีอยู่? จักรวาลนี้มีพระเจ้าหรือไม่?
ธรรมชาติพื้นฐานของสรรพสิ่งคืออะไร?
สรรพสิ่งมีอยู่ด้วยตัวของมันเองนอกเหนือการรับรู้ของเราหรือไม่?
ธรรมชาติของสถานที่และเวลาเป็นอย่างไร?
คนเรา เกิดมาทำไม? การมีสติรู้คืออะไร?
ความงามเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับผู้ที่รับรู้หรือไม่? หรือว่าเป็นสิ่งสากลที่เป็นจริงในตัวเองแม้จะไม่ถูกรับรู้?
องค์ประกอบของความงามคืออะไร? อะไรคือศิลปะ?
เหล่านี้ เป็นต้น
ในปรัชญากรีกโบราณ กลุ่มของคำถามเหล่านี้จะถูกพิจารณาถึงในสาขาแยกย่อยของปรัชญา คือ การวิเคราะห์ หรือตรรกศาสตร์, ญาณวิทยา จริยศาสตร์ อภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ โดยที่จริยศาสตร์กับสุนทรียศาสตร์ถูกรวมเรียกว่าอรรฆวิทยา/คุณวิทยา (Axiology) อย่างไรก็ตามปรัชญามิได้สนใจเฉพาะเรื่องเหล่านี้เท่านั้น อริสโตเติลผู้ริเริ่มการแบ่งสาขาในลักษณะนี้ยังคงจัดให้การเมือง ฟิสิกส์สมัยใหม่ ธรณีวิทยา ชีววิทยา อุตุนิยมวิทยา และดาราศาสตร์เป็นสาขาหนึ่งของการศึกษาทางปรัชญาด้วยเช่นกัน แวดวงปรัชญากรีกได้พัฒนากระแสการคิดแบบวิเคราะห์ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากโสกราตีสและวิธีการของเขา ซึ่งเสนอให้แบ่งปัญหาที่สนใจออกเป็นส่วนๆ เพื่อทำให้เข้าใจปัญหาได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามปรัชญาแนวอื่น เช่นในปรัชญาตะวันออก อาจไม่จำเป็นต้องใช้การแบ่งสาขาย่อยในลักษณะที่กล่าวมา หรือว่าสนใจในเรื่องเดียวกัน
ที่มา :https://dhrammada.wordpress.com/philosophyreligion/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%8A%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/